อยู่กับปัญหาให้เป็น

09 Aug 2018

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

 

ผู้เขียน :

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราไม่ได้พบกันคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นออกมาในทางที่ดีได้ครับ

 

ผู้เข้ารับการปรึกษา :

เข้าใจและชัดเจนกับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ความชัดเจนตรงนี้ทำให้เลือกและตัดสินใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น รู้เลยว่าที่ผ่านมาตัวเองเป็นคนที่คิดเยอะมาก คิดถึงคนอื่นว่าจะรู้สึกอย่างไรถ้าเราทำแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำล่ะจะเป็นอย่างไร ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ต้องรอจนนาทีสุดท้ายถึงจะตัดสินใจได้ หรือไม่ก็ปล่อยไปเลยตามเลย โดยที่ไม่ฟังความรู้สึกของตัวเอง ตอนนี้รู้สึกว่าก็ทำไปตามความรู้สึกของตัวเองนี่แหละ ผลจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากัน

 

ผู้เขียน :

แสดงว่าตอนนี้ก็ตัดสินใจกับเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ตัดสินใจไปตามความรู้สึกของตัวเอง

 

ผู้เข้ารับการปรึกษา :

ก็ไม่ได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ตอนนั้นที่มาคุยรู้สึกว่าจะไปทางนั้นก็ไม่ได้ทางนี้ก็ไม่ดี เหมือนกับไม่มีทางออก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ถ้าทำแบบนี้ลงไปจะเกิดอะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมนะ ไม่ได้ตัดสินใจง่ายขึ้นหรอก แต่แค่ทำตามความรู้สึกตามความชัดเจนของตัวเองที่มีตอนนี้ ส่วนมันจะเกิดอะไรขึ้นนั้นก็ยอมรับผลที่จะเกิด ถ้าผลออกมาดีก็ดีไป แต่ถ้ามันยังมีปัญหาก็แก้ไปตามที่มันเกิด คาดเดาไปก็ไม่ถูกหรอก

 

 

นี่เป็นบทสนทนาการปรึกษาเชิงจิตวิทยาช่วงหนึ่งระหว่างผมกับผู้รับบริการคนหนึ่ง เขากลับมาเพียงแค่อัพเดตและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเกิดอะไรบ้างในช่วงเวลาที่ไม่ได้พบกันเป็นเวลาเกือบปี ทั้งที่เขาไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร

 

หลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นสิ่งที่เราหยิบยืมจากอนาคตและสร้างมันขึ้นมาให้รบกวนจิตใจจนไม่สามารถลงมือทำอะไรต่อไป และหลงลืมไปว่าตอนนี้ ตัวตนของเราเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร

 

การกลับมาทบทวนและสังเกตตัวเอง จึงเป็นการกลับมาทำความเข้าใจตนเองให้ชัดแจ้งว่า “ตอนนี้” ตัวตนของเรากำลังรู้สึกอะไร กำลังคิดอะไร กำลังต้องการอะไร และเราทำได้แค่ไหนกับเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ส่วนเรื่องไหนที่เป็นเรื่องของ “ตอนหน้า” ให้หงายการ์ดอันเก่าแก่ที่ว่า “อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด” มาใช้แทน เพราะยิ่งคิดยิ่งทบทวนก็ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ชีวิต ยิ่งเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นจนก้าวเดินต่อไปได้ยากลำบากและอาจจะเดินต่อไปไม่ได้ในที่สุด ดังนั้น รอให้มันเกิดก่อนแล้วค่อยจัดการมันไปตามความเหมาะสมจะดีที่สุด

 

…ตอนหน้าก็คือเรื่องของตอนหน้า ตอนนี้ก็คือเรื่องของตอนนี้…

 

การคิดทบทวนและสังเกตตนเองจึงต้องมาพร้อม ๆ กับคำว่า “ยอมรับ” ด้วยเสมอ ยอมรับกับตัวตนเองที่เป็นที่รู้สึกอยู่ในตอนนี้ และยอมรับกับผลที่จะเกิดขึ้นในตอนหน้าด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายอมรับแล้ว แม้มีปัญหาเกิดขึ้นเราก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาต่อไป เหมือนกับคำพูดของผู้รับบริการคนนี้ที่ว่า

 

“ปัญหาก็ยังอยู่แหละ แต่มันไม่เหมือนเดิม ผมคิดว่าตอนนี้อยู่กับมันได้แล้ว”

 

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้