ข่าวและกิจกรรม

เศร้าแค่ไหนถึงเรียกว่าซึมเศร้า

 

ชีวิตคนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้กับบางเวลาที่ฟ้าหม่น มีบางครั้งต้องพบเจอกับความโศกเศร้าเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นจากการสูญเสียหรือความผิดหวัง แต่ในบางครั้ง ความเศร้าเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายไปเป็นความซึมเศร้า เราลองมาดูกันนะคะว่า “เศร้าแค่ไหนถึงเรียกว่าซึมเศร้า”

 

ประเด็นหลักที่ควรพิจารณา คือ ระยะเวลาและความต่อเนื่องของความเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้ว หากความเศร้านี้เกิดขึ้นติดต่อกันถึงสองสัปดาห์ มองไปทางไหนก็เหมือนใส่แว่นดำ ทุกอย่างดูมืดมนหดหู่ใจไปหมด อันนี้น่าระวังค่ะ สำหรับเรื่องความเศร้าต่อเนื่องนี้ ยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนใจให้สดใสได้ ต่อให้เป็นงานอดิเรก ดนตรี หรือกีฬาที่เคยชื่นชอบก็ไม่ช่วย เรียกว่าเอาช้างมาฉุด ก็หยุดเศร้าไม่ได้ค่ะ

 

ประเด็นอื่น ๆ ที่มักเป็นสัญญาณความซึมเศร้า คือ มีการเปลี่ยนแปลงของการกินหรือการนอน ไม่ว่าจะกินมากหรือนอนมากผิดปกติ หรือกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกเหนื่อยล้าหมดพลัง หยิบจับอะไรก็ไม่เข้าที่เข้าทาง ติดๆ ขัดๆ หรือลุก ๆ ลน ๆ เกินเหตุ นึกคิดไม่คล่องตัว ใช้ชีวิตประจำวันทำงานทำการด้อยลง พลอยทำให้รู้สึกผิด รู้สึกแย่ ไม่พอใจตัวเอง จนบางครั้งอาจคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตลงก็เป็นได้ค่ะ

 

ความซึมเศร้านั้นมาจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน อาจเป็นเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต สารเคมีในสมองที่ผิดปกติ มุมมองความคิดที่ไม่ช่วยให้แจ่มใสนัก ในปัจจุบันมีแนวทางที่ช่วยลดความซึมเศร้าได้ค่ะ ทั้งจากยา การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด แต่ก่อนที่จะใช้บริการเหล่านี้ จำเป็นที่ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองซึมเศร้าอยู่จะต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียดจากบุคลากรทางการแพทย์ ว่าความเศร้าที่มีจัดเป็นความซึมเศร้าควรได้รับการดูแลเร่งด่วนแล้วหรือยังนะคะ

 

สำหรับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีบริการในส่วนนี้ ผ่านศูนย์สุขภาวะทางจิต

ท่านสามารถติดต่อมาได้ที่ 02-218-1171

และติดตามรับทราบข่าวสารและเรื่องราวดี ๆ ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิตนำมาแบ่งปันได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/WellnessPsyCU/ ค่ะ

 

 

 

ภาพจาก https://www.bustle.com/articles/121550-7-ways-to-differentiate-depression-from-sadness

 

 

 


 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ความทรงจำปลอม

 

ในปี ค.ศ. 1983 หลังจากที่ Nancy Anneatra ได้รับการบำบัดจาก Celia Luasted ผู้ซึ่งยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจิตบำบัดในขณะนั้น Nancy ได้กล่าวหาว่า เธอถูกพ่อกระทำชำเราเมื่อสมัยเธอเป็นเด็ก แม้ว่าสุดท้ายแล้วศาลจะยกฟ้องคดีนี้ แต่ Nancy ได้เปลี่ยนชื่อและตัดขาดกับพ่อแม่ของเธอ จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1995

 

หลังจากที่ Nancy เสียชีวิต แม่ของเธอได้รับเอกสารประวัติการรักษาและพบว่านักจิตบำบัดเป็นผู้มีบทบาทในการทำให้ Nancy ระลึกความทรงจำปลอมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี 1996 พ่อแม่ของเธอฟ้องจิตแพทย์และนักจิตบำบัดว่าหละหลวมในการรักษาและตรวจวินิจฉัย ใช้วิธีสะกดจิตจนส่งผลให้ Nancy สร้างความทรงจำปลอมเกี่ยวกับการถูกข่มขืนโดยพ่อของเธอ

 

พ่อแม่ของเธอชนะคดีนี้ในปี 2001 และได้รับค่าชดเชย 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากความทรงจำปลอมของลูกสาวที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการเข้ารับจิตบำบัด

 

(สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถหาอ่านจากกรณี Sawyer v. Midelfort, No. 97-1969)

 

นักจิตวิทยามีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์ บ้างก็เสนอว่าความทรงจำของคนเป็นเหมือนหน่วยความจำบนฮาร์ดไดรฟ์ ไม่มีวันสูญหาย การลืมเป็นเพียงเพราะไม่สามารถเรียกคืนข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้ แต่นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ความทรงจำของมนุษย์นั้นเปราะบางและถูกปั้นแต่งได้โดยง่าย ทุกครั้งที่เราระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เราไม่ได้เรียกคืนข้อมูลแต่ทว่ากำลังสร้างความทรงจำนั้นขึ้นมาใหม่ และบางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าความทรงจำที่เราแน่ใจหนักหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นความทรงจำปลอม

 

Elizabeth Loftus นักจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychologist) ชั้นแนวหน้าผู้ศึกษาเรื่องความทรงจำปลอม ได้แสดงให้เห็นในงานวิจัยของเธอหลายชิ้นว่า บุคคลสามารถสร้างความทรงจำของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้และเชื่อมั่นในความทรงจำนั้นอีกด้วย ในการทดลองชิ้นหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองได้ดูเหตุการณ์อุบัติเหตทางรถยนต์และถูกขอให้จำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นพวกเขาได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ารถในภาพนั้น “ประสานงา” หรือ “ชน” กัน เมื่อผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองว่าจำได้หรือไม่ว่ามีเศษกระจกแตกกระจายอยู่บนพื้นถนน ผู้ร่วมการทดลองที่ได้รับข้อมูลว่ารถ “ประสานงา” ตอบว่าจำได้เป็นจำนวนมากกว่าสองเท่าของผู้ที่ได้รับข้อมูลว่ารถ “ชน” กัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่มีกระจกรถแตกแม้แต่บานเดียว

 

ถ้าคุณคิดว่าแค่ ‘จำผิด’ คงไม่มีผลอะไรต่อการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่ ขอให้คุณลองคิดดูอีกที เพราะความทรงจำปลอมนั้นมีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา แถมยังคงอยู่ยาวนานอีกด้วย ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการวิจัยได้รับการชี้นำจากผู้วิจัยว่าพวกเขาเคยป่วยเพราะกินสลัดไข่เมื่อสมัยเป็นเด็ก (สลัดไข่เป็นอาหารที่ชาวอเมริกันรับประทานทั่วไป จึงง่ายต่อการสร้างความทรงจำปลอม) และให้ตอบคำถามอีกหลายอย่าง หลังจากนั้นผู้วิจัยทำทีว่าการทดลองนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และให้ผู้ร่วมการวิจัยได้ออกไปพักทานของว่าง โดยมีแซนวิชสลัดไข่เป็นหนึ่งในเมนู ผลปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองที่เชื่อว่าตัวเองเคยป่วยเพราะสลัดไข่ หลีกเลี่ยงที่จะรับประทานแซนวิชสลัดไข่ที่เป็นของว่าง และในอีกสี่เดือนให้หลังเมื่อคนกลุ่มนี้ถูกเชิญมาร่วมงานวิจัยอีกครั้งโดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับงานวิจัยแรก ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มนี้ยังคงหลีกเลี่ยงการรับประทานสลัดไข่อยู่

 

ความทรงจำของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกปั้นแต่งขึ้นทุกครั้งที่มีการระลึกถึงมัน ความรู้ทางจิตวิทยานี้ถูกนำไปใช้ในการสอบพยานบุคคล โดยต้องกระทำด้วยความรัดกุม ปราศจากการชี้นำจากผู้สอบสวน มีวิธีขั้นตอนสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ส่วนในชีวิตประจำวัน เราเองก็ต้องพึงระวังว่าแม้ความทรงจำของเราจะดูแจ่มชัดมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจำได้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ตัวเราก็จำไม่ประมาทหลงมั่นใจในตัวเองเกินไป ในขณะเดียวกันก็อาจจะช่วยให้เราให้อภัยและเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน

 

 

ภาพจาก http://www.thebvnewspaper.com/2018/02/15/memory-workshop-draws-educators-to-campus/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สองวันในโลซาน…เมืองที่เคยขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีเป็นอันดับต้นของโลก

 

