สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 4 การดูแลเด็กเล็กเมื่อประสบเหตุการณ์ความรุนแรง

23 Feb 2020

บริการวิชาการ

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 4 – การดูแลเด็กเล็กเมื่อประสบเหตุการณ์ความรุนแรง

 

 

 

 

กรณีที่มีเด็กในความดูแล เมื่อประสบเหตุจะควบคุมเด็กอย่างไร

 

เด็กนั้นเอาจริง ๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมเขาได้ เพราะเขามีวิธีคิดของเขาเอง แต่เราจะจัดการอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเป็นเด็กวัยใด

 

เด็กทารก ถือได้ว่าไม่ค่อยเป็นกังวล เนื่องจาก ผู้ปกครองจะรู้วิธีการปลอบ รู้ใจกัน และสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้ ก็คือ หากเด็กหิว ผู้เป็นแม่ก็สามารถให้นมได้ ทั้งจากเต้าและนมที่มีเตรียมมา อีกทั้ง หากเกิดความง่วง ก็สามารถกล่อมให้นอนให้เพียงพอได้ และหากไม่สบายตัวจากผ้าอ้อม ก็สามารถเปลี่ยนได้ทันที โดยสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องอุ้มเด็กให้แนบตัว และอยู่ใกล้ตัวอีกด้วย

 

เด็กอายุ 1 ขวบถึง 2 ขวบกว่า นั้นมีการควบคุมได้ยาก เนื่องจากยังไม่สามารถใช้เหตุผลอธิบายกับเด็กวัยนี้ได้ อีกทั้งเด็กวัยนี้พร้อมจะส่งเสียงได้ตลอด โดยสิ่งที่สำคัญคือ ผู้ปกครองต้องหาสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น กอดเด็กไว้ เล่านิทาน หรือกล่อมให้หลับ เป็นต้น

 

เด็กอายุ 3 ถึง 4 ขวบ นั้นผู้ปกครองสามารถพูดคุยได้ หากแต่อย่าอธิบายด้วยภาษา หรือคำศัพท์ที่ยาก เพียงใช้คำสั้นๆ อธิบาย เช่น ข้างนอกมีคนไม่ดี และจะมีคนดีมาช่วยเรา เป็นต้น โดยที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงคำว่าผู้ร้าย เนื่องจาก เด็กวัยนี้จะมีการเล่นบทบาทสมมติ เช่น ตำรวจ-ผู้ร้าย ดังนั้น คำว่า “ผู้ร้าย” ของเด็กวัยนี้อาจจะเป็นเพียงการเล่นที่ไม่จริงจัง โดยผู้ปกครองอาจเปลี่ยนเป็นคำว่า คนไม่ดี หรือคนใจร้ายได้ อีกทั้งใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การเล่นด้วยกัน หรือเล่านิทาน เป็นต้น

 

และสุดท้าย เด็กในวัยที่เข้าโรงเรียนแล้วนั้น จะสามารถเห็นข่าวจากสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เด็กวัยนี้อาจเกิดความสงสัย หากพ่อแม่เล่าให้ฟัง และอธิบายให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย เด็กวัยนี้จะมีความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น เห็นได้จากงานวิจัยพบว่า ผู้ปกครองที่อธิบายถึงเหตุการณ์และเล่าให้เด็กที่ได้รับข่าวสารและเกิดข้อสงสัยฟังเพียงสั้น ๆ และเข้าใจง่าย จะทำให้เด็กรู้สึกดี หายเศร้าและสงสัย มากกว่าเด็กที่ได้รับฟังข่าวสารและไม่มีใครอธิบายให้ฟัง

 

นอกจากนี้ เราพบว่าเด็กไทย มักจะเป็นตัวของตัวเองมากกับพ่อแม่ เขาอยากร้องก้ร้อง อยากกรี๊ดก็กรี๊ด ขณะที่จะเกรงใจหรือกำกับตัวเองได้มากกว่าเวลาอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคุณครู ถ้าเราอยู่กับเด็กที่ไม่ใช่ลูกหลานของเราอยู่ใกล้ๆ เราก็ช่วยปลอบประโลมเขาได้ เข้าไปอุ้ม ไปกอด เมื่อเขาเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับเรา และใช้คำพูดง่ายๆ สื่อสารกับเขา

 

 

 

 

บทบาทของสถาบันครอบครัวต่อการป้องกันอาชญากรรม

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องการกับเกิดเหตุอาชญากรรมหรือการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ข้อหนึ่งคือการที่บุคคลเป็นผู้ที่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีตัวตน ซึ่งการไม่ได้รับความสนใจนั้นเริ่มขึ้นจากในบ้าน เขาจึงไปหาที่นอกบ้าน เราอาจเคยพบเจอเด็กที่ยอมให้ตัวเองก่อปัญหาที่โรงเรียน ไม่สนใจเรียน แกล้งเพื่อน หรือแม้แต่ทำให้ตัวเองโดนจับขึ้นโรงพัก เพราะนั่นเป็นเวลาเดียวที่เด็กจะได้เจอพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตา แสดงให้เห็นว่าเด็กต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่เสมอ ไม่ได้ทางบวก ทางลบก็เอา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเข้ามาหาเรา เราต้องละวางอุปกรณ์สื่อสารและเรื่องอื่น ๆ และหันไปรับฟังเขา ไม่ใช่ให้ความสนใจเมื่อเฉพาะเวลาที่เขาร้องไห้ หกล้ม หรือถูกเรียกพบที่โรงเรียน

 

ทุกคนมีความกดดัน ความเครียด หากเพียงหาวิธี เรียนรู้ การรับมือในรูปแบบที่เหมาะสม โดยสามารถเริ่มเรียนรู้ได้จาก ครอบครัว หรือ Family Functioning ซึ่งผู้เป็นพ่อแม่ต้องหาวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีการควบคุมตนเองหรือ Self-control โดยมีการฝึกควบคุมอารมณ์ คุมตนเอง และสามารถที่จะรับมือกับวิธีแก้ปัญหาได้อีกด้วย

 

 

 

 

อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันเกิดจาก 3 อย่าง คือ ตัวเรา คนอื่น และสถานการณ์

 

การควบคุมคนอื่นและสถานการณ์นั้นทำได้ยาก การคุมตัวเอง แม้จะทำได้ยากก็ก็ยังทำได้ง่ายกว่าอีกสองอย่าง ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการทบทวนและควบคุมตัวเอง จากนั้นก็ดูแลคนในครอบครัวของเรา ดูแลคนอื่น ๆ เพราะเราและคนที่เรารักก็ต้องอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ในสังคม

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้