ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอกใจ

01 Jan 2017

บริการวิชาการ

 

ปัจจัยภายในตัวบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมนอกใจ


 

 

  • การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปร บุคลิกภาพหลงตนเอง การเปิดรับประสบการณ์ การมีจิตสำนึก ความเคร่งครัดในศาสนา ความพึงพอใจในคู่สมรส และการผูกมัดกับคู่สมรส ที่มีต่อพฤติกรรมนอกใจ ของเพศชายและเพศหญิง
  • กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้คือ ชาย (261 คน) และหญิง (254 คน) ที่สมรสแล้วโดยจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและนับถือศาสนาพุทธ

 

ตัวแปรต่างๆ มีความหมายดังต่อไปนี้

 

– พฤติกรรมการนอกใจ : การแสดงความไม่ซื่อสัตย์ต่อความสัมพันธ์ของคู่สมรส ทั้งด้านการกระทำและด้านจิตใจ

 

– การผูกมัดกับคู่สมรส : ความผูกพันทางจิตใจ และแรงจูงใจที่จะสานความสัมพันธ์แบบคู่สมรสให้ดำเนินต่อไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ความรู้สึกทางบวกในความสัมพันธ์ การมีหรือไม่มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สมรสที่น่าสนใจ น่าดึงดูดใจ ชวนให้หลงใหล และการลงทุนในความสัมพันธ์ (บ้าน เงิน บุตร ความทรงจำ ระยะเวลาที่มีร่วมกัน ฯลฯ)

 

– ความพึงพอใจในคู่สมรส : ความรู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจฉันสามีภรรยาที่มีต่อกัน

 

– บุคลิกภาพหลงตนเอง : ลักษณะของบุคคลที่มองตนเองในแง่บวกเกินจริง คิดว่าตนมีความสามารถเหนือระดับกว่าผู้อื่น ลุ่มหลงกับภาพลักษณ์และเสน่ห์ของตน ชอบเป็นจุดสนใจและต้องการคำชมจากผู้อื่น ใช้ความสัมพันธ์เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ตนต้องการ มองว่าการมีคู่รักหมายถึงตนมีคุณค่ามากและมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ไม่จริงใจกับใคร กลัวการถูกปฏิเสธและเจ็บปวดมากเมื่อได้รัคำวิจารณ์ทางลบ

 

– การเปิดรับประสบการณ์ : การชอบจินตนาการ ศิลปะ ความสวยงาม และความหลากหมาย มีความสงสัยใคร่รู้ ชอบแนวคิดใหม่ ๆ สิ่งแปลกใหม่ และมีค่านิยมที่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานของสังคม

 

– การมีจิตสำนึก : การควบคุมตนเอง วางแผน มีระเบียบวินัย รอบคอบ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการทำงาน ตรงต่อเวลา

 

– ความเคร่งครัดในศาสนา : พฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา

 

 

 

 

ผลการวิจัยพบว่าตัวแปรดังกล่าวล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมนอกใจทั้งเพศชายและหญิง

 

ซึ่งตัวแปรที่สำคัญที่ทำนายพฤติกรรมการนอกใจ คือ “การผูกมัดกับคู่สมรส” และ “ความพึงพอใจในคู่สมรส”

 

กล่าวคือ บุคคลที่มีผูกมัดกับคู่สมรส จะพิจารณาผลลัพธ์ระยะยาวจากการกระทำมากกว่าพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ๆ จะไตร่ตรองความเป็นไปได้หากตนมีพฤติกรรมนอกใจ เช่น ความอับอาย รู้สึกผิด เศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียคนรักไป และจะห่วงใยในทุกข์สุขของคู่ครองมาก จะพิจารณาว่าการกระทำของตนจะทำให้คู่ครองต้องเจ็บปวดเพียงใดและจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ที่มีหรือไม่ ดังนั้นบุคคลที่ผูกมัดกับคู่สมรสสูงจึงไม่มีพฤติกรรมนอกใจ

และความพึงพอใจในคู่สมรสก็มีส่วนช่วยเพิ่มการผูกมัดกับคู่สมรสได้

 

นอกจากนี้ ตัวแปรบุคลิกภาพทั้งความหลงตนเอง การเปิดรับประสบการณ์ และการมีจิตสำนึก ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมนอกใจเช่นกัน แต่มีอิทธิพลในเพศชายและหญิงที่ “แตกต่าง” กัน ดังนี้

 

