Aggression – ความก้าวร้าว

01 Jul 2016

คำศัพท์จิตวิทยา

 

ความก้าวร้าว หมายถึง “พฤติกรรม” ที่มี “เจตนา” ในการทำร้ายหรือทำลายผู้อื่นด้วยวิธีการต่าง ๆ
ที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือทางจิตใจ

 

 

 

ความก้าวร้าวโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเกิดจากสัญชาตญาณและเกิดจากการเรียนรู้ทางสังคม โดยที่

 

  1. สัญชาตญาณความก้าวร้าวเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากร การจับคู่ การป้องกันอาณาเขต มีปัจจัยทางชีวภาพหลายประการที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ยีนส์ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โครงสร้างของสมองและสารสื่อประสาทในสมอง ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. การเรียนรู้ทางสังคม ได้แก่ สภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการเห็นตัวแบบในสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างบรรทัดฐานให้กับบุคคล ทำให้เกิดความชินชาต่อความรุนแรง หรือเป็นส่วนเสริมแรงเมื่อเห็นว่าความก้าวร้าวสามารถนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการได้

 

ทั้งสองส่วนนี้ได้สร้างแนวโน้มความก้าวร้าวที่แตกต่างไปในแต่ละบุคคล ทั้งรูปแบบ วิธีการ และระดับความรุนแรง และบุคคลจะตอบสนองด้วยความก้าวร้าวเมื่อได้รับสิ่งเร้า หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความคับข้องใจ หรือขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของบุคคล

 

 

องค์ประกอบของความก้าวร้าว


 

Bryant และ Smith (2001) ได้นำมาตรวัดความก้าวร้าวของ Buss และ Perry (1992) มาวิเคราะห์โครงสร้างและแบ่งองค์ประกอบของความก้าวร้าวได้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่

 

1 องค์ประกอบด้านพฤติกรรม
  • ความก้าวร้าวทางร่างกาย (physical aggression) หมายถึง การทำพฤติกรรมที่สามารถส่งผลให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายอย่างฉับพลัน อาจมีการใช้อวัยวะทางร่างกายหรือใช้อาวุธในการทำร้ายบุคคลอื่น
  • ความก้าวร้าวทางวาจา (verbal aggression) หมายถึง การใช้คำพูดโดยมีเจตนาที่จะให้บุคคลอื่นได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจ
2. องค์ประกอบด้านอารมณ์

คือ ความโกรธ (anger) หมายถึง อารมณ์ที่ตอบสนองต่อภัยคุกคาม ความรำคาญ การโจมตี ความไม่เป็นธรรม และความผิดหวัง ความโกรธจัดเป็นการกระตุ้นเร้าทางร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมกำหรับการแสดงความก้าวร้าว

3. องค์ประกอบด้านปัญญา

คือ ความเป็นศัตรู (hostility) หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวที่แสดงออกเนื่องจากมีความไม่ไว้ใจหรือหวาดระแวงว่าบุคคลอื่นจะคิดไม่ดีหรือทำไม่ดีกับตน

 

จากการศึกษา นักจิตวิทยาพบว่าความก้าวร้าวทางกายและทางวาจามีความสัมพันธ์กันสูง เพราะเป็นการแสดงถึงพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำร้ายอยู่อื่น ส่วนความโกรธคือตัวเชื่อมระหว่างตัวแปรทั้งสาม โดยความโกรธเป็นตัวแปรทำนายความก้าวร้าวที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความโกรธเป็นสภาวะที่สามารถลดลงได้เมื่อเวลาผ่านไป เหลือเพียงความคิดเชิงลบเข้ามาแทนที่ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความโกรธและความเป็นศัตรู

 

 

ประเภทของความก้าวร้าว


 

เนื่องจากความก้าวร้าวเป็นพฤติกรรมที่นักจิตวิทยาสนใจศึกษากันมาก จึงมีการศึกษาความก้าวร้าวในลักษณะต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดการแบ่งประเภทของความก้าวร้าวได้หลายประเภท

 

แบ่งตามเจตนาหรือลักษณะของแรงจูงใจในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว 

 

