การเป็นพ่อ

14 Dec 2017

รศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

 

จะเป็นพ่อเมื่อไรดีเอ่ย?


 

ประสบการณ์ครั้งแรกของการเป็นพ่อถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้ชายทุกคน เพราะความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นบนบ่าของคุณดูจะหนักหนาอยู่ไม่เบา ถ้าอย่างนั้น เราลองมาดูกันซิว่า คนที่จะเป็นพ่อ เขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันอย่างไรบ้าง

 

ก่อนอื่น ก็ต้องมาคิดกันก่อนว่า “จะมีลูกเมื่อไรดี”

 

คนเราเมื่อแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็อยากจะมีลูกเป็นพยานรักกันทั้งนั้น แต่ขอแนะนำว่า อย่ารีบมีลูกเร็วเกินไป คือ อย่าเพิ่งมีลูกในช่วงปีแรกของการแต่งงาน แต่ถ้ามีความจำเป็นในชีวิต เช่นในรายที่แต่งงานเมื่ออายุมาก หรือเกิดอุบัติเหตุทางความรักที่รอไม่ได้ ก็ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่า ถ้าคู่สามีภรรยาสามารถเลือกได้ก็รอไปสักนิดจะดีกว่า

 

ที่พูดถึงปีแรกของการแต่งงาน เอาเป็นเวลาโดยประมาณก็แล้วกัน ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ที่สำคัญคืออย่ารีบมีลูกทันที ค่อย ๆ ก้าวตามขั้นตอนของพัฒนาการจะสบายใจกว่า เหตุผลที่ไม่อยากให้คุณ ๆ ทั้งหลายมีลูกเร็วนัก เป็นเพราะว่า จากประสบการณ์จริงของคู่สมรสและจากงานวิจัยทางจิตวิทยาได้ให้ข้อแนะนำว่า ช่วงเวลาที่แต่งงานใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ระดับความรักความหวานชื่นของคู่สามีภรรยาขึ้นสูงที่สุด จากนั้นความรักจะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามพัฒนาการของชีวิตคู่ เราจึงควรนำข้อได้เปรียบตรงนี้มาใช้เพื่อการเตรียมความพร้อมแห่งชีวิต ปีแรกของการแต่งงานควรจะเป็นปีแห่งการเป็นสามีภรรยา ไม่ใช่การเป็นพ่อแม่ ถือเป็นปีแห่งการเรียนรู้สำหรับคนสองคนที่เริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อปรับตัวปรับใจ เตรียมพื้นฐานความรักและการใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อชีวิตครอบครัวที่เป็นสุขและมั่นคงต่อไปในอนาคต คู่สมรสควรใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อสานความรักความผูกพันต่อกันและกันให้เต็มที่ เปิดโอกาสให้ตนเองได้มีความสุขกับช่วงเวลาแห่งความหวานชื่นของการเริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นความขัดแย้งระหว่างกัน เกิดการปรับสมดุลย์ในชีวิตระหว่างความต้องการของตนกับการโอนอ่อนผ่อนปรนในการปรับตัวเพื่อคนที่รัก เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน อดทน ให้อภัย ถนอมน้ำใจกัน ช่วยกันวางรากฐานครอบครัว ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน บ้านช่อง และที่สำคัญคือให้แน่ใจว่าเราทั้งสองสามารถปรับตัวปรับใจร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันได้

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ชีวิตความเป็นสามีภรรยาในช่วงแรกของการแต่งงานให้เต็มที่และให้มีความสุขที่สุด โดยอาศัยพลังความรักที่มีอยู่เป็นเครื่องช่วย ความรักและความเข้าใจในช่วงต้นของการใช้ชีวิตคู่ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพัฒนาการของชีวิตครอบครัวที่มั่นคงในวันข้างหน้า ที่อยากจะฝากไว้นิดก็คือ คู่แต่งงานจำนวนมากพบว่าปรับตัวเข้าหากันไม่ได้และต้องลงเอยด้วยการหย่าร้าง สถิติของการหย่าร้างในช่วง 1-2 ปี ของการแต่งงานนั้นสูงไม่เบาทีเดียว ก่อนจะไปสูงอีกครั้งในช่วง 7 ปี ดังนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตคู่อย่างไม่ประมาทและอย่าปล่อยให้เวลาทองในช่วงปีแรกของการแต่งงานนี้ผ่านไปอย่างเลื่อนลอยไม่รู้คุณค่า

