อยู่ก่อนแต่ง: ในบริบททางจิตวิทยา

10 Sep 2019

อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

 

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ภารกิจที่เกิดขึ้นเป็นประจำของช่วงวัยดังกล่าว คือการไปร่วมงานมงคลสมรส หรืองานแต่งงานของเพื่อน ๆ หากแต่ว่าในคู่รักหลาย ๆ คู่ เลือกที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน (premarital cohabitation) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นทั้งในสังคมสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมทั้งประเทศไทย

 

สำหรับความหมายของการอยู่ก่อนแต่ง คือการตกลงใจที่จะอาศัยอยู่และใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสหรือพิธีแต่งงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมดังกล่าว แม้เคยไม่เป็นที่ยอมรับเพราะขัดกับจารีตประเพณี แต่กลับพบได้มากยิ่งขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาถึงรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวในบริบททางจิตวิทยาให้มากยิ่งขึ้น

 

ความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวมักถูกเชื่อมโยงกับผลทางลบต่อชีวิตคู่หลังแต่งงาน จึงมีงานวิจัยจำนวนที่พยายามศึกษาผลของความรักดังกล่าว โดยจากงานวิจัยต่างประเทศพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ชีวิตร่วมกันก่อนแต่งงานและคุณภาพของการแต่งงาน โดยเมื่อเทียบกับคู่รักที่แต่งก่อนอยู่ พบว่าคู่ที่อยู่ก่อนแต่งมักมีความพึงพอใจในการแต่งงานต่ำกว่า มีการทะเลาะวิวาท ความขัดแย้งและการนอกใจที่สูงกว่า และนำมาซึ่งอัตราการหย่าร้างที่สูงกว่าอีกด้วย ผลเสียดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าเป็นผลของการอยู่ก่อนแต่งงาน (Cohabitation effect)

 

อย่างไรก็ตามการอยู่ก่อนแต่งย่อมต้องมีคุณประโยชน์ หรือเหตุผลที่สำคัญบางประการ มิฉะนั้นเทรนด์ดังกล่าวคงไม่แพร่หลายอย่างมากในโลกปัจจุบัน จากข้อสรุปของนักจิตวิทยาพบว่า เหตุผลที่คู่รักเลือกอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 3 สาเหตุสำคัญ ดังนี้

 

  1. การอยู่ก่อนแต่งเพราะต้องการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน (time together) เป็นความปรารถนาที่คู่รักอยากมีเวลา, ใช้เวลาร่วมกันมากยิ่งขึ้น เพิ่มความใกล้ชิด เติมความหวานกับคนรักมากขึ้น
  2. การอยู่ก่อนแต่งเพื่อความสะดวก (convenience) เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อเกื้อหนุนหากคู่รักของตน ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยของตนเองได้ เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือเพื่อความสะดวกสบาย
  3. การอยู่ก่อนแต่งเพื่อทดลองความสัมพันธ์ (testing) เป็นการอยู่ร่วมกันเนื่องจาก คู่รักต้องการพิสูจน์หรือเกิดความสงสัยว่าความสัมพันธ์ที่มีจะเป็นความรักที่ยาวนาน สามารถอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีปัญหา เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจก่อนที่จะแต่งงานกันในที่สุด

 

ดังนั้นการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงานจึงอาจเป็นประโยชน์ในแง่ของการได้รู้จักคนรักของตนเองมากยิ่งขึ้น ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายบางประการ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมสู้การแต่งงานในที่สุดนั่นเอง และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าความเชื่อมโยงระหว่างการอยู่ก่อนแต่งและผลเสียของมันนั้นลดน้อยลงไปแล้ว

 

 

ดังนั้นแล้วคู่รักในยุคปัจจุบันควรเลือกตัดสินใจอย่างไรดี?

