ความเข้าใจคลาดเคลื่อนบางอย่างเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตเวช

03 Jul 2025

รวิตา ระย้านิล

 

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตเวชมากขึ้นอย่างน่ายินดี อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ้าง ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่ามิได้เป็นนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวขาญด้านความเจ็บป่วยทางจิตเวช ตลอดจน Psychological Disorders ต่าง ๆ ผู้เขียนเป็นเพียงนักจิตวิทยาสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสาร การส่งต่อข้อมูลในสังคม ดังนั้นจึงเขียนบทความนี้เพื่อแก้ไขความคลาดเคลื่อนบางอย่างที่ผู้เขียนสังเกตเห็นและพออธิบายได้ และคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้ผู้คนอยากศึกษาลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นในประเด็นที่ตนเองสนใจ

 

 


 

 

ขอเริ่มที่อาการหรือโรคที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดอย่าง “ซึมเศร้า”

 

“ตั้งแต่วันนั้นมา เขาเงียบไปเลยอะ ไม่รู้จะเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า”

 

เมื่อเราพบเจอเรื่องสะเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสีย ความผิดหวังร้ายแรง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ก็เป็นปกติที่คนเราจะเกิดภาวะซึมเศร้า อยู่ในอารมณ์ของความเสียใจ เจ็บปวด ผิดหวัง สงสัยหรือสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดอาการทางร่างกาย กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง ไร้กะจิตกะใจ ฯลฯ อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป หากอาการเหล่านั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น ปรับตัวปรับใจให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น ก็จะไม่เรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้านั้น ลักษณะอาการซึมเศร้าจะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน พฤติกรรมการกิน การนอน การคิดการตัดสินใจ เปลี่ยนไปอย่างมาก จนบ่อยครั้งควบคุมไม่ได้ (เนื่องจากสารสื่อประสาทได้เสียสมดุลไป) ตลอดจนมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า จะมีทั้งเรื่องความยาวนานต่อเนื่อง และความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกาย ความคิด และจิตใจ

 

เราทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นได้จากแบบวัดอย่างง่าย ตามเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตหรือโรงพยาบาลด้านจิตเวชต่าง ๆ เช่น  https://www.rama.mahidol.ac.th/depression_risk แต่ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ต้องเป็นการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต้องมีการซักประวัติ และประเมินอาการต่าง ๆ โดยละเอียด ทั้งนี้ หากสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้างแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นรบกวนชีวิตประจำวันมากเกินไป ไม่ต้องถึงขั้นที่ตอบใช่ทุกข้อ (ในแบบวัดข้างต้น) ก็สามารถพาตนเองหรือคนใกล้ชิดไปรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ คิดเสียว่าความเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจก็เหมือนกัน คือ พบไวหายเร็ว พบช้าหายยาก

 

“ก็เห็นร่าเริงดี ทำไมบอกว่าเป็นซึมเศร้า”

 

ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้า ไม่จำเป็นที่จะต้องซึมเศร้าตลอดเวลา บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติ พูดคุยหรือเล่นมุกตลกได้ในตอนกลางวัน หรือเมื่ออยู่กับผู้คน แต่เกิดอารมณ์เศร้าหมองอย่างรุนแรง (ดิ่ง) ขึ้นมาในบางขณะ เช่น ช่วงเย็น ๆ โพล้เพล้ ๆ หรือในวันที่อากาศหมองหม่น หรือเมื่อพบเจอสิ่งกระตุ้น เช่น สถานการณ์ สถานที่ บุคคลที่เป็น stressor จะเห็นได้ว่าไม่ต่างจากเวลาเป็นไข้หวัด ที่ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้ไข้ขึ้นสูงตัวร้อนตลอดเวลา แต่สมรรถภาพโดยรวมของร่างกายก็จะถดถอยลงกว่าปกติ เช่น ฟังก์ชั่นการคิด การตัดสินใจ การคงสมาธิในงาน เป็นต้น

 

 


 

 

ต่อมาที่อีกโรคที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ในสังคม “ไบโพลาร์”

 

“เมื่อกี้อารมณ์แปรปรวนมาก เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวซึม ยังกับเป็นไบโพลาร์”