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศออสเตรีย แถมได้อยู่เมืองกราซ (Graz) เมื่องที่อยู่ทางตอนใต้ของออสเตรียก็เลยถือโอกาสไปเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสียเลย เพราะไม่ห่างจากกันมาก ในความคิดแรกการมาโลซานคือมาตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใจอยากเห็นแฟลตเลขที่ 16 ที่องค์พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เคยใช้ชีวิตอยู่หลายปีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดูจากแผนที่ก็ดูไม่ห่างจากสถานีรถไฟโลซาน ระหว่างเดินหาแฟลตก็สำรวจเมืองไปด้วย และที่เมืองโลซานนี้เองทำให้ได้รู้จักน้องคนไทย “น้องไอซ์” เป็นคนอุดรธานีโดยกำเนิดแต่ตามครอบครัวมาอยู่โลซานตั้งแต่ 3 ขวบ

 

การมาที่โลซานทำให้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตของนักเรียนที่นี่ จากการพูดคุยกับน้องไอซ์และศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมศาสตร์ที่โรงเรียนโปลีเทคนิคกลางแห่งเมืองโลซาน (École Polytechnique Federale de Lausanne (EPFL)) ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า เด็กที่นี่พัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์ของตนเอง (Self-Concept) หรืออัตลักษณ์ของตนเอง (Self-Identity) ได้เร็ว ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายหรือมัธยมต้นเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วเรารู้ว่าเราเป็นใครมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนคงเคยประสบปัญหา ไม่แน่ใจว่าแท้ที่จริงแล้วเราจะเป็นอะไร เราจะทำงานอะไร เราจะเป็นคนแบบไหน เราจะพบเจอสิ่งที่เราอยากเป็นจริง ๆ ได้เมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่วัยรุ่นหลายคนอยากรู้และต้องหาคำตอบ ซึ่งคำตอบที่จะได้ต้องหาด้วยตัวเอง ส่วนที่ว่าทำไมเด็ก ๆ ที่โลซานจึงหาอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว นั่นเพราะเด็ก ๆ ที่นี่ นอกจากจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องพยายามอย่างมากในการหาความชอบและความต้องการของตน เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอีกทั้งต้องลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนต้องมีอาชีพและทางชีวิตของตน เพราะค่าครองชีพของคนในประเทศนี้สูงมาก หากเทียบกับประเทศออสเตรียแล้วถือว่าสูงกว่าถึงเกือบสองเท่า

 

เด็กที่เมืองโลซานไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ อาจจะเข้าเรียนเพียง 1 ปี หรือ 2 ปีก็ได้ การเรียนในชั้นอนุบาลเน้นเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ การเล่น การออกกำลังกายเป็นหลัก พอเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาเด็กต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ และเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมต้นเด็กจะสามารถเลือกเรียนในโปรแกรมที่ตนถนัดได้ เด็กอาจถูกแบ่งตามความถนัดของตนเอง เกรดที่ได้ หรือเรียนคละกัน ซึ่งก็แล้วแต่ระบบของแต่ละมลฑล พอถึงเวลานี้เด็กส่วนใหญ่เริ่มมองหาลู่ทางชีวิตของตัวเองแล้ว เด็กหลายคนสมัครไปทำงานหลังเลิกเรียนหรือเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่มัธยมต้น เพราะต้องการทดลองดูว่าเขาน่าจะชอบอาชีพรูปแบบไหนมากกว่า เขาถนัดแบบไหนและยังเป็นการประเมินความสามารถที่แท้จริงของตนเองอีกด้วย เด็ก ๆ ที่นี่ไม่ได้เรียนพิเศษ เพราะพ่อแม่ไม่ได้บังคับ เขาเลือกเรียนตามที่เขาถนัด พอจะเข้ามัธยมปลายเด็กก็ต้องคิดและตัดสินใจแล้วว่าตนเองจะเลือกเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ นอกจากวิชาบังคับที่พวกเขาต้องเรียนเด็กสามารถเลือกวิชาเลือก เช่น ช่างไม้ ภาวะผู้นำ การโรงแรม ร้องเพลง ดนตรี การเป็นจิตอาสา เป็นต้น หากเลือกสายสามัญก็จะเรียนตามระบบและเข้ามหาวิทยาลัย หากเลือกสายอาชีพพวกเขาต้องเตรียมตัวฝึกงานไปด้วยเรียนไปด้วย เด็ก ๆ จะได้เงินเดือนจากการฝึกงานและได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญรัฐบาลช่วยค่าเล่าเรียนให้อีกครึ่งหนึ่ง

 

เราคงไม่มาพูดเพื่อเปรียบเทียบว่ารัฐบาลประเทศนั้นประเทศนี้ดีอย่างไร แต่สิ่งที่จะพูดถึงคือ การวางระบบเช่นนี้เป็นการช่วยเด็กให้เข้าใจและตระหนักถึงความชอบ ความถนัดและความสามารถของตนเองได้เร็ว และยังช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกได้ดีมากยิ่งขึ้น ทุ่นเวลาไปได้มากเลยทีเดียว

 

ดังนั้นการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ในแต่ละระดับชั้นจึงช่วยให้เด็กเกิดอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว เมื่อเด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมปลาย เด็ก ๆ ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะไปในสายสามัญหรือสายอาชีพ หากเป็นสายสามัญก็สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อได้ด้วยการสอบเข้า การศึกษาในระดับปริญญาตรีของที่นี่ใช้เวลา 3 ปี แล้วสามารถเรียนต่ออีก 1 ปีครึ่งเพื่อจบปริญญาโท คนส่วนใหญ่ที่นี่จึงจบปริญญาโท

 

ส่วนการศึกษาสายอาชีพ (ซึ่งผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษ) นักเรียนเข้าเรียนในระดับสูงเช่นกัน โดยเลือกตามความถนัดของตนเอง เด็กที่เลือกสายอาชีพต้องฝึกงานตามองค์กรเอกชนไปด้วยและเรียนไปด้วย เด็กเลือกจำนวนวิชาและจำนวนวันที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์ ส่วนวันที่เหลือก็ไปทำงานและฝึกงาน การที่เด็ก ๆ ได้ทำงานและฝึกงานเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงของการทำงาน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ทำงานมาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนเพื่อเพิ่มพูนความเข้มแข็งทั้งในทางทฤษฎี ทางปฏิบัติ และการดำเนินชีวิต เมื่อเลือกเรียนจบสายอาชีพหนึ่ง แต่หากทำงานไปแล้วรู้สึกว่ายังไม่สามาถตอบโจทย์ตัวเองได้ ก็สามารถกลับมาเรียนในระดับเดิมแต่เปลี่ยนสายอาชีพได้เช่นกัน อย่างเช่น น้องไอซ์ก็เลือกเรียนสายอาชีพในตอนแรก เธอเลือกเรียนถ่ายภาพ แต่เมื่อคิดว่าอาชีพช่างภาพยังไม่น่าจะตอบโจทย์ น้องไอซ์จึงกลับมาเรียนสาขาการทำอาหารเมื่ออายุ 26 ปีและตอนนี้ก็กำลังฝึกงานในคลีนิคคนชรา อีกสองปีก็จะจบไปเป็นเชฟ

 

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการพูดคุยกันกับน้องไอซ์ในวันที่สองของการอยู่โลซาน ทำให้คิดถึงพัฒนาการด้านตัวตนของเด็ก ๆ ที่โลซาน และทำให้เข้าใจเลยว่า การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากการประเมินความถนัดและความชอบของตน การได้เลือกจากความชอบ และการได้ลงมือทำลองผิดลองถูกนั้นสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเสริมอัตลักษณ์ของตนเอง การที่ได้เรียนในระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวตนจะช่วยให้เด็กสร้างเสริมตัวตนและบุคลิกภาพของตนเองได้อย่างชัดเจน แต่การผลักภาระให้แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดประโยชน์ เพราะบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือพ่อแม่ การช่วยเหลือและสนับสนุนโดยไม่ขีดเส้นทางชีวิตของลูกโดยพ่อแม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเด็กได้อย่างมาก หากพ่อแม่ลองปล่อยให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ทดลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้ประสบกับความสมหวังและความผิดหวัง น่าจะช่วยให้เด็กประเมินและรับรู้ความสามารถ รวมไปถึงความต้องการของตนเองได้ดียิ่งขึ้น การที่เด็กพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้ดีจะช่วยให้เขาเป็นบุคคลที่มีความมั่นคงทางบุคลิกภาพ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงพฤติกรรมทางสังคมต่าง ๆ ในแง่ดีอีกด้วย ในขณะที่เด็กบางคนไม่สามารถพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมก็อาจทำให้กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกแปลกแยกและมีความซึมเศร้า ในที่สุดเด็กเหล่านี้อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ปัญหาทางอารมณ์และบุคลิกภาพได้

 

หลายท่านอาจยังมองว่าการพัฒนาตัวตนไม่สำคัญ เพราะเดี๋ยวพอโตขึ้นเด็กก็จะเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจตนเองได้เอง จริง ๆ แล้วโลกคงไม่สวยขนาดนั้น เพราะคนที่เป็นทุกข์จากเรื่องนี้ก็คือเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง และเราก็เห็นตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้จากกลุ่มเด็กแว้น เด็กที่อยู่ตามแก๊งอาชญากรรม หรือแม้แต่เด็กที่แปลกแยกจากสังคม จากการศึกษาก็พบว่าเรื่องพัฒนาการด้านตัวตนของเด็กกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่าฝ่ายชี้นำ แล้วให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนจากการได้ลองผิดลองถูก การลงมือทำและการมีประสบการณ์ด้วยตัวของเขาเอง เขาจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เพราะแน่ใจได้เลยว่าหากคนเป็นพ่อเป็นแม่เห็นเขามีความสุข เราก็จะยิ่งมีความสุขยิ่งกว่า

 

 

ภาพจาก https://highereducationdevelopment.wordpress.com/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติ

 

เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจหรือเกิดวิกฤติในสังคม หลายคนต่างติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุค และทวิตเตอร์ ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารแบบนาทีต่อนาที แต่ก็มีหลายครั้งที่ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้รับสาร อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังเลือกที่จะเชื่อข้อมูลข่าวสารจากสังคมออนไลน์อยู่เช่นเดิม คำถามที่น่าสนใจคือเพราะเหตุใด?

