เข้าใจความประหม่า เวลานำเสนองาน

20 Mar 2019

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

 

ในการทำงานปัจจุบัน การนำเสนองาน หรือ present งานนั้นนับเป็นทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่ง แต่หลายคนอาจกลัวหรือไม่มั่นใจในการออกไปพูดคุยต่อหน้าคนจำนวนมาก พยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนองาน หรือหากต้องทำ ความประหม่าอาจทำให้นำเสนอได้ไม่เต็มที่ พลอยทำให้เสียโอกาสดี ๆ ที่จะถ่ายทอดความคิดหรือข้อมูลที่มีไป

 

ความกลัวการนำเสนองานหรือการพูดต่อหน้าคนหมู่มากนั้น นับเป็นความกลัวยอดฮิตติดลำดับต้น ๆ ของคนทั่วไป ทางจิตวิทยาจึงได้มีการค้นคว้าทำความเข้าใจ พบว่าความกลัวนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือความกลัวว่าเราจะทำผิดพลาดระหว่างการนำเสนอ และส่วนที่สอง คือ ความกลัวว่าความผิดพลาดนั้นจะนำมาซึ่งผลเสียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกลงโทษ การตำหนิ การล้อเลียน เมื่อนำทั้งสองส่วนมาประกอบกันแล้ว ไม่แปลกเลยนะคะที่การนำเสนองานจะทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกอกสั่นขวัญแขวงไม่น้อย

 

 

ทำไมเราแต่ละคนจึงกลัวการนำเสนองานไม่เท่ากัน


 

สาเหตุตรงนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนเช่นกันค่ะ ส่วนแรกเลยเป็นพื้นอารมณ์ที่ติดเนื้อติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เราบางคนมีลักษณะระแวดระวัง เคร่งเครียด หรือกังวลง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความกลัวง่ายเป็นพิเศษ ส่วนที่สอง เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่มี บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ลบ ๆ จากการนำเสนองาน หรือเห็นตัวแบบคนอื่น ๆ มีประสบการณ์เลวร้าย เช่น เคยพูดผิดพลาดแล้วถูกตำหนิ ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเกิดขึ้นกับตนเองอีก

 

ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลร่วมกัน ทำให้หลายคนเกิดความกลัวคิดหวาดระแวงว่าจะทำผิดพลาด หรือกดดันตัวเองว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ต้องการ ผนวกกับประสบการณ์ทางลบที่เคยมีมาในอดีต อาจทำให้คาดเดาว่าความผิดพลาดจะส่งผลเสียต่าง ๆ ส่งผลทำให้เกิดความกลัวขึ้น ซึ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นแล้ว ร่างกายก็จะตอบสนองตอบเชิงลบ เช่น มือไม้สั่น หน้าแดง หรือเหงื่อแตก พลอยทำให้เจ้าตัวพะวงว่าผู้ฟังจะสังเกตเห็นสัญญาณความกลัวของตัวเอง เกิดการขาดสมาธิ พูดผิด ๆ พลาด ๆ กลายเป็นยิ่งรู้สึกขยาดการนำเสนองานต่อเนื่องตามไป

 

หลายคนพอกลัว ก็จะหลีกเลี่ยงไม่นำเสนองาน อย่างไรก็ดี การเลี่ยงในลักษณะนี้ช่วยลดความกลัวได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ในระยะยาว กลับเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ทำให้ความกลัวคงอยู่หรือทวีความรุนแรงขึ้น เพราะการเลี่ยงจะทำให้เราขาดโอกาสในการเรียนรู้และสะสมความมั่นใจว่าจริง ๆ เราก็อาจพูดได้โดยไม่เลวร้ายนัก หรือต่อให้เกิดความผิดพลาดขึ้น ผลก็คงไม่เลวร้ายมากเท่าที่เราคาดเดาไว้

 

ในเชิงจิตวิทยา แนวทางหนึ่งในการลดความกลัวที่ได้ผล คือ การฝึกหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อความกลัวเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำได้ผ่านการฝึกหายใจลึกและยาวช้า ๆ หรือการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อทำให้ร่างกายสงบพร้อมรับมือความกลัวยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังต้องค่อย ๆ ฝึกเผชิญหน้ากับความนำเสนองานซ้ำ ๆ นานเพียงพอเพื่อให้เกิดความคุ้นชิน

 

การปรับความคิดก็เป็นประเด็นที่ขาดไปไม่ได้ในการเอาชนะความกลัวค่ะ โดยจะเริ่มจากการคิดไม่ให้แพ้ภัยตัวเองก่อน ความคาดหวังนับเป็นภัยแรกเลยค่ะ จึงต้องเริ่มต้นด้วยการลดความต้องการความสมบูรณ์แบบลง หากเรากดดันคาดหวังตัวเองสูง เช่น จะต้องนำเสนอให้เป๊ะ น่าประทับใจ ไม่ติดขัดเลย อาจจะปรับลดความคาดหวังโดยสังเกตการนำเสนอของคนทั่วไปว่าจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอ แล้วคนฟังเองก็ไม่ได้สนใจจับรายละเอียดทั้งหมด หากคนอื่นมีผิดมีพลาด เหตุใดเราจึงคาดหวังความสมบูรณ์แบบกับตนเอง

 

นอกจากการลดความคาดหวังความสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ควรมองข้ามมุมมองความคิดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกค่ะ เช่น การยอมรับว่าการพูดต่อหน้าคนหมู่มากไม่ใช่เรื่องหมูและอาจก่อให้เกิดความกลัวให้คนส่วนใหญ่ ตรงนี้จะช่วยให้เรายอมรับและไม่หงุดหงิดเกินไปกับความกลัวของตัวเอง นอกจากนั้น หากเรามองว่าการนำเสนองานเป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นได้ ไม่ได้อาศัยพรสวรรค์อย่างเดียว พร้อมทั้งชมเชย ไม่ละเลยเวลาที่เราทำได้ดี เหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้เราฝึกปรือ ทำให้แม้จะมีความกลัวในการนำเสนองานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีผลกระทบมากเกินไปในการทำงานของเรานะคะ

 

 

 

 

ภาพประกอบจาก https://studybreaks.com/college/prep-presentation-severe-anxiety/

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้