 

ไบโพลาร์ Bipolar Disorder มีชื่อไทยว่า โรคอารมณ์สองขั้ว หรือบ้างก็เรียก โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว จึงอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าการที่มีอารมณ์แปรปรวนในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น หัวเราะขึ้นมาในตอนที่กำลังเศร้า หรือจู่ ๆ โมโหขึ้นมาแล้วก็กลับมาคุยปกติ คือลักษณะของไบโพลาร์ด้วย

 

ที่จริงแล้วอารมณ์ของคนเราก็เหมือนสภาพอากาศ (weather) ที่หนึ่งวันเราสามารถมีได้หลายอารมณ์ เช้าครึ้ม สายแดดออก เที่ยงฝนตก หัวค่ำร้อน ย่ำรุ่งหนาว และในวันที่มีเรื่องกระทบมาก ๆ (มรสุมเข้า) หรือเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง (เข้าสู่วัยรุ่น ตั้งครรภ์ วัยทอง) อารมณ์ของเราก็สามารถแปรเปลี่ยนได้รายนาที การเปลี่ยนอารมณ์ในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ (mood swing) นี้ไม่ใช่ลักษณะอาการของไบโพลาร์แต่อย่างใด

 

ให้เปรียบเทียบแล้วความแปรปรวนของไบโพลาร์จะเกือบคล้ายฤดูกาล (season) มากกว่า โดยแบ่งเป็น 2 ฤดูหลักคือ ฤดูเศร้า (depress) และ ฤดูคึก (mania) ในฤดูหนึ่งมีความยาวนานต่อเนื่องหลายวัน หนึ่งสัปดาห์เป็นอย่างน้อย หรือยาวนานได้หลายสัปดาห์ ซึ่งเมื่อเข้าฤดูไหนก็จะอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างที่มากเกินกว่าในระดับปกติอย่างสังเกตเห็นได้ เช่น เมื่ออยู่ในฤดูเศร้า ก็ดิ่ง เศร้า หดหู ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีสมาธิ คิดช้า คิดลบ มีความคิดฆ่าตัวตาย (เหมือนโรคซึมเศร้า) แต่เมื่อสลับมาอยู่ในฤดูคึก ก็จะมีพลัง พูดไม่หยุด ขี้หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น ใช้จ่ายไม่ยั้งคิด เชื่อมั่นในตนเองสูง เรียกว่าพอเปลี่ยนฤดูก็เหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และสิ่งที่เกิดขึ้นรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน สร้างปัญหาในรูปแบบที่ต่างกันให้กับตัวผู้ป่วยเอง (อาการ – สาเหตุ – การรักษา)

 

ดังนั้น หากต้องการจะพูดถึงกรณีที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงในระยะสั้น ๆ หลักชั่วโมงหรือหลักนาที อาจใช้คำว่า อารมณ์แปรปรวน หรือ mood swing ได้ เพื่อป้องกันการส่งต่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และลดทอนความร้ายแรงของโรคไป

 

 


 

 

อีกโรคหนึ่งที่เคยถูกพูดถึงในละครไทยสมัยก่อน และสร้างความเข้าใจผิดอย่างมาก “ฮิสทีเรีย”

 

เคยมีละครไทยสมัยก่อน ผู้เขียนจำไม่ได้จริง ๆ ว่าเรื่องอะไร แต่จำได้ว่า มีตัวละครหญิงตัวหนึ่งมีลักษณะของผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูง และแสดงท่าทีทรมาน จนกว่าจะได้มีเพศสัมพันธ์กับพระเอกตามที่ต้องการ และตัวละครตัวนั้นถูกบอกว่าป่วยเป็นโรคฮิสทีเรีย จนผู้คนในสังคมขณะนั้นเข้าใจว่าโรคฮิสทีเรียคือโรคติดเซ็กส์ หรือขาดผู้ชายไม่ได้

