พื้นนิสัยทางบวกและความสุข

09 Mar 2018

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

 

คนทั่วไปมองภาพของคนที่มีความสุขว่าเป็นคนที่…

 

  • “มีอารมณ์ดี”
  • “มีชีวิตที่ดี”
  • “มีอิสระและเป็นตัวของตัวเองที่จะทำในสิ่งที่อยากทำหรือชอบด้วยตนเอง”
  • “ได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน งาน งานอดิเรก”
  • “มีความพึงพอใจในชีวิต”ฯลฯ

 

นักคิดและวิชาการหลากหลายแขนง เช่น นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักจิตวิทยา ได้ให้ภาพของคนที่มีความสุขว่าเป็นคนที่ดำเนินชีวิตได้ดี ลงตัว เป็นคนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นดี คิดถึงการฆ่าตัวตายน้อย และมีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตที่เป็นสุข

 

 

ความสุขและจิตวิทยาเชิงบวก


 

นักจิตวิทยายุคใหม่ที่เรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มจิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology ได้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความสุข โดยมีพื้นฐานของความสุขจากการมีมุมมองต่อชีวิตและโลกในเชิงบวก เช่น

 

  • การมองโลกในแง่ดี
  • การมีความหวังและความหมายในชีวิต
  • การมีสติรู้ตื่นลื่นไหลในกิจกรรม หรือ ภาวะ flow

 

นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้มองว่า ความสุข คือ การที่บุคคลประเมินภาพรวมในขณะนั้นว่าเขามีความพึงพอใจในชีวิต มีอารมณ์ด้านบวก เช่น ความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ความรู้สึกเบิกบาน รู้สึกดูแลห่วงใย ใส่ใจ ความรู้สึกดื่มด่ำลึกซึ้งกับคุณความดี และการไม่มีความรู้สึกทางลบ เช่น ความซึมเศร้า ความเสียใจ ความกลัว ความโกรธ ความวิตกกังวล เป็นต้น อารมณ์ด้านบวกในที่นี้ ได้แก่ ความรู้สึกสนุกสนาน ความซาบซึ้งใจ ความสนใจ และความพึงพอใจ

 

ทั้งนี้อารมณ์ด้านบวกจะเป็นตัวนำให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญต่อการมีชีวิตที่มีความสุข เช่น การพัฒนาความเป็นมิตร ความพึงพอใจในชีวิต ระดับรายได้ที่มากกว่า ประสบความสำเร็จ และการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รวมทั้งผู้มีประสบการณ์อารมณ์ด้านบวกสม่ำเสมอมักมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาว

 

 

วิธีสร้างสุขแบบยั่งยืน…ด้วยการพัฒนาพื้นนิสัยด้านบวก


 

การเติบโตของแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกทำให้นักจิตวิทยาหันมามองการพัฒนาความสุขด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งภายใน ที่เรียกว่าพื้นนิสัยด้านบวก หรือคุณลักษณะด้านบวกของบุคคล พื้นนิสัยด้านบวกนี้จะเป็นแหล่งของความกระตือรือร้นในชีวิต ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง การมีความรักแบบเมตตา ความสุขแบบเต็มตื้น ความพึงพอใจในชีวิต และการมีความหวัง ซึ่งทำให้คนเราเข้าถึงความดีงาม และการใช้ปัญญาในการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นไปเพื่อตนเองอย่างเดียว

 

ตัวอย่างการพัฒนาความสุขในแนวทางนี้ได้แก่ การสร้างสุขภาวะทางจิต และการเจริญเมตตาภาวนา

 

แนวทางแรก คือ “การสร้างสุขภาวะทางจิต หรือ Well-being Therapy” ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณลักษณะด้านบวกของบุคคล 6 ด้าน ได้แก่

 

