พูดได้มากกว่า 1 ภาษา ทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงไหม ?

17 Dec 2019

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์

 

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนสองภาษาเพิ่มขึ้นมากมาย การเรียนรู้ภาษาที่สอง (bilingualism) ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนต่างชาติ เปิดโอกาสสู่มิตรภาพ ความรัก ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเปิดโลกทัศน์ต่อความคิดและวัฒนธรรมหลากหลาย

 

แต่นอกจากประโยชน์เหล่านี้ การพูดได้ 2 ภาษาส่งผลดีต่อการทำงานของสมองด้วยหรือไม่?

 

ในหลายปีที่ผ่านมาสื่อในสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองเป็นเหมือนการลับสมองให้เฉียบคมมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยจากนักจิตวิทยาที่ศึกษากระบวนการรู้คิดของคน

 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพค่ะ

 

ฝนสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีน ส่วนใหญ่เธอพูดภาษาไทยกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่เธอใช้ภาษาจีนสื่อสารกับอาม่าอากงซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ ฝนต้องเรียนรู้คำศัพท์และหลักไวยากรณ์ที่แตกต่างของ 2 ภาษานี้ และต้องเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับคนที่คุยด้วย โดยยับยั้งไม่นำอีกภาษาหนึ่งมาใช้

 

ความสามารถในการสลับระหว่างสองภาษานี้จึงอาจส่งผลประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของสมองของฝน เรียกว่า Bilingual Advantage Hypothesis สมมุติฐานนี้กล่าวว่า คนที่เรียนรู้ภาษาที่สองเหมือนได้รับการฝึกสมองเพิ่มเติมที่จะช่วยส่งเสริมระบบความจำ การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ (prioritizing) และการสลับทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (task switching) คล้ายกับการเล่นเกมไขปริศนาในโทรศัพท์มือถือที่อ้างว่าช่วยพัฒนาความจำหรือทักษะอื่น ๆ

 

ทั้งหมดนี้เป็นความจริงหรือเป็นเพียงการล่อลวงทางการตลาด?

 

มีงานวิจัยส่วนหนึ่งที่สนับสนุนว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าว แต่บางงานวิจัยก็ไม่พบหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้ ดังนั้น เรามาดู 2 ประเด็นของ Bilingual Advantage กันค่ะ ว่าจริงหรือไม่จริงแค่ไหน

 

การพูดได้ 2 ภาษา ส่งเสริมระบบความคิดด้านอื่นด้วย นอกจากพัฒนาการด้านภาษา

ข้อนี้มีหลักฐานสนับสนุนค่ะ มีงานวิจัยหนึ่งวัดการทำงานของสมองของเด็กวัยรุ่นระหว่างรับการทดลองที่ต้องใช้ทักษะการยับยั้งและสลับเปลี่ยน พบว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาสามารถทำงานนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียว และมีงานวิจัยอีกงานที่พบว่า เด็กวัยประถมที่พูดได้สองภาษาสามารถทำคะแนนได้มากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดค้นคำตอบที่แปลกใหม่และหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ เช่น ให้เด็กลองนึกว่าสิ่งของชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

 

ผลทดลองชี้ว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาอาจมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเพราะพวกเขามีคลังคำศัพท์สองชุดที่แตกต่าง และต้องเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมในการสื่อสาร อย่างไรก็ดี ประโยชน์ในความคิดสร้างสรรค์นี้อาจจำกัดแค่ความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาเท่านั้น เพราะเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวสามารถทำคะแนนได้ดีเท่ากับเด็กที่พูดได้สองภาษาในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ด้านอื่นที่ไม่ใช้ภาษา เช่น การวาดรูปหรือต่อเติมรูปภาพ

 

