จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

12 Nov 2019

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

นี่เป็นคำถามที่ผิดตรรกะของชีวิตและวิวัฒนาการอย่างที่สุดคำถามหนึ่งเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต

 

โลกได้ศึกษาจิตวิทยามานานแล้ว ถ้าจะพูดแบบเหมารวมสักหน่อยก็น่าจะพร้อมกับช่วงที่มีมนุษย์คนแรกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก แต่สำหรับการศึกษา “อย่างเป็นระบบ” นั้น พระพุทธเจ้าและปราชญ์ท่านอื่น ๆ ก็ได้ทำกันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วเช่นกัน ซึ่งตามหลักวิวัฒนาการแล้ว สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่น่าจะคงอยู่มาได้นานขนาดนี้ ถ้ามันจะไม่มีประโยชน์จริง ๆ ศาสตร์นี้คงจะหายไปตามกาลเวลาและก็คงจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชานี้เป็นแน่

 

น่าแปลกใจและน่าสนใจมากว่าคำถามนี้ถูกถามมาได้อย่างไร

 

คำถามที่ไม่เหมาะสมมักจะนำไปสู่คำตอบที่ไม่เหมาะสม แต่คำถามที่ไม่เหมาะสมบางคำถามอาจจะนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจมากกว่าได้

 

สำหรับบางคนที่ยังสงสัยว่า อะไรเล่าที่เป็นจิตวิทยาแล้วอะไรเล่าที่ไม่เป็น ตอนนี้ขอให้มองข้ามข้อสงสัยนี้ไปก่อน สิ่งที่เราจะคุยกันต่อไปอาจจะให้คำตอบด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

 

เอาล่ะ ในเมื่อมี “ความเชื่อ” ว่าอย่างไรเสีย ศาสตร์จิตวิทยาก็มีประโยชน์ คำถามต่อมาคือ “เพื่อใครหรือสำหรับใคร” ที่ว่าสำหรับมนุษย์นั้นจะว่ากว้างก็กว้างแต่จะว่าแคบก็แคบ อย่างที่เราอาจเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่มีประโยชน์สำหรับบางคนอาจจะไม่มีประโยชน์…หรือเรียกว่ามีโทษน่าจะถูกต้องมากกว่า…สำหรับอีกหลาย ๆ คนก็ได้ ถ้าเช่นนั้น มันน่าสนใจว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์ทุกคนทุกผู้ทุกวัยได้อย่างไร

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มองตัวเองเป็นหลัก…ไม่มากก็น้อย

ลองเปลี่ยนคำว่า “มนุษย์” เป็น “ทุกคนเท่า ๆ กัน” ดีไหมครับ “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับทุกคนเท่า ๆ กัน”

 

ลองแบ่งคนอย่างหยาบ ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มกันก่อน

 

  1. คนกลุ่มแรกเกิดมาพร้อมกับพรวิเศษบางอย่างที่ทำให้เขาหรือเธอมีความสามารถที่แตกต่างเหนือกว่าคนทั่วไป เป็นความสามารถทางศิลปวิทยาการทั่วไปแหละ อย่าเพิ่งไปนึกถึงความสามารถพิสดารอะไรที่เราเห็นกันในหนังในละครเลย
  2. คนกลุ่มที่สองเกิดมาพร้อมกับสิ่งทั่ว ๆ ไป
  3. คนกลุ่มที่สามเกิดมาพร้อมกับปัญหาหรือความบกพร่องอะไรบางอย่าง

 

ไม่ได้บอกว่าการแบ่งแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ แค่ลองคิดเล่น ๆ เท่านั้น

 

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์ “มากที่สุด” สำหรับคนกลุ่มที่สาม หรืออาจจะคิดไปไกลกว่านั้นว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนกลุ่มที่สาม “เท่านั้น”

 

ผิดไปมากเลยครับ ลองไล่จากข้างหลังมาข้างหน้าก็แล้วกัน

 

สำหรับคนกลุ่มที่สาม จะพูดว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากในการบำบัดรักษาก็ไม่น่าจะเป็นคำพูดที่เกินไปนัก คนที่มีปัญหาจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ศาสตร์จิตวิทยาจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

ส่วนคนกลุ่มที่สองเล่า จิตวิทยาจะมีประโยชน์อะไร

 

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างปกติ แต่คงไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่มีความทุกข์ที่ต้องปลดเปลื้อง ไม่มีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ และไม่มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ต้องสร้างและคอยประคับประคอง การช่วยคนให้จัดการกับสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาเท่านั้นครับ

 

คราวนี้ลองมาดูคนกลุ่มที่หนึ่งบ้าง อย่างที่พูดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่พิเศษบางอย่างที่อาจเหนือกว่าคนอื่นอีกหลาย ๆ คน ทำให้เราคิดไปว่า คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งศาสตร์จิตวิทยาด้วยหรือ?

