โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย

13 Sep 2018

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์

 

  • เคยไหมที่คุณรู้สึกว่าคุณเข้ากับผู้คนรอบข้างไม่ได้
  • รู้สึกว่าไม่มีใครที่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณ
  • รู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวจากกลุ่มหรือจากผู้คนรอบข้าง
  • ไม่มีคนที่คุณสามารถคุยปรึกษาและพึ่งพาในยามที่ลำบากใจหรือเศร้าใจ
  • หรือรู้สึกว่าความสัมพันธ์ในชีวิตคุณไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งมากเท่าที่คุณต้องการ

 

หากคุณตอบว่าบ่อย อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าคุณกำลังรู้สึก “เหงา” นั่นเอง

 

จากผลการสำรวจปี 2561 ในสหรัฐอเมริกา พบว่าในจำนวนประชาชนกว่า 2 หมื่นคนที่ตอบแบบวัดความเหงา UCLA Loneliness Scale มีจำนวนเกินครึ่งที่ตอบว่ามีอาการเหงาเหล่านี้บ่อยครั้ง โดยกลุ่มอายุที่เหงาที่สุด คือ เยาวชนอายุ 18-22 ปี (Generation Z) ตามด้วยคนที่มีอายุ 23-37 ปี (millennials)

 

สถิติจากผลสำรวจยังชี้ว่า ความรู้สึกเหงาของคนในสังคมมีมากจนถึงระดับเป็นอาการเชิงระบาด ทั้งนี้ ในสังคมโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น จึงคาดว่าสถิติความเหงาเช่นนี้คงจะเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทย

 

“ความเหงา” เป็นความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นเมื่อคุณมองว่าความสัมพันธ์ในชีวิตคุณนั้นไม่เป็นตามที่คุณต้องการ เป็นความรู้สึกขาดการเชื่อมต่อ ไม่ได้การยอมรับจากผู้อื่น หรือไม่มีที่พึ่งทางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์หลากหลายรูปแบบในชีวิตประจำวัน เช่น คุณไม่มีคนนั่งด้วยในโรงอาหารหรือในโรงภาพยนตร์ หรือคุณเป็นคนสุดท้ายที่ถูกเลือกให้เป็นผู้ร่วมทีม

 

ที่สำคัญคือ ความเหงานั้นเป็น “มุมมอง” หรือ “ความรู้สึก” ที่คุณมีต่อความสัมพันธ์ที่คุณมี ไม่ว่าคุณจะมีความสัมพันธ์จำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ว่าคุณจะมีเพื่อนมากมายในเฟซบุ๊กหรือในชีวิตจริง หรือมีผู้คนมากมายรอบข้างในห้องเรียน ในที่ทำงาน หรือในบ้าน คุณก็สามารถรู้สึกเหงาได้ และในขณะเดียวกัน การอยู่คนเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเหงาเสมอไป แน่นอนว่าในบางครั้งเราพึงพอใจที่จะอยู่ตามลำพังและมีความเป็นส่วนตัว

 

คนยุคปัจจุบันอาจรู้สึกเหงามากขึ้นเพราะเราอยู่ใน “สังคมก้มหน้า” ต่างคนต่างติดโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีนั้นมีข้อดีในการทำให้ผู้คนสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายแม้อยู่ห่างจากกัน แต่ในทางกลับกัน เทคโนโลยีอาจสร้างภาพลวง โดยทำให้คุณคิดว่าคุณได้เชื่อมต่อกับผู้อื่นตลอดเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต แต่การเชื่อมต่อทางโซเชียลมีเดียอาจไม่ได้สนองการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด

 

และถึงแม้ว่าคุณนัดเจอเพื่อนในชีวิตจริง คุณอาจไม่รู้สึกเชื่อมต่อกับเขาเพราะต่างคนต่างนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่น ๆ เพราะฉะนั้น การที่อยู่ด้วยกันทางกายแต่ใจลอยไปที่อื่นจึงอาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและขาดความต้องการทางความสัมพันธ์

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่าความเหงาส่งผลทางลบต่อสุขภาพกายของเรา เช่น คนเหงามักมีปัญหานอนไม่หลับ มีปัญหาควบคุมการรับประทานอาหาร และในระยะยาว ความเหงาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง

 

นอกเหนือจากสุขภาพกาย ความเหงาอาจทำให้สุขภาพจิตของเราแย่ลงด้วย โดยความเหงานั้นเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล ทำให้เรารับรู้ถึงความเครียดมากขึ้น และทำให้มองโลกและมองตัวเองในแง่ลบมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ความเหงาส่งผลกระทบกับคนในวัยชรา โดยส่งผลต่อการทำงานของสมองที่เสื่อมถอยลง และอาจทำให้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร

 

นอกจากนี้ งานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์พบว่าสมองของเราตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางจิตใจ (เช่น ความเหงา การถูกทอดทิ้ง หรือ การถูกขับออกจากกลุ่ม) ไม่ต่างจากการตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกาย เพราะฉะนั้น ความเหงาจึงเป็นสัญญาณสำคัญที่เตือนให้เราควรหันมาดูแลสุขภาวะของจิตใจของเรา

 

 

หากคุณรู้สึกเหงา คุณควรทำอย่างไรบ้าง ?