 

อย่าลืมว่า รู้เขารู้เราให้แน่ใจเสียก่อน วางรากฐานชีวิตคู่ให้มั่นคงอีกสักนิด แล้วค่อยช่วยกันผลิตเจ้าตัวน้อยที่น่ารักจะดีกว่า

 

 

“ผมอยากมีลูก”

 

เมื่อใช้ชีวิตคู่อย่างราบรื่นด้วยความสุขความเข้าใจกันไปได้สักระยะหนึ่ง พัฒนาการของชีวิตคู่จะเริ่มเปลี่ยนความรักความสนใจที่มีต่อกันของคู่สามีภรรยา ไปสู่ความต้องการใหม่ในชีวิต คือ ความอยากมีลูก รายงานจากการวิจัยพบว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะมีลูกช้า ซึ่งก็คือผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีงานดี และมีฐานะที่ดี นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชายที่มีลูกหลังอายุ 30 ปี มักจะมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูก และมีบทบาทสำคัญในการดูแลลูกเป็นอย่างมาก

 

สังคมมองว่า คนแต่งงานแล้วก็ต้องเปลี่ยนฐานะตนเองไปเป็นพ่อแม่ในวันหนึ่ง สำหรับในรายที่แต่งงานไปสักระยะหนึ่งแล้วยังไม่มีลูก คุณจะพบว่าคุณต้องเผชิญกับความกดดันทางสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำทักทายที่คุณได้รับมักจะเป็นในรูปแบบซ้ำๆ เช่น “มีลูกหรือยัง มีลูกกี่คนแล้ว ทำไมไม่มีลูก เป็นต้น” และถ้าคุณเป็นประเภท “อยากมีลูกเหลือเกิน แต่ยังมีไม่ได้เสียที” คุณก็จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคมรอบข้าง ได้รับคำแนะนำสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ วิธีทางการแพทย์สมัยใหม่ ไปจนถึงไสยศาสตร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งแผ่นดินที่จะช่วยให้มีลูกได้สมใจ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคุณยืดอกเชิดหน้าตอบอย่างมั่นใจว่า “ตั้งใจจะไม่มีลูก” ขอให้เตรียมใจไว้เลยว่า คุณต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก เพราะแรงกดดันจากสังคมรอบข้างจะสาหัสกว่าในกรณีแรก คุณจะได้รับการตำหนิทั้งต่อหน้าและลับหลังว่า เห็นแก่ตัว อยากใช้ชีวิตคู่หวานชื่นโดยไม่มีลูกมากวน ฯลฯ หรืออาจจะมาในมุมมองแปลก ๆ ตั้งแต่ว่า คุณทั้งคู่ต้องมีปัญหาระหว่างกันแน่นอนจึงยังไม่กล้ามีลูก.. ไปจนถึง..คุณสามีคงจะเป็นเกย์ที่มาหลอกลวงฝ่ายหญิงเพื่อแต่งงานให้สังคมยอมรับ

 

แต่ถ้าคุณประสบความสำเร็จ คุณภรรยาตั้งท้องได้สมใจ ว่าที่คุณพ่อมือใหม่ก็มักจะยืดได้เต็มที่ว่า เรานี่ก็เก่งไม่เบา กลายเป็นว่าเครดิตการตั้งท้องของภรรยาเป็นเพราะความเก่งกาจของฝ่ายชายไปเสียแล้ว

 

