ทำไมพ่อแม่ (บางคน) จึงทำทารุณกรรมต่อลูก

17 Jan 2020

รศ.ศิรางค์ ทับสายทอง

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกของตน แต่พ่อแม่บางคนมิได้เป็นเช่นนั้น เขาสามารถทำทารุณกรรมต่อลูกของตนเองทั้งทางร่างกายและทางเพศได้ ทารุณกรรมทางกาย หมายถึง การทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บทางกาย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น ตาปูด ปากแตก ส่วนทารุณกรรมทางเพศ หมายถึงการสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เช่น การจับต้องลูบคลำ การข่มขืนกระทำชำเรา

 

พฤติกรรมทารุณกรรมที่พ่อแม่แสดงต่อลูกทั้งทางร่างกายและทางเพศปรากฎบ่อยในหน้าหนังสือพิมพ์ในชีวิตประจำวันของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นการทารุณกรรมทางเพศ แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ?

 

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ทำทารุณกรรมต่อลูก


 

การศึกษาวิจัย (Browne & Finkelhor, 1986) พบว่า 90 % ของผู้กระทำทารุณกรรมมิใช่คนที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งมิได้มีบุคลิกภาพเป็นฆาตกร แต่ส่วนมากแล้วมักจะเป็นคนโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไร้ความสุข ซึมเศร้า โกรธง่าย มีความกดดันมาก หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าได้

 

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (Wolf, 1985) รายงานว่าพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกมักได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเช่นเดียวกันมาแต่ในอดีต เป็นเหตุให้มีความเชื่อว่า การกระทำของตนเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจในตนเอง รวมทั้งช่วยให้ตนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้

 

นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก ยังไม่รู้วิธีการที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี กล่าวคือ ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ลูกหยุดร้องไห้ และเมื่อไม่สามารถทำให้ลูกหยุดได้ก็โกรธจนลืมตัวทำพฤติกรรมที่เลวร้ายลงไป เช่น เอาเตารีดนาบหลังลูก ตบตีลูกอย่างทารุณ ขาดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการปกติของเด็ก เช่น พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกไม่ทำเลอะเทอะ หรือขับถ่ายเป็นที่เป็นทางก่อนถึงวัยอันควร อีกทั้งยังขาดความสามารถในการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของลูก ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการผิดพลาด เช่นพยายามป้อนนมลูกเมื่อลูกร้องด้วยความเจ็บปวด เมื่อลูกบ้วนอาหารทิ้งก็แสดงอารมณ์รุนแรงด้วยความโกรธ

 

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกแล้ว จะพบว่า พ่อแม่ที่มีลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีปัญหาในชีวิตสมรส และทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดลงไม้ลงมือกันมากกว่าครอบครัวอื่นๆ มีลูกมาก ภายในบ้านไร้ระเบียบวินัย นอกจากนั้น พ่อแม่ที่ทารุณลูกยังมีแนวโน้มจะไม่สัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ครอบครัวของตนหรือแม้แต่กับเพื่อน ๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดความเครียดขึ้นในครอบครัว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาผู้ใด เป็นเหตุให้เรื่องที่น่าสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้น หากบุคคลมีผู้ที่จะช่วยค้ำจุนทางจิตใจ ช่วยชี้แนวทางที่ถูกต้องในขณะที่เผชิญความเครียดแล้ว ผลจะไม่ออกมาอย่างที่เป็นอยู่แน่นอน

 

พ่อแม่อาจมิใช่เป็นเพียงองค์ประกอบเดียวที่นำไปสู่การทำทารุณกรรม ลักษณะของเด็กก็อาจจะเป็นตัวยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวโดยมิได้ตั้งใจได้ ผลการศึกษาวิจัย (J.R Reid และคณะ, 1982) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่เรียกร้องเวลาและความเอาใจใส่จากพ่อแม่สูงกว่าเด็กอื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเป็นเด็กที่อยู่เฉยไม่ได้ หรือเป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำ หรือมีความพิการทางร่างกาย การศึกษาอีกชั้นหนึ่ง (Tsai and Wagner, 1979) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่ร้องไห้มาก และมีพฤติกรรมในทางลบมากกว่าเด็กทั่วไป

 

สังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนส่งเสริมต่อการมีพฤติกรรมดังกล่าว นอกเหนือไปจากองค์ประกอบของพ่อแม่และตัวเด็กเอง การตกงาน การต้องทนทำงานที่ตนไม่พึงพอใจ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวที่หนักหนาสาหัสมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการทำทารุณกรรมต่อภรรยาและลูก วัฒนธรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน สังคมใดที่มีวัฒนธรรมที่เน้นความรุนแรงจะวางเจตคติเกี่ยวกับการลงโทษที่รุนแรง อันอาจนำไปสู่การแสดงความรุนแรงต่อสตรีและเด็กที่ไร้หนทางสู้ได้ง่าย ซึ่งตรงกันข้ามกับสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เน้นความรุนแรง เด็กที่กระทำผิดจะไม่ถูกตี แต่จะเน้นการแก้ไขพฤติกรรมด้วยวิธีการอื่นที่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้เช่นเดียวกัน เช่น การยิ้มและชมเชยเด็กเมื่อทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เด็กอยู่ตามลำพังเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ใน วัฒนธรรมเช่นนี้ เด็กจะไม่ได้รับการปลูกฝังเจตคติของความรุนแรง และไม่มีความคิดว่าความรุนแรงสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้

 

นอกเหนือจากการทารุณทางกายแล้ว เด็กยังอาจถูกทำทารุณกรรมทางเพศได้อีก จากรายกรณีที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่น ๆ พบว่า ผู้ที่กระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก มักเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเด็กมีความไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ของบุคคลในครอบครัว ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงควรจะเน้นการสอนให้เด็กระมัดระวังมิให้บุคคลแปลกหน้าหรือแม้บุคคลที่เด็กรักและไว้ใจมาสัมผัสแตะต้อง ลูบคลำ จูบกอด ถอดเสื้อผ้าออก หรือชักชวนให้ไปอยู่ในที่ลับตาผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวอาจจะเป็นเหมือนดาบ 2 คมได้ ด้านหนึ่งสามารถป้องกันการถูกทำทารุณกรรมทางเพศจากคนใกล้ชิด แต่อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เด็กตกใจกลัว และขัดขวางต่อการมีความรักความผูกพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดได้ อีกวิธีการหนึ่งคือการที่พ่อแม่กระตุ้นให้เด็กเล่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำในแต่ละวัน โดยไม่มีการตำหนิติเตียนหรือลงโทษเด็กหากเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อปลูกฝังความคิดว่าเด็กสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังได้โดยไม่ถูกลงโทษ และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ทุกเรื่อง เป็นที่เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้พ่อแม่ได้รับรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูก และตัดไฟเสียแต่ต้นลมได้

 

 

พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก รู้สึกผิดในใจและเกลียดตนเองในสิ่งที่ทำลงไปหรือไม่?


 

Wolfe (1985) พบว่าพ่อแม่ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว รู้สึกเกลียดตนเองและละอายใจในสิ่งที่ทำลงไป แต่รู้สึกว่าตนเองขาดอำนาจที่จะหยุดยั้งมัน

 

 

ผลกระทบจากการที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศ


 

แน่นอนที่สุด การที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศก็ตาม ย่อมมีผลร้ายแรงที่ตามมา เด็กที่ถูกทารุณทางกายจะมีผลการเรียนต่ำ ชอบแยกตัวจากเพื่อนฝูง ก้าวร้าว ไม่ร่วมมือกับผู้อื่น ผลที่ตามมาก็คือ การเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมตามมาได้ ส่วนเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศมีแนวโน้มจะเกิดความหวาดกลัวต่อเพศตรงข้าม มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า มีปัญหาพฤติกรรม ผลการเรียนต่ำ หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ซึมเศร้า ไม่ไว้วางใจบุคคลอื่น รวมทั้งมีปัญหาการปรับตัวทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะติดตัวเด็กไปแม้เข้าสู่วัยรุ่นใหญ่แล้วก็ตาม

 

การศึกษาวิจัยของ Kaufman & Zigler (1987) พบว่าเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศจะมีลักษณะเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดความรุนแรงต่อลูกๆของตน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยอีกชั้นหนึ่ง (Zgeland & Sroufe,1981) ได้รายงานว่าหากเด็กที่ถุกทารุณกรรมทางเพศได้รับการค้ำจุนทางจิตใจจากผู้ใกล้ชิด ได้รับการกระตุ้นให้เด็กระบายความโกรธแค้น และเกลียดชังออกมาได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งสามารถพูดถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายของตนออกมาโดยไม่ต้องเก็บกดแล้ว โอกาสที่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีความรักและชีวิตครอบครัวที่มีความสุขก็มีทางจะเป็นไปได้มาก

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : https://www.pxfuel.com/en/free-photo-xjpbc

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ศิรางค์ ทับสายทอง

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้