การรับมือปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19

23 Apr 2020

คุณวรกัญ รัตนพันธ์

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่เพียงแต่กระทบโดยตรงกับสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต ทั้งของคนที่ได้รับเชื้อ คนที่กลัวว่าว่าจะได้รับเชื้อ บุคลากรที่ทำงานโดยตรง รวมถึงคนที่ติดตามข่าวสารตลอดเวลา เราต่างอยู่ในภาวะของความกังวล ความกลัวและความเหนื่อยล้า และตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่ทำให้แต่ละคนมีความเครียดและความกังวลเพิ่มสูงขึ้น

 

หลายกิจการต้องให้พนักงานพักงานชั่วคราว บางอาชีพไม่สามารถหารายได้จุนเจือตนเองและครอบครัวได้เพียงพอ มิหนำซ้ำยังต้องมีภาระหนี้สินที่เกิดจากการพยายามหาเลี้ยงครอบครัวให้สามารถอยู่รอดได้ในแต่ละวัน นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักจิตวิทยายังพบว่าการระบาดของ COVID-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่ใช้บริการด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อนหน้านี้ เช่น รายงานว่าไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมอย่างเดิมที่ทำได้ รู้สึกหดหู่กับชีวิตมากขึ้น หรือบางรายที่มีปัญหาความสัมพันธ์ภายในบ้านและต้องกลับมาอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็ก่อให้เกิดความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การระบาดของไวรัสในครั้งนี้จึงมีแนวโน้มส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น การดูแลจิตใจจึงเป็นพื้นฐาน ที่ช่วยจัดการความเครียดและความกังวลใจของเรา โดยเราสามารถใช้โอกาสนี้ในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและ ความคิดของตนเอง ลองฝึกการยืดหยุ่นกับตนเองมากขึ้น โดยเริ่มจากการสังเกตและยอมรับความรู้สึกในขณะนี้

 

“ใช่ ฉันรู้สึกกังวลใจอย่างมาก”

“ฉันรู้สึกกลัวจริง ๆ ว่ามันจะแย่”

“ฉันรู้สึกกลัวและสับสนไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนให้พอใช้ถึงเดือนหน้า”

 

อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถยอมรับว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องเร่งรัดหรือปฏิเสธความรู้สึกนั้น

 

หลังจากการยอมรับความรู้สึกของตนเองแล้ว ลองหันกลับมามองปัญหาที่เราแต่ละคนเผชิญอยู่ มองหาแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบที่หลากหลาย จากเดิมที่เคยคิดไว้ว่าชีวิตเราจะเป็น 1 2 3 4 อาจลองเปลี่ยน สลับมุมมองให้มีความยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้น

 

ความยืดหยุ่นเป็นกระบวนการของการปรับตัวและการเติบโตที่อาศัย ระยะเวลา การจะยืดหยุ่นกับความคิดตนเองได้นั้น สิ่งที่มาควบคู่กันคือความเห็นอกเห็นใจและมีเมตตาต่อตนเอง ให้โอกาสตนเองได้ค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับตัวในสภาวะที่เปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่การปรับมุมมองอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ตอนนี้ แต่หากเราสามารถยืดหยุ่นกับตนเองได้บ้างแล้ว เราก็จะสามารถให้โอกาสตัวเราเองอยู่ในจุดที่ผิดพลาด ไม่สมหวัง และบอกกับตัวเองได้ว่า เรากำลังค่อย ๆ ก้าวผ่านปัญหานี้ไปทีละเล็กทีละน้อย

 

การดูแลชีวิตตัวเองทีละเล็กทีละน้อย เป็นการลดทอนความคาดหวังในใจเรา บางครั้งการคิดภาพใหญ่ ก็ทำให้เรารู้สึกท้อใจ หดหู่ เมื่อภาพนั้นยังมาไม่ถึง การผ่อนเบากิจกรรมหรืองานที่ต้องทำให้เป็นรายละเอียดย่อย ๆ ก็ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าเราสามารถควบคุมหรือทำสิ่งใดได้บ้าง เช่น การจัดสรรเวลาในการทำงานที่บ้าน สามารถแบ่งเวลาทำงาน ออกกำลังกาย สื่อสารพูดคุยกับคนที่รู้สึกสบายใจและไว้วางใจ การจัดช่วงเวลานอนที่เหมาะสม เป็นต้น

 

สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวือหวา แต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เราเรียนรู้จะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น จนบางครั้งเราอาจจะพบว่าทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หากยังไม่สามารถหาแนวทางการจัดการปัญหาได้ ลองสื่อสารกับคนรอบตัวถึงอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเรา บางครั้งมันเป็นเรื่องยากที่เราจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกเพียงลำพัง การได้สื่อสารให้คนที่เราไว้วางใจหรือ สบายใจก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เพราะเป้าหมายของการสื่อสารไม่ใช่การหาแนวทางแก้ปัญหา แต่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจที่มีคนที่ฉันไว้ใจรับฟังความรู้สึกของฉันโดยไม่ตัดสิน

 

และสุดท้ายรักษาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน แม้วันนี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่เราก็ยังสามารถดูแลตัวเราเองให้แข็งแรง มีแรงลุกขึ้นมานั่งคิดไตร่ตรองอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันเพื่อจัดการ ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า มีเวลาให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย พักจากความเครียดหรือข้อมูลมากมายที่ทำให้จิตใจว้าวุ่น การฝึกความแข็งแรงทั้งทางกายและทางใจจะช่วยให้เราไม่จมอยู่กับปัญหาหรือความรู้สึกทางลบนานเกินไป

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้