 

นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการเปิดรับข้อมูลข่าวสารและพบว่า การส่งต่อข้อมูลข่าวสารแบบ Word-of-mouth หรือ “ปากต่อปาก” จากเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดนั้น เป็นกลวิธีในการเผยแพร่ข้อมูลที่ทรงอิทธิพลและก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อผู้รับสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้รับสารจะเกิดความรู้สึกว่า ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ

 

ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์กรหนึ่ง ออกมาให้ข้อมูลในขณะเกิดภาวะน้ำท่วมว่า ระดับน้ำยังคงทรงตัว อันเป็นผลมาจากการวางแผนขององค์กรของตนเอง เปรียบเทียบกับ นางสาว B ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และเป็นเพื่อนสนิทกับผู้รับสาร ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ระดับน้ำยังไม่แน่นอน ในกรณีนี้ผู้รับสารมักเชื่อถือข้อมูลของนางสาว B มากกว่านาย A เพราะนางสาว B ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการนำเสนอข้อมูลเหมือนกับ นาย A

 

ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้น้ำหนักกับข้อมูลจากบุคคลในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนเองรู้จัก สนิทสนม คุ้นเคย มากกกว่า อย่างไรก็ดี ผู้รับสารก็ยังควรพิจารณาข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ เพราะการส่งต่อข้อมูลแบบ “ปากต่อปาก” นั้นกว่าจะมาถึงเรา ก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน

 

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เมื่อมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในแง่ใดแล้ว ก็มักชอบค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนเพียงอย่างเดียว และเลือกที่จะไม่เปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง

 

นักจิตวิทยาสังคมเรียกลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี่ว่า “อคติในการยืนยันความเชื่อของตน” หรือ Confirmation bias ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลพยายามค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนสมมติฐานของตนเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นอันตรายต่อการตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรมของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติ หรือการเกิดภาวะน้ำท่วม

 

ลองคิดดูว่า หากเรามีอคติในการยืนยันความเชื่อของตน และปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราอย่างแน่นอน จึงค้นหาข้อมูลที่สนับสนุนความคิดที่ว่าน้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราเพียงอย่างเดียว แม้จะมีข้อมูลจากหน่วยงานหนึ่งที่ระบุว่า ย่านที่เราอาศัยอยู่ มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังภัย แต่เราเลือกที่จะไม่เปิดรับหรือเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวเลย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะมีมากน้อยเพียงใด หรือในทางตรงกันข้าม หากเราปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะท่วมที่พักอาศัยของเราแน่นอน จึงค้นหาแต่ข้อมูลที่ระบุว่าน้ำจะท่วมจนทรัพย์สินจะเสียหายทั้งหมด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจมากเกินเหตุ จนอาจเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า และมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนได้

 

ดังนั้นแล้ว การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในยามที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ทางที่ดีที่สุด คือการเปิดรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน พยายามลดอคติที่เกิดขึ้นในใจ และรับฟังข้อมูลข่าวสารด้วยสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

 

 

การแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมต่อประเด็นหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ หรือสังคมออนไลน์

 

หลายๆ คน อาจเคยพบเจอการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ และอาจเคยพบเห็นข้อความหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่าปกติ ยิ่งกว่านั้น หากคุณเคยแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ คุณเคยรู้สึกว่า หลังจากที่แสดงความคิดเห็นบางอย่างไปแล้ว คุณยิ่งรู้สึกว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่แสดงความคิดเห็นลงไปมากขึ้นกว่าเดิม

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีคำอธิบาย….

 

คุณสมบัติสำคัญของการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์คือ Deindividuation หรือการลดอัตลักษณ์ของตนเอง ความหมายก็คือ เราไม่รู้สึกถึงความเป็นตัวเรานั่นเอง ซึ่งเกิดจากการสนทนา การแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์นั้น เป็นการสนทนา และแสดงความคิดเห็นผ่านคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เห็นหน้ากันจริง ๆ ดังนั้น เราจึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงมากกว่าปกติ

 

นอกจากนี้ การที่เราแสดงความคิดเห็นในสภาวะนิรนามเช่นนี้ เท่ากับว่าเราไม่ถูกกดดันจากสังคม หรือบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ เราจึงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่มาจากความรู้สึกนึกคิดของเราจริง ๆ ทำให้เมื่อแสดงความคิดเห็นไปแล้ว เรามักจะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เราคิดจริง ๆ ทำให้ยึดถือในความคิดเห็นของเรามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อยากให้เป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์ หรือให้กำลังใจกันดีกว่า เพราะการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับตนเอง นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดอารมณ์ทางลบอีกด้วย

 

ในช่วงเวลาที่บ้านเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายอย่าง เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงอยากจะติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด นาทีต่อนาที โดยเฉพาะการเลือกรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ของท่าน แต่การใช้เวลาติดตามเฝ้าสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลเสียทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และที่สำคัญ ท่านอาจจะกลายเป็นคนที่ติดอินเทอร์เน็ต หรือสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “Internet addiction” ไปเลยก็ได้

 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่ในบทความออนไลน์ Psychologytoday.com รายงานว่า จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ผลพบว่ากลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ตนเองใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ขณะที่ 40% ของกลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะขับรถ ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การที่บุคคลจดจ่ออยู่กับการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จนเกิดความเคยชินในการรับส่งข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วจากสื่อออนไลน์นี้ ทำให้บุคคลขาดความระมัดระวัง และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และบุคคลรอบตัวจริง ๆ นอกจากนี้ ข่าวที่ปรากฏให้เห็นหลายครั้งก็พบว่า พ่อแม่บางคนให้ความสนใจต่อสังคมออนไลน์มากกว่าการดูแลลูกของตน จนละเลยและทำให้ลูกของตนเองถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

 

ดังนั้น หากคุณเลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้วล่ะก็ ควรระมัดระวังถึงระยะเวลาและความถี่ในการใช้งานด้วย เพื่อจะไม่ตกเป็นทาสของสื่อออนไลน์ การใจจดใจจ่อติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา จนละเลยที่จะทำภารกิจอื่นๆ ที่สำคัญ ก็อาจส่งผลเสียได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์?

 

ครั้งแรกที่ได้ยินคำถามนี้ ดิฉันเกิดคำตอบขึ้นมาทันทีว่า ทำตัวตามสบาย ตามปกติสิ ไม่เห็นจะต้องมี “How to” เพื่อมารับมือหรือจัดการกับ “ปัญหา” นี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาวิเคราะห์อีกที การที่ครอบครัวในสังคมของเรายังมีคำถามนี้อยู่ อาจหมายความว่า เรายังมีความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจอยู่ และอาจจะยังไม่พร้อมที่จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติทั่วไป คาดว่าคงไม่มีใครเคยถามว่า ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกไม่ใช่เกย์?

