การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ

15 Jan 2020

อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

 

คุณพ่อ คุณแม่ หรือท่านที่ต้องเลี้ยงเด็ก คงต้องเคยเจอกับสถานการณ์ที่ลูกหรือเด็กร้องไห้ งอแง อาละวาด อย่างตอนที่เด็กอยากได้ของเล่นหรือขนม แล้วพ่อแม่ไม่ให้ หรืออยากไปเล่นกับเพื่อน แล้วเกิดเรื่องทะเลาะกัน พอเด็กร้องไห้งอแงขึ้นมา ทางผู้ใหญ่หากยังใจเย็นพอ ก็พยายามพูดดี ๆ กับเด็ก พยายามคุยกันอย่างมีเหตุผล เช่น “อย่าร้องไห้สิลูก หนูเพิ่งกินขนมไปเมื่อวานเอง กินทุกวันไม่ได้นะลูก” หรือ “เพื่อนเขาไม่ได้ตั้งใจนะ เจ็บนิดเดียวเอง เดี๋ยวก็หาย” แต่หลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่จะพบว่าการพยายามคุยกับเด็กด้วยเหตุผลนั้นกลับไม่ทำให้เด็กหยุดร้องไห้งอแง หรือลดความเข้มข้นของอารมณ์เด็กในตอนนั้นได้เลย เหมือนเด็กไม่ฟังอะไรทั้งนั้น

 

จริง ๆ แล้วในจังหวะที่เด็กกำลังมีอารมณ์เข้มข้น อย่างเช่น อารมณ์โกรธ และเสียใจนั้น ผู้ใหญ่จะพยายามพูดใช้เหตุผลเท่าไหร่ อย่างไรก็ยากที่จะได้ผล สาเหตุหนึ่งเพราะพัฒนาการของสมองที่ประมวลเหตุผลของเด็กนั้นยังไม่ดีเหมือนของผู้ใหญ่ แต่สมองในส่วนของอารมณ์นั้นจะพัฒนาเร็วกว่า อิทธิพลของอารมณ์จึงมีเหนือเหตุผลได้ง่าย ๆ แต่ถึงเด็กจะแสดงอารมณ์ได้อย่างเชี่ยวชาญ จากที่เราเห็นว่าเด็กหัวเราะหรือร้องไห้อย่างชัดเจน แต่เด็กยังไม่ใช่วัยที่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง แถมยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดีนัก ผลที่ตามมาคือเด็กปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจนไม่สามารถรับฟังเหตุผลเพื่อไปจัดการกับพฤติกรรมของตัวเอง

 

คำถามต่อมาคือแล้วเราควรจะจัดการอย่างไรเวลาเด็กมีอารมณ์เข้มข้นจนตัวเด็กควบคุมไม่ได้ มีวิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งที่น่าสนใจที่เรียกว่า “การสนับสนุนทางอารมณ์” (emotional support)

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ คือ การที่ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนว่าตนกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และทำให้เด็กเท่าทันอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และจะทำให้เด็กเริ่มรับฟังเหตุผลมากขึ้นตามลำดับ

 

ก่อนที่เด็กจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กต้องรู้ก่อนว่า ในตอนนั้นตัวเองมีอารมณ์อะไร อารมณ์นั้นมักจะสร้างการตอบสนองทางพฤติกรรมที่รวดเร็ว เช่น ร้องไห้ หัวเราะ และในหลายๆ ครั้ง เด็กยังไม่รู้ว่าตัวเองมีอารมณ์อย่างไรกันแน่ ดีใจ เสียใจ โกรธ พอใจ หรืออะไร ดังนั้นผู้ใหญ่จึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในส่วนนี้ได้ อาจจะเป็นการพูดคุยเพื่อถามเด็ก ให้เด็กตระหนักก่อนว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์อย่างไรอยู่ เช่น ถามว่า “หนูโมโหใช่ไหมที่เพื่อนแย่งขนมไป” หรือ “เสียใจใช่ไหมที่ไม่ได้ของเล่น” เมื่อเด็กได้ฟังคำถาม เด็กจะคิดหาคำตอบ และเป็นการทบทวนอารมณ์ตัวเองไปในตัวว่า “ฉันกำลังโมโหหรือเปล่า” “ฉันกำลังเสียใจหรือเปล่า” เพื่อที่จะตอบผู้ใหญ่ เช่น “เปล่า หนูไม่ได้โกรธ” “หนูไม่ได้เสียใจ” หรือในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ใหญ่เองก็ไม่รู้ว่าตอนนี้เด็กมีอารมณ์อย่างไร พอได้ถามตอบกัน ก็จะทำให้ทั้งตัวเด็กเข้าใจอารมณ์ตนเองในขณะนั้น และรับรู้ว่าผู้ใหญ่เข้าใจได้ตรงกันด้วย