Raine et al, 2006 แบ่งความก้าวร้าวออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  1. ความก้าวร้าวแบบโต้กลับ (reactive aggression)
    เป็นความก้าวร้าวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นปรปักษ์ ความหุนหันพลันแล่น ความโกรธ มีลักษณะของการตอบสนองกลับทันทีเมื่อเป้าหมายที่ต้องการถูกขัดขวาง หรือเมื่อเกิดความรู้สึกผิด มีความรู้สึกไวต่ออารมณ์ทางลบ และเกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเองต่ำ ความก้าวร้าวชนิดนี้ต้องอาศัยสถานการณ์ภายนอกเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว โดยมีแนวโน้มตอบสนองต่อสถานการณ์กำกวมว่าเป็นเหตุการณ์ที่เข้ามาคุกคามตนเอง และมีแนวโน้มตีความสถานการณ์ไปในเชิงลบ ความก้าวร้าวแบบโต้กลับเกิดขึ้นเพื่อการป้องกันตนเองเป็นหลัก บางครั้งถูกเรียกว่าความก้าวร้าวแบบปรปักษ์ (hostile aggression)
  2. ความก้าวร้าวแบบเชิงรุก (proactive aggression)
    คือการที่บุคคลใช้ความก้าวร้าวเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาประโยชน์จากบุคคลอื่น หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลหรือสิ่งที่ตนเองต้องการ เช่น เงินทอง การมีอำนาจเหนือ หรือการควบคุมบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีลักษณะของการยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าสิ่งที่ตนสนใจมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่น ๆ และการกระทำความก้าวร้าวของตนเป็นอันตรายไม่มากเท่าความจริง นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการโจมตีหรือรุกรานบุคคลอื่นก่อน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีสถานการณ์ภายนอกมากระตุ้นให้เกิดความโกรธหรือความเป็นปรปักษ์ ความก้าวร้าวแบบเชิงรุกเกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการมีตัวแบบ บุคคลเก็บจำพฤติกรรมความก้าวร้าวของตัวแบบที่ได้รับผลลัพธ์ที่ดี และดึงพฤติกรรมตามตัวแบบมาใช้โดยหวังจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีตามที่เคยเรียนรู้มา ความก้าวร้าวชนิดนี้มีความหมายใกล้เคียงกับความก้าวร้าวแบบใช้เป็นเครื่องมือ (instrumental aggression) ซึ่งหมายถึงความก้าวร้าวเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์บางประการมากกว่าการมีเจตนาทำร้ายบุคคลเป้าหมาย

 

ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างความก้าวร้าวแบบเชิงรุกและแบบโต้กลับคือ บุคคลที่มีความก้าวร้าวแบบโต้กลับจะรับรู้ว่าการกระทำความก้าวร้าวต่อบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีความก้าวร้าวแบบเชิงรุกจะไม่รับรู้ถึงความถูกต้องหรือศีลธรรมใด ๆ มากนัก นอกจากนี้ ความก้าวร้าวแบบโต้กลับขับเคลื่อนด้วยความกลัวและการป้องกันตนเอง ส่วนความก้าวร้าวแบบเชิงรุกมีพื้นฐานการขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกโกรธแล้วจึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวบางอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางประการที่ตนเองต้องการ

 

 

แบ่งตามรูปแบบหรือวิธีการแสดงความก้าวร้าว

 

Cairns และ Cairns (2005) แบ่งความก้าวร้าวออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

 

ทางตรง ทางอ้อม
1. ด้านร่างกาย การทุบตี ชกต่อย การทำร้ายสิ่งของ
2. ด้านวาจา การด่า การต่อว่า การนินทาลับหลัง
3. ด้านที่ไม่ใช่วาจา การมองด้วยหางตา การใช้สายตาล้อเลียนลับหลัง
4. ด้านการกระทำระหว่างบุคคล ให้เพื่อนต่อต้านและไม่รับเข้ากลุ่ม กีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่ม
5. ด้านที่ไม่ได้แสดงออก ทำเป็นเพิกเฉย ไม่เปิดเผยความลับหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวบุคคล

 

 

นอกจากนี้ Archer และ Coyne (2005) ยังกล่าวถึงความก้าวร้าวเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ (relational aggression) คือการแสดงออกถึงความก้าวร้าวเพื่อทำลายความสัมพันธ์หรือความรู้สึก เช่นการต่อว่า การเมินเฉย และความก้าวร้าวทางสังคม (social aggression) คือการแสดงออกถึงความก้าวร้าวที่มีเจตนาทำลายความภาคภูมิใจในตนหรือสถานภาพทางสังคมของผู้อื่น เช่น การแสดงความรังเกียจ การล้อเลียน

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการแสวงหาการสัมผัส ความก้าวร้าวและความปรารถนาในการใช้สื่อที่รุนแรงเพื่อความบันเทิงของนัก เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” โดย อัจฉริยา เลิศอนันต์วรกุล (2548) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6746

 

“อิทธิพลตัวแปรส่งผ่านของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และอิทธิพลตัวแปรกำกับของเพศต่ออิทธิพลการสนับสนุนจากครอบครัวและสภาพการ แข่งขันทางการเรียนต่อความก้าวร้าวและการช่วยเหลือ” โดย สรียา โชติธรรม (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20706

 

“ผลของการมีความรู้สึกร่วมในการเล่นเกมออนไลน์ ต่อพฤติกรรมช่วยเหลือและความก้าวร้าว” โดย ฐิติวัสส์ ไกรนรา, เดชรัตน์ โชติปทุมวรรณ และ นันทพงศ์ ปานทิม (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57926

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อความก้าวร้าว โดยมีการควบคุมตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน และการละเลยศีลธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ : การเปรียบเทียบโมเดลอิทธิพลส่งผ่านที่มีอิทธิพลกำกับระหว่างผู้ต้องขังหญิงและเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง” โดย ชนัญชิดา ทุมมานนท์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69643

 

“โมเดลเชิงสาเหตุของความก้าวร้าวและการศึกษาคลื่นสมองของผู้ที่กระทำผิดซ้ำและคนปกติ” โดย นฤมล อินทหมื่น (2562) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69644

แชร์คอนเท็นต์นี้