ภัย COVID-19 กับสุขภาพจิตในวิถี New Normal

09 Jul 2020

ผศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

 

ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตเราบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตในทุก ๆ ด้าน

 

ภาพจำของภัยพิบัติส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวงจำกัดไม่มีการแผ่ขยายไปยังพื้นที่อื่น เช่น อุทกภัย วาตภัย แต่ภัยที่เกิดจากโรคระบาดไม่เป็นเช่นนั้น โรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสานพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วถึง 10,700,000 รายทั่วโลก และใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น

 

มีคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมอันเนื่องมาจาก COVID-19 วิถีชีวิตใหม่นั้นจะยั่งยืนแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับภัยพิบัติอื่น ๆ ที่ผ่านมา

 

การศึกษาพฤติกรรมของสังคมนั้นพบว่า กลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติเอง มักเป็นคนกลุ่มแรกที่ออกมาแสดงความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเภทภัย เนื่องจาก พวกเขาเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงคับขัน ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้พวกเขากระปรี้กระเปร่า และมีพลังที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และอาจจะรู้สึกว่าทุกข์ของตัวเองนั้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทุกข์ของผู้อื่น และการลงมือทำอะไรสักอย่างในสถานการณ์คับขัน ยังช่วยลดความวิตกกังวล และเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองในการควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าได้

 

ตัวอย่างที่เราได้พบเห็นอย่างมากมายในช่วงที่ประเทศต้องปิดตัวเพื่อลดการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหมอและพยาบาลที่นอกจากทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ยังมีการผลิตสื่อให้ความรู้น่ารัก ๆ กับประชาชน หรือโครงการ “ตู้ปันสุข” และกิจกรรมอาสาสมัครอื่น ๆ เพื่อแบ่งปันอาหารและของใช้จำเป็นให้กับผู้ที่ขาดแคลน ทำให้เราได้เห็นมุมดี ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงนี้

 

 

สิ่งสุดท้ายที่อยากจะสื่อในบทความนี้ก็คือ เรามักจะจินตนาการไปว่าผู้ประสบภัยนั้น มีความอ่อนแอ เปราะบาง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเช่นนั้น หากคุณมีคนรอบตัวที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์หนัก ๆ ในชีวิต แผลเหล่านั้นล้วนใช้เวลากว่าจะบรรเทาเบาบางลง โปรดให้เวลา และให้โอกาสให้เขาได้ทำอะไรเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่นด้วยตัวของเขาเอง ไม่ปิดโอกาสในการพึ่งตนเองของเขาจนเกินไป แต่ก็ระวังมิให้คนคนนั้นหายไปจากครรลองสายตา อย่าให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากผู้อื่น นั่นย่อมทำให้ผู้ที่มีความเปราะบางจากภัยพิบัติอยู่ในสังคมได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดี

 

 

รายการอ้างอิง

 

U.S. Department of Health and Human Services, Substance Abuse and Mental Health Services Administration (2000). Training Manual for Mental Health and Human Services Workers in Major Disasters (2nd Ed.) Washington, DC.

ภาพประกอบจาก https://image.freepik.com/

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้