ขณะที่ภรรยาท้อง ขอให้คุณสามีทั้งหลายเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี หาหนังสือเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิงมาอ่านดูบ้างจะได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภรรยาทั้งทางด้านร่างการและจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจนั้นสำคัญมาก คุณต้องช่วยประคับประคองความรู้สึกของภรรยาให้ดี เป็นกำลังใจและอดทนต่อความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของฝ่ายหญิง ที่สำคัญคือแสดงให้ภรรยาเห็นว่าคุณรักและภูมิใจในตัวเธอแค่ไหน คุณพร้อมจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอถึงแม้ว่าเธอจะเปลี่ยนจากสาวสวยหุ่นงาม ไปเป็นผู้หญิงหัวยุ่ง หน้าซีด ปากแห้ง เพราะเอาแต่แพ้ท้อง พอหายแพ้ท้องก็เป็นหมูน้อย หิวทั้งวัน และในที่สุด สาวในฝันของคุณก็กลายเป็นสาวพุงกลม ที่กลมขึ้น กลมขึ้น และกลมขึ้น และยังอารมณ์ปรวนแปรอีกต่างหาก

แกล้งเล่าให้เห็นภาพพจน์เท่านั้นแหละ ที่จริงแล้วผู้หญิงท้องน่ะน่ารักน่าเอ็นดูจะตาย มีอะไรขำ ๆ ให้คุณอมยิ้มได้ทั้งวัน ขอแค่ว่าคุณสามีอย่าอารมณ์แกว่งไกวตามไปด้วย ตั้งหลักให้ดีให้มั่นคงเพื่อภรรยาและ.. “เจ้าตัวน้อยของพ่อ” …ดีกว่า

 

 

การเปลี่ยนแปลงในชีวิต


 

โดยทั่วไปแล้ว การมีลูกโดยเฉพาะลูกคนแรก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตไม่น้อยทีเดียว คุณพ่อมือใหม่ถ้าไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน อาจจะหัวหมุนหมดเรี่ยวหมดแรงได้ง่าย ๆ

 

สิ่งแรกที่ต้องเจอ คือ ความวุ่นวายเหน็ดเหนื่อยอย่างแสนสาหัส คุณพ่อควรลางานสัก 1 อาทิตย์ เพื่อช่วยดูแลตั้งแต่คุณแม่ไปคลอดที่โรงพยาบาลจนกลับบ้านเลี้ยงลูก และหากยังไม่มีญาติผู้ใหญ่หรือคนช่วยเลี้ยงลูก อาจจะต้องลางานถึง 2 อาทิตย์ ความไม่มีประสบการณ์ บวกกับความห่วงกังวลต่อลูกน้อยจะยิ่งเพิ่มความเหนื่อยล้าให้กับบรรดาคุณพ่อมือใหม่ สิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือการอดหลับอดนอนในตอนกลางคืน เพื่อเลี้ยงลูกแถมถ้าคุณต้องกลับไปทำงานแล้วละก้อ คุณจะพบว่าคุณนอนไม่เคยพอเลยสักวัน คุณพ่อหลายคนพบว่านอกจากลูกจะร้องไห้งอแงให้ต้องอุ้มปลอบโยนกันแล้ว คุณแม่มือใหม่ก็ร้องไห้เป็นพัก ๆ ให้ต้องปลอบเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังการคลอด รวมถึงความเครียด ความวุ่นวายต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้คุณแม่ทั้งหลายระทดท้อกันไปตามกัน ก็ต้องได้ความเข้มแข็งจากคุณพ่อมาช่วยประคับประคองปลอบโยน ไหนจะภาระการทำงานนอกบ้าน การช่วยดูแลงานในบ้าน การช่วยดูแลลูกน้อย และการเป็นกำลังใจให้ภรรยา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังกายและพลังใจของคุณพ่อไม่น้อยเลย

 

ข้อที่สอง คือ ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาที่ต้องกระทบกระเทือนไปบ้าง การมีลูกจะทำให้การใช้เวลาส่วนตัวร่วมกันของสามีภรรยาลดลงอย่างมาก และทำให้การแสดงความรักความใกล้ชิดในรูปแบบของสามีภรรยาลดลง คุณพ่อมือใหม่หลายคนน้อยอกน้อยใจว่าคุณแม่เอาแต่ให้เวลากับลูก หรือในทางกลับกัน คุณพ่อนั่นแหละที่ทุ่มเทให้กับลูกจนลืมภรรยาไปเลย

