บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง – Narcissism

21 Feb 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ถูกมองว่าเป็นอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ

ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 4 (DSM-IV) ระบุว่าบุคลิกภาพแบบหลงตนเองมีลักษณะเด่นที่

 

การเห็นว่าตนดีกว่าหรือเหนือกว่าผู้อื่น ต้องการเป็นที่สนใจ แสวงหาการได้รับการยกย่องชื่นชม และได้รับความสนใจในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ คาดหวังว่าตนจะเป็นที่รักของผู้อื่น และได้รับความสนใจในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันในความสำเร็จ อำนาจ ความรุ่งโรจน์ ความฉลาด ความสวยงาม รวมถึงประเมินความสามารถของตนสูงเกินความเป็นจริง ประกอบกับคิดถึงแต่ตนเองเป็นที่ตั้งและยึดตนเองเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ตนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย รู้สึกว่าตนสมควรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อตนเอง เพราะตนเองมีความหมกมุ่นในสิ่งที่ปรารถนา รวมทั้งขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่สนใจหรือรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น แสดงพฤติกรรมและเจตคติในลักษณะที่หยิ่งยโส อวดดี ปกป้องตนเองจากคำวิจารณ์ของผู้อื่นและอิจฉาผู้อื่น ซึ่งลักษณะเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเองนี้ นอกจากจะนับเป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาแล้ว ยังสามารถพบได้ในบุคคลทั่วไปด้วย

 

งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีบุคลิกภาพหลงตนเองจะพยายามสร้างตัวตนในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์แบบขึ้นมา และแสวงหาการยืนยันตัวตนในอุดมคติ ซึ่งเป็นตัวตนที่มีความสวยงาม หรูหรา ดีเลิศ แสดงให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับตนเองแบบผิด ๆ ของผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้บุคคลคิดว่าตนเป็นคนสำคัญ แต่ลึกๆ ในใจแล้วกลับตระหนักว่าตัวตนที่แท้จริงมีความแตกต่างจากตัวตนในอุดมคติ ส่งผลให้ในระดับจิตไร้สำนึกบุคคลมีความรักหรือเห็นคุณค่าของตัวตนที่แท้จริงในระดับต่ำ การพยายามเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นไปเพื่อรักษาภาพลวงตาที่ตนได้สร้างเอาไว้

 

Kernberg (1975) กล่าวว่า ความหลงตนเองมีสาเหตุจากการที่บุคคลขาดความรักความเอาใจใส่ในวัยเด็ก พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างละเลย เด็้กจึงโดดเดี่ยว ถูกปฏิเสธ ทำให้บุคลิกภาพแบบหลงตนเองพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากความรู้สึกสูญเสีย ถูกทอดทิ้ง ส่งผลให้บุคคลหวาดกลัวกับการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สนใจและเพิกเฉยต่อผู้อื่น เชื่อว่าตนเองเท่านี้ที่สามารถเชื่อถือได้ และไม่ไว้ใจผู้อื่น

 

เช่นเดียวกับ Kohut (1977) ที่เสนอว่า ความหลงตนเองมีที่มาจากการถูกทอดทิ้งหรือขาดความสนใจ ความล้มเหลวของครอบครัว พ่อและแม่ไม่แสดงความรักและความผูกพันกับลูก แต่ลูกกลับพยายามทำตนตามความสมบูรณ์แบบของพ่อและแม่

 

ขณะที่ Emmons (1987) ได้เสนออีกแนวคิดหนึ่งว่า ความหลงตนเองเกิดจากการที่ครอบครัวให้คุณค่ากับเด็กสูงเกินไป โดยเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่และปกป้องจากพ่อแม่มากเกินไป ราวกับว่าตนเป็นคนพิเศษ ความรักของพ่อและแม่ที่มีต่อตนทำให้เด็กคิดว่าตนเป็นที่สนใจ เป็นที่รักของพ่อแม่และบุคคลรอบข้าง และรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ เด็กจึงหลงตนเอง

 

งานวิจัยของ Wink ได้แบ่งคนหลงตนเองเป็น 2 ประเภท คือ คนหลงตนเองแบบเปิดเผย (Overt Narcissist) จะมีลักษณะชอบแสดงอำนาจ อิสระ เชื่อมั่น มักก้าวร้าว ชอบเป็นที่สนใจและยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และคนหลงตนเองแบบปกปิด (Covert Narcissist หรือ Hypersensitive Narcissist) จะมีลักษณะปกป้องตนเอง อ่อนไหว ขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่พอใจตนเอง โดยมีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองและสุขภาพจิตต่างกัน ผู้ที่หลงตนเองแบบเปิดเผยจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง แต่ผู้ที่หลงตนเองแบบปกปิดจะเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ คนหลงตนเองแบบเปิดเผยจึงมีสุขภาวะทางจิตที่ดีกว่า มีความสุขในชีวิตมากกว่าคนหลงตนเองแบบปกปิด

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของความหลงตนเอง รูปแบบความรักแบบเล่นเกม และการกระตุ้นลักษณะเน้นความสัมพันธ์ต่อการผูกมัดในความสัมพันธ์” โดย สุธาสินี ใจสมิทธ์ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20752

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อการตอบรับของผู้บริโภค : การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านความเป็นวัตถุนิยมและอิทธิพลกำกับของรูปแบบการ ดึงดูด” โดย วรรณธิดา ปางวิรุฬห์รักษ์ (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/37505

ภาพพื้นหลังจาก http://www.pixelstalk.net/black-grunge-wallpaper/

แชร์คอนเท็นต์นี้