จิตวิทยาการปรึกษา

20 Nov 2017

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

“จิตวิทยาการปรึกษา” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Counseling Psychology นั้น เป็นศาสตร์หนึ่งด้านจิตวิทยา ที่มุ่งเน้นในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้บุคคลสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว และด้านการทำงาน โดยเราจะเรียกบุคคลที่ประกอบวิชาชีพในด้านจิตวิทยาการปรึกษาว่า “นักจิตวิทยาการปรึกษา”

 

การทำงานของนักจิตวิทยาการปรึกษา เป็นกระบวนการที่นักจิตวิทยาการปรึกษาทำหน้าที่ในฐานะผู้เอื้ออำนวยให้บุคคลที่มารับบริการ ได้เข้าใจปัญหาของตนเองได้อย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการสำรวจภายในตนเอง จนสามารถตระหนักรู้ในตนเองตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่ตนมี และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคคล

 

จากความหมายดังกล่าวจะสรุปได้ว่าศาสตร์ด้านจิตวิทยาการปรึกษาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจและเอื้ออำนวยบุคคลให้พัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพ

 

ชมรมจิตวิทยาการปรึกษา (Society of Counseling Psychology) สังกัดสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเฉพาะทางของจิตวิทยาการปรึกษาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

  1. มุมมองต่อผู้มารับบริการ บุคคลในวิชาชีพจิตวิทยาการปรึกษามีการมองผู้มารับบริการอย่างให้คุณค่าและความสำคัญในความเป็นมนุษย์ อันจะสะท้อนต่อมาที่แนวทางในการทำงานร่วมกับผู้มารับบริการของนักจิตวิทยาการปรึกษา จะมุ่งเน้นในการพัฒนาความเข้มแข็งของบุคคล นอกจากนี้นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำความเข้าใจปัญหาของผู้มารับบริการผ่านมุมมองด้านการพัฒนาการ
  2. เป้าหมายของการทำงานในด้านจิตวิทยาการปรึกษานั้น สามารถทำงานทั้งในลักษณะการมุ่งป้องกันการเกิดขึ้นของปัญหาในอนาคต โดยส่งเสริมให้มีผู้มารับบริการมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีสุขภาวะ หรือที่เรียกกันว่างานในลักษณะการป้องกันและส่งเสริม และการให้การช่วยเหลือเพื่อเยียวยาปัญหาต่าง ๆ ในจิตใจ หรือที่เรียกกันว่างานในลักษณะการบำบัดเยียวยา

 

Psychology, therapy, psychiatry, mental health and counseling concept. candid shot of nervous self conscious young male in glasses telling middle aged female counselor about his problems at work

 

 

เมื่อนึกถึงคำว่านักจิตวิทยา คนทั่วไปอาจมีภาพในใจว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีลักษณะเดียวกับภาพที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ ที่มีตัวละครนอนบนโซฟายาว แล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ตัวละครที่นั่งอยู่ด้านหลังฟัง ซึ่งภาพในใจจากฉากในภาพยนตร์ที่เราเห็นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในการให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวทางของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง โดยในปัจจุบันอาจยังมีนักจิตวิทยาการปรึกษาบางท่านใช้รูปแบบเช่นในภาพยนตร์อยู่ หรืออาจใช้รูปแบบอื่น ๆ ในการพูดคุยกับผู้มารับบริการ โดยรูปแบบการปรึกษาเชิงจิตวิทยา จะเป็นการนั่งพูดคุยกันระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้รับบริการ และจะแตกต่างกันออกไปตามกรอบความคิดทางทฤษฏีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่นักจิตวิทยาการปรึกษาเข้าใจและยึดถือ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาออกไปอย่างมากมาย

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการของสัมพันธภาพที่พิเศษที่มุ่งให้ผู้ที่มีปัญหาได้มีโอกาสหยุดกระบวนการคิดที่ไม่เหมาะสม และได้มีโอกาสเพ่งพิจารณาและทำความเข้าใจปัญหาของตน ด้วยสติปัญญาชัดเจน จนมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาของตนด้วยตนเอง กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการเอื้อให้บุคคลได้พัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ โดยมีนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นผู้เอื้ออำนวยในกระบวนการ นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่ผู้แก้ปัญหา และจะไม่เข้าไปบงการแนะนำ หรือ แทรกแซงผู้รับบริการ แต่จะเป็นผู้ที่ใช้ความชำนาญที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษในการช่วยให้ผู้รับบริการสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

 

ความเหมือนและแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ที่ทำงานให้บริการด้านสุขภาพจิตในวิชาชีพต่าง ๆ

 

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา VS จิตแพทย์

 

นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่จิตแพทย์ แม้จะมีการทำงานอยู่ในเส้นทางเดียวกันในการดูแลสุขภาพจิตของบุคคล ให้การบำบัดรักษาปัญหาจิตใจ หรือมีเรื่องที่กระทบกระเทือนทางจิตใจ อันส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ความแตกต่างกันคือ จิตแพทย์ซึ่งเรียนทางด้านการแพทย์ เน้นการให้บริการกับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิต และสามารถใช้ยาประกอบในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ในขณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะใช้การบำบัดรักษาทางจิต หรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยา เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน และให้บริการส่วนใหญ่กับผู้ที่มีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ และการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดความงอกงามเข้มแข็งทางจิตใจ