 

จำเป็นมากครับ…

 

มีสักกี่คนที่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง…ด้วยตัวเอง มีสักกี่คนเล่าที่สามารถฟูมฟักศักยภาพนั้นให้กลายเป็น “ความสามารถพิเศษ” ที่หลาย ๆ คนยกย่อง…ด้วยตัวเอง และมีสักกี่คนเล่าที่ไม่มีปัญหากับ “สิ่งพิเศษ” เหล่านี้

 

จิตวิทยาสามารถช่วยให้เขาหรือเธอค้นพบสิ่งนั้น พัฒนามันให้เต็มที่ และป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความพิเศษนั้นเอง

 

คราวนี้ลองคิดเกินไปกว่าประโยชน์ของมนุษย์สักเล็กน้อย ลองเติมคำว่า “เท่านั้น” และสลับเรียงคำในประโยคใหม่ จะได้ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์เท่านั้นจริงหรือ” น่าสนใจนะครับ

 

ถ้าจะให้คิดถึงเรื่องสำคัญ ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวของเราเองแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาจรวมไปถึงสัตว์สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ร่วมกับเราด้วยจิตวิทยาจะมีประโยชน์ต่อสิ่งเหล่านี้ไหม?

 

ตอบได้เลยว่ามีครับ…

 

ลองคิดง่าย ๆ จากแนวคิดที่ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย และมนุษย์เองนี่แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการคงอยู่ของหลาย ๆ สิ่งในธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ก็น่าจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

 

หน้าที่หนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ โดยผลของมันถ้าจะพูดอย่างกว้าง ๆ ก็คือการทำให้คน ๆ นั้นและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกบริโภคเครื่องดื่มสักขวด?

 

ถ้าเรารู้ว่ากระบวนการผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการกำจัดสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ มีการปฏิบัติกับลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบต่อแหล่งทรัพยากร เราอาจจะเลือกไม่อุดหนุนของชนิดนี้ ถามว่าการเลือกซื้อ…พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญอะไร…ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างรอบตัวคน ๆ นั้นหรือ?

 

ช่วยเปลี่ยนแปลงครับ แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ

 

ยังมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมายที่ร่วมกันกำหนดผลของพฤติกรรมของเรา แต่การที่เราตระหนักรู้ว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเองนั้นมีผลกระทบขยายกว้างไปกว่าขอบเขตแคบ ๆ รอบตัวเรา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

จิตวิทยาสามารถช่วยกระตุ้นให้คนเกิดการตระหนักรู้ผลกระทบของพฤติกรรม ทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่ว่าใกล้หรือไกล เมื่อรู้แล้วก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ประโยชน์ก็อาจจะบังเกิดกับทั้งตัว “มนุษย์” เองและธรรมชาติรอบตัว

 

จาก “ความเชื่อ” ที่ว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์…ทุกคน และรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราด้วย แต่ทำไมคนบางคนถึงมองไม่เห็นประโยชน์ของมัน?

 

ลองปรับคำถามจากคำถามแรกดูนะครับ

 

คำตอบที่ว่าจริงหรือไม่จริงนั้นดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่หยาบเกินไปสักหน่อย ถ้าเราเพิ่มมุมมองการรับรู้ของคนและระดับของความมีประโยชน์ในคำถามเล่า อะไรจะเกิดขึ้น ลองเพิ่มคำว่า “มากพอ” ในคำถามที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เป็น “จิตวิทยามีประโยชน์มากพอจริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

ที่ว่ามากพอหรือไม่นั้น มันน่าจะขึ้นอยู่กับความต้องการและมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน เพราะฉะนั้นขอปรับเปลี่ยนคำถามอีกสักเล็กน้อยเป็น “ทำไมบางคนเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอที่จะให้ความสำคัญกับมัน แต่บางคนกลับเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์แต่ไม่มากพอที่จะสนใจ”

น่าคิดนะครับ…

 

เป็นไปได้ไหมว่า ที่คนหนึ่งเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอในขณะที่อีกคนไม่เห็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่า ต่างคนต่างเห็นความชัดเจนของศาสตร์จิตวิทยาไม่เท่ากัน คนแรกสามารถนึกออกว่าจิตวิทยาคืออะไร ทำอะไรได้ และใช้อย่างไร แต่คนหลังกลับมองไม่เห็น ถึงจะเห็นก็เห็นแบบผิด ๆ ถูก ๆ เลือนลางเต็มที

 

หลายคนคิดว่าศาสตร์จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ถูกมากกว่าผิดครับ….

