ผู้ใหญ่วัยเริ่ม – Emerging adulthood

14 Sep 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม – Emerging adulthood

 

 

 

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงพัฒนาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย จนถึงช่วงอายุประมาณ 20 ปีตอนปลาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 18-25 ปี ที่บุคคลมีลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะอันโดดเด่นและแตกต่างจากช่วงวัยอื่น ๆ (Arnett, 2000)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มมีลักษณะแตกต่างจากวัยรุ่น (13-20 ปี) และผู้ใหญ่ตอนต้น (21-40 ปี) คือเป็นบุคคลที่มีอายุบรรลุนิสิตภาวะและไม่ใช่ผู้เยาว์ตามกฎหมาย มีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่ทำให้มีความสามารถที่มีประสิทธิภาพกว่าช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ทำให้สามารถและมีเวลามากพอที่จะสำรวจและทดลองในเรื่องการศึกษา ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถที่จะรับผิดชอบตนเองได้เทียบเท่าผู้ใหญ่ (Arnett et al., 2014)

 

นิยามนี้สอดคล้องกับมุมมองของ Erikson ที่มองว่า การเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดการยืดเวลาของพัฒนาการในช่วงวัยรุ่นออกไป ทำให้บุคคลมีเวลาสำหรับการค้นหาตัวตนของตัวเองมากขึ้น โดยการทดลองสวมบทบาทของตนเองอย่างอิสระจากบรรทัดฐานของสังคมหรือความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องพิจารณาถึงบริบททางวัฒนธรรมร่วมด้วย

 

Masten et al. (2004) และ Werner (2005) มองว่าผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงเวลาที่บุคคลมีจุดเปลี่ยน หรือโอกาสที่สอง สำหรับคนที่มีช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่อยู่ในบริบทที่ไม่เอื้อให้เกิดสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เป็นช่วงวัยที่บุคคลได้มีโอกาสมากขึ้นในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตนเอง (ทั้งการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์) ไปสู่เส้นทางที่เอื้อให้เกิดสุขภาพกายและใจที่ดีมากขึ้น

 

 

คุณสมบัติ 5 ประการของผู้ใหญ่วัยเริ่ม


 

 

1. การค้นหาอัตลักษณ์ (identity exploration)

 

เปรียบเสมือนการทดลองเพื่อดูความเป็นไปได้ต่าง ๆ เช่น เราสามารถเป็นต้นแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ ความรัก การทำงาน และอุดมการณ์ การสำรวจอัตลักษณ์มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงผู้ใหญ่วัยเริ่มและมีความเข้มข้นมากขึ้น ผู้ใหญ่วัยเริ่มมักมีความคิดจริงจังเกี่ยวกับการลงหลักปักฐานหรือการสร้างข้อผูกมัดต่าง ๆ ที่จะช่วยกำหนดโครงสร้างของความสัมพันธ์และหน้าที่การทำงานในช่วงวัยผู้ใหญ่ของตน และจะค่อย ๆ เริ่มดำเนินการตามแผนการที่วางไว้เมื่ออายุ 30 ปี

 

ทั้งนี้ การสำรวจอัตลักษณ์อาจสร้างความสับสนให้แก่บุคคลในวัยดังกล่าว หากไม่สามารถเลือกเส้นทางในการสำรวจอัตลักษณ์ของตนได้ หรือรู้สึกว่าเส้นทางที่ตนเลือกนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นพัฒนาการปกติของผู้ใหญ่วัยเริ่มและจะสามารถคลี่คลายลงได้เมื่ออายุย่างเข้า 30 ปี ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใหญ่วัยเริ่มไม่สามารถปรับตัวได้ กระบวนการดังกล่าวอาจขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่

 

2. ความรู้สึกไม่มั่นคง (instability)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงวัยหนึ่งที่ประสบกับความไม่มั่นคงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน การเรียน และการย้ายที่อยู่อาศัย ความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงในชีวิตเหล่านี้ส่วนหนึ่งมากจากกระบวนการสำรวจอัตลักษณ์ อย่างไรก็ตามก็อาจเกิดขึ้นโดยที่บุคคลไม่ได้ตั้งใจ เช่น การถูกบอกเลิกโดยตนรัก หรือถูกเลิกจ้าง การเปลี่ยนแปลงโดยบุคคลไม่ได้สมัครใจนี้อาจส่งผลกระทบทางลบจนนำไปสู่ความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนที่อยู่อาศัยบ่อยครั้งอาจทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่เพียงพอ หลายคนจึงมักพึ่งพาโซเชียลมีเดียเพื่อให้ตนรู้สึกเสมือนได้รับการสนับสนุนทางสังคม