โรคเสพติดเซ็กส์เป็นโรคที่มีอยู่จริง เรียกว่า Sex addiction / Hypersexuality / Compulsive Sexual Behavior (อ่านเพิ่มเติม) ส่วนโรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียนั้น หากให้ระบุด้วยคำจำกัดความง่าย ๆ เราจะใช้คำว่า โรคขาดความรัก เสียมากกว่า มีสาเหตุได้ทั้งทางพันธุกรรม การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การเผชิญเหตุการณ์ที่รุนแรงในวัยเด็ก ทำให้บุคคลโหยหาความรักความสนใจ ในระดับที่ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลได้ มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เมื่อรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความสนใจ จะเกิดความวิตกกังวล อึดอัด และแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ เช่น ทำตนให้เป็นจุดเด่น แสดงอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรง หรือถึงขั้นทำร้ายตนเอง (อ่านเพิ่มเติม)

 

 


 

 

มาที่โรคที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน “โรคหลงตนเอง”

 

คล้ายกับซึมเศร้า คือคนทุกคนก็มีความหลงตนเองได้ แค่มากหรือน้อย โดยความแตกต่างของผู้มีลักษณะหลงตนเองสูง (High Narcissism) กับ ผู้ที่เป็นโรคหลงตนเอง (Narcissistic Personality Disorder: NPD) จะมีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ คือผู้ที่หลงตนเองสูงธรรมดา จะไม่ได้หลงตัวเองตลอดเวลาหรือในทุกเรื่อง อาจจะแสดงความหลงตนเองออกมาในเรื่องที่มั่นใจและให้ความสำคัญ เช่นเวลาที่มีการทดสอบ การแข่งขัน การเลื่อนตำแหน่ง เรียกว่ามีความหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง – จนลืมนึกถึงคนอื่น เกรงใจคนอื่น – ในบางด้านของชีวิต แต่ไม่ถึงกับทั้งหมด ส่วนผู้ที่เป็นโรคหลงตนเอง จะมีความต้องการการชื่นชมที่มากเกินไปจนไร้เหตุผล เชื่อในความพิเศษความเหนือกว่าของตน จนรู้สึกมีความสุขกับการฝ่าฝืนกฎหรือละเมิดขอบเขต ไม่ละอายในการบิดเบือนข้อเท็จจริง คิดอย่างเห็นอกเห็นใจไม่เป็น ทำให้มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างผิวเผิน เอารัดเอาเปรียบ หรือ gaslight ผู้อื่น เชื่อว่าคนอื่นอิจฉาตนเอง และตอบโต้คำวิจารณ์ด้วยความโกรธและการดูถูก

 

จะเห็นว่าคนที่มีลักษณะหลงตนเองสูงธรรมดาจะยังอยู่ในโลกของความเป็นจริง อาจจะมีมุมที่คิดเข้าข้างตนเอง และเป็น manipulator ในบางครั้ง แต่ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น NPD จะมีการรับรู้ที่แตกต่างจากคนทั่วไป มีความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล และมองความความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเท่านั้น

 

เช่นเดียวกับโรคและลักษณะทางจิตเวชอื่น ๆ การประเมินในเบื้องต้นเพื่อหาแนวทางการรับมือโดยส่วนตัวเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ แต่การระบุว่าใครเป็นอย่างไรจะเป็นการตีตราบุคคล จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีการตรวจวัดอย่างรอบคอบ และได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว

 

 


 

 

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้เขียนอยากพูดถึง แต่อาจจะเป็นในบทความหน้า เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ความหวาดกลัว (Phobia) โรคแพนิค (Panic Disorder) ภาวะสมาธิสั้นในเด็ก ฯลฯ ก่อนจะจบ จึงขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับขั้นตอนการรักษา เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเองตลอดจนคนใกล้ชิดที่จะช่วยดูแล

 

“ดีขึ้นแล้วนี่นา เลิกกินยาได้แล้วสิ”

“หายแล้วแท้ ๆ ทำไมกลับมาป่วยอีกนะ”

 

