Celebrity worship – การคลั่งไคล้ศิลปิน

09 Feb 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

การคลั่งไคล้ศิลปิน หมายถึง เจตคติหรือความรู้สึกที่บุคคลมีต่อศิลปินที่ชื่นชอบในระดับที่มากกว่าแฟนโดยทั่วไป มีลักษณะของการหมกมุ่นและเสพติด

 

รูปแบบของการคลั่งไคล้ศิลปิน มี 3 รูปแบบ คือ ระดับสนใจใคร่รู้เพื่อความบันเทิงและเสพติด ระดับเข้มข้นผูกพันยึดติด และระดับคลั่งไคล้รุนแรง

ผู้ที่มีความคลั่งไคล้ศิลปินจะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด สนิทสนมกับศิลปินที่ชื่นชอบ เป็นลักษณะหนึ่งของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง

 

 

รูปแบบของการคลั่งไคล้ศิลปิน 3 รูปแบบ


 

1. การชื่นชมเพื่อความบันเทิง-สังคม (entertainment-social celebrity worship)

 

หมายถึง บุคคลที่ชื่นชอบศิลปินดาราโดยรับรู้ว่าเป็นการชื่นชอบเพื่อความบันเทิง และติดตามข่าวสารของศิลปินดาราอย่างใกล้ชิด มีเรื่องราวของศิลปินเป็นศูนย์กลางหรือเป็นประเด็นที่ใช้พูดคุยกันในสังคมของผู้ที่มีความชื่นชอบแบบเดียวกัน มีความคลั่งไคล้ระดับต่ำ

 

ตัวอย่างเจตคติของความคลั่งไคล้ระดับนี้

“ตัวฉันและเพื่อนชอบพูดคุยถึงเรื่องที่ศิลปินที่พวกเราชื่นชอบทำ”

“ในขณะที่ฉันติดตามเรื่องราวของศิลปินคนโปรด ฉันมักจะเพลินจนลืมเวลาไปเลย”

 

2. การชื่นชอบแบบเข้มข้น-ผูกพันยึดติด (intense-personal celebrity worship)

 

หมายถึง บุคคลที่มีลักษณะหลงใหล เทิดทูนศิลปินดาราที่ชื่นชอบ สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของศิลปินดารา มีการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับศิลปินที่ชื่นชอบ และรู้สึกใกล้ชิดผูกพันเหมือนเป็นคนใกล้ตัว

 

ตัวอย่างเจตคติของความคลั่งไคล้ระดับนี้

“หากศิลปินคนโปรดของฉันประสบกับเรื่องเลวร้าย ฉันจะรู้สึกเหมือนกันว่าเรื่องนั้นได้เกิดขึ้นกับฉันด้วย”

“ฉันรู้สึกมีความสุขที่ได้เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลง และการเติบโตขึ้นของศิลปินคนโปรด”

 

3. การคลั่งไคล้แบบรุนแรง (borderline-pathological celebrity worship)

 

หมายถึง บุคคลที่มีความคลั่งไคล้ศิลปินดาราขั้นรุนแรงที่สุด มีพฤติกรรมคุกคาม เช่น การสะกดรอยตามศิลปินดารา จนสร้างความวิตกกังวลแก่ศิลปิน [เรียกว่า สตอล์กเกอร์ (stalker) หรือ ซาแซงแฟน สำหรับศิลปินเกาหลี] ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม ความคิด และจินตนาการเกี่ยวกับศิลปินที่ตนเองชื่นชอบได้

 

ตัวอย่างเจตคติของความคลั่งไคล้ระดับนี้

“หากฉันได้รับเงินมา 1,000 ดอลลาร์ ฉันคิดจะใช้เงินนั้นซื้อของใช้ส่วนตัวของศิลปินที่ฉันชื่นชอบ”

“ถ้าฉันบุกไปหาศิลปินคนโปรดถึงบ้านโดยไม่ได้รับเชิญ เขาจะดีใจที่ได้พบฉับอย่างแน่นอน”

 

 

การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง


 

การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง (Parasocial Relationship) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ชมสื่อ สร้างจินตนาการเกี่ยวกับมิตรภาพ ความผูกพัน ระหว่างตนเองกับผู้ที่ปรากฏตัวอยู่ในสื่อ ผู้ชมจะรับรู้ว่าตนเองรู้จักและเข้าใจบุคคลในสื่อ เปรียบเสมือนกันเป็นผู้มีความใกล้ชิดสนิทสนม เป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว โดยเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากฝ่ายเดียว ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมักมีลักษณะของการมีส่วนร่วม มากกว่าการมีความสัมพันธ์ที่แท้จริง