 

เมื่อเด็กรู้ถึงอารมณ์ของตัวเอง และรู้ว่าผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่าตัวเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร อารมณ์ของเด็กจะค่อยๆ สงบลง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กเริ่มฟังสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกับเด็ก ๆ ได้มากขึ้น

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ ยังไม่ใช่แค่การทำให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตนเอง แต่ผู้ใหญ่ยังสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ให้เด็กๆ ได้ด้วย เมื่อผู้ใหญ่รู้แล้วว่าเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร ก็อาจจะสอนว่า “ถ้าหนูโกรธ เรามาลองนับ 1 ถึง 10 กัน” หรือ “หายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออก” ทำให้เด็กมีวิธีรับมือกับอารมณ์ที่เข้มข้นของตัวเอง และทำให้อารมณ์นั้นสงบได้ง่ายขึ้น

 

ไม่เพียงแค่อารมณ์ทางลบเท่านั้น แต่บางครั้งเด็กก็ตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่เข้มข้นอย่างไม่ควร เช่น การกระโดดโลดเต้น ตะโกนชอบใจเสียงดังจนหยุดไม่อยู่ การพูดคุยให้เด็กรู้ว่ากำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และจะทำอย่างไรกับอารมณ์เหล่านั้นก็นำมาใช้ได้เช่นกัน เช่น “หนูดีใจมากเลยใช่ไหม ที่ได้ของเล่น แต่ตอนนี้ยังเล่นไม่ได้นะ รออีกหน่อย แล้วไปเล่นกันที่บ้านดีกว่า”

 

สิ่งที่ควรระวังขณะที่ผู้ใหญ่สนับสนุนทางอารมณ์ คือไม่ควรตีตราว่าอารมณ์ไหนคือสิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่น ไม่ควรพูดว่า “หนูกำลังอิจฉาน้องหรือ ไม่ดีเลยนะ” “หนูอย่าโกรธสิ คนอื่นเขาไม่ชอบ” เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ตอบสนองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะมีอารมณ์ทางลบ การตีตราว่าอารมณ์ใดไม่ดี จะทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ยอมรับอารมณ์ของตนในขณะนั้น สิ่งสำคัญของการสนับสนุนทางอารมณ์คือการให้เด็กรับรู้อารมณ์อย่างเป็นกลาง และรู้ว่าอารมณ์นั้นมาจากไหน เช่น ถามเด็กว่า “หนูกำลังอิจฉาเพราะพ่อซื้อขนมให้น้องเยอะกว่าหรือเปล่า” “หนูกำลังโกรธเพราะเพื่อนทำหนูเจ็บหรือเปล่า” และคอยสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ทางลบนั้น เช่น สอนเด็กว่า “ถ้ารู้สึกอิจฉา ก็มาคุยกับพ่อหรือแม่ได้นะ” “ถ้าหนูโกรธเพื่อน ก็อย่าเพิ่งไปทำอะไรเพื่อน มานับเลขกันก่อนดีกว่า มาทำใจให้เย็นกัน”

 

อีกสิ่งที่ควรระวังคืออย่าคาดหวังว่าเราสอนเด็กแล้วเด็กจะเข้าใจและทำตามได้ทันทีในสองสามครั้ง เด็กบางคนเข้าใจอารมณ์ตัวเองแล้ว แต่ยังหยุดอารมณ์ตัวเองไม่ทัน รู้อารมณ์ของตัวเองแล้วแต่ใจไม่เย็นลงสักที ลองคิดเปรียบเทียบว่าการสนับสนุนทางอารมณ์เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้เวลา การให้เด็กเข้าใจอารมณ์และตอบสนองอย่างถูกต้องเอง ก็ต้องค่อย ๆ ฝึกกันไป อย่าเร่งรัดจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงแทน ค่อย ๆ สนับสนุนแล้วเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของเด็ก และวันหนึ่งการสนับสนุนของเราย่อมเห็นผลแน่นอน

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก https://eresmama.com/

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้