 

จิตวิทยาแตกต่างจากศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตรงที่ส่วนใหญ่แล้วเราศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นอัตวิสัยมากกว่าเป็นปรวิสัย และเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่มีสารเคมีวัดได้อย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับวิศวกรรมศาสตร์ที่มีสิ่งปลูกสร้างจับต้องได้

 

จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่อยู่ภายในสมองและจิตใจ ความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา สิ่งเหล่านี้นอกจากจะจับต้องไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของเรา…เกินไป

 

มนุษย์ทุกคนมีความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมต่าง ๆ เราสื่อสารสิ่งที่เราคิด เราแสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก เรามองเห็นสิ่งที่เราและคนอื่นกระทำ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราอาจไม่ทันได้สังเกตถึง “ความแปลกประหลาด” ของมัน และมองข้ามความสำคัญของการศึกษาสิ่งเหล่านี้ไป

 

ลองมองตัวเองและคนรอบข้างดูสิครับ ฟังสิ่งที่เราคิด รับสิ่งที่เรารู้สึก และสังเกตสิ่งที่คนอื่นกระทำ ลองคิดว่าเพราะอะไรมันถึงได้เป็นอย่างนั้น ลองคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ เพียงเท่านี้จิตวิทยาดูจะน่าสนใจมากขึ้น และอาจจะเห็นประโยชน์ “มากพอ” ที่จะให้ความสำคัญกับมันก็ได้

เราลองมาตั้งคำถามที่หันเข้าสู่คนใช้ศาสตร์กันบ้างดีกว่า แค่เติมคำว่า “นัก” เข้าไปในประโยคคำถามเดิมเท่านั้นเอง “นักจิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

จริง ๆ แล้วคำถามนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำถามเดิมที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองจากศาสตร์มาเป็นคนใช้ศาสตร์เท่านั้นเอง

 

อาจจะตอบง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าอาชีพนักจิตวิทยาไม่มีประโยชน์ ก็คงจะไม่มีอาชีพนี้อยู่ในสังคมแล้ว ตอบแบบกำปั้นทุบดิน

 

ลองเปลี่ยนจาก “มีประโยชน์หรือไม่” เป็น “จำเป็นหรือไม่” ดีกว่าไหมครับ เพราะทุกสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีประโยชน์ แต่บางสิ่งที่มีประโยชน์อาจจะไม่จำเป็นก็ได้

 

แน่นอนว่า นักจิตวิทยามีประโยชน์ แต่ความจำเป็นนั้นอาจจะไม่เท่ากันสำหรับแต่ละคน ทุกคนต่างมีปัญหาหรือจุดสะดุดในชีวิต บางคนอาจจะก้าวผ่านไปได้ด้วยตัวเอง บางคนที่ไปต่อไม่ได้อาจจะต้องการความช่วยเหลือ นักจิตวิทยาจะมีความจำเป็นมากสำหรับคนกลุ่มหลังแต่จะมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับคนกลุ่มแรก

 

ใครที่มีจุดสะดุดหรือตกหล่มบ่อย นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอมากหน่อย นักจิตวิทยาอาจจะช่วยคลายความไม่สบายใจ ช่วยทำให้มองเห็นปัญหาและมีความคิดต่อปัญหานั้นชัดเจนมากขึ้น เปรียบได้กับการทำให้น้ำที่ขุ่นอยู่นั้นใสขึ้น ส่วนใครที่มีจุดสะดุดน้อยหรือเมื่อตกหล่มแล้วสามารถขึ้นมาเองได้ นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอน้อยหน่อย อาจจะแค่ช่วยสะกิดบางจุดที่ขรุขระให้ราบเรียบ เดินต่อไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้นเอง

 

พอจะสรุปได้ว่า ทั้งศาสตร์และนักจิตวิทยาล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น แต่จะมีความจำเป็นต่อคนแต่ละคน สิ่งแต่ละสิ่งมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ มุมมองการรับรู้ และความเข้าใจปัญหาเหตุการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละคนครับ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้