กลไกการป้องกันตนเอง – Defense Mechanisms

25 Oct 2023

รองศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

 

ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้น ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความขัดแย้งได้ และเพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ทางลบและความเครียดที่เกิดขึ้น หลายคนก็ได้ใช้วิธีจัดการกับปัญหาที่เรียกว่า “กลไกการป้องกันตนเอง”

 

Sigmund Freud ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาวิเคราะห์ได้กล่าวถึงกลไกการป้องกันตนเองว่าเป็นวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่จะไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาที่สาเหตุ เปรียบเสมือนการใช้ยาแก้ปวดที่อาจจะทำให้เราหายปวดหลังได้ชั่วคราว แต่ยาที่ใช้นั้นก็ไม่ได้ไปรักษาที่สาเหตุของการปวดหลัง

 

ดังนั้นแม้ว่าการใช้กลไกการป้องกันตนเองจะมีประโยชน์อยู่บ้าง และเป็นพฤติกรรมปกติที่ผู้คนมักใช้กันอยู่ทั่วไปเราก็ไม่ควรจะใช้มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เราเป็นคนที่ต้องป้องกันตนเองอยู่ตลอดเวลา และเริ่มหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริงไป เพราะเราไม่ได้มองและแก้ปัญหาที่สาเหตุแต่กลับมีพฤติกรรมที่ทำให้เราหลีกหนีปัญหาเพื่อให้เกิดความสบายใจเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

“กลไกการป้องกันตนเอง” ที่ว่านี้คืออะไร และเราได้ใช้มันบ่อยแค่ไหน มาทำความรู้จักกับกลไกการป้องกันตนเองว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละวิธีนั้นช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร

 

 

1. การอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือ Rationalization

 

เป็นวิธีที่เราจะใช้บ่อยที่สุดเพื่อพยายามให้เหตุผลหรืออธิบายความล้มเหลวบกพร่องของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่ไม่สามารถผ่านการทดสอบคัดเลือกเพื่อทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง อาจให้เหตุผลปลอบใจตนเองว่าบริษัทนั้นให้เงินเดือนน้อยและงานที่ให้ทำก็น่าเบื่อ หรือเด็กที่ทำจานแตกก็จะอธิบายกับแม่ว่าเขาจะไม่ทำจานแตกเลยถ้าแม่ไม่เก็บไว้สูงอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ากลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้ก็คือวิธีที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “การแก้ตัว” นั่นเอง เราคงจะไม่ปฏิเสธว่าเคยใช้วิธีนี้มาบ้างแล้ว และมันก็ช่วยทำให้เรารอดจากการถูกตำหนิไปได้ แต่ Freud ได้เตือนว่าอย่าใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้อื่นมองว่าเราเป็นนักแก้ตัวตัวยง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก

 

2. การฉายสะท้อน หรือ Projection

 

เป็นการนำเอาความยุ่งยากหรือความล้มเหลวของตนไปไว้กับผู้อื่น เปรียบเสมือนการสะท้อนลักษณะอันไม่พึงประสงค์ของตนไปให้ผู้อื่น เช่น นักเรียนที่โกงการสอบโดยนำโพยข้อสอบเข้าไปในห้องและถูกจับได้ก็จะบอกกับครูว่านักเรียนคนอื่นในห้องก็โกงเหมือนกันหรือไม่ก็จะกล่าวโทษครูว่าไม่มีมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบที่ได้ผล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองแบบนี้จะเบี่ยงเบนประเด็นความผิดหรือข้อบกพร่องของตนโดยการชี้ให้เห็นว่าคนอื่นก็มีความผิดแบบเดียวกัน เพื่อช่วยให้ตนเองรู้สึกผิดน้อยลงและมีความรู้สึกที่ดีขึ้น

 

3. การย้ายที่ หรือ Displacement

 