  • การเป็นนายเหนือสภาพแวดล้อมรอบตัว ด้วยการเลือกสภาพการณ์ที่เหมาะสมต่อความต้องการและคุณค่าที่ตนเองยึดถืออย่างกระตือรือร้น โดยไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา
  • การมุ่งพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดใจกว้างรับประสบการณ์ใหม่ๆ รวมทั้งมีการปรับปรุง และพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นตลอดเวลา
  • การใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความมุ่งหมายที่ชัดเจน ด้วยการรับรู้ถึงพลังชีวิตหรือเสียงเรียกร้องจากภายในที่บอกให้ทำสิ่งทีเขารับรู้ว่ามีความหมายและคุณค่าต่อชีวิต
  • การมีอิสระที่จะเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยพิจารณาใคร่ครวญด้วยเหตุและผล โดยยังคงรักษาความสมดุลทั้งจากภายในตนและคนรอบข้าง
  • การมีทัศนะเชิงบวกต่อตนเอง ด้วยการยอมรับทั้งด้านบวกและด้านลบของตนเอง มีความรู้สึกทางบวกกับช่วงชีวิตของตนเองที่ผ่านมา
  • การมีความสัมพันธ์แบบผูกพันใกล้ชิดกับคนรอบข้าง มีความไว้ใจ สามารถเปิดใจรับคนอื่น และให้ความรักความเมตตาต่อผู้อื่นได้

 

ในปัจจุบันได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะ 6 ด้าน ดังกล่าวในผู้ที่ไร้ความสุขแบบเรื้อรังและมีภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ผลการศึกษาพบว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่เพิ่มความสุขและลดการกลับเป็นซ้ำของภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ดีในระยะเวลา 2 ถึง 6 ปี ของการติดตามผล

 

อีกแนวทางหนึ่ง “การเจริญเมตตาภาวนา หรือ Loving Kindness Meditation” ที่เป็นการฝึกให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ ปัจจุบันขณะ ด้วยสภาพจิตใจที่เปิดกว้าง ไม่มีการตัดสิน จากนั้นจึงเพ่งความสนใจไปยังแก่นกลางใจของตนเอง จนเกิดความสุขสงบจากการเจริญสติเมื่อรักษาความสุขทางใจได้ ใจจึงจะเกิดความเมตตา ที่มีความรัก ความสุข และความฉ่ำชุ่มเย็นอยู่ในจิตใจ พลังเมตตานี้สามารถแผ่ออกมาสร้างอารมณ์บวกต่าง ๆ

 

ตัวอย่าง การสร้างโปรแกรมการฝึกการเจริญเมตตาภาวนา หรือ Loving Kindness Meditationง่าย ๆ ในโครงงานวิจัยของนิสิตจิตวิทยา (เช่น งานวิจัยของ กนกวรรณ สาธุอยู่ศิริกุล ธนิตา สถาพร และ เรณุกา ทองเนียม, 2555) ได้ให้ผู้เข้าร่วมวิจัย

 

  • นึกถึงความรัก ความรู้สึกดี ๆ ความปรารถนาดี
  • นึกถึงความรัก ความรู้สึกดี ๆ ความปรารถนาดี ที่ได้จากคนที่รัก และสัมผัสถึงความรักความปรารถนาดีนั้น
  • ต่อมา นึกถึงความปรารถนาดี 4 ประการ
  • ขอให้มีความสุข
  • ขอให้มีสุขภาพที่ดี
  • ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
  • ขอให้คลาดแคล้วจากภัยอันตรายทั้งปวง
  • แล้วส่งความรู้สึกดังกล่าวไปยังคนที่รักเคารพ คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสุดท้าย ไปยังทุกคน ทุกสิ่งมีชีวิต รวมถึงผู้ที่ผู้ฝึกรู้สึกไม่พอใจ
  • ทบทวนในใจซ้ำ ๆ 10-15 นาทีต่อวัน

 

ผลการการเสริมสร้างความสุขแบบนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกรายงานตนว่าพวกเขามีการเพิ่มขึ้นของอารมณ์ทางบวกในชีวิตประจำวัน (เช่น ความรัก ความเพลิดเพลินใจ ความรู้สึกกตัญญูรู้คุณ ความพึงพอใจ ความหวัง) ในช่วงระยะเวลา 9 สัปดาห์นับตั้งแต่เริ่มฝึกการเสริมสร้างความสุข

นอกจากนี้ผลของความสุขดังกล่าวยังทำให้ผู้ฝึกรู้สึกพึงพอใจในชีวิต มีการยอมรับตนเองมากขึ้น และมีไร้อารมณ์เศร้า อีกด้วย

 

 

 


 

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้