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา VS นักจิตวิทยาคลินิก

 

ชมรมจิตวิทยาการปรึกษา สังกัดสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ได้กล่าวเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิคไว้ว่า ในบรรดาศาสตร์ด้านจิตวิทยาทั้งหมด งานด้านจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิคเป็นงานที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่รากฐานในการเริ่มต้นของงานทั้งสองด้านมีความแตกต่างกัน โดยจิตวิทยาคลินิคเริ่มต้นจากการศึกษาความผิดปกติทางจิต หากจิตวิทยาการปรึกษามีจุดเริ่มต้นมาจากการให้คำแนะนำด้านอาชีพ โดยจิตวิทยาการปรึกษายังคงมุ่งเน้นในการให้บริการตลอดทุกช่วงวัยให้มีการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและมุ่งเน้นในการทำงานกับกลุ่มคนทั่วไปในสังคม เพื่อให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในทุกช่วงชีวิต แม้จะมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องความผิดปกติทางจิตอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ

 

 

การมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวผู้มารับบริการได้อย่างไร?

 

การเข้ารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาจะเกิดประโยชน์ต่อผู้มารับบริการในด้านการจัดการกับปัญหา คลายความไม่สบายใจ และมีแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ โดยเกิดความเข้าใจในตนเอง ซึ่งความเข้าใจในตนเองนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถวางแนวทางการดำเนินชีวิตของตนได้อย่างเหมาะสม โดยผู้มารับบริการจะสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมั่นคง และสามารถจัดการปัญหาของตนได้อย่างสอดคล้อง และเหมาะสมกับความเป็นจริง ผู้มารับบริการจะสามารถค้นพบศักยภาพของตนเองและใช้ศักยภาพนั้นได้อย่างเต็มที่ ในการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และขยายทัศนะในการมองโลก และชีวิตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี

 

ผู้ที่จะมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาคงจะไม่จำกัดแค่เพียงผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วคนทั่ว ๆ ไปสามารถมารับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้เมื่อเขามีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจและส่งผลต่อการดำเนินชีวิต หรือไม่ได้มีปัญหาอะไรก็สามารถพบนักจิตวิทยาการปรึกษาเพื่อให้ตนมีชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น การปรึกษาเชิงจิตวิทยา ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่เฉพาะผู้ที่มีปัญหาในชีวิตเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากช่วยเหลือคนเหล่านี้แล้ว การปรึกษาเชิงจิตวิทยายังเน้นการส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปพัฒนาศักยภาพของตนในด้านต่าง ๆ และช่วยให้คนเหล่านั้นเข้าใจตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น

 

 

รูปแบบในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา

 

การบริการปรึกษารายบุคคล (Individual Counseling)

 

จะเป็นรูปแบบในการบริการที่นักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้มารับบริการมาพบกันเป็นรายบุคคล โดยผู้มารับบริการ 1 ท่านจะพบกับนักจิตวิทยาการปรึกษา 1 ท่านอย่างเป็นส่วนตัวเพื่อบอกเล่าถึงปัญหา หรือเรื่องราวที่อยากพัฒนาให้นักจิตวิทยาการปรึกษารับฟังและร่วมกันหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยรูปแบบในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบรายบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วผู้มารับบริการและนักจิตวิทยาการปรึกษาจะพบกันเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (Group Counseling)

 

จะมีรูปแบบในการบริการที่ผู้มารับบริการประมาณ 6-12 คน หรือในกรณีที่เป็นกลุ่มจิตศึกษา (Psychoeducation group) อาจมีสมาชิกมากกว่านี้ได้ ทั้งนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมกลุ่มต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่มีการกำหนดเฉพาะในแต่ละกลุ่ม ซึ่งวัตถุประสงค์ของกลุ่มจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้มารับบริการที่เป็นสมาชิกกลุ่ม เช่น กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง โดยการดำเนินกลุ่มจะมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม 1 – 2 ท่าน ทั้งนี้บทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาในฐานะผู้นำกลุ่มจะเป็นผู้เอื้อให้บรรยากาศของกลุ่มเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเอื้ออำนวยของการพัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพของสมาชิกกลุ่มแต่ละคน ทั้งนี้รูปแบบในการบริการกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะมีทั้งรูปแบบการนัดเป็นรายสัปดาห์ หรือการนัดเป็นช่วงยาวต่อเนื่อง

 

People conversing at a group therapy session

 

นอกจากการบริการในรูปแบบหลัก ๆ 2 รูปแบบดังกล่าวแล้ว ยังมีการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น ครอบครัวบำบัด คู่สมรสบำบัด และยังมีรูปแบบในการบริการที่เป็นไปเพื่อการเข้าถึงผู้มารับบริการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการผ่านสายด่วนเยียวยาจิตใจ การบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาออนไลน์ เป็นต้น

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com

 

แชร์คอนเท็นต์นี้