ซึ่งเป็นการถ่ายโอนความรู้สึกโกรธเคืองก้าวร้าวที่มีต่อผู้คนหรือสิ่งของไปยังบุคคลหรือสิ่งของที่มีอันตรายน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกแม่ตีเพราะรังแกน้อง อาจจะมีความรู้สึกโกรธแม่ แต่ไม่สามารถตอบโต้แม่ได้ด้วยการตีกลับเด็กก็จะระบายความโกรธและความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นด้วยการเตะลูกบอลหรือขว้างปาหนังสือ ในการโต้เถียงกัน ฝ่ายที่ต้องยอมจำนนก็มักจะแสดงความไม่พอใจด้วยการกระแทกข้าวของ หรือปิดประตูเสียงดังซึ่งก็จะช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเดือดดาลที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง คนที่ได้แสดงความไม่พอใจจะรู้สึกดีขึ้น เพราะไม่ต้องเก็บกดอารมณ์ทางลบไว้ แต่ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจกับคู่กรณีหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ ดังเช่นกรณีของเด็กที่ถูกทำโทษแล้ว ขว้างปาสิ่งของก็อาจจะถูกคุณแม่ตีซ้ำอีก ดังนั้นเด็กอาจจะแอบระบายความก้าวร้าวโดยไม่ให้ผู้ใหญ่เห็นด้วยการรังแกเพื่อนหรือสัตว์ที่อ่อนแอกว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนช่างสังเกตก็จะสามารถเข้าใจถึงสาเหตุของความก้าวร้าวนั้น และสามารถช่วยแก้ความก้าวร้าวของเด็กได้

 

4. การปฏิเสธความจริง หรือ Denial of reality

 

เป็นวิธีการที่หลายคนได้ใช้เมื่อความจริงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดอับอายให้แก่ตนเอง เช่น เด็กเล็ก ๆ บางคนจะปฏิเสธความจริงที่ว่าพ่อหรือแม่ที่รักของเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว หรือเด็กโตบางคนจะไม่ยอมรับว่าตนมีผลการเรียนที่ไม่ดี แม้จะสอบตกถึง 4 วิชาก็ตาม การปฏิเสธความจริงเป็นเหมือนหมอนกันความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อให้เรามีเวลาในการปรับตัวเพื่อยอมรับความจริงในที่สุด แต่คนที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองด้วยการปฏิเสธความจริงอย่างพร่ำเพรื่อ ก็จะกลายเป็นที่คนที่หลอกตนเองและไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องได้

 

5. การชดเชย หรือ Compensation

 

เป็นวิธีการที่เราใช้เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดตกบกพร่องของตนเอง เช่น คนที่เล่นกีฬาไม่เก่งก็อาจจะชดเชยด้วยการทำกิจกรรมด้านศิลปะหรือการแสดง หรือคนที่หน้าตาไม่สวยก็อาจจะชดเชยด้วยการแต่งตัวอย่างพิถีพิถัน มีพ่อแม่หลายคนได้ใช้กลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้เพื่อตอบสนองความใฝ่ฝันหรือความทะเยอทะยานในวัยเด็กของตนเอง เช่น แม่ที่มีชีวิตขัดสนในวัยเด็กก็จะชดเชยความขาดแคลนของตนด้วยการซื้อข้าวของต่าง ๆ ให้กับลูกมากจนเกินจำเป็น หรือพ่อที่ขาดโอกาสในการศึกษาในระดับสูงก็จะพยายามส่งเสริมให้ลูกได้เรียนจนถึงระดับสูงสุด จะเห็นได้ว่าแม้การชดเชยจะมีประโยชน์อยู่บ้างที่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ได้ แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการนั้นอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของลูกเสมอไป การที่พ่อแม่เข้าไปบงการชีวิตของลูกมากเกินไป แม้ว่าจะมีความตั้งใจที่ดีเพียงใด ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่ลูกได้

 

6. การถดถอยกลับไปสู่วัยที่เล็กกว่า หรือ Regression

 