การพูดได้ 2 ภาษา ช่วยต่อต้านโรคอัลไซเมอร์ในวัยชรา

ข้อนี้ก็มีงานวิจัยสนับสนุนเช่นกันค่ะ ผู้สูงวัยที่พูดได้สองภาษามีอาการสูญเสียความทรงจำช้ากว่าผู้ที่พูดได้ภาษาเดียวประมาณ 4-5 ปี น่าทึ่งมากค่ะ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาชนิดไหนที่มีผลแบบนี้ต่อโรคอัลไซเมอร์ การพูดได้ 2 ภาษาอาจปกป้องสมองต่อการเสื่อมเร็วด้วยการฝึกฝนที่สมองได้รับจากการถูกใช้ในการควบคุมสองภาษา (โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาและการดูแลสุขภาพของคนนั้น ๆ ด้วย) แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองไม่ได้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยสิ้นเชิงนะคะ เพียงแต่อาจช่วยเลื่อนอาการความจำเสื่อมให้เกิดขึ้นช้ากว่าผู้อื่นที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน

ถึงแม้จะมีงานวิจัยสนับสนุน Bilingual Advantage แต่เราไม่ควรด่วนสรุปว่าการพูดสองภาษาจะมีประโยชน์ดังกล่าวต่อสมองอย่างแน่ชัดค่ะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง เช่น สภาพแวดล้อมและวิธีการใช้ภาษาที่สอง เป็นต้น

 

ขอยกตัวอย่างสองกรณีให้เห็นภาพค่ะ

 

มิ้นท์เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสองภาษาในกรุงเทพฯ แต่เธอพูดภาษาไทยกับเพื่อนและครอบครัวที่บ้าน ในขณะที่ลินดาก็เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่เธอเรียนที่ฟิลิปปินส์ คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถพูดทั้งภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษได้คล่อง ในชีวิตประจำวันลินดาอาจใช้ทั้งสองภาษานี้สลับกันในประโยคเดียวกันด้วย (code switching) ลินดาจึงอาจได้รับประโยชน์ต่อสมองจากการพูดภาษาที่สองมากกว่า เพราะเธอได้ฝึกฝนการสลับเปลี่ยนระหว่างสองภาษามากกว่ามิ้นท์

 

สรุปแล้วการพูดได้ 2 ภาษาทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงหรือไม่?

 

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเรียนภาษาที่สองมีผลต่อพัฒนาการของสมองและการทำงานของกระบวนการรู้คิด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่พูดสองภาษาจะได้รับผลในแบบเดียวกันค่ะ การเรียนรู้สองภาษาส่งผลต่อบุคคลในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ผลสรุปเรื่อง Bilingual Advantage ยังไม่แน่ชัด แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองย่อมมีประโยชน์อยู่แล้วค่ะ ทำให้เราสามารถสื่อสารรู้เรื่องกับผู้คนต่างประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ได้เพื่อน ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้ใช้ในการงาน ยังไงก็คุ้มค่าค่ะที่จะลงทุนและใช้เวลาในการเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม

 

 

รายการอ้างอิง

 

Abutalebi, J., Della Rosa, P. A., Green, D. W., Hernandez, M., Scifo, P., Keim, R., … & Costa, A. (2011). Bilingualism tunes the anterior cingulate cortex for conflict monitoring. Cerebral Cortex, 22(9), 2076-2086.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Freedman, M. (2007). Bilingualism as a protection against the onset of symptoms of dementia. Neuropsychologia, 45(2), 459-464.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Luk, G. (2012). Bilingualism: consequences for mind and brain. Trends in Cognitive Sciences, 16(4), 240-250.

 

Linck, J. A., Kroll, J. F., & Sunderman, G. (2009). Losing access to the native language while immersed in a second language: Evidence for the role of inhibition in second-language learning. Psychological Science, 20(12), 1507-1515.

 

Okoh, N. (1980). Bilingualism and divergent thinking among Nigerian and Welsh school children. The Journal of Social Psychology, 110(2), 163-170.

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์สุภสิรี จันทวรินทร์

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้