 

ดังนั้นเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของคนในครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของลูก ๆ บทความนี้จึงอยากเชิญชวนให้พ่อแม่ และผู้ปกครองลองอ่านเพื่อเกิดความเข้าใจ และประเมินการกระทำ คำพูดที่เรามีต่อลูกที่มีความรักที่หลากหลาย

 

เรื่องทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเกย์นี้ เราอาจจะมองได้ 2 ประเด็นคือ ลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ หรือ เราสงสัยว่าลูกเป็นเกย์ แต่ลูกไม่กล้าหรือยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยกับเรา

 

ในประเด็นแรก หากลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ ขอให้คุณพ่อคุณแม่จงชื่นชมที่เขากล้าที่จะมาเปิดเผยกับเรา เพราะนั่นแปลว่าลูกเราไว้ใจและสนิทใจกับเรามากเพียงพอที่จะเปิดเผยตัวตนของเขาแก่เราได้ จงรักเขาให้มากกว่าเดิม และบอกเขาว่า เราดีใจที่เขาสามารถบอกเราเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าลูกเป็นอย่างไรพ่อกับแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม อย่าทำให้เขาผิดหวังหรือทำให้เขากังวลว่าเขาอาจจะทำให้เราผิดหวัง พ่อแม่บางคนจะพูดกับลูกว่า “ตอนนี้จะเป็นอะไรก็ได้ เดี๋ยวต่อไปก็เปลี่ยนเอง” ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับในตัวลูกนะคะ แต่จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่ได้ยอมรับเขาอย่างเต็มที่และเรายังอยากให้เขาเปลี่ยนเป็นลูกในแบบที่เราต้องการ (กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา, 2559)

 

ลูกทุกคนจะมีความกลัวว่าตนเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลัวว่าพ่อแม่จะไม่รักถ้าเราไม่เป็นหรือทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ อย่าสร้างความกลัวหรือความกังวลให้ลูกเลยค่ะ เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา พ่อแม่บางคนจะเข้าใจผิดว่าลูกเลือกที่จะเป็นเกย์ หรือการเป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติ หรือพ่อแม่บางคนจะโทษตนเองที่ทำให้ลูกเป็นเกย์ อย่าคิดหรือพูดเช่นนั้นกับลูกเด็ดขาดค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกผิดและเสียใจ ความชอบในเพศใดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกกันได้นะคะ เราลองถามตัวเองดูสิคะว่า เราเลือกที่จะชอบคนต่างเพศรึเปล่า หากพ่อแม่ยอมรับไม่ได้เมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์นั้น คนที่ต้องปรับตัวและปรับทัศนคติจะไม่ใช่ลูก แต่เป็นพ่อแม่นั่นเองค่ะ

 

อีกประเด็นที่ว่าถ้าเราสงสัยว่าลูกอาจจะเป็นเกย์ แต่ไม่กล้ามาบอกเรา เราควรจะทำอย่างไรดี

 

ขอให้พ่อกับแม่ค่อย ๆ ชื่นชมบุคคลที่เป็นเกย์ในสังคมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าลูกจะมีเพศอะไร หากลูกเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคม ลูกก็จะเป็นที่รักและน่าชื่นชมในสายตาพ่อแม่และคนในสังคม พ่อแม่บางคนไม่มีสติ ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองพูดนี่เองที่ทำให้ลูกไม่กล้าเข้ามาเปิดใจคุยกัน พ่อแม่บางคนเผลอพูดจาล้อเลียนหรือดูถูก กดขี่บุคคลรักเพศเดียวกัน หารู้ไม่ว่าลูกของเรากำลังสังเกตและจดจำว่าพ่อแม่ของเขามีทัศนคติอย่างไรต่อบุคคลเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเข้าไปคุยกับพ่อแม่ หากเราต้องการให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจเรา เราต้องปรับทัศนคติ การกระทำ และคำพูดของเราให้ได้ก่อนนะคะ จากนั้นหาโอกาสบอกลูกไปตรง ๆ ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนเดิม ประโยคนี้เป็นประโยคที่ลูก ๆ หลายคนอยากได้ยินที่สุดจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

 

 

 

อ้างอิง

 

กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา. (2559). ประสบการณ์ชีวิตของเลสเบี้ยน เกย์และไบเซ็กชวลภายหลังการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศของตนเองต่อบิดาและมารดา. โครงการทางจิตวิทยา ปริญญาบัณฑิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ช่างมัน” เสียบ้างก็ดี แต่จะให้ดีอย่าเผลอ “ช่างมัน” ไปซะทุกเรื่อง

 

Giving a damn for something you want to live for…

 

คุณเคยพูดกับตัวเองไหมว่า “ช่างมันเถอะ” กับหลาย ๆ เรื่องในชีวิต ลองนึกย้อนดูว่าคุณพูดอย่างนั้นในเรื่องอะไรบ้าง หากเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลืมหยิบสินค้าที่ราคาไม่แพงของจากร้านค้าหลังชำระเงินแล้ว โดนคนแซงคิวซื้ออาหารตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน ได้ยินคนในที่ทำงานนินทาว่าร้ายเราเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรถยนต์ถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวกระจกข้างเป็นแผลนิด ๆ หน่อย ๆ

 

“ช่างมันเถอะ” ดูจะเป็นวิธีคิดต่อสถานการณ์ที่ดี เพราะหากคุณปล่อยวางกับเรื่องหยุมหยิมเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตของคุณน่าอยู่ขึ้น ไม่ทำให้คุณคิดหมกมุ่นวุ่นวายใจ หัวเสียเจียนบ้า เสียเวลาคิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องจนทำให้หมดพลังงานที่จะสามารถไปทำอย่างอื่นที่จำเป็น การ “ช่างมัน” ในเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญ คุณอาจจะต้องใช้ทักษะในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน หรือ การมีสติ (mindfulness) ซึ่งเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ และช่วยให้เราเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ปล่อยวางและหยุดคิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ถ้าทำได้แล้วอาจทำให้เราเห็นโลกในมุมที่รื่นรมย์ยิ่งขึ้น ความคิดและความรู้สึกโปร่งเบา ไม่ต้องแบกไปเสียทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ถ้าสังเกตให้ดี สิ่งที่เราเลือกจะ “ช่างมัน” เพื่อช่วยให้จิตใจเราดีขึ้น มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง ก็มักเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา การเก็บเรื่องเหล่านี้มานั่งเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันหรือกลุ้มใจจนหน้าดำคร่ำเครียดนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร รังแต่จะทำให้เสียสุขภาพจิต เราจึงเลือกใช้วิธีคิดแบบปล่อยวาง หรือปลง เพื่อให้จิตใจเป็นสุข

 

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องแยกแยะเรื่องที่จะ “ช่างมัน” ด้วยเหมือนกัน มิฉะนั้นจากเรื่องที่ควร “ปล่อยวาง” จะกลายเป็น “ละเลย” สิ่งที่สิ่งที่สำคัญไปเสีย

 

หากเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่พิจารณาแล้วว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียขึ้นได้อีกในอนาคตหรือสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ การเลือกที่จะ “ช่างมัน” อย่างนี้จะกลายเป็น “ละเลย” และประมาทกับอนาคตจนเกินไป แม้การใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จะช่วยให้เราเป็นสุข เมื่อเผชิญเรื่องแก้ไขไม่ได้หรือเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย แต่ก็ควรระวังตัวเองไม่ให้ใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จนเคยชินเป็นนิสัย จากแค่ “ปล่อยวาง” ให้ใจสบาย อาจจะเลยเถิดไปถึง “ละเลย” เรื่องสำคัญของชีวิตไปได้

 

อย่าปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวพัดพาให้เรารู้สึกว่า ช่างมัน กับทุก ๆ เรื่องไปเสียหมดจนสุดท้ายเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ก็แค่ทำสิ่งที่ควรจะทำเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ พาให้เรารู้สึกเหมือนกับจะใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยขาดซึ่งความหมายหรือแก่นสารในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งขับเคลื่อนสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและสุขภาวะที่ดี

 

ทฤษฎี Self-Determination Theory/SDT หรือการกำหนดตนเอง กล่าวถึงความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของมนุษย์ (psychological needs) 3 อย่าง ได้แก่ ความสามารถ (competence) การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relatedness) และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ (autonomy) ล้วนเป็นสิ่งที่หากเราได้ตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้านนั้นจะจูงใจให้เราลุกขึ้นมา ริเริ่ม ทำสิ่งต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำตามหน้าที่และยอมรับบรรทัดฐานของสังคมที่เรายึดถือ อีกนัยหนึ่งก็คือ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มาจากแรงจูงใจภายใจตัวเรา

 

จริง ๆ แล้วความต้องการทางจิตใจพื้นฐานดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนกับความต้องการทางกายภาพ สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้นั้น ทั้งมนุษย์ ต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์โลกนั้น ต่างมีความต้องการทางกายภาพ เช่น ออกซิเจน น้ำ และสารอาหาร ซึ่งเราต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่หากเราขาดแคลนสิ่งเหล่านี้เราก็จะทุกข์ทรมาน ดังนั้นการสร้างปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในตัวเอง อย่างบรรยากาศ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสเข้าถึงความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากก็ตาม (ให้ตัวเรารู้สึกถึงว่ามีความชำนาญหรือความถนัดในบางอย่างที่ท้าทาย) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (เช่น ได้รับการสนับสนุน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมหรือกลุ่มนั้นๆ) และมีอิสระในการตัดสินใจหรือรู้สึกถึงว่าตนสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ (ไม่ใช่แค่ให้นายสั่งเท่านั้น หรือทำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น) ก็จะทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมุ่งหวังหรือมุ่งมั่นให้สำเร็จจนได้

 

