Sunk cost fallacy: หลักจิตวิทยาว่าด้วยการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล (ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์)

03 Jul 2019

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

การตัดสินใจเป็นกระบวนการคิดที่ใช้เหตุใช้ผล ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมคุ้มค่าที่สุดภายใต้บริบทและข้อจำกัด

 

นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นกับการตัดสินใจในทุก ๆ ครั้ง

 

ในแต่ความเป็นจริง นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า มนุษย์เราไม่ค่อยจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเท่าใดนัก คนเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย

 

คนหลีกเลี่ยงความสูญเสียก็ฟังดูเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน แต่ความไม่สมเหตุสมผลมันอยู่ตรงที่ว่า แม้แต่ในกรณีที่การเลือกที่จะเสี่ยงมีมูลค่ามากกว่า คนเราก็ยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นอยู่ดี

 

ลองนึกถึงตัวอย่างง่าย ๆ กัน

 

คุณได้รับข้อเสนอให้ทายผลของการปั่นแปะ ทายหัวทายก้อย
ถ้าคุณทายถูก คุณจะได้เงิน 100 บาท แต่ถ้าคุณทายผิด คุณจะต้องเสียเงิน 100 บาท

 

ข้อเสนอนี้มีมูลค่าความคาดหวังเป็นศูนย์ มีอัตราได้เสีย 1 ต่อ 1 ด้วยโอกาส 50-50 ข้อเสนอนี้ไม่ได้น่าดึงดูดใจเลย และคนส่วนใหญ่ก็มักจะ ไม่รับข้อเสนอนี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สมเหตุสมผลแล้ว

 

แต่สมมติว่าคุณได้รับข้อเสนอใหม่ ถ้าทายถูก คุณจะได้เงิน 150 บาท แต่ถ้าทายผิด คุณจะต้องเสียเงิน 100 บาท

 

คุณจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่?

 

คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับยอมข้อเสนอนี้ เพราะรู้สึกว่ามันไม่คุ้มที่จะเสี่ยง เรามีเงินอยู่ในกระเป๋าแน่ ๆ แล้ว 100 บาท ทำไมต้องเสี่ยงที่จะเสียมันไปเพื่อเงินอีกแค่ 50 บาท

 

ทั้ง ๆ ที่ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว มูลค่าคาดหมายของข้อเสนอนี้เป็นบวก รับรองได้ว่าไม่มีเจ้ามือที่ไหนยอมให้อัตรานี้เพราะจะขาดทุนแน่นอน การปฏิเสธข้อเสนอนี้จึงไม่สมเหตุสมผลในเชิงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์

 

ทั้ง ๆ ที่เป็นการตัดสินใจที่คุ้มเสี่ยงแต่ทำไมเราถึงยังรู้สึกว่า มันได้ไม่คุ้มเสีย?

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ในปริมาณที่เท่ากัน คนเรามักรู้สึกว่ามูลค่าที่สูญเสียนั้นมีน้ำหนักมากกว่ามูลค่าที่เราจะได้ เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลของกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย คือ การเสียดายต้นทุนจม

 

สมมติว่าคุณกำลังจะไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เมื่อไปถึงเคาท์เตอร์ขายตั๋วคุณพบว่า คุณทำเงินหล่นหายไป 200 บาท คุณอาจจะหงุดหงิดที่ซุ่มซ่ามทำเงินหล่นหาย แล้วก็ควักเงิน 200 ซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง เพราะรู้สึกว่าเงินที่หายไปนั้นต่างกรรมต่างวาระกับการซื้อตั๋วดูหนัง

 

ทีนี้ลองจินตนาการอีกสถานการณ์ คุณซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้จากบ้าน แต่เมื่อไปถึงหน้าโรง คุณพบว่าคุณทำตั๋วที่ซื้อไว้หล่นหายไป คราวนี้คุณกลับรู้สึกว่า คุณไม่อยากจ่ายเงินอีก 200 เพื่อดูหนัง ถ้าต้องจ่ายอีกก็เหมือนซื้อตั๋วใบละตั้ง 400 บาท

 

ทั้งที่จริง ๆ แล้วในสองเหตุการณ์นี้หากคุณเลือกซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ คุณก็เสียเงิน 400 บาท เท่ากัน

 

นี่เป็นเพราะว่าในสถานการณ์ที่สอง คุณรู้สึกว่าได้สูญเสียตั๋วไปแล้ว การต้องจ่ายเงินซื้อซ้ำอีก จะตอกย้ำความสูญเสียนั้น เสียดายต้นทุนที่จมไปแล้ว ทำให้คุณพลาดโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศชมภาพยนตร์

 

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดกับทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย

 

เช่น เมื่อคุณรอรถเมล์อยู่นานแล้ว ก็จะไม่อยากเปลี่ยนใจไปโบกแท็กซี่เพราะคิดว่าอีกเดี๋ยวรถเมล์ก็คงจะมา เลยพลาดโอกาสโบกแท็กซี่ไปหลายคัน หรือนักลงทุนที่ซื้อหุ้นแล้วหุ้นตก จะไม่อยากขายเพราะรู้สึกว่าหากยังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน หนำซ้ำยังไปซื้อหุ้นเพิ่มมาเฉลี่ยต้นทุน จนทำให้ต้นทุนจมหนักยิ่งกว่าเดิม พลาดโอกาสที่จะนำทรัพยากรนั้นไปทำอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

ทั้งหมดนี้เพราะมัวแต่กลัวว่า สิ่งที่เคยลงทุนไปแล้วจะสูญเปล่า

 

การใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจจึงมักเอนเอียงด้วยปัจจัยความกลัวเหล่านี้ ทางที่ดีแล้วเมื่อคุณต้องเผชิญกับการตัดสินใจ หนึ่งในทางออกที่ดี คือ นั่งลงทำรายการข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก พิจารณามูลค่า พิจารณาความน่าจะเป็นของตัวเลือกต่าง ๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน

บางครั้งคุณอาจจะพบว่าต้นทุนที่จมหายไปนั้น ไม่สามารถย้อนกลับไปเอาคืนมาได้

 

การตัดใจทิ้งต้นทุนที่จมไป อาจจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่คุ้มค่ากว่าก็ได้

 

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้