 

คนส่วนใหญ่อาจเลือกที่จะทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้ไม่ต้องคิดถึงความเหงา เช่น เปิดโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์เพื่อดูหนังดูละคร เล่นเกมออนไลน์ นั่งเลื่อนดูข้อความและรูปภาพของผู้อื่นในโซเชียลมีเดีย โดยคุณอาจคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้ช่วยลดความเหงา แต่ในความเป็นจริงนั้น คุณอาจกลับไปรู้สึกเหงาอีกหลังจากที่คุณหยุดทำกิจกรรมเหล่านี้ เหตุผลก็คือ ทางออกนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความเหงาได้โดยตรง ในขณะที่มีทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าในการลดความรู้สึกเหงา โดยวิธีต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเผชิญกับความเหงาและแก้ไขปัญหาความรู้สึกเหงาได้โดยตรง

 

(1) ปรับคุณภาพของความสัมพันธ์ในชีวิต

 

เราสามารถนัดเจอเพื่อนสนิท คนในครอบครัว หรือเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานาน และตั้งเป้าหมายที่จะพูดคุยกันอย่างใส่ใจ และตั้งใจฟังเขาจากใจจริง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ สนทนากันแบบไม่ก้มหน้ากับมือถือหรืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอื่น ๆ

 

มีตัวอย่างจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่จัดวางกล่องไว้บนโต๊ะอาหารเพื่อให้ลูกค้าสามารถเอามือถือเก็บไว้ในขณะที่รับประทานอาหาร โดยลูกค้าที่ใช้บริการกล่องเหล่านี้ตอบว่ารู้สึกเชื่อมต่อมากขึ้นกับผู้ที่ตนสนทนาด้วยระหว่างรับประทานอาหาร ในการนี้ ถึงแม้ว่าคุณไม่สามารถนัดเจอเพื่อน คนรัก หรือครอบครัวได้ เพราะเหตุที่คุณหรือเขาอยู่ห่างไกลกัน แต่คุณสามารถทำให้ความเหงาเบาลงได้ หากเพียงคุณนัดโทรศัพท์คุยกันหรือโทรคุยแบบเห็นหน้ากันสักหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์

 

(2) ปรับมุมมองความคิด ชีวิตเปลี่ยน

 

ถึงแม้คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบางสถานการณ์ได้ แต่คุณสามารถเปลี่ยนวิธีที่คุณตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นได้เสมอ เริ่มจากการทำความเข้าใจว่าความเหงาเป็นการประเมินของตัวคุณเองต่อความสัมพันธ์ในชีวิต

 

คุณจะเลือกมองว่าคุณขาดความสัมพันธ์หรือขาดใครคนหนึ่งมาเติมเต็มชีวิต หรือคุณจะเลือกมองว่าในชีวิตคุณก็มีความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าอยู่แล้วมากมาย ให้คุณลองนึกถึงและเขียนรายชื่อผู้คนที่ทำให้คุณรู้สึกขอบคุณและมีความสุขที่มีเขาในชีวิต นอกจากนี้ คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองโดยการนึกดูว่ามีใครในชีวิตของคุณที่อาจต้องการให้คุณรับฟังและให้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาบ้างไหม เมื่อเราเป็นผู้ให้ที่ดี เราก็จะมีความสุขใจและเติมเต็มความสัมพันธ์ในชีวิตของเราเองเช่นกัน

 

(3) พึ่งความเข้าใจทางธรรมะ

 

เราสามารถทำความเข้าใจกับความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้นในใจเรา โดยรับรู้ว่าความรู้สึกนี้อยู่กับเราเพียงชั่วคราว เหมือนกับทุก ๆ สิ่งในโลกนี้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คุณไม่จำเป็นที่จะต้องจมอยู่ในความรู้สึกเหงาที่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ลง แต่คุณสามารถเลือกที่จะเผชิญความรู้สึกนี้และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเหงา โดยเข้าใจว่าความเหงาคืออาการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาชั่วคราวและไม่ช้าไม่นานก็จะผ่านไป

 

อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้สึกว่าคุณเหงาจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่าลืมว่าคุณสามารถนัดพบนักจิตวิทยาที่พร้อมที่จะช่วยคุณ เพราะความเจ็บปวดทางจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและควรได้รับการดูแลไม่แพ้กับการบาดเจ็บทางร่างกาย

 

ยังไม่สายเกินไปค่ะที่เราจะหันมาดูแลสุขภาวะใจของเราให้ดี ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่รู้สึกเหงาทุกคนค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Cacioppo, J. T., & Hawkley, L. C. (2009). Perceived social isolation and cognition. Trends in Cognitive Sciences, 13(10), 447-454.

 

Hawkley, L. C., & Capitanio, J. P. (2015). Perceived social isolation, evolutionary fitness and health outcomes: a lifespan approach. Philosophical Transactions of the Royal Society B, 370(1669), 20140114.

 

Masi, C. M., Chen, H. Y., Hawkley, L. C., & Cacioppo, J. T. (2011). A meta-analysis of interventions to reduce loneliness. Personality and Social Psychology Review, 15(3), 219-266.

 

https://www.multivu.com/players/English/8294451-cigna-us-loneliness-survey/docs/IndexReport_1524069371598-173525450.pdf

 

ภาพจาก http://www.stgeorgeministry.com/loneliness-union-god/

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์สุภสิรี จันทวรินทร์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้