หากเราละเลยการรักษาระดับแรงจูงใจภายในที่จะผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกับตัวเรา นอกจากความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของเราจะพร่องหรือถูกละเลยแล้ว ก็จะทำให้ตัวเราจมอยู่กับสิ่งที่เราไม่ต้องการจะทำ แต่ทำสิ่งนั้นให้ผ่านไปวันหนึ่งอย่างแกนๆ เท่านั้น แรงจูงใจภายในนั้นสำคัญมากเพราะจะเป็นพลังผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จในระยะยาว รวมถึงนำไปสู่ความรู้สึกภูมิใจต่อคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ตัวเองได้ลงมือกระทำอย่างแท้จริง ต่างจากแรงจูงใจที่เกิดจากภายนอกตัวเรา เช่น รางวัล คำชม หรือกำหนดเวลา deadline ต่าง ๆ ที่แม้จะกระตุ้นให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงสภาวะชั่วคราว ไม่ยั่งยืน หากขาดรางวัลหรือปัจจัยกระตุ้น อีกทั้งไม่ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิหรือความหมายลึกซึ้งต่อผลงานที่ได้รับ

 

อย่างนี้แล้ว การสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งตนเองและคนอื่นรอบตัวเรา เช่น บุตรหลาน พนักงาน นักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่สามีหรือภรรยา พึงระวังว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนทำสิ่งต่าง ๆ ต้องแยกแยะระหว่างความต้องการที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างแท้จริง หรือเพียงแค่ต้องการควบคุมพฤติกรรมด้วยการใช้สิ่งจูงใจภายนอก (เงิน หรือ รางวัล ต่าง ๆ)

 

หากเราต้องการสร้างแรงจูงใจที่ยั่งยืนและช่วยสร้างคุณค่าและความหมายของการกระทำสิ่งต่าง ๆ ก็ควรสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจจากภายในตัวบุคคล – – สื่อสารกับตนเองหรือเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน – – เรียนรู้ความต้องการของตนเองหรือเป้าหมาย แทนที่จะควบคุมกำกับให้ทำตาม – – และเปิดโอกาสให้ตนเอง/เป้าหมายได้ลงมือทำ เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ไม่ท้าทายมาก เพื่อลิ้มรสความสำเร็จ สร้างความรู้สึกถึงความสามารถ ความชำนาญ ที่ทำให้วงจรแรงจูงใจจากภายในหมุนล้อขับเคลื่อน การทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีคุณค่า มีความหมาย และยั่งยืน

 

 

 

ภาพจาก http://sourcesofinsight.com/find-your-drive-the-keys-to-motivation/

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

มารักตัวเองกันเถอะ

 

ในวิชาทางจิตวิทยาสังคมที่ดิฉันสอนในเทอมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้มอบหมายให้นิสิตหาบทความทางจิตวิทยาในหัวข้อที่ตนสนใจมาอ่าน แล้วอภิปรายเชื่อมโยงกับเรื่องราวในชีวิตของตนเอง เพื่อให้นิสิตได้หัดค้นคว้าและเห็นว่า “จิตวิทยาสังคมมีประโยชน์นะจ๊ะ”

 

ปรากฏว่า นิสิตหลายคนส่งงานมาในหัวข้อ การเห็นคุณค่าของตนเอง หรือ self-esteem ค่ะ ส่วนใหญ่ทำมาในแนว “ทำอย่างไรดี รู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเองเท่าไร” “อยากเพิ่ม self-esteem”

 

หนึ่งในบทความที่นิสิตอ่านแล้วส่งมาก็คือหน้าเว็บไซต์ในบรรณานุกรมค่ะ ได้บอกวิธีง่าย ๆ ในการเพิ่มความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองของคนเรา เมื่อนำมาผนวกกับงานวิจัยสมัยใหม่อื่นๆ สรุปเป็นไอเดียจำง่าย ๆ และทำก็ง่าย ได้ดังนี้ค่ะ

 

“ถ้าอยากภูมิใจ ต้องใช้ความสามารถก่อน” และ “รักตัวเองให้หมดใจ ต้องรับได้ทั้งร้ายทั้งดี”

 

 

1. ถ้าอยากภูมิใจ ต้องใช้ความสามารถก่อน

 

หลักการง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอยากให้ตัวเองเก่งขึ้น ดีขึ้น น่าคบมากขึ้น มีอะไรดี ๆ ให้ภูมิใจ ก็ต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จค่ะ เราไม่สามารถจะนั่งคิดและมั่นใจไปผิด ๆ ว่าตัวเองเจ๋งอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งที่ไม่จริงได้ เสียเวลาเปล่า ๆ ถ้าอยากพัฒนาตัวเองให้มีอะไรดีเด่นมากขึ้นก็ต้องฝึกฝนลงมือทำ เริ่มต้นง่าย ๆ ค่ะ

 

ถามตัวเองว่า เรามีจุดแข็งอะไร เราถนัดอะไร มันต้องมีสักอย่างสองอย่างสิน่า เจียวไข่ก็ได้ เล่นเกมออนไลน์ก็ได้ อะไรก็ได้ แค่ต้องเอาดีให้ได้

ลุกขึ้นมาลงมือทำสิ่งนั้น ความสำเร็จมักจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ก็มันเป็นงานที่เราถนัดนี่นา จริงมั้ยคะ

 

“ผมชอบเล่นเกม เอาดีทางนี้ก็ได้ใช่มั้ยครับอาจารย์” เอ้า… เอาเลยค่ะ ให้เป็นแชมป์ไปเลย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่การประสบความสำเร็จค่ะ สิ่งนี้แหละจะทำให้เราภูมิใจในตัวเองมากขึ้นและเห็นว่าเราก็มีดีเหมือนกันนะ การเห็นคุณค่าของตัวเองนั้นมีโครงสร้างที่ง่ายมาก ๆ ก็คือ เมื่อใดที่นึกถึงตัวเองขึ้นมา เราก็ควรจะรู้สึกดี เช่น มั่นใจ ภูมิใจ ดีใจที่เราเป็นตัวเองแบบนี้ รู้สึกยอมรับและไม่รังเกียจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเชื่อมโยงตัวเราเองเข้ากับสิ่งดี ๆ เช่น การประสบความสำเร็จในอะไรสักอย่าง เมื่อทำได้แล้วเมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงตัวเอง ความรู้สึกภูมิใจก็จะเกิดตามมา คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปกป้องประคบประหงมลูกจนเกินไปไม่ยอมให้หยิบจับทำอะไรที่ลำบากเลย เพราะเขาจะไม่เคยได้พบว่าตัวเองทำได้ และไม่เคยได้เกิดความภูมิใจในตัวเองค่ะ

 

 

2. รักตัวเองให้หมดใจ ต้องรับได้ทั้งร้ายทั้งดี

 

“อาจารย์ครับ แต่กว่าจะได้เป็นแชมป์เกม ก็แพ้อยู่ตลอด ๆ แล้วเมื่อไรจะภูมิใจในตัวเองได้สักทีล่ะครับ” หนทางสู่ความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ง่าย เราน่าจะต้องแพ้ ผิดพลาด ต้องอด หรือทำไม่ได้ดีมาก่อน หรือเราอาจจะพบว่าตัวเองมีจุดอ่อนหรือไม่ได้เรื่องในบางเรื่อง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาสมัยใหม่เสนอว่า การเห็นคุณค่าของตนเองที่แท้จริง คือ การยอมรับและให้ความเมตตาแก่ตัวเอง โดยเฉพาะในจุดอ่อนหรือข้อด้อยของเรา ไม่มีใครดีไปหมดทุกอย่าง แล้วทำไมเราจึงจะคาดหวังให้ตัวเองไม่มีข้อด้อยอะไรเลย? ดิฉันเองเป็นคนขี้ลืมอย่างร้ายกาจจนทำให้เสียการเสียงานมาแล้ว นึกถึงทีไรก็เจ็บแปล๊บที่หัวใจ และกังวล เบื่อตัวเองและรู้สึกว่าเราไม่ได้เรื่อง แต่หากเรามองตัวเองด้วยความเมตตาและให้อภัย เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า เราก็เป็นมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง ย่อมจะมีข้อด้อยข้อผิดพลาดได้ การตระหนักดังนี้น่าจะช่วยให้เรายอมรับตัวเองทั้งร้ายและดีอย่างที่เราเป็น ได้ไม่ยากค่ะ แหม… เวลามีแฟน เราทุกคนก็มักจะหวังให้เขารักเราในแบบที่เราเป็น แล้วตัวเราเองละคะ ทำไมถึงรับตัวเองไม่ได้

 

เมื่อเราสามารถยอมรับตนเองทั้งร้ายและดีได้แล้ว ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตก็จะไม่สามารถทำอะไรเราได้มาก เพราะแม้ประสบความสำเร็จเราก็รักตัวเอง แม้ล้มเหลวเราก็ยังรักตัวเองในแบบที่เป็น แบบนี้จึงจะเป็นการเห็นคุณค่าในตัวเองที่คงทนยืนยาวค่ะ

อ่านจบแล้วอย่าลืมให้กำลังใจคนในกระจกด้วยนะคะ ^v^

 

รายการอ้างอิง

 

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-squeaky-wheel/201604/5-ways-boost-your-self-esteem-and-make-it-stick