 

ข้อที่สาม คือ ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คุณพ่อมือใหม่มักจะหนักใจต่อความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และความมั่นใจใจการเลี้ยงดูและการจัดการต่างๆ ในครอบครัวที่มีเจ้าตัวน้อยเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่

 

ข้อสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่าย การมีลูกและการเลี้ยงดูลูกจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวอย่างมาก

 

สี่ข้อนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นกับคุณพ่อมือใหม่ทุกคน ถ้าได้รู้ล่วงหน้าก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจพอจะรับมือได้ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นปัญหาอยู่บ้างในช่วงแรก หลังจากได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกร่วมกันสักระยะหนึ่ง คุณจะพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การมีลูกจะช่วยให้พ่อแม่มีพลังในชีวิตเพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยามีความเข้มแข็ง มีการปรับตัวกับโครงสร้างใหม่ของครอบครัวที่เปลี่ยนไปในลักษณะของการเผชิญความท้าทายใหม่ๆในชีวิตร่วมกัน มีความเคารพต่อกันสูงขึ้น และมีความผูกพันในครอบครัวที่เข้มแข็งมากขึ้น ที่น่ารักกว่านั้นคือ ความน่ารักไร้เดียงสาในการแสดงออกของความรักที่เด็กมีต่อพ่อแม่ จะย้อนกลับมาสะท้อนให้เห็นถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อกันและคุณจะพบว่าคุณทั้งสองมีการแสดงความรักต่อกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

 

 

คำถามยอดฮิตอันดับหนึ่งของคุณพ่อมือใหม่ คือ “จะเลี้ยงลูกแบบไหนดี”


 

การเลี้ยงดูมีผลมากต่อพัฒนาการของเด็ก รวมถึงบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ และการเข้าสังคม นักจิตวิทยาได้แบ่งการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ โดยพิจารณาจาก 2 มิติ คือ 1) การเรียกร้องที่พ่อแม่มีต่อลูก และ 2) การตอบสนองที่พ่อแม่ให้กับลูก และแบ่งได้ดังนี้ คือ

 

  1. การเลี้ยงดูแบบควบคุม คือการที่พ่อแม่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ หรือพูดง่าย ๆ คือเผด็จการ พ่อแม่พวกนี้จะมีการเรียกร้องจากลูกสูง ตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใช้อำนาจควบคุมด้วยการบังคับและลงโทษ โดยไม่ใส่ใจที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกหรือรับฟังว่าลูกต้องการอะไร เพราะหน้าที่ของลูกคือเชื่อฟังและปฏิบัติตามเท่านั้น
  2. การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ หรือแบบประชาธิปไตย พ่อแม่ตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกันก็รับฟังและตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม พ่อแม่ประเภทนี้จะใช้เหตุผลและมีความยืดหยุ่นในการวางกรอบหรือแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับลูก ส่งเสริมให้ลูกกล้าเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ หัดให้ลูกมีความมั่นใจ มีเหตุผล และรู้จักคิดด้วยตนเอง กรอบที่พ่อแม่ตั้งไว้ก็เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหลงทาง หรือก้าวออกนอกลู่นอกทางก่อนที่จะมีความพร้อมตามวัยอันสมควร
  3. การเลี้ยงลูกแบบตามใจ พ่อแม่มักเข้าไปวุ่นวายในชีวิตของลูก แต่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์ ไม่มีการวางระเบียบให้กับลูก มีแต่การตอบสนองความต้องการของลูกอย่างตามใจไร้ขอบเขต ในกรณีนี้ ลูกจะเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องจากพ่อแม่
  4. การเลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ไม่มีทั้งข้อเรียกร้องและการตอบสนองจากพ่อแม่ พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจในการดูแลลูก ไม่รู้ความเป็นไปในชีวิตลูก การเลี้ยงดูอาจจะเป็นในลักษณะทอดทิ้งไม่เลี้ยงดู หรือให้แต่วัตถุเงินทองมากมายแต่ไม่มีเวลาสนใจในความเป็นไปของลูก เราจะพบว่า ลูกของนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีจำนวนมากก็ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ในลักษณะหลังนี้