วิธีนี้จะพบได้บ่อยมากในกรณีที่เด็กมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่จะพบพฤติกรรมที่ถดถอยกลับไปสู่วัยที่เล็กกว่าในลูกที่เป็นพี่ เช่นเด็กที่เลิกใส่ผ้าอ้อมแล้วจะกลับปัสสาวะรดกางเกงอีก เคยดื่มนมจากถ้วยได้แล้วก็ขอกลับมาดูดนมจากขวดอีก หรือเคยเดินได้แล้วแต่กลับไปคลานอีกเป็นต้น พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เด็กทำไปพราะรู้สึกอิจฉาน้องและต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ส่วนในคนที่โตแล้วแต่ชอบแสดงพฤติกรรมแบบเด็กโดยการแสดงว่าเป็นคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ ตัดสินใจเองไม่ได้ ไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนคอยปกป้องดูแลอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นการใช้กลไกการป้องกันตนเองแบบหนึ่งเพื่อลดความรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิตของตนเองลง

 

7. การแสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม หรือ Reaction Formation

 

วิธีนี้จะถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ความปรารถนาที่ไม่เป็นที่ยอมรับได้ถูกแสดงออกโดยการแสดงปฏิกิริยาที่ตรงกันข้าม เช่น เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกว่าตนต้องพึ่งพาพ่อแม่จะแสดงปฏิกิริยาก้าวร้าว โต้เถียงหรือขัดแย้งกับพ่อแม่โดยเฉพาะเวลาที่มีเพื่อนอยู่ด้วย หรือชายหนุ่มที่แอบรักหญิงสาวแต่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความรักตอบก็จะแสดงทีท่าที่ตรงกันข้ามกับความรักด้วยการว่ากล่าวติเตียนหรือพูดยั่วให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธ เพื่อกลบเกลื่อนหรือปิดปังความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง

 

8. การหลีกหนีและการถอนตัว หรือ Escape and withdrawal

 

เป็นกลไกการป้องกันตนเองที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถหลีกหนีจากสภาพการณ์ที่คุกคามหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาได้ชั่วขณะ ยกตัวอย่างเช่น การที่ลูกน้องผลัดวันประกันพรุ่งที่จะไปรายงานกับเจ้านายถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของตน หรือการที่ลูกเขยขอเลื่อนวันนัดไปกินข้าวกับแม่ยายออกไปโดยไม่มีกำหนด เป็นต้น

 

9.การทดเทิด หรือ Sublimation

 

เป็นกลไกการป้องกันตนเองซึ่งเบี่ยงเบนแรงจูงใจที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไปสู่การมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น ผู้ที่มีความก้าวร้าวสูงก็จะหาทางออกโดยการมีอาชีพเป็นนักมวยซึ่งอนุญาตให้แสดงความก้าวร้าวต่อคู่ต่อสู้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือผู้ที่มีแรงจูงใจทางเพศสูงก็จะแสดงออกโดยการแต่งบทประพันธ์ ดนตรี หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้จะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีแสดงออกอย่างเหมาะสมซึ่งการแนะนำจากบุคคลใกล้ชิดที่มีความเข้าใจก็จะสามารถทำให้ดึงพลังที่มีอยู่ออกมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์ได้

 

10. การไถ่โทษ หรือ Undoing

 

เป็นวิธีที่เราใช้เมื่อเรารู้สึกว่าได้ทำผิดต่อใครบางคน และหาทางทำดีเพื่อไถ่โทษ เช่น เมื่อเราผิดนัดกับเพื่อนก็รีบขอโทษด้วยการส่งช่อดอกไม้ไปให้ หรือสามีที่ออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับหญิงอื่นสองต่อสองรู้สึกว่าได้ทำผิดต่อภรรยาก็จะเอาอกเอาใจภรรยาเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ความรู้สึกผิดของตนลดลง เป็นต้น

 

 

กลไกการป้องกันตนเองที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อบรรเทาความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ

 

 


จาก บทสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แชร์คอนเท็นต์นี้