 

 


 

 

บทความวิชาการ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

ความเชื่อและค่านิยมของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

 

 

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาด ที่ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าวัยรุ่น เช่น ครีมทาผิวขาว ครีมรักษาสิว รอยแผลเป็น น้ำผักผลไม้ผสมคอลลาเจน อาหารเสริมลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

จากงานวิจัยในประเทศแคนาดาของ เบลล์ และคณะ เมื่อปี 2547 ได้ทำการสำรวจวัยรุ่นแคนาดาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่น ผลการวิจัยพบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีการบริโภคอาหารเสริม โดยวัยรุ่นเพศหญิงบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อความงามมากกว่าวัยรุ่นเพศชาย โดยเฉพาะสมุนไพรควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้กลุ่มผู้วิจัยตระหนักถึงแรงจูงใจในการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่นว่า อาจมาจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารเสริม เช่น เชื่อว่าช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายหรือช่วยให้มีรูปร่างที่ดีขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็นได้

 

สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเช่นกัน โดย ลักขณา อังอธิภัทร และคณะ ได้ศึกษาในปี พ.ศ. 2551 ถึงพฤติกรรมการบริโภค และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.2 บริโภคอาหารเสริมและยังคงบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนร้อยละ 20.3 นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้และการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในระดับต่ำ โดยเข้าใจและเชื่อตามโฆษณา ว่าสามารถช่วยรักษาโรค บำรุงร่างกาย ลดความอ้วน และเสริมความงามได้ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าหากผู้บริโภครับประทานแต่อาหารเสริมเพียงอย่างเดียว โดยมุ่งวัตถุประสงค์ตามการโฆษณา อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

 

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรเข้ามาดูแลควบคุมการโฆษณา และทำการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเสริมความงาม ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

 

 

พฤติกรรมการลดน้ำหนักของวัยรุ่นและผลกระทบด้านลบจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก


 

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการลดความอ้วนของวัยรุ่นไทย ของ ศิวรักษ์ กิจชนะไพบูลย์ ที่ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง ปี พ.ศ. 2554) พบว่าวัยรุ่นไทยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอก ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเอง รับรู้ว่าตนเองอ้วน ในขณะที่เกณฑ์น้ำหนักอยู่ในระดับสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนี้เกิดพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีการใช้ยาลดน้ำหนัก การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการดื่มกาแฟลดน้ำหนัก

 

นอกจากนี้สื่อโฆษณาต่าง ๆ ในปัจจุบันเน้นการนำเสนอนางแบบที่รูปร่างหน้าตาภายนอก การมีหุ่นที่ผอมเพรียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งส่งผลตอกย้ำให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพื่อต้องการให้ตนมีรูปร่างผอมหุ่นดีเหมือนนางแบบในโฆษณา

 

การที่วัยรุ่นมีแนวโน้มลดน้ำหนักเพื่อให้รูปร่างตนเองผอมเพรียวเหมือนดาราในโฆษณา อาจนำไปสู่พฤติกรรมการลดน้ำหนักแบบผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนมายังวัยรุ่นถึงการบริโภคอาหารเสริมว่า วัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิง บริโภคอาหารเสริมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด แคปซูล ชงดื่ม หรือในรูปแบบของวิตามินต่างๆ เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการบริโภคอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวนี้ ส่งผลทางลบอย่างมากต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และมีภูมิต้านทานโรคต่ำได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่วัยรุ่นมีให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป อาจส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนั้น มีพฤติกรรรมการลดน้ำหนักที่ผิดวิธี และทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงของการศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น


 

วัยรุ่นปัจจุบันมีต้นแบบความงามจากดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบ ซึ่งต้นแบบเหล่านี้มีหน้าตาที่สวยหล่อทั้งจากธรรมชาติ หรือจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม จากการสำรวจของสำนักเด็กดีโพล ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าเยาวชนไทยในปัจจุบัน มีค่านิยมในการทำศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อให้ตนเองดูดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจ โดยมีดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบเป็นต้นแบบด้านความงาม

 

สำหรับวงการวิชาการมีนักวิจัยหลายท่านให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมของวัยรุ่น เช่น งานวิจัยของ Lunde (ลุนเด้) ศึกษาทัศนคติของวัยรุ่นชาวสวีเดนต่อการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะยอมรับการศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่า โดยวัยรุ่นหญิงที่อยากมีรูปร่างผอมบาง มักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้วัยรุ่นหญิงที่ชอบอ่านบล็อกความงามแฟชั่น ก็มีความสัมพันธ์กับการอยากมีรูปร่างที่ผอมบางมาก และมักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงาม นอกจากนี้ ผลการวิจัยวัยรุ่นอังกฤษของ Swami ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น

 

จะเห็นได้ว่าทั้งต้นแบบ ซึ่งเป็นดาราหรือศิลปินที่มีหน้าตาและรูปร่างที่วัยรุ่นชื่นชอบ รวมทั้งสื่อ ที่มีการนำเสนอต้นแบบกลุ่มนี้ ล้วนส่งอิทธิพลต่อวัยรุ่นในการเลียนแบบ เพื่อให้ตนเองมีรูปร่างหน้าตาที่ดีเหมือนต้นแบบ และนำไปสู่การทำศัลยกรรมเสริมความได้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และดูแลพฤติกรรมสุขภาพความงามของวัยรุ่นให้หมาะสมและปลอดภัย

 

Markey และ Markey ได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจในการเข้ารับบริการทำศัลยกรรมเสริมความงาม กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 ผลการวิจัยพบว่าความสนใจในการเข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม มีความสัมพันธ์กับน้ำหนัก ความไม่พึงพอใจในรูปร่าง สื่อ และความน่าดึงดูดใจทางร่างกาย งานวิจัยสรุปว่าผู้หญิงที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตน มีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรม เช่นเดียวกับ งานวิจัยของ Farshidfar และคณะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการยอมรับการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอิหร่าน อายุ18 ถึง 20 ปี มีการทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด โดยปัจจัยด้านภาพลักษณ์ทางร่างกายและการเห็นด้วยกับการทำศัลยกรรม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงาม

 

สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2552 สำนักเด็กดีโพล สำรวจค่านิยมการทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่นไทย จำนวน 5,074 คน พบว่า วัยรุ่นสนใจการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยกลุ่มนักศึกษา สนใจทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด นอกจากนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่รับรู้ว่า การทำศัลยกรรมความงามในปัจจุบันมีความปลอดภัย โดยพบว่าการเสริมจมูกเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการทำหน้าใส กรีดตาสองชั้น การฉีดปากให้อวบอิ่มหรือผ่าตัดปากให้บาง การเสริมคาง การตัดกรามทำหน้าเรียว และการเสริมหน้าอก ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ตัดสินใจทำศัลยกรรม คือ ต้องการให้ตัวเองดูดี เพื่อผลประโยชน์ในหน้าที่การงาน และทำเพราะพ่อแม่สั่งให้ทำ

 

 

ปัญหาที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามไม่ถูกวิธีหรือเข้ารับบริการสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน


 

ปัจจุบันพบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีส่วนผสมจากสารต้องห้าม เช่น สารปรอท สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ เป็นต้น

 

ตัวอย่างผลกระทบด้านลบ เช่น เครื่องสําอางทาสิวหรือทำให้หน้าขาวที่ผสมสารปรอท ส่งผลให้เกิดการแพ้ มีผื่นแดง ผิวหน้าดำ เครื่องสำอางที่ผสมกรดวิตามินเอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้าแดง ระคายเคือง อาการแสบร้อนรุนแรง ผิวหนังอักเสบ ผิวลอกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

 

นอกจากนี้ ปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดวิธี นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมฉีดผิวให้ขาวด้วยสารกลูต้าไธโอน โดยฉีดเป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อเร่งให้ได้ผิวขาวเร็วขึ้น โดยการฉีดอย่างต่อเนื่องและเกินขนาด 2-3 เท่าตัว ทำให้เม็ดสีผิวลดลง ภูมิต้านทานของผิวลดลง เกิดอาการระคายเคือง แพ้แสงแดดได้ง่าย เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง และอาจส่งผลกระทบให้จอประสาทตาอักเสบ จนอาจนำไปสู่การตาบอดได้

 

เช่นเดียวกันสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบพบว่า สถานเสริมความงามหลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน มีการนำยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอมมาใช้ เช่น คอลลาเจน โบท็อกซ์ กลูตาไธโอน วิตามินซี รกแกะ นอกจากนี้ยังนำเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดกับอย.มาให้บริการ ซึ่งการเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่ขาดมาตรฐาน อาจทำให้วัยรุ่นตกเป็นเหยื่อและได้รับอันตรายจากเข้ารับบริการเพิ่อเสริมความงามได้

 

ดังนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามหรือการทำศัลยกรรรมเสริมความงามกับกลุ่มวัยรุ่น ก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภคได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

มันน่าจะทำให้เรามีความสุข

 

