Suicide – การฆ่าตัวตาย

26 Sep 2019

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าแต่ละปี มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คน ทุก 40 วินาที ทำให้การฆ่าตัวตายกลายเป็น 1 ใน 10 สาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรโลก สำหรับในประเทศไทย มีผู้ฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยปีละ 5,000 คน หรือทุก 1 ชั่วโมง มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 คน โดยการฆ่าตัวตายสามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัน ตั้งแต่เด็กอายุ 10 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุ 90 ปี ทุกระดับการศึกษา อาชีพ ฐานะ และชนชั้นทางสังคม

 

การฆ่าตัวตายนั้นหมายถึงการที่บุคคลทำร้ายตนเองด้วยวิธีการใดก็ตามด้วยความสมัครใจ โดยมีเจตนาให้ตนเองเสียชีวิต โดยอาจประสบผลสำเร็จในการกระทำนั้นหรือไม่ก็ได้ Curra (1994) ได้แบ่งประเภทของการฆ่าตัวตายไว้ 4 ประเภท ดังนี้

 

  1. การฆ่าตัวตายที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า – มีการเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่พบในเพศชาย โดยใช้วิธีการที่มั่นใจว่าได้ผล เช่น การยิงตัวตาย การใช้ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และมักประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตายครั้งแรก
  2. การฆ่าตัวตายแบบสองจิตสองใจ – มีความลังเลระหว่างการมีชีวิตอยู่และตาย ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่น และมักใช้วิธีการไม่รุนแรง เช่น การเชือดข้อมือ การรับประทานยาเกินขนาด เพื่อเรียกร้องความสนใจจากบุคคลใกล้ชิด
  3. การฆ่าตัวตายเพื่อทำร้ายผู้อื่น – เป็นการฆ่าตัวตายโดยมีเจตนาให้ผลของการฆ่าตัวตายไปทำร้ายจิตใจผู้อื่น มักมีการเขียนจดหมายลาตายบอกให้บุคคลใกล้ชิดรับรู้ถึงสาเหตุของการกระทำ เพื่อให้บุคคลที่ถูกอ้างถึงรู้สึกผิดหรือมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของตน ส่วนใหญ่ใช้วิธีรับประทานยาเกินขนาด หรือทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งมักกระทำสำเร็จในครั้งแรก
  4. การฆ่าตัวตายแบบไม่ตั้งใจ – ผู้กระทำไม่ต้องการให้ตัวเองถึงแก่ความตาย การตายที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากอุบัติเหตุ ผู้กระทำส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง เช่น การรับประทานยาจำนวนไม่มาก

 

 

สาเหตุของการฆ่าตัวตาย


 

ปัญหาการฆ่าตัวตายได้รับความสนใจจากวิชาการในศาสตร์หลายแขนง จึงมีแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก อาทิ

 

ทฤษฎีทางด้านชีววิทยา (biological theories)

เน้นศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยภายในร่างกายของมนุษย์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม – บุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย มีการผ่าเหล่าของรหัสทางพันธุกรรมที่เป็นตัวรับสาร serotonin โดยบุคคลที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องร่วมสาลเลือดฆ่าตัวตาย มีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้อื่น 2.5 เท่า
  2. ปัจจัยทางด้านสารสื่อประสาท – การลดลงของสารสื่อประสาท เช่น serotonin, 5-HT และ 5-HIAA รวมถึง dopamine ส่งผลให้การยับยั้งการฆ่าตัวตายหรือยับยั้งความรู้สึกก้าวร้าวรุนแรงบกพร่องไป

 

ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา (psychological theories)

เน้นศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุภายในบุคคลหรือภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และกระบวนการคิด รวมทั้งอาการทางจิตเวช ซึ่งมีด้วยกันหลายแนวคิดดังนี้