 

เราจะเห็นได้ว่า รูปแบบการเลี้ยงดูทั้ง 4 แบบนี้เป็นที่พบเห็นได้ทั่วไป

 

เลี้ยงลูกแบบไหน และจะได้ลูกลักษณะอย่างไร?

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบควบคุม คุณจะได้ลูกที่เติบโตขึ้นอย่างมีความคับข้องใจสูง เพราะต้องถูกบังคับ ถูกนำไปเปรียบเทียบว่าตนแย่กว่าคนอื่นอยู่ตลอด เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความสุข ไม่มั่นใจในตนเอง ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นลำบาก เป็นคนหลีกหนีสังคม มีความกังวลต่อการถูกเปรียบเทียบ กลัวการแข่งขัน และมักจะมีความก้าวร้าวอย่างชัดเจน หรืออาจจะแฝงอยู่ในลักษณะเก็บกด

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ หรือแบบประชาธิปไตย เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นใจ พึ่งพาตนเองได้ เป็นผู้ที่รู้จักการให้ เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเองในขณะที่เคารพสิทธิของผู้อื่น มีการปรับตัวได้ดีในการดำเนินชีวิต และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบตามใจ คุณก็จะได้ลูกที่เป็นเด็กเอาแต่ใจตนเอง และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการเข้าสังคมเนื่องจากจะเอาอะไรก็จะให้ได้ดังใจ มีวุฒิภาวะต่ำกว่าวัย มีการพึ่งพาผู้อื่นสูง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ไม่รู้จักการควบคุมความต้องการของตนเอง และมีปัญหากับเพื่อนและคนรอบข้างเนื่องจากไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ในการดูแลลูก เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างไม่มั่นใจในตนเอง มีความเหงาและว้าเหว่ในใจ และคอยคิดแต่ว่าตนเองไม่มีความสำคัญ เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างคลางแคลง ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อในความรักและความอบอุ่นของระบบครอบครัว หรือในทางตรงกันข้ามคือ โหยหาความรักและพยายามหาหลักยึดเหนี่ยวให้กับตนเองจนอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ในชีวิต

 

คุณพ่อคงจะเห็นแล้วว่า “การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่” เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก หลักการสำคัญ ๆ สำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกแบบนี้ คือ การมีข้อเรียกร้อง มีกฎเกณฑ์สำหรับลูก และมีการควบคุมให้ลูกปฏิบัติตามกรอบที่วางไว้ มีการให้รางวัลและลงโทษอย่างเหมาะสม ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก มีการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในครอบครัว ส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเอง และส่งเสริมให้ทั้งพ่อแม่และลูกเคารพในสิทธิของกันและกัน

 

คราวนี้คุณพ่อก็ต้องหารือกับคุณแม่ เพื่อวางแนวทางในการดูแลลูกให้ไปในทิศทางเดียวกัน ความขัดแย้งกันของแนวทางการเลี้ยงลูกจะทำให้เกิดความสับสนกับเด็ก ทั้งยังทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ได้ นอกจากนี้ คุณพ่อยังต้องคอยปรับแนวการเลี้ยงดูให้เหมาะสมตามอายุของลูกด้วย ตั้งหลักให้มั่น ทำใจให้ผ่อนคลาย อย่าเครียด และผนึกกำลังกับคุณแม่ให้ดี ใช้ความรักเป็นหลัก ระเบียบเป็นรอง เลี้ยงลูกอย่างสบาย ๆ และยืดหยุ่น แค่นี้ก็ไปได้สวยแล้ว

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้