คนทุกคนย่อมมีสิ่งที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นใหญ่ ๆ ตั้งแต่บ้านที่อยู่อาศัย หรือรถคันใหม่ หรือเป็นเพียงแค่ของชิ้นเล็ก ๆ เช่น กระเป๋าใบใหม่ หรือเสื้อผ้าตัวใหม่

เราทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า เมื่อเราได้ครอบครองสิ่งนั้นแล้ว เราน่าจะมีความสุขมากขึ้น

 

เราน่าจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านหลังใหม่ เมื่อได้ขับรถคันใหม่ เมื่อได้ใช้กระเป๋าใบใหม่ หรือได้ใส่เสื้อผ้าตัวใหม่

 

ลองนึกถึงเมื่อเรากำลังจะซื้อรถคันใหม่ เราบอกกับตัวเองถึงข้อดีต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับรถคันนั้น อาจจะเปรียบเทียบกับรถคันเดิมของเรา หรืออาจจะเปรียบเทียบกับชีวิตของเราเมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถ

 

รถคันใหม่ทันสมัยกว่า ประหยัดน้ำมันมากกว่า เครื่องยนต์แรงกว่า และตัวถังสวยกว่ารถคันเก่า หรืออาจจะคิดว่า เมื่อเรามีรถ ชีวิตเราจะสะดวกสบายว่าเมื่อก่อนครั้งที่เรายังไม่มีรถส่วนตัวมากเพียงใด

 

เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เรามักจะสรุปว่า การซื้อรถคันใหม่ย่อมทำให้เรามี “ความสุข” มากขึ้นได้แน่นอน

 

บางคนอาจจะคิดว่าในการซื้อรถคันใหม่ นอกจากจะทำให้เกิดความสุข หรืออารมณ์ทางบวกที่เกิดจากความพึงพอใจแล้ว อาจจะยังทำให้เกิดความทุกข์ได้กับปัญหาหลาย ๆ ประการที่อาจจะตามมา

 

การซื้อรถคันใหม่สักคัน อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การประกันภัย ไปจนถึงการซ่อมบำรุงประจำปี สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาซึ่งความทุกข์หรือทำให้ความสุขของเราลดลงได้

 

การได้มีประสบการณ์กับสิ่งของใหม่ ๆ ที่เราซื้อมานั้น จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ตามที่เราได้คาดเอาไว้ก่อนแล้วหรือไม่?

 

เราสามารถคาดการณ์ “ประสบการณ์” ของตัวเองได้ดีแค่ไหน แล้วถ้าประสบการณ์นั้นเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการด้วยแล้ว เราจะสามารถบอกได้ถูกต้องแม่นยำเพียงใดว่า เราจะมีความสุขมากเพียงใดเมื่อเราได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้จะมีด้วยกัน 3 แบบ คือ

 

  • แบบแรก ความสุขที่เราได้รับเมื่อ “ใช้” รถนั้น พอ ๆ กับระดับของความสุขที่เราคิดเอาไว้เมื่อตอนกำลังที่จะซื้อรถ
  • แบบที่สอง ความสุขที่เราได้รับนั้น มากกว่าที่เราคิดเอาไว้
  • และแบบสุดท้าย ความสุขที่เราได้รับนั้น น้อยกว่าที่เราคิดเอาไว้

 

ในความเป็นจริง เรามักจะคาดการณ์ระดับความสุขมากเกินความเป็นจริงเมื่อเรากำลังตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ มีคำอธิบายและทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีอยู่สามคำอธิบายที่น่าสนใจ

 

 

1. ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์

 

มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวที่น่าเหลือเชื่อมาก เมื่อพูดถึงความสามารถในการปรับตัว หลายคนอาจจะนึกไปถึงการที่มนุษย์ไปอาศัยอยู่ ในที่ที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวจัด หรือร้อนจัด หรืออาจจะนึกไปถึงการที่ต้องปรับตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น คนเราสามารถปรับตัวในเรื่องความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความสุข ความทุกข์ ได้เช่นเดียวกัน หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ เรา “เคยชิน” ได้เร็วนั้นเอง

เราอาจจะนึกไปถึงคนรู้จักที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตึงเครียด หรือน่าหดหู่ แต่ถ้าลองสังเกตดู พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา หรืออย่างน้อย ระดับความทุกข์ของเขานั้นก็ไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความสุขก็เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนเรามีความสุขมาก ๆ เราก็ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา ความสุขของเรานั้นก็อาจจะไม่ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น

 

นักจิตวิทยาตั้งสมมติฐานว่า คนเรามี “จุดสมดุลของความสุข” ซึ่งจุดสมดุลนี้เปรียบเสมือนระดับความสุขพื้นฐานของบุคคล

 

ถ้าเรามีระดับความสุขมากหรือน้อยกว่าระดับความสุขพื้นฐานนี้ เราก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวให้ระดับความสุขของเราใกล้เคียงกับระดับพื้นฐานมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมคล้ายเดิมก็ตาม

 

การปรับตัวเข้าสู่ระดับสมดุลนี้เองเป็นคำอธิบายประการหนึ่งสำหรับคำตอบที่ว่า คนเรามักจะคาดการณ์ “ระดับความสุข” ของตัวเองมากเกินกว่าระดับที่พวกเขาจะมีเมื่อได้รับประสบการณ์จริง

 

ในการซื้อรถคันใหม่ เมื่อเราเริ่มใช้รถไปสักพัก แน่นอนว่าระดับความสุขของเรา จากที่เคยมีมากและห่างจากจุดสมดุลของความสุข มันก็จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ เข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น กลายเป็นว่าระดับความสุขหลังจากนั้นน้อยกว่าระดับความสุขที่เรา “คาด” ว่าจะมีก่อนซื้อรถ

 

อาจจะมีการเข้าใจกันผิดไปว่า “ความสุข” ของคนเรานั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนยาวนานได้ เพราะเรามีจุดสมดุลของความสุขที่คงที่ จุดสมดุลของความสุขนี้เปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน จะค่อยเป็นค่อยไปเสียมากกว่า และจะเกิดจากการที่บุคคลมีความคิด มุมมอง และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมโดยตรง

การปรับระดับของความสุขเข้าสู่จุดสมดุลนี้ทำให้นักจิตวิทยาบางคนมองว่า กระบวนการนี้ นอกจากจะทำให้เราประเมินความสุขในอนาคตผิดไปแล้ว ยังทำให้เราพยายามออกแรงหาสิ่งต่างๆ มาทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลที่ได้นั้นมักจะไม่คงทนยาวนาน

 

 

2. การให้ความสนใจของบุคคล

 

ในชีวิตแต่ละวันของเรา มีสิ่งมากมายที่เราจะต้องให้ความสนใจ ตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า ไปจนถึงเข้านอนในตอนกลางคืน ทั้งเรื่องการทำงาน การเรียน การเงิน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

เนื่องจากความสนใจเป็นทรัพยากรที่เรามีจำกัด เราจึงจำเป็นต้องจัดสรรการให้ความสนใจไปยังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม

 

คำถามคือ แล้วการแบ่งความสนใจนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า เราจะสามารถคาดการณ์ระดับความสุขได้แม่นยำเพียงใดเกี่ยวกับการบริโภคสิ่งต่าง ๆ

 

ตอนที่เรากำลังตัดสินใจเลือกซื้อของ เรามุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปกับการเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เรากำลังจะซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบรถคันใหม่กับรถคันเก่า หรือจะเป็นการเปรียบเทียบรถยี่ห้อต่าง ๆ หรือรถรุ่นต่าง ๆ กัน เราจะต้องมุ่งความสนใจไปที่เรื่องราคา เครื่องยนต์ รูปลักษณ์ของตัวถัง การบริการหลังการขาย และอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าในความสนใจของเราในขณะนั้น จะมีแต่ “ชีวิต” ของเราในขณะที่ใช้รถคันใหม่ เราจะให้ความสนใจแต่ว่า การใช้รถคันใหม่ของเรานั้นจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการใช้รถคันเก่าเพียงใด หรือจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าชีวิตตอนที่เราไม่มีรถใช้เพียงใด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ความสนใจจากประสบการณ์การใช้รถคันใหม่ของเราจริง ๆ แล้วจะค่อนข้างแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว

 

ลองนึกถึงเวลาที่เรากำลังจะเลือกซื้อรถคันใหม่ ช่วงนั้นในหัวของเราจะมีแต่เรื่องรถ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ หรือจะเป็นการนึกไปถึงประสบการณ์ที่มีความสุขของเราขณะขับรถคันใหม่

 

