บุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่ง – Trait procrastination

22 May 2025

คำศัพท์จิตวิทยา

 

บุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่ง หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมที่บุคคลประวิงเวลาในการเริ่มต้นหรือสานต่อการกระทำใด ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย และจะลงมือกระทำก็ต่อเมื่อจวนจะถึงกำหนดเวลาหรือในนาทีสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่ตระหนักถึงผลเสียที่อาจตามมา แต่ก็ยังไม่คิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะสร้างปัญหา บางเรื่องอาจเป็นพฤติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การชำระค่าไฟฟ้าเลยกำหนด ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการเรียน

 

การผัดวันประกันพรุ่งเฉพาะงานใดงานหนึ่งแบบชั่วครั้งชั่วคราว เรียกว่า การผัดวันประกันพรุ่งแบบเฉพาะเจาะจง หรือการผัดวันประกันพรุ่งตามอารมณ์ หรือการผัดวันประกันพรุ่งตามสถานการณ์ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับงานเฉพาะอย่าง ซึ่งบุคคลมีแรงจูงใจจากความไม่ชอบงานนั้นเป็นหลัก

 

แต่หากบุคคลผัดวันประกันพรุ่งบ่อยครั้งในแทบทุกเรื่อง แม้ในเรื่องที่สามารถกระทำได้ง่ายดาย และในบางครั้งก็ส่งผลกระทบทางลบต่อตนเองหรือผู้อื่น การผัดวันประกันพรุ่งลักษณะนี้จัดเป็นบุคลิกลักษณะที่มีความคงทน ซึ่งไม่มีสาเหตุมาจากความต้องการเลี่ยงทางการทำงานเท่านั้น แต่เป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น เช่น บางคนใช้การผัดวันประกันพรุ่งเป็นกลยุทธ์ในการจูงใจตนเอง ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเมื่อถูกกดดันจากเวลา คนเหล่านั้นก็สามารถทำงานได้ดีขึ้น

 

 

 

 

 

Ferrari และคณะ (1995) เสนอแนวคิดการแบ่งประเภทของบุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

 

1. การผัดวันประกันพรุ่งแบบเร้า – พฤติกรรมที่บุคคลเลื่อนการกระทำออกไปเรื่อย ๆ จนเกิดความรู้สึกตื่นเต้นหรือเกิดความกระตือรือร้นเพราะถูดกดดันจากกำหนดเวลา จึงจะเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ

 

2. การผัดวันประกันพรุ่งแบบเลี่ยง – พฤติกรรมที่บุคคลเลื่อนการกระทำโดยมีแรงจูงใจมาจากความกลัวและความไม่ชอบงาน ซึ่งอาจเพราะขาดความรู้หรือความถนัดในสิ่งที่ต้องกระทำ ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าการกระทำของตนกำลังถูกประเมิน คนเหล่านี้มีแนวโน้มผัดผ่อนการกระทำนั้นออกไป และใช้การผัดผ่อนนั้นเป็นข้ออ้างให้กับผลของการกระทำที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะกล่าวโทษว่าตนมีเวลาในการทำงานน้อย มิใช่เป็นเพราะตนไร้ความสามารถ ซึ่งเป็นการกระทำปกป้องตนเอง หรือบางครั้งก็เพื่อรักษาและชดเชยความภาคภูมิในใจตนเอง และโดยส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้มักจะยินดีด้วยซ้ำที่สามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ในนาทีสุดท้าย

 

3. การผัดวันประกันพรุ่งในการตัดสินใจ – พฤติกรรมที่บุคคลประวิงเวลาในการตัดสินใจ จนกว่าจะถึงเวลาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีก เพราะเกิดความลังเลในการตัดสินใจกระทำหรือเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้ที่มีบุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่งแบบนี้ มักไม่ชอบกระทำหรือเลือกสิ่งใด ๆ ที่มีทางเลือกหลายทาง แม้จะเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนก็ตาม เพราะจะเกิดความลังเลในการตัดสินใจกระทำหรือเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่งและลักษณะอื่นๆ ของบุคคล

 

งานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีบุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่งแบบเร้าต้องอาศัยความรู้สึกตื่นเต้นเป็นเครื่องมือกดดันตนเองในการทำสิ่งต่าง ๆ คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มชอบแสวงหาความตื่นเต้น (excitement-seeking) ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของบุคลิกภาพแบบ extravert

 

ส่วนผู้ที่มีบุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่งแบบเลี่ยง มักมีลักษณะกลัวความล้มเหลวร่วมด้วย เพราะผู้ที่กลัวความล้มเหลวมักมีแนวโน้มรับรู้ความสามารถของตนเองต่ำ และมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ คนเหล่านี้มักมีความเชื่อโดยไร้เหตุผลว่าตนไม่มีความสามารถที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีพอ

 

นอกจากนี้ ผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) ก็มีโนวโน้มผัดวันประกันพรุ่งแบบเลี่ยงเช่นกัน เพราะคนเหล่านี้ไม่ต้องการเผชิญกับผลตอบกลับจากการกระทำใดๆ ในทางลบจากผู้อื่น และด้วยเงื่อนไขว่า หากลงมือทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จ และสมบูรณ์ตามมาตรฐาน หรือสูงกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อคนเหล่านี้ประเมินความสามารถของตนเองในการเริ่มกระทำสิ่งใด ๆ ในขณะนั้นว่าอาจไม่ได้ผลงานที่สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น ก็มักเลื่อนการเริ่มกระทำสิ่งนั้นออกไป

 

ส่วนบุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่งในการตัดสินใจนั้น ผู้ที่กลัวความล้มเหลวและผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบก็มีแนวโน้มจะเกิดพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งในการตัดสินใจได้

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีบุคลิกภาพ neuroticism ก็มีแนวโน้มเกิดความลังเลในการตัดสินใจเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะการตัดสินใจต้องใช้เวลาคิดนานและต้องการข้อมูลประกอบจำนวนมาก ดังนั้น ในเวลาที่คนเหล่านี้เกิดอารมณ์ทางลบ เช่น เครียด วิตกกังวล และหดหู่ ก็มักจะเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อน และเนื่องจากผู้มีบุคลิกภาพ neuroticism มีแนวโน้มเกิดอารมณ์ทางลบบ่อยครั้งและแต่ละครั้งกินระยะเวลานาน การผํดวันประกันพรุ่งในการตัดสินใจก็บ่อยครั้งตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีแนวโน้มชอบทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่น (เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ neuroticism) ก็มีแนวโน้มผัดวันประกันพรุ่งเช่นกัน เพราะคนเหล่านี้มักตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่ยั้งคิดให้รอบคอบ และขาดการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อถูกจูงใจจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากงานที่ตนกำลังทำอยู่ โดยเฉพาะงานนั้นเป็นงานที่ไม่ชอบด้วยแล้ว ก็มีแนวโน้มหันไปทำสิ่งอื่น โดยผัดผ่อนงานในหน้าที่ออกไปก่อน

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

 

กุลชนา ช่วยหนู. (2552). โมเดลเชิงสาเหตุของการปฎิบัติงานแบบกลุ่ม: อิทธิพลของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับการทำงานแบบกลุ่ม บุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่ง และปฏิสัมพันธ์ [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2009.252

 

 

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้