 

ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของสื่อรายการหรือตัวพรีเซ็นเตอร์ หากแต่ขึ้นอยู่กับการได้ดูบุคคลในสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยการเกิดปฏิสัมพันธ์กึ่งความจริงนี้มีรากฐานอยู่บนความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยความสัมพันธ์ในลักษณะนี้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้ เนื่องจากส่วนใหญ่รายการถูกติดตามชมเนื่องจากผู้ชมต้องการมีเพื่อน เมื่อมีการติดตามชมอย่างสม่ำเสมอ ผู้ชมจะพัฒนาความรู้สึกและมีการเรียนรู้ว่าบุคคลในสื่อนั้นเปรียบเสมือนเพื่อนของตน ลักษณะของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้รับสื่อและบุคคลทั่วไป โดยไม่ได้สื่อถึงความผิดปกติและปัญหาทางจิตใด ๆ

 

ปัจจุบันมีการใช้สื่อใหม่ร่วมกันกับสื่อเก่า การศึกษาเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริงกับผู้รับสื่อ พบว่า การเปิดเผยตนเองผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของศิลปิน ดารา และบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งการเปิดเผยตนเองในรูปแบบเป็นทางการ เช่น ผลงาน และในรูปแบบส่วนตัว เช่น การแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับครอบครัว เพื่อน งานอดิเรก มีความสัมพันธ์ทางบวกกับระดับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริงของแฟนคลับและผู้ชมผลงาน

 

 

การประเมินระดับความคลั่งไคล้ศิลปิน


 

ปัจจุบันมีการพัฒนามาตรวัดเพื่อประเมินความคลั่งไคล้ศิลปินหลัก 2 เครื่องมือ ได้แก่

  1. แบบวัดทัศนคติที่มีต่อศิลปินดารา
  2. แบบวัดระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง

 

แบบวัดทัศนคติที่มีต่อศิลปินดารา หรือ Celebrity Attitude Scale (CAS) โดย McCutcheon และคณะ (2002)

พัฒนามาจากแนวคิดเรื่องการคลั่งไคล้ศิลปิน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ

 

  • ความชื่นชอบเพื่อความบันเทิงและสังคม ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของศิลปินดาราที่ตนเองชื่นชอบตามสื่อต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
  • ความชื่นชอบแบบเข้มข้นและยึดติด มีความหลงไหล เทิดทูนศิลปินดาราที่ตนเองชื่นชอบถึงขั้นเสพติด
  • ความคลั่งไคล้รุนแรง มีความคลั่งไคล้ศิลปินดาราในระดับที่รุนแรงที่สุด เพ้อฝันถึงศิลปินดารา ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

 

แบบวัดระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งความจริง โดย Rubin, Perse, และ Powell (1985)

เป็นมาตรวัดที่เหมาะสมสำหรับการวัดผู้ชมละครโทรทัศน์ ประเด็นการศึกษา ได้แก่

 

  • ความรู้สึกสนิทสนมกับศิลปินเหมือนเป็นเพื่อนพี่น้อง
  • การทราบประวัติของศิลปิน
  • ความรู้สึกเศร้าเสียใจเมื่อทราบว่าศิลปินมีความทุกข์
  • ความรู้สึกเดือดร้อนเมื่อศิลปินถูกตีข่าวในทางลบ
  • ความรู้สึกอยากปกป้อง
  • ความรู้สึกยินดีและมีความสุขร่วมกับศิลปิน
  • ความรู้สึกตื่นเต้นดีใจเมื่อพบศิลปินในสื่อ
  • ความกระตือรือร้นในการรับข่าวสารเกี่ยวกับศิลปิน
  • ความต้องการพบปะศิลปิน
  • ความต้องการชมคอนเสิร์ตของนักร้อง
  • การให้ศิลปินเป็นผู้นำทางความคิด

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ของความคลั่งไคล้ศิลปิน การเห็นคุณค่าในตนเอง การเผชิญปัญหาและความสุขเชิงอัตวิสัยของแฟนคลับเยาวชน” โดย ศิรินทร์ ตันติเมธ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55117

 

ภาพจาก https://www.backstage.com/

 

แชร์คอนเท็นต์นี้