 

3. การให้ความสำคัญกับตนเอง (self-focused)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงวัยที่บุคคลมุ่งให้ความสนใจเฉพาะตนเอง เนื่องจากช่วงเวลานี้บุคคลมีบทบาทและภาระผูกพันทางสังคมน้อยลง กล่าวคือ ในวัยเด็กและวัยรุ่นบุคคลจะตอบสนองต่อคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของผู้ปกครอง และบุคลากรในโรงเรียน แต่สำหรับผู้ใหญ่วัยเริ่มภาระส่วนนี้จะลดลง แม้จะมีภาระผูกพันกับผู้ปกครองอยู่บ้าง เช่น ยังพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่ แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองเหมือนอย่างเช่นวัยเด็ก

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มสามารถทดลองมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์แบบคู่รัก ซึ่งอาจยังไม่ได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว อีกทั้งมีการเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดความผูกพันกับนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือผูกพันกับงาน และจะใช้เวลาไปกับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ สำรวจทักษะต่าง ๆ และพัฒนาความเข้าใจในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ ประกอบกับกฎหมายเอื้อให้ช่วงวัยนี้สามารถตัดสินใจและรับผิดชอบตนเองได้ บุคคลจึงมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกของตน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใหญ่

 

4. ความรู้สึกก้ำกึ่ง (feeling in-between)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มมักมองว่าตนเองไม่ใช่ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่อยู่บริเวณระหว่างทาง เมื่อให้ตอบคำถามว่ารู้สึกว่าตนเองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่มักตอบว่า “ใช่ในบางแง่มุมและไม่ใช่ในบางแง่มุม” โดยเกณฑ์ที่บุคคลใช้ประเมินตนเองว่าเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เช่น การยอมรับในความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่บุคคลควรมีต่อตนเอง และการตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นความรู้สึกของการเป็นผู้ใหญ่จึงค่อยเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า จนกว่าบุคคลเข้าสู่ช่วงวัยยี่สิบตอนปลายหรือสามสิบปีตอนต้น บุคคลจึงจะพิจารณาว่าตนเองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

 

ความรู้สึกคาบเกี่ยวนี้อาจกระตุ้นให้เกิดความหดหู่และความวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เชื่อว่าตนเองควรเป็นผู้ใหญ่ตามเกณฑ์ที่เคยถูกกำหนดไว้ มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นตามข้อเท็จจริง

 

5. การมีความคิดว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้ (possibilities/optimism)

 

แม้ว่าผู้ใหญ่วัยเริ่มจะเจอกับการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่และเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบทั้งในทางดีและไม่ดีผสมกันไป การศึกษาพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่วัยเริ่มมีความเชื่อว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นไปด้วยดีและสดใส แม้การศึกษาดังกล่าวจะทำขึ้นในช่วงหลังการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หลายประเทศประสบปัญหาการจ้างงานและค่าแรงที่ลดลง แต่ผู้ใหญ่วัยเริ่มในประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถมองโลกในแง่ดี และมีความสามารถในการฟื้นพลังที่ดีระหว่างเผชิญความยากลำบากได้

 

ในการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ใหญ่วัยเริ่มมองว่าประสบการณ์ในช่วงวัยนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาดูแลตนเอง สิทธิเสรีภาพ และสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง มีความใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานที่ตนเองต้องการ และชอบที่จะหางานเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสามารถในการฟื้นพลังของผู้ใหญ่วัยเริ่ม: การวิเคราะห์จัดกลุ่มความเมตตากรุณาต่อตนเอง ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การให้การสนับสนุนทางสังคม และการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม” โดย ดลนภัส ชลวาสิน (2565) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82275

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางการเงินและเป้าหมายการออมในผู้ใหญ่วัยเริ่ม” โดย กอข้าว เพิ่มตระกูล (2562) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69648

 

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้