สองวันในโลซาน…เมืองที่เคยขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีเป็นอันดับต้นของโลก

26 Jul 2018

ผศ. ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

 

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศออสเตรีย แถมได้อยู่เมืองกราซ (Graz) เมื่องที่อยู่ทางตอนใต้ของออสเตรียก็เลยถือโอกาสไปเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสียเลย เพราะไม่ห่างจากกันมาก ในความคิดแรกการมาโลซานคือมาตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใจอยากเห็นแฟลตเลขที่ 16 ที่องค์พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เคยใช้ชีวิตอยู่หลายปีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดูจากแผนที่ก็ดูไม่ห่างจากสถานีรถไฟโลซาน ระหว่างเดินหาแฟลตก็สำรวจเมืองไปด้วย และที่เมืองโลซานนี้เองทำให้ได้รู้จักน้องคนไทย “น้องไอซ์” เป็นคนอุดรธานีโดยกำเนิดแต่ตามครอบครัวมาอยู่โลซานตั้งแต่ 3 ขวบ

 

การมาที่โลซานทำให้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตของนักเรียนที่นี่ จากการพูดคุยกับน้องไอซ์และศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมศาสตร์ที่โรงเรียนโปลีเทคนิคกลางแห่งเมืองโลซาน (École Polytechnique Federale de Lausanne (EPFL)) ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า เด็กที่นี่พัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์ของตนเอง (Self-Concept) หรืออัตลักษณ์ของตนเอง (Self-Identity) ได้เร็ว ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายหรือมัธยมต้นเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วเรารู้ว่าเราเป็นใครมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนคงเคยประสบปัญหา ไม่แน่ใจว่าแท้ที่จริงแล้วเราจะเป็นอะไร เราจะทำงานอะไร เราจะเป็นคนแบบไหน เราจะพบเจอสิ่งที่เราอยากเป็นจริง ๆ ได้เมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่วัยรุ่นหลายคนอยากรู้และต้องหาคำตอบ ซึ่งคำตอบที่จะได้ต้องหาด้วยตัวเอง ส่วนที่ว่าทำไมเด็ก ๆ ที่โลซานจึงหาอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว นั่นเพราะเด็ก ๆ ที่นี่ นอกจากจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องพยายามอย่างมากในการหาความชอบและความต้องการของตน เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอีกทั้งต้องลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนต้องมีอาชีพและทางชีวิตของตน เพราะค่าครองชีพของคนในประเทศนี้สูงมาก หากเทียบกับประเทศออสเตรียแล้วถือว่าสูงกว่าถึงเกือบสองเท่า

 

เด็กที่เมืองโลซานไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ อาจจะเข้าเรียนเพียง 1 ปี หรือ 2 ปีก็ได้ การเรียนในชั้นอนุบาลเน้นเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ การเล่น การออกกำลังกายเป็นหลัก พอเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาเด็กต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ และเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมต้นเด็กจะสามารถเลือกเรียนในโปรแกรมที่ตนถนัดได้ เด็กอาจถูกแบ่งตามความถนัดของตนเอง เกรดที่ได้ หรือเรียนคละกัน ซึ่งก็แล้วแต่ระบบของแต่ละมลฑล พอถึงเวลานี้เด็กส่วนใหญ่เริ่มมองหาลู่ทางชีวิตของตัวเองแล้ว เด็กหลายคนสมัครไปทำงานหลังเลิกเรียนหรือเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่มัธยมต้น เพราะต้องการทดลองดูว่าเขาน่าจะชอบอาชีพรูปแบบไหนมากกว่า เขาถนัดแบบไหนและยังเป็นการประเมินความสามารถที่แท้จริงของตนเองอีกด้วย เด็ก ๆ ที่นี่ไม่ได้เรียนพิเศษ เพราะพ่อแม่ไม่ได้บังคับ เขาเลือกเรียนตามที่เขาถนัด พอจะเข้ามัธยมปลายเด็กก็ต้องคิดและตัดสินใจแล้วว่าตนเองจะเลือกเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ นอกจากวิชาบังคับที่พวกเขาต้องเรียนเด็กสามารถเลือกวิชาเลือก เช่น ช่างไม้ ภาวะผู้นำ การโรงแรม ร้องเพลง ดนตรี การเป็นจิตอาสา เป็นต้น หากเลือกสายสามัญก็จะเรียนตามระบบและเข้ามหาวิทยาลัย หากเลือกสายอาชีพพวกเขาต้องเตรียมตัวฝึกงานไปด้วยเรียนไปด้วย เด็ก ๆ จะได้เงินเดือนจากการฝึกงานและได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญรัฐบาลช่วยค่าเล่าเรียนให้อีกครึ่งหนึ่ง

 

เราคงไม่มาพูดเพื่อเปรียบเทียบว่ารัฐบาลประเทศนั้นประเทศนี้ดีอย่างไร แต่สิ่งที่จะพูดถึงคือ การวางระบบเช่นนี้เป็นการช่วยเด็กให้เข้าใจและตระหนักถึงความชอบ ความถนัดและความสามารถของตนเองได้เร็ว และยังช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกได้ดีมากยิ่งขึ้น ทุ่นเวลาไปได้มากเลยทีเดียว

