การจัดการความประทับใจในโลกออนไลน์

28 Mar 2019

อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

 

สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่กว้างใหญ่ สามารถเชื่อมคนทั้งโลกเข้ามาอยู่ใกล้กันได้แค่เพียงเรา click เท่านั้น

 

ผู้คนในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะวัยใดมักมีความเกี่ยวข้องบางอย่างกับสังคมออนไลน์ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการ post รูป คลิปวิดีโอ หรือข้อความต่างๆ เพื่อทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้คือการนำเสนอตัวเอง (Self-presentation) ให้โลกได้รู้จักซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพียงผ่านทางหน้าจอเท่านั้น

 

การนำเสนอตัวเองผ่านทางโลกออนไลน์นั้นผู้คนอาจพยายามที่จะสร้างความประทับใจไม่ต่างจากการที่เราพบกันพูดคุยกันในแบบที่เห็นหน้า การจัดการความประทับใจ (Impression management) เป็นความพยายามที่จะสร้าง รักษา ป้องกัน หรือทำสิ่งใดก็ตามเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ในภาพลักษณ์ที่เราต้องการจะนำเสนอ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างความประทับใจคือ ความพยายามที่จะสื่อภาพลักษณ์ทางบวกให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น ภาพของความสุข หรือภาพของความสวยงาม นั่นหมายความว่า สิ่งที่นำเสนอในโลกออนไลน์นั้นอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของเราก็ได้ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับความประทับใจที่เราคาดหวังให้ผู้อื่นรู้สึก

 

เราแต่ละคนมีความสามารถในการนำเสนอตนเองที่แตกต่างกัน เหมือนกับที่เรามีความสามารถในการออกมาพูดหน้าชั้น มีความสามารถในการร้องเพลง หรือมีความสามารถทางด้านการเล่นกีฬาที่แตกต่างกัน ความสามารถในการนำเสนอตนเองในเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ถึงความสำเร็จในการจัดการความประทับใจ

 

การรับรู้ว่ามีความสามารถในการนำเสนอตัวเองจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ผ่านทางสังคมออนไลน์สามารถถ่ายโอนมายังการนำเสนอตัวเองผ่านทางสังคมออนไลน์ได้ มีงานวิจัยพบว่า ในเหตุการณ์ทั่วไปที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ คนที่รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการนำเสนอตัวเองที่ดี จะใช้สื่อทางสังคมออนไลน์เพิ่มเติมโอกาสในการนำเสนอตนเอง โดยพวกเขาพร้อมที่จะรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการนำเสนอตัวเองผ่านทางสื่อของสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ โดยความประทับที่ได้รับกลับมานั้นมักจะเป็นไปในทางเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสังคมจริง และมีงานวิจัยพบว่า ความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการอ่าน profile ในสื่อออนไลน์นั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความประทับใจที่คนสนิทประเมินคนๆ นั้น

 

บุคคลมักสามารถควบคุมการนำเสนอตนเองในสังคมออนไลน์ได้ดีกว่าการพบปะพูดคุยกันต่อหน้า เพราะเรามีโอกาสพิจารณาว่าจะสื่ออะไรให้สังคมได้เห็น มีโอกาสเลือกว่าจะสื่อด้านไหนของตัวเองให้สังคมได้มอง ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เรามีเวลาเลือกรูปที่ดีที่สุดเพื่อใช้ในการนำเสนอตนเองนั่นเอง และเนื่องจากการนำเสนอตนเองในสังคมออนไลน์นั้นมักเป็นลักษณะของข้อมูลที่กระจายไปยังกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่เหมือนกับการคุยกันต่อหน้าที่เราสามารถเลือกสื่อสารได้กับคนแต่ละคน ดังนั้นเราจะพยายามคัดเลือกลักษณะที่ชัดเจนที่สุดเพื่อเอาออกมานำเสนอให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อจะได้รับความประทับใจกลับมา

 

ดังนั้นอาจพูดได้อีกอย่างว่า สังคมออนไลน์เป็นเหมือนกับสังคมในอุดมคติที่เราจะสามารถใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับเรา และทำให้เราสามารถจัดการกับความประทับใจที่ผู้อื่นจะมีต่อเรา

 

จะเห็นได้ว่า สังคมออนไลน์มีลักษณะของความเป็น “สังคม” อย่างมาก เพราะเมื่อเราทำอะไรลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ post รูป หรือข้อความอะไรก็ตาม จะมีคนส่วนมากรับรู้และมองเห็น ดังนั้นจึงควรจะตระหนักและระมัดระวังในการสื่อสิ่งต่างๆ รวมไปถึงระมัดระวังในการรับรู้สื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพราะสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงเพื่อสร้างความประทับใจเท่านั้นเอง

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bolino, M. C., Kacmar, K. M., Turnley, W. H., & Gilstrap, J. B. (2008). A multi-level review of impression management motives and behaviors. Journal of Management, 34(6), 1080-1109. DOI: 10.1177/0149206308324325

 

Krämer, N. C., & Winter, S. (2008). Impression management 2.0. The relationship of self-esteem, extraversion, self-efficacy, and self-presentation within social networking sites. Journal of Media Psychology, 20(3), 106-116. DOI: 10.1027/1864-1105.20.3.106

 

Pounders, K., Kowalczyk, C. M., & Stowers, K. (2016). Insight into the motivation of selfie postings: Impression management and self-esteem. European Journal of Marketing, 50(9/10), 1879-1892. DOI: 10.1108/EJM-07-2015-0502

 

ภาพจาก https://makeawebsitehub.com/social-media-sites/

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้