ผู้เขียนชอบเปรียบเทียบโรคทางใจกับโรคทางกาย เพราะดูเหมือนว่าโรคทางกายนั้นจะเข้าใจได้ง่ายกว่า กล่าวคือ เราทุกคนน่าจะพอเข้าใจว่าหลาย ๆ โรค อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หรือโรคกระเพาะ เป็นโรคที่เกิดจากทั้งความแตกต่างทางพันธุกรรม ผสมรวมกับรูปแบบการใช้ชีวิตและสภาวะแวดล้อมที่เผชิญ และกว่าจะถึงจุดที่เป็นโรค ก็เกิดจากการสะสมบางสิ่งบางอย่างเป็นระยะเวลานาน แน่นอนว่าในการรักษาก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน บางครั้งใช้การควบคุมพฤติกรรมได้ บางกรณีต้องใช้ยาช่วย บางกรณีเมื่อควบคุมด้วยยาได้แล้ว สามารถประคองต่อด้วยการปรับพฤติกรรมได้ บางคราวก็ต้องประคองด้วยยาไปตลอดชีวิต หรือกลับมากินยาอีกเมื่ออาการแย่ลง (เรียกว่าเป็นวงการที่พอเข้ามาแล้วไม่ค่อยได้ออก)

 

อาการเจ็บป่วยทางจิตเวชก็เช่นกัน กว่าจะถึงจุดที่กลายเป็นโรคก็สะสมทับถมมาด้วยกาลเวลา ในการบำบัดรักษานั้นจึงต้องใช้เวลาไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย โดยทั่วไป เมื่อเริ่มเข้ารับการรักษา ในการบำบัดหรือการใช้ยาช่วงต้นอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนเพื่อให้อาการสงบ และหากอาการดีขึ้น มีการตอบสนองต่อการรักษา ก็ยังต้องมีการรักษาต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้อาการคงที่ ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกอย่างน้อย ๆ 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือบางเคสที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมเดิมได้ เผชิญสิ่งกระตุ้นเร้าตลอด ก็อาจต้องใช้เวลาไปอีกหลายปี (หากเป็นโรคจิตเภท หรือพวก Personality Disorder จะใช้เวลานานกว่านั้นมาก หรือตลอดชีวิต)

 

อีกเรื่องที่สำคัญ คือการกินยาทางจิตเวชก็เหมือนกับการกินยาฆ่าเชื้อ คือเมื่อกินก็ต้องกินให้ครบโดสตามที่หมอจ่าย ยาทางจิตเวชนั้นส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ หลายคนเมื่อเห็นว่าตนอาการดีขึ้นจึงเลือกที่จะหยุดยาหรือลดยาเอง ซึ่งนั่นจะส่งผลเสียแทน เพราะยาทางจิตเวชนั้นทำงานกับสารสื่อประสาทเพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุล การลดหรือการหยุดยาก่อนกำหนดจะทำให้การปรับตัวของสมองกับสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้นเสียไป ทำให้เกิดภาวะถอนยาได้ เช่น คลื่นไส้ วูบ นอนไม่หลับ (มากกว่าเดิม) และอาจจะทำให้การรักษาต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ หรือได้รับโดสยาเพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยรู้สึกรับผลข้างเคียงของยาไม่ไหว หรือรู้สึกผิดปกติ สามารถแจ้งแก่แพทย์ได้โดยตรงเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับโดสยาหรือเปลี่ยนตัวยาให้ หรือแม้กระทั่งตัวแพทย์เอง หากผู้ป่วยรู้สึกไม่สะดวกใจกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ให้บริการอยู่ ก็สามารถขอเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนนักจิตวิทยา หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลได้เช่นกัน ไม่ต่างกับที่เราป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ที่เราอาจจะรู้สึก ไม่ถูกโรค ไม่ถูกใจ กับการตรวจรักษา ตลอดจนคำพูดและท่าทีของผู้ให้บริการบางคน

 

 

ผลสัมฤทธิ์ของการบำบัดรักษาขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยเอง ที่จะยอมรับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น มีความเข้าใจในสภาวะที่ตนกำลังเผชิญ มีความเมตตาต่อตัวเอง และมีความคาดหวังที่ถูกต้อง เพื่อที่จะไม่ผิดหวังหรือท้อแท้ใจ กลายเป็นความทุกข์ซ้ำซ้อน อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่ามันจะไม่น่าเกิด หรือเราไม่อยากให้เกิดก็ตาม

 

 

 

 

บทความโดย
รวิตา ระย้านิล
นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้