อะไรทำให้เราลืมกันนะ?

02 Aug 2021

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

ความทรงจำถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของเรา ความทรงจำทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้ในหลาย ๆ ด้าน และทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ แต่หลายครั้งที่เรามักจะลืม บางคนก็ลืมว่าเราจะต้องทำอะไร บางคนลืมข้อมูลสำคัญที่จะต้องจำให้ได้ การลืมนั้นสามารถเกิดได้ขึ้นในทุก ๆ วัน มันเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะลืมอะไรบ้างอย่าง ในบางครั้งถึงแม้ว่าเราอยากจะจำให้ได้มากเท่าไร พยายามจำมากเท่าไร เราก็ยังลืมอยู่ดี

 

ทำไมเราถึงลืม? เราไม่ลืมได้หรือไม่?

 

ผลการวิจัยพบว่า การลืม ถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือนว่ามันไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เราจำเป็นจะต้องใช้ความทรงจำของเรา เช่น ในการให้การของผู้เห็นเหตุอาชญากรรม ความทรงจำของเราจึงมีความสำคัญมาก หลายคนจึงอาจจะใช้วิธีต่าง ๆ ในการกันลืม เช่น การจดโน้ต การบันทึกไว้ในโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งถ่ายรูปเก็บไว้

 

สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราลืมก็คือเวลา

 

มีงานวิจัยค้นพบว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไรหลังจากที่เราเรียนรู้สิ่งที่เราต้องการจะจำ เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะลืมมันมากเท่านั้น เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการจะจำเมื่อเราได้เข้ารหัสรับรู้มันผ่านประสาทสัมผัสของเรา และถูกเข้าไปเก็บในความทรงจำระยะสั้น ซึ่งสามารถจุความทรงจำได้อย่างจำกัดในระยะเวลาอันสั้น เมื่อข้อมูลที่อยู่ในความทรงจำระยะสั้นไม่ได้ถูกทบทวนซ้ำ เราก็จะลืมมันไปในที่สุด แต่ถ้าเราทวนสิ่งที่ต้องการจะจำซ้ำ ๆ ก็จะทำให้เราสามารถจำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น เมื่อเราได้มีการทบทวนซ้ำถึงข้อมูลนั้นหลาย ๆ ครั้ง ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นส่งต่อเข้าไปเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาวของเรา ซึ่งสามารถบรรจุความทรงจำได้มากกว่าและนานกว่าความทรงจำระยะสั้น ทำให้เราสามารถที่จะจำข้อมูลนั้นได้ดีขึ้นและมีโอกาสที่จะลืมน้อยลง

 

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามักจะจำในสิ่งที่เราต้องการจะจำไม่ได้ เป็นเพราะสิ่งที่เราต้องการจะจำได้ถูกรบกวนโดยสิ่งที่เราจำไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้เราไม่สามารถจำสิ่งที่เราต้องการจะจำได้ (reactive interference) เช่น ในการเปิดเทอมใหม่ คุณครูพยายามที่จะจำชื่อนักเรียนในห้องให้ได้ ซึ่งคุณครูอาจจะจำชื่อนักเรียนสลับกันกับนักเรียนปีที่แล้ว ทำให้ไม่สามารถจำชื่อนักเรียนปีนี้ได้ถูกต้อง หรือ ถูกรบกวนจากสิ่งที่เราต้องการจะจำหลังจากนั้น (proactive interference) เช่น การจอดรถในที่ทำงาน เนื่องจากเราจะต้องเปลี่ยนที่จอดรถทุกวัน ทำให้เราไม่สามารถจำได้ว่าวันนี้เราจอดรถไว้ที่ไหน เพราะการจำว่าวันนี้เราจอดรถไว้ที่ไหนถูกรบกวนโดยอาจจะจำเป็นที่ ๆ เราจอดรถไว้เมื่อวานแทน วิธีการที่จะทำให้เราจำได้นั่นก็คือการพยายามทวนซ้ำ ๆ ว่าเราจอดรถไว้ที่ไหน หรือ พยายามหาดูว่ามีอะไรที่สามารถช่วยเราจำได้บ้าง เช่น เลขตรงเสาที่อยู่ใกล้รถของเรา หรือว่าเราออกมาแล้วเจออะไรเป็นอย่างแรก

 

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าความทรงจำต่าง ๆ ที่ถูกเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาวของเราแล้วนั้น เราจะไม่มีวันลืมความทรงจำเหล่านั้นไป เราก็มีโอกาสที่จะลืมความทรงจำเหล่านั้นได้หากเราไม่ได้นึกถึงมันเป็นเวลานาน หรือในบางครั้งเราก็อาจจะไม่สามารถนึกถึงหรือจำได้ทันที อาจจะต้องมีตัวบ่งชี้ หรือ คำใบ้ อะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการจะนึกถึง ช่วยให้เราจำความทรงจำนั้นได้ ดังนั้นหากเราต้องการที่จะจำอะไร เราสามารถทบทวนมันซ้ำ ๆ เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลนั้นถูกส่งจากความทรงจำระยะสั้นสู่ความทรงจำระยะยาว เมื่อความทรงจำนั้นถูกเก็บเข้าที่ความทรงจำระยะยาวนั่นหมายความว่า เราสามารถจำมันได้แล้วนั่นเอง

 

 


 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน

 

แชร์คอนเท็นต์นี้