 

ก่อนตอบคำถามดังกล่าว มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ Rosenfeld และ Roesler ในปี 2019 ซึ่งศึกษาข้อมูลของคู่รักในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2015 พบข้อมูลที่ช่วยให้เห็นภาพว่า การอยู่ก่อนแต่งงานนั้นให้คุณประโยชน์กับคู่รักในปีแรกเพียงเท่านั้น แต่กลับส่งผลเสียในปีถัดไป กล่าวคือในปีแรกของการแต่งงาน คู่รักที่เคยอยู่ก่อนแต่งจะมีสัดส่วนการหย่าร้างต่ำกว่าคู่รักที่อยู่หลังแต่ง เนื่องจากพวกเขาสามารถปรับตัวและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงชีวิตเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะที่คู่รักที่มาอยู่ด้วยกันหลังแต่งงานกลับเผชิญภาวะช๊อค หรือปรับตัวไม่ทันเมื่อต้องอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันจึงมีความเสี่ยงการหย่าร้างในช่วงแรกสูงกว่า แต่เมื่อผ่านปีแรกของการแต่งงาน คู่รักที่อยู่ก่อนแต่งจะกลับมาเสี่ยงต่อการหย่าร้างสูงแทน

 

ที่เป็นเช่นนั้นอาจมองได้ว่า การอยู่ก่อนแต่งเปลี่ยนมุมมองความคิดของคู่รักว่าความรักโรแมนติกเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนและไม่สำคัญ หรือเป็นที่ลักษณะบุคคลนั้นเองที่ชอบความเป็นอิสระ ไม่เคร่งศาสนา เมื่อความสัมพันธ์มีปัญหาจึงยุติและจบความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า

 

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวจึงเป็นงานชิ้นล่าสุดที่ช่วยให้เห็นถึงคุณและโทษของการอยู่ก่อนแต่งงาน แต่ทว่าสำหรับในประเทศไทย งานวิจัยที่เกี่ยวกับชีวิตสมรสนั้นอาจยังมีไม่มากนัก จึงไม่อาจสรุปได้ว่าคู่รักที่อยู่ก่อนแต่งงาน จะเผชิญสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับของต่างประเทศหรือไม่ หรือการอยู่ก่อนแต่งหรือแต่งก่อนอยู่ สิ่งใดจะทำให้ความรักจีรังยั่งยืนกว่ากัน เพราะปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของชีวิตคู่ มีหลายปัจจัย ทั้งภูมิหลัง ลักษณะความสัมพันธ์ ตัวคนรัก และตัวของท่านเอง ว่าจะประคองความสัมพันธ์ต่อไปเช่นไร

 

“เพราะชีวิตคู่ไม่มีสูตรสำเร็จ คงต้องขึ้นอยู่ที่คนสองคน จะช่วยกันปรุงแต่งความสัมพันธ์ให้ออกมาเป็นอย่างไรครับ”

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

DiDonato, T. E. (2014, July 25). Should you move-in together, or not? Surprising facts about relationship quality and pre-marital cohabitation. Retrieved from http://www.psychologytoday.com/intl/blog/meet-catch-and-keep/201407/should-you-move-in-together-or-not

 

Rhoades, G. K., Stanley, S. M., & Markman, H. J. (2009). Working with cohabitation in relationship education and therapy. Journal of Couple & Relationship Therapy, 8(2), 95-112.

 

Rhoades, G. K., Stanley, S. M., & Markman, H. J. (2009). Couples’ reasons for cohabitation: Associations with individual well-being and relationship quality. Journal of Family Issues, 30(2), 233-258.

 

Rosenfeld, M. J., & Roesler, K. (2019). Cohabitation experience and cohabitation’s association with marital dissolution. Journal of Marriage and Family, 81(1), 42-58.

 

Stanley, S. M. (2018, November 3). Living together before marriage may raise risk of divorce: Is living together before marriage associated with risk in marriage or not? Retrieved from http://www.psychologytoday.com/intl/blog/sliding-vs-deciding/201811/living-together-marriage-may-raise-risk-divorce

 

ภาพประกอบจาก https://www1.cbn.com/cbnnews/us/2018/october/study-couples-who-live-together-before-marriage-are-at-greater-risk-of-divorce-nbsp

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้