Resilience – การฟื้นพลัง

08 Jun 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

การฟื้นพลัง หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ภายหลังที่พบเหตุการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในชีวิต อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลผ่านพ้นอุปสรรคและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

การฟื้นพลังสำหรับแต่ละชาตินั้น อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป เพราะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างครอบครัว วัฒนธรรม รวมทั้งศาสนาและความเชื่อของแต่ละเชื้อชาติ สำหรับบริบทไทย มีการศึกษาของกรมสุขภาพจิตที่ได้ระบุถึงองค์ประกอบของการฟื้นพลังไว้ ดังนี้

 

  1. ด้านความมั่นคงทางอารมณ์หรือการทนต่อแรงกดดัน คือ ความสามารถในการดูแลจิตใจให้คงอยู่ได้ในภาวะกดดัน รู้เท่านั้นอารมณ์ความรู้สึกของตนและผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทางลบของตัวเองได้ในสถานการณ์กดดัน
  2. ด้านความหวังและกำลังใจ คือ มีความหวังและแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งความหวังและกำลังใจนี้อาจมาจากการสร้างด้วยตนเองหรือคนรอบข้างก็ได้
  3. ด้านการต่อสู้เอาชนะอุปสรรค คือ ความมั่นใจและพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต ซึ่งความมั่นใจนี้เกิดจากการตระหนักในความสามารถหรือทักษะของตนเอง คิดว่าตนเองทำได้ แก้ปัญหาที่เผชิญได้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้และเข้าถึงความช่วยเหลือหรือปรึกษา

 

การฟื้นพลังด้านความมั่นคงทางอารมณ์มีความจำเป็นมากในระยะแรกที่เผชิญสถานการณ์วิกฤต ช่วงเวลาต่อมาที่ปัญหาคงอยู่ก็ยังต้องใช้ความสามารถในความมั่นคงทางอารมณ์อยู่ เช่นเดียวกับกำลังใจที่ต้องมีอยู่ทุก ๆ ระยะ

ในระยะแรกที่จิตใจอ่อนแอ กำลังใจอาจจะมาจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง แต่พอเวลาผ่านไป จิตใจมีความทนทานมากขึ้น ก็อาจสร้างกำลังใจด้วยตัวเองได้ ส่วนการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความมั่นคงทางอารมณ์และกำลังใจประกอบกันไปด้วย (กรมสุขภาพจิต, 2555)

 

Grotberg (1995) กล่าวว่าการส่งเสริมการฟื้นพลังเป็นการช่วยเสริมสร้างให้บุคคลมีการพัฒนาทางความคิด มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์และรับรู้ในสิ่งที่ตนเองเป็นอย่างเหมาะสมด้วยความเชื่อที่ว่า

 

  1. ตนเป็นคนมีความสามารถ มีความรู้สึกมั่นคงทางใจ เชื่อในคุณค่าและความสามารถของตน ในการควบคุมจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  2. ตนมีความสำคัญ มีค่า มีความหมายเป็นที่ยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว กลุ่ม หรือสังคมสิ่งแวดล้อม
  3. ตนมีพลังอำนาจ มีความสามารถในการควบคุม หรือแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้บุคคลมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและทักษะในการเผชิญปัญหารูปแบบต่างๆ ได้แก่
    • ความสามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักประเมินสถานการณ์และควบคุมการแสดงออกของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
    • ความสามารถใช้ทักษะทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
    • สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตอย่างเข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นได้ มีความเข้าใจถึงข้อจำกัดตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ หรือลงมือทำในเรื่องบางอย่าง และพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถนำแนวความคิดของการฟื้นพลังมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักเหตุผลและจริยธรรม

 

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อการสร้างเสริมการฟื้นพลัง คือต้องสร้างความรู้สึกต่อไปนี้ให้เกิดขึ้น (Gilligen , 2000)

 

  1. ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน – ด้วยการให้ความรัก คอยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ทำให้เกิดความไว้วางใจ มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดริเริ่ม ซึ่งต้องมาจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่
  2. ความสำนึกในคุณค่าแห่งตน – เริ่มมาจากการให้ความรัก เมื่อบุคคลรับรู้ถึงความรู้สึกว่าถูกรักก็จะคิดว่าตนเองยังมีคุณค่า มีคนรักและห่วงใยอยู่ นำไปสู่การคิดถึงคุณค่าของตนเองที่มีอยู่
  3. สมรรถนะแห่งตน ว่าบุคคลสามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยตนเอง – ด้วยการคอยสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อให้โอกาสบุคคลได้จัดการปัญหาของตนเองและเล็งเห็นถึงความสามารถของตน

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการพัฒนาการฟื้นพลังต่อปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง” โดย นลพรรณ ส่งเสริม, วรัญญา ศิลาหม่อม และ สรสิช โภคทรัพย์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46900

 

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้