เพศชาย : ตัวแปรบุคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการนอกใจของเพศชายมากที่สุด คือ “การมีจิตสำนึก” ส่วนการเปิดรับประสบการณ์และการหลงตนเองมีอิทธิพลรองลงมา โดยเป็นอิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผ่านความพึงพอใจและการผูกมัดกับคู่สมรส กล่าวคือ ผู้ชายที่หลงตนเองสูงจะพึงพอใจในคู่สมรสน้อย และผูกมัดกับคู่สมรสน้อย ทำให้มีแนวโน้มนอกใจมากขึ้น แต่การมีจิตสำนึกและการเปิดรับประสบการณ์มีส่วนช่วยเพิ่มการผูกมัดกับคู่สมรส ทำให้ลดพฤติกรรมการนอกใจของเพศชายได้

 

เพศหญิง : ตัวแปรบุคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการนอกใจของเพศหญิงมากที่สุด คือ “การหลงตนเอง” โดยมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่การมีจิตสำนึกมีอิทธิพลรองลงมาโดยส่งอิทธิพลทางอ้อมผ่านการพึงพอใจและการผูกมัดกับคู่รัก ส่วนการเปิดรับประสบการณ์ไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนอกใจของเพศหญิง (ทั้งนี้พบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างการเปิดรับประสบการณ์กับการผูกมัดกับคู่สมรสของเพศหญิง คือ การเปิดรับประสบการณ์ทำให้ผู้หญิงมีความพึงพอใจในคู่สมรสสูง แต่ก็ทำให้ผูกมัดกับคู่สมรสต่ำ)

 

สำหรับตัวแปรการเคร่งครัดในศาสนา สามารถทำนายพฤติกรรมนอกใจได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยมีอิทธิพลในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง

 

กล่าวโดยสรุปคือ จากตัวแปรทั้งหมดในที่นี้ ตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนอกใจของเพศชายคือ การผูกมัดกับคู่สมรส ความพึงพอใจในคู่สมรส ความเคร่งครัดในศาสนา และการมีจิตสำนึก ตามลำดับ

 

ส่วนตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนอกใจของเพศหญิงคือ การผูกมัดกับคู่สมรส ความหลงตนเอง และความพึงพอใจในคู่สมรส ตามลำดับ

 

 

การวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนอกใจ


 

 

 

 

เพศ

 

– เพศชายมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่าเพศหญิง ซึ่งตรงกับสภาพของสังคมไทยที่มองว่าการนอกใจของเพศชายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นธรรมชาติของผู้ชายที่จะเจ้าชู้ แตกต่างจากเพศหญิงที่จะถูกดูหมิ่นและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

 

– เพศชายส่วนมากรายงานถึงพฤติกรรมนอกใจในลักษณะที่เป็นการกระทำชัดเจน เช่น การแอบพาเข้าโรงแรม แอบหอมแก้ว แอบมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ขณะที่เพศหญิงมักรายงานถึงพฤติกรรมที่นำไปสู่การนอกใจ เช่น การหว่านเสน่ห์ การส่งข้อความ การแอบขอเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

 

– นอกจากนี้เพศชายและหญิงยังมีมุมมองต่อพฤติกรรมนอกใจแตกต่างกันด้วย โดยเพศชายมองว่าการนอกใจหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ขณะที่เพศหญิงมองว่าไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสัมพันธ์หรือด้านจิตใจก็ถือเป็นการนอกใจทั้งสิ้น

 

อายุ

 

– คู่สมรสที่มีอายุน้อยมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่า เนื่องจากคิดว่าตนยังมีโอกาสที่จะเปิดรับประสบการณ์อีกมากมายจากบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน หรือเห็นว่าตนยังมีทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า

 

ประวัติการหย่าร้าง

 

– บุคคลที่เคยหย่าร้างมีแนวโน้มนอกใจมากกว่าบุคคลที่ไม่เคยมีประวัติหย่าร้าง

 

การอยู่ก่อนแต่ง

 

– คู่ที่เคยอยู่ร่วมกันหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมีพฤติกรรมนอกใจน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน ลองใช้ชีวิตเหมือนคู่แต่งงานด้วยการอยู่กินร่วมกัน จนแน่ใจว่ามีความพึงพอใจในชีวิตสมรสเมื่อตัดสินใจแต่งงานกัน จึงไม่มีพฤติกรรมนอกใจ

 

ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์

– บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งมีแนวโน้มมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่า อาจเป็นเพราะบุคคลมีความต้องการทางเพศสูง ไม่ว่าจะกับคู่สมรสของตนหรือไม่ หรือบุคคลต้องการความหลากหลายในความสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและสนองความตื่นเต้นเร้าใจ (ผลดังกล่าวแตกต่างจากการวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์มากเป็นวิธีการป้องกันการนอกใจ)

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบต่อพฤติกรรมการนอกใจในคู่สมรส”
“Mediation analysis of narcissistic personality and five-factor personality on marital infidelity”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)
โดย นางสาวธันยธร อนันต์วิโรจน์
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18062

 

แชร์คอนเท็นต์นี้