จากการให้ความสนใจอย่างมากนี่เอง ที่อาจจะทำให้เราคิดไปเองว่า เราน่าจะมีความสุขมากจากการใช้รถคันนี้ จนลืมคิดไปว่าในชีวิตจริงของเรานั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่เราจะต้องให้ความสนใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการงาน การเรียน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจของเรานี้อาจจะทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบระดับความสุขเมื่อคิดถึงแต่การซื้อรถและได้ขับรถคันใหม่เพียงอย่างเดียว กับระดับความสุขเมื่อมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาดึงความสนใจของเราออกจากประสบการณ์การใช้รถคันใหม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำนักนี่ยังไม่รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาจากการซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัด อุบัติเหตุ การขโมย หรือแม้แต่การบริการหลังการขาย สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้คิดคำนึงตั้งแต่ตอนที่เรากำลังตัดสินใจซื้อรถ อาจจะทำให้ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้นมีความสุขน้อยลงไปกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้

 

ซึ่งความสำคัญของเรื่องเหล่านี้คือ การคาดการณ์ที่เกินกว่าระดับที่เป็นจริงอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดได้ การตัดสินใจผิดในที่นี้หมายถึงการใช้เงินลงทุนในการหาความสุขให้กับตัวเองผิดไป

 

เราอาจจะคิดว่ารถที่มีขนาดหรือเครื่องยนต์แตกต่างกันจะนำความสุขมาให้เราแตกต่างกัน ซึ่งการคิดเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเราให้ความสนใจกับประสบการณ์ใช้รถเพียงอย่างเดียว จนลืมไปว่าในชีวิตจริงแล้ว ความสุขที่เราจะได้รับนั้นอาจจะไม่แตกต่างกันมากนักเพราะเรามักจะมีเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตอีกมากมายมาดึงความสนใจของเราไป เป็นผลให้เราอาจจะเลือกใช้เงินอย่างไม่เหมาะสมในการซื้อสินค้าที่อาจมีราคาสูงเกินไป

 

 

3. ความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์และการได้รับประสบการณ์

 

พูดง่าย ๆ คือว่า เวลาเราตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเราคาดการณ์ผลของมันจากการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ แต่การมีประสบการณ์ในการใช้สินค้านั้นมักจะเกิดขึ้นเดี่ยว ๆ และมักจะไม่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น

 

ความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์ที่มีการเปรียบเทียบ และประสบการณ์ที่ไม่มีการเปรียบเทียบอาจจะทำให้เราไม่ได้มีความสุขมากเท่ากับที่คิดไว้ หรือถ้าแย่ไปกว่านั้น คืออาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดได้

 

สมมติว่าเรากำลังจะซื้อบ้าน และตัดสินใจเลือกระหว่างบ้านสองหลัง บ้านทั้งสองหลังนี้มีทุกอย่างเหมือนกันยกเว้นอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือบ้านหลังแรกมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าบ้านหลังที่สอง อย่างที่สองคือบ้านหลังแรกตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ง่าย เช่น อาจจะตั้งอยู่ใกล้กับพืชพรรณบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนที่ตั้งของบ้านหลังที่สองไม่มีปัญหาดังกล่าว ในการเลือกซื้อเรามักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างบ้านทั้งสองหลัง แต่ในการอยู่อาศัยเราจะไม่มีการเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัด ถ้าเราลองถ่วงน้ำหนักดูและเปรียบเทียบว่าบ้านหลังไหนจะทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน แล้วพบว่าเราให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเรื่องที่ตั้งที่อาจจะทำให้เราเกิดอาการภูมิแพ้ เราอาจจะตัดสินใจเลือกบ้านหลังแรก แต่ประสบการณ์เมื่อเราอยู่อาศัยนั้นเรามักจะพบว่า ความแตกต่างระหว่างขนาดพื้นที่ใช้สอยที่แตกต่างกันไม่ได้ทำให้เรามีระดับความสุขที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในการอยู่อาศัยจริง เราไม่มีการเปรียบเทียบกับตัวเลือกที่เราไม่ได้เลือก ความแตกต่างเรื่องความสุขจึงไม่เด่นชัดนัก ในทางกลับกันพื้นที่ตั้งที่อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้นั้น น่าจะมีผลกระทบต่อระดับความสุขจากการอยู่อาศัยของเรามากกว่า และสิ่งนี้มีข้อดีและข้อเสียอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าเราต้องอยู่ในบ้านหลังนั้นพร้อมกับอาการภูมิแพ้ ที่อาจเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง อาการภูมิแพ้ที่เราเป็นนั้น เป็นข้อเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบใด ๆ

 

จากทั้งหมดนี้ สิ่งที่อยากจะให้ทุกคนทราบเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อสิ่งต่าง ๆ คือ เวลาจะตัดสินใจซื้อให้นึกถึง “ประสบการณ์” ของเราในการใช้ของสิ่งนั้นในระยะยาว โดยไม่มีการเปรียบเทียบ และให้นึกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจริง มักจะน้อยกว่าที่เราคิดไว้เสมอ

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่ม

 

ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่ม (Aggression between social groups)

 

 

เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า สังคมทางเอเชียหรือสังคมไทยมักเป็นสังคมที่มีความผูกพันกันเป็นกลุ่มมากกว่าสังคมทางตะวันตกที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่า อย่างไรก็ตามในทุกสังคมย่อมมีความเป็นกลุ่ม หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือมีความเป็นกลุ่มเขา-กลุ่มเรา ซึ่งความเป็นกลุ่มเขา-กลุ่มเรานี่เองทำให้ในบางครั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขึ้น

 

สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอาจเกิดจากการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรหรือสิ่งต่าง ๆ เช่น วัตถุ อำนาจ เมื่อทรัพยากรมีจำกัด แต่ละกลุ่มจึงต้องพยายามแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรนั้น ๆ และอาจทำให้เกิดความคับข้องใจ ความมุ่งร้ายหรือความไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มอื่น จนทำให้เกิดความก้าวร้าวตามมาในที่สุด

 

นอกจากนี้ เมื่อบุคคลมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory; Tajfel, 1981) และบุคคลมักจะมองกลุ่มของตนดีกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลนั้นรู้สึกดี มีการนับถือตนเองที่สูงขึ้น ทำให้บุคคลมองกลุ่มตนเองแตกต่างจากกลุ่มอื่น โดยบุคคลจะมองสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอื่นมีความเหมือนกัน ไม่ได้มองว่าบุคคลแต่ละคนมีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกัน การมองที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงนี้เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตามมา เราจึงพบว่า บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมักได้รับการสรรเสริญเยินยอจากคนในกลุ่ม หากแต่บุคคลนอกกลุ่มทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจได้รับการติเตียนไม่หยุด

 

หากกลุ่มเรามีชะตากรรมร่วมกันมาก่อน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความผูกพันหรือความเหนียวแน่นในกลุ่มและเมื่อมีความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการแก้แค้น แม้กับคนที่ไม่ได้มาทำร้ายตน แต่มาทำร้ายคนในกลุ่มตน และทำให้เกิดการแก้แค้นคนนอกกลุ่ม แม้ว่าคนคนนั้นไม่ได้เป็นคนที่มาทำร้ายแต่เพียงเพราะอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่มาทำร้าย

 

 

นักวิชาการ (Sherif, 1958) ได้ทำการทดลองให้เห็นจริงว่า ถ้าสองกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันและต้องทำให้สำเร็จเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองกลุ่ม ก็จะทำให้สองกลุ่มเกิดความร่วมมือกัน เป็นการสนับสนุนเจตคติทางบวกระหว่างกลุ่ม เช่น สองกลุ่มในตอนแรกมีการแบ่งข้างกันแล้วให้แข่งขันกัน เช่น แข่งเกมที่มีแพ้และชนะ ก็อาจทำให้รู้สึกเป็นพรรคเป็นพวก หลังจากนั้นให้สองกลุ่มช่วยกันหาวิธีนำเสบียงขึ้นไปยังที่พักแรมที่ค่ายพักแรมบนภูเขาเนื่องจากรถขนเสบียงเสีย เมื่อสองกลุ่มได้ร่วมแรงร่วมใจหาวิธีขนเสบียงไปบนค่ายพักแรมบนภูเขาได้สำเร็จก็จะรู้สึกดีต่อกันและรักกันมากขึ้น

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มสามารถเกิดขึ้นได้ หากแต่ถ้าเรารู้เท่าทันกลไกของความขัดแย้ง เช่น การเตือนตนเองให้มีความรัก ความเมตตาต่อบุคคลอื่นตามหลักศาสนาของตน การติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน การไม่ตัดขาดจากกันและการมีเป้าหมายร่วมกัน จะทำให้สามารถลดความขัดแย้งและความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการติดต่อสื่อสารกันในทางบวก หากเป็นการติดต่อสื่อสารกันแล้วทำให้เกิดการบาดหมางกันมากขึ้น เช่นหากต้องติดต่อสื่อสารกับคนที่ยากหรือก้าวร้าวมาก นักจิตวิทยาแนะนำว่า ติดต่อให้น้อยที่สุดหรือไม่ติดต่อเลยน่าจะดีกว่า

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Sherif, M. (1958). Superordinate goals in the reduction of intergroup conflict. American Journal of Sociology, 63, 349-356.

 

Tajfel, H. (1981). Human groups and social categories: Studies in Social Psychology. Cambridge: Cambridge University Press.

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วาณิชย์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย