น้อมนำทำตามพระบรมราโชวาท “บทเรียนจากการฟัง”

08 Nov 2017

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

 

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๕ นั้น มีเนื้อความตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของการฟัง ดังเนื้อความที่ว่า

 

“การศึกษาเพิ่มเติมที่แต่ละคนพึงกระทำนั้น กล่าวได้ว่ามีอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำรา และวิเคราะห์วิจัยตามระบบและวิธีการ ที่ปฏิบัติกันในมหาวิทยาลัย อีกทางหนึ่งคือสดับตรับฟัง สังเกต จดจำจากการกระทำคำพูดของบุคคล รวมทั้งเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ประสบผ่าน แม้แต่อุปสรรคความผิด พลาดของตนเอง ก็อาจนำมาคิดพิจารณาให้เป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความรู้ ความคิด ความฉลาด ได้ทั้งสิ้น”

 

ดังที่ปรากฏในพระบรมราโชวาท การฟังเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งที่เอื้ออำนวยให้คนเราได้พัฒนาตนเอง เกิดการรู้คิดและสติปัญญา เนื่องจากชีวิตประจำวันของเรานั้นมีการฟังเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตลอด การทบทวนถึงแนวทางที่จะใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการฟัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้จึงมีความสำคัญ แนวทางเหล่านี้อาศัย “การเปิด” ในหลาย ๆ ด้าน ดังตัวอย่าง “การเปิด” สามด้านต่อไปนี้ค่ะ

 

 

“เปิดโอกาสในการเรียนรู้”

 

การไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว แล้วเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้เรียนรู้พัฒนาในด้านต่างๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ประโยชน์จากการฟัง บางครั้งบางหน หลายคนอาจลังเลที่จะใช้ประโยชน์นี้ในการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะรู้สึกราวกับว่าตนเองดีพอ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ส่งผลให้เกิดการปิดกั้น ไม่รับฟัง พลอยทำให้ขาดโอกาสในการใช้ฟังให้เกิดประโยชน์สุดสูง

 

“เปิดใจให้ลดอคติ”

 

ภายหลังจากการเปิดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากการฟัง การเปิดใจรับข้อมูลใหม่โดยไม่นำเอาอคติหรืออารมณ์ความรู้สึกเข้ามามีผลต่อการประเมินข้อมูลก็มีความสำคัญมากๆ ค่ะ เพราะอคติ ทั้งทางบวกหรือลบ ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลงศรัทธาหรือความชิงชังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจผู้พูด หรืออารมณ์ความรู้สึกต่าง เช่น ความกลัวเกรงใจหรือความรู้สึกหงุดหงิดขัดใจกับข้อมูลที่แตกต่างไปจากความคิดของตนเอง จะเข้ามามีผลแทรกแซงทำให้คนเราไม่ได้มีโอกาสคิดใคร่ครวญถึงความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ได้รับ ดังที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไปค่ะ

 

“เปิดการคิดไตร่ตรอง”

 

การเปิดสุดท้ายที่ขาดไปเสียไม่ได้คือการเปิดโอกาสทำการคิดไตร่ตรองถึงข้อมูลที่ได้รับ โดยเฉพาะในแง่ของความสมเหตุสมผลว่าสมควรหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ที่จะเก็บไว้ในคลังการเรียนรู้ของเราเองดังที่กล่าวไปในข้างต้น การที่จะคิดไตร่ตรองใช้วิจารณญาณนี้ได้เต็มที่ต้องอาศัยการเปิดใจไม่ใช้อคติในการฟังค่ะ

 

 

จากการเปิดทั้งสามด้านข้างต้น เราแต่ละคนน่าที่จะพร้อมในการใช้ประโยชน์จากการฟังได้มากขึ้น เพื่อที่จะมาซึ่งการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาตนเอง เสริมสร้างการรู้คิดและสติปัญญาดังพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมาค่ะ

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้