ความนิยมความสมบูรณ์แบบ – Perfectionism

28 Feb 2024

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

ความนิยมความสมบูรณ์แบบ เป็นลักษณะนิสัยที่ต้องการหรือปรารถนาความสมบูรณ์เพียบพร้อมจากตนเองหรือผู้อื่น พยายามไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดหรือความบกพร่องใดๆ มีแนวโน้มที่จะประเมินพฤติกรรมหรือผลการทำงานที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจำเป็น และวิพากษ์วิจารณ์มากเกินความจริง

 

 

Hewitt และ Flett (1991) ได้แบ่งมิติของความนิยมความสมบูรณ์แบบออกเป็น 3 มิติ คือ

 

1. ความนิยมความสมบูรณ์แบบในตนเอง

เป็นลักษณะที่ชอบตั้งมาตรฐานกับตนเอง มักจะประเมินตนเองอย่างเช้มงวด ตำหนิตนเองอย่างรุนแรงเมื่อไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่ตนเองตั้งไว้ได้ การวิจัยพบว่า ความนิยมความสมบูรณ์แบบในตนเองสัมพันธ์กับพฤติกรรมชอบบังคับ และการโทษตนเอง ทั้งยังพบว่าสัมพันธ์กับการปรับตัวที่ผิดปกติหลายประเภท เช่น ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า โรคอะนอเร็กเซีย เป็นต้น

 

2. ความนิยมความสมบูรณ์แบบตามความคาดหวังของสังคม

เป็นลักษณะการรับรู้ว่าผู้อื่นหรือสังคมคาดหวังให้ตนเองกระทำได้ตามมาตรฐานที่สังคมวางไว้ โดยเชื่อและรับรู้ว่าผู้อื่นคาดหวังมาตรฐานจากตนเองโดยผิดจากความเป็นจริง คิดว่าผู้อื่นประเมินตนอย่างเข้มงวด และสังคมพยายามกดดันให้ตนเองต้องสมบูรณ์แบบ และด้วยการรับรู้เช่นนี้ ทำให้ประสบความรู้สึกล้มเหลวบ่อยครั้ง ความนิยมความสมบูรณ์แบบตามความคาดหวังของสังคมก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบหลายอย่าง เช่น ความโกรธ ความวิตกกังวล ความหดหู่

 

3. ความนิยมความสมบูรณ์แบบจากผู้อื่น

เป็นลักษณะที่เชื่อว่าผู้อื่นควรปฏิบัติตามมาตรฐานซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง ให้ความสำคัญแก่ความสมบูรณ์แบบของคนรอบข้าง ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อื่นอย่างเข้มงวด

 

 

นอกจากนี้ Slaney และคณะ (2001) ได้แบ่งลักษณะความนิยมความสมบูรณ์แบบออกเป็น 3 มิติ ซึ่งมีลักษณะทางบวกและทางลบ ดังนี้

 

1. การตั้งมาตรฐานสูง

เป็นการคาดหวังต่อตนเอง ตั้งเป้าหมายด้วยมาตรฐานที่สูงและต้องการจะทำงานให้ได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ในด้านบวก นับเป็นแรงจูงใจในการทำงานต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมาย แต่ทางด้านลบ ก็ทำให้เกิดความเครียดและอารมณ์ทางลบต่างๆ ได้

 

2. การเป็นระเบียบเรียบร้อย

เป็นมิติในด้านบวก คือมีความสามารถที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ได้ตามลำดับอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

3. ความไม่สอดคล้องระหว่างมาตรฐานที่ตั้งไว้กับความเป็นจริง

เป็นมิติด้านลบเนื่องจากเป็นการรับรู้ความไม่สอดคล้องของมาตรฐานที่ตนเองตั้งไว้ในระดับสูงกับผลงานที่ตนเองทำได้ ทำให้รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว และเกิดอารมณ์ทางลบต่างๆ

 

 

การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบนั้นมีส่วนทำให้สูญเสียพลังงานทางจิต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย และเชื่อมโยงกับอาการป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคสำไส้แปรปรวน ปวดท้อง ซึมเศร้า โรคกลัวอ้วน โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น ในการทำงาน ผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบมีแนวโน้มที่จะมีความเหนื่อยหน่ายในการทำงานสูง ประเมินในด้านลบและให้ความสำคัญกับงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินจริง และยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ใช้ทักษะการเขียนลดลง นอกจากนี้ ในด้านสัมพันธภาพ การมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบยังทำให้บุคคลมีระดับความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำลง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น และทำให้บุคคลเห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง

 

 

วิธีทางจิตบำบัดในการลดความนิยมความสมบูรณ์แบบสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  • การบำบัดทางปัญญา-พฤติกรรม คือ การพยายามปรับความคิดให้มีความสมเหตุสมผลและสร้างทางเลือกอื่น ๆ ให้กับวิธีคิดวิธีแก้ปัญหา
  • การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ คือ การพยายามวิเคราะห์ถึงมูลเหตุแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่
  • การบำบัดเป็นกลุ่ม คือ การบำบัดพร้อมกันหลายคนเกี่ยวกับประเด็นที่เฉพาะเจาะจง วิธีนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมการบำบัดรู้สึกว่าตนไม่ใช่ผู้เดียวที่ประสบปัญหาที่เผชิญอยู่
  • การบำบัดแบบมนุษยนิยม คือ การให้บุคคลได้ทบทวนตนเอง โดยเน้นมุมมองด้านบวก
  • การบำบัดตนเอง คือการสำรวจและบันทึกอย่างซื่อสัตย์ถึงอาการและการกำกับตนเองของตน

 

ทั้งนี้ วิธีที่ได้รับความนิยมว่าประสบความสำเร็จ คือการบำบัดทางปัญญา-พฤติกรรม ที่ช่วยให้บุคคลที่นิยมความสมบูรณ์แบบลดความวิตกกังวลทางสังคม และความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลหรือความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความจริงลงได้ ช่วยให้บุคคลรู้จักคิดหาทางเลือกอื่น ๆ รวมทั้งตระหนักว่าความผิดพลาดต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้มากกว่า

 

 


 

 

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง

 

“อิทธิพลของความนิยมความสมบูรณ์แบบต่อเจตคติในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยมีการนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบและการซึมซับจากวัฒนธรรมสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย กมลกานต์ จีนช้าง (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18853

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบกับความตั้งใจในการลาออกของพนักงานโดยมีความเหนื่อยหน่ายในการทำงานเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย ณัฐฎาภรณ์ ห้วยกรดวัฒนา, รณกร ตั้งมั่นสุจริต และสุกฤตา พรรณเทว (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/49060

 

 

https://en.wikipedia.org/wiki/Perfectionism_(psychology)#Personality_traits

 

แชร์คอนเท็นต์นี้