  1. ทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ – Menninger ได้ขยายข้อสันนิษฐานของฟรอยด์ที่กล่าวว่าการฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณความตายโดยระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นผลมาจาก
    (1) ความปรารถนาที่จะฆ่า
    เป็นความรู้สึกต้องการแก้แค้นผู้อื่นที่อยู่ในใจ เป็นแรงผลักดันก้าวร้าว ซึ่งเกิดจากสัญชาตญาณของการทำลายร่วมกับความไม่พึงพอใจจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และความโกรธแค้นนั้นย้อนกลับมาทำลายตนเอง
    (2) ความปรารถนาที่จะถูกฆ่า เป็นความรู้สึกผิด เห็นว่าตนเองสมควรได้รับการลงโทษ หรือต้องการหลีกหนีไปให้พ้นจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่
    (3) ความปรารถนาที่จะตาย
    มีภาวะซึมเศร้า สิ้นหวัง ไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คิดว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก จนทำให้หมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
  2. ทฤษฎีปัญญานิยม – มุ่งทำความเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์เป็นสำคัญ เชื่อว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกระบวนการคิด กล่าวคือ บุคคลที่พยายามฆ่าตัวตายมีการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบิดเบือนไปจากความจริง นำไปสู่การรับรู้ที่ผิดพลาด นอกจากนี้ยังมีรูปแบบความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น มองว่าชีวิตเป็นสิ่งน่ากลัว ความตายคือทางเลือกเดียวที่มีอยู่ และมีวิธีการคิดแบบสุดขั้ว จำกัดทางเลือกในวิธีการแก้ปัญหาจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาในชีวิต หรือมีลักษณะการคิดติดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดเวลา จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง และคิดฆ่าตัวตาย
  3. ทฤษฎีการหลบหนี – อธิบายสาเหตุของการฆ่าตัวตายว่าเกิดจากการที่บุคคลพยายามหลีกหนีจากความรู้สึกเกลียดชังตนเองจนนำไปสู่ความรู้สึกพ่ายแพ้แห่งตน เริ่มจากการประสบเหตุการณ์ทางลบในชีวิต บุคคลไม่มองไปที่สาเหตุภายนอก เอาแต่โทษว่าตนเองไม่ดีพอ ไร้ความสามารถ และรู้สึกผิด เกิดเป็นความรู้สึกเกลียดชังตนเอง และผลักดันให้บุคคลพยายามกำจัดอารมณ์ทางลบเหล่านี้ออกไปโดยเร็วและให้ผลถาวร ประกอบกับบุคคลมีกระบวนการคิดเสียไป จึงไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายหรือผลกระทบในระยะยาว
  4. แนวคิดของนักมรณวิทยา – เชื่อว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากความเจ็บปวดทางจิตใจที่มากเกินขีดจำกัดของบุคคล ซึ่งเป็นผลจากการที่บุคคลไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ อาทิ การเป็นที่รัก การยอมรับ การมีส่วนร่วมเป็นเข้าของ ความสามารถในการควบคุมจัดการสิ่งต่างๆ ทั้งนี้ Shneidman ได้สรุปลักษณะร่วมที่สำคัญของการฆ่าตัวตาย 10 ประการ ว่าการฆ่าตัวตายจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้น
    (1) ใช้การฆ่าตัวตายเป็นการแสวงหาทางออกของปัญหา
    (2) เข้าสู่จุดสิ้นสุดของการตระหนักรู้
    (3) ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ
    (4) รู้สึกสิ้นหวังไร้ที่พึ่ง
    (5) รู้สึกลังเลกับการมีชีวิตอยู่
    (6) รับรู้ต่อทางออกของปัญหาคับแคบลง
    (7) ต้องการหลีกหนี
    (8) ใช้การฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความช่วยเหลือ
    (9) มีความก้าวร้าวรุนแรงรวมอยู่ด้วย และ
    (10) มีรู้แบบการแก้ปัญหาในลักษณะเดิมๆ มาโดยตลอด
  5. โมเดลเสียงเรียกร้องความเจ็บปวด – โมเดลนี้พิจารณาการฆ่าตัวตายว่าเป็นพฤติกรรมตอบสนองหรือเสียงเรียกร้องของความเจ็บปวด มากกว่าการร้องขอความช่วยเหลือ (cry for pain, not cry for help) คือเมื่อบุคคลเชิญเหตุการตึงเครียดในชีวิต ไม่สามารถจัดการแก้ไข จนนำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองพ่ายแพ้ บุคคลต้องการหลีกหนีจากความเจ็บปวด เมื่อมีสามารถหลีกหนี รวมทั้งปราศจากแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือ ย่อมทำให้บุคคลรู้สึกสิ้นหวังและพยายามฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
  6. ทฤษฎีสัมพันธภาพทางจิตใจระหว่างบุคคล – ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่อบุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคม (อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์) และเป็นภาระพึ่งพิงผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุทำให้บุคคลเกิดความปรารถนาที่จะตาย แต่ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวไม่พอ บุคคลต้องมีความสามารถในการทำให้ตนเองบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตร่วมด้วย การฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้นได้

 

ทฤษฎีทางสังคมวิทยา (sociological theories)

มุมมองทางสังคมวิทยาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคม และอิทธิพลของกลุ่มสังคมนั่นเองที่ผลักดันให้บุคคลกระทำการฆ่าตัวตาย Durkheim จึงแบ่งการฆ่าตัวตายออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. การฆ่าตัวตายแบบเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น เกิดจากการที่บุคคลมีความผูกพันกับกลุ่มหรือสังคมมากเกินไป จนกระทั่งยอมเสียสละชีวิตของตนเพื่อผลประโยชน์หรือการคงอยู่ของกลุ่ม เช่น การคว้านท้องตนเอง หรือนักบินกามิกาเซ่
  2. การฆ่าตัวตายแบบยึดตนเอง คือการที่บุคคลมีความยึดติดกับตนเองมาก แต่มีความผูกพันกับกลุ่มหรือสังคมน้อยเกินไป จึงทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจจนมีโอกาสเสี่ยงกับการฆ่าตัวตาย มักพบในสังคมสมัยใหม่ รวมทั้งกลุ่มคนว่างงานและผู้สูงอายุเพศชาย
  3. การฆ่าตัวตายจากการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางลบ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงทางบวก เช่น การถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่
  4. การฆ่าตัวตายจากการควบคุมที่มากเกินไปของสังคม การถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมากเกินไป ไม่เพียงแต่ทำให้บุคคลสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังทำลายความหวังที่มีในอนาคต ผู้ที่ฆ่าตัวตายในกลุ่มนี้มักได้แก่ ทาส นักโทษ และผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ในชั่ววูบของการฆ่าตัวตาย : การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยาในผู้ที่ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตาย” โดย ขนิษฐา แสนใจรักษ์ (2552) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/17086

 

แชร์คอนเท็นต์นี้