 

ดังนั้นการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ในแต่ละระดับชั้นจึงช่วยให้เด็กเกิดอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว เมื่อเด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมปลาย เด็ก ๆ ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะไปในสายสามัญหรือสายอาชีพ หากเป็นสายสามัญก็สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อได้ด้วยการสอบเข้า การศึกษาในระดับปริญญาตรีของที่นี่ใช้เวลา 3 ปี แล้วสามารถเรียนต่ออีก 1 ปีครึ่งเพื่อจบปริญญาโท คนส่วนใหญ่ที่นี่จึงจบปริญญาโท

 

ส่วนการศึกษาสายอาชีพ (ซึ่งผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษ) นักเรียนเข้าเรียนในระดับสูงเช่นกัน โดยเลือกตามความถนัดของตนเอง เด็กที่เลือกสายอาชีพต้องฝึกงานตามองค์กรเอกชนไปด้วยและเรียนไปด้วย เด็กเลือกจำนวนวิชาและจำนวนวันที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์ ส่วนวันที่เหลือก็ไปทำงานและฝึกงาน การที่เด็ก ๆ ได้ทำงานและฝึกงานเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงของการทำงาน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ทำงานมาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนเพื่อเพิ่มพูนความเข้มแข็งทั้งในทางทฤษฎี ทางปฏิบัติ และการดำเนินชีวิต เมื่อเลือกเรียนจบสายอาชีพหนึ่ง แต่หากทำงานไปแล้วรู้สึกว่ายังไม่สามาถตอบโจทย์ตัวเองได้ ก็สามารถกลับมาเรียนในระดับเดิมแต่เปลี่ยนสายอาชีพได้เช่นกัน อย่างเช่น น้องไอซ์ก็เลือกเรียนสายอาชีพในตอนแรก เธอเลือกเรียนถ่ายภาพ แต่เมื่อคิดว่าอาชีพช่างภาพยังไม่น่าจะตอบโจทย์ น้องไอซ์จึงกลับมาเรียนสาขาการทำอาหารเมื่ออายุ 26 ปีและตอนนี้ก็กำลังฝึกงานในคลีนิคคนชรา อีกสองปีก็จะจบไปเป็นเชฟ

 

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการพูดคุยกันกับน้องไอซ์ในวันที่สองของการอยู่โลซาน ทำให้คิดถึงพัฒนาการด้านตัวตนของเด็ก ๆ ที่โลซาน และทำให้เข้าใจเลยว่า การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากการประเมินความถนัดและความชอบของตน การได้เลือกจากความชอบ และการได้ลงมือทำลองผิดลองถูกนั้นสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเสริมอัตลักษณ์ของตนเอง การที่ได้เรียนในระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวตนจะช่วยให้เด็กสร้างเสริมตัวตนและบุคลิกภาพของตนเองได้อย่างชัดเจน แต่การผลักภาระให้แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดประโยชน์ เพราะบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือพ่อแม่ การช่วยเหลือและสนับสนุนโดยไม่ขีดเส้นทางชีวิตของลูกโดยพ่อแม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเด็กได้อย่างมาก หากพ่อแม่ลองปล่อยให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ทดลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้ประสบกับความสมหวังและความผิดหวัง น่าจะช่วยให้เด็กประเมินและรับรู้ความสามารถ รวมไปถึงความต้องการของตนเองได้ดียิ่งขึ้น การที่เด็กพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้ดีจะช่วยให้เขาเป็นบุคคลที่มีความมั่นคงทางบุคลิกภาพ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงพฤติกรรมทางสังคมต่าง ๆ ในแง่ดีอีกด้วย ในขณะที่เด็กบางคนไม่สามารถพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมก็อาจทำให้กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกแปลกแยกและมีความซึมเศร้า ในที่สุดเด็กเหล่านี้อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ปัญหาทางอารมณ์และบุคลิกภาพได้

 

หลายท่านอาจยังมองว่าการพัฒนาตัวตนไม่สำคัญ เพราะเดี๋ยวพอโตขึ้นเด็กก็จะเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจตนเองได้เอง จริง ๆ แล้วโลกคงไม่สวยขนาดนั้น เพราะคนที่เป็นทุกข์จากเรื่องนี้ก็คือเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง และเราก็เห็นตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้จากกลุ่มเด็กแว้น เด็กที่อยู่ตามแก๊งอาชญากรรม หรือแม้แต่เด็กที่แปลกแยกจากสังคม จากการศึกษาก็พบว่าเรื่องพัฒนาการด้านตัวตนของเด็กกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่าฝ่ายชี้นำ แล้วให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนจากการได้ลองผิดลองถูก การลงมือทำและการมีประสบการณ์ด้วยตัวของเขาเอง เขาจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เพราะแน่ใจได้เลยว่าหากคนเป็นพ่อเป็นแม่เห็นเขามีความสุข เราก็จะยิ่งมีความสุขยิ่งกว่า

 

 

ภาพจาก https://highereducationdevelopment.wordpress.com/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้