ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่ม

03 May 2018

ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

 

ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่ม (Aggression between social groups)

 

 

เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า สังคมทางเอเชียหรือสังคมไทยมักเป็นสังคมที่มีความผูกพันกันเป็นกลุ่มมากกว่าสังคมทางตะวันตกที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่า อย่างไรก็ตามในทุกสังคมย่อมมีความเป็นกลุ่ม หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือมีความเป็นกลุ่มเขา-กลุ่มเรา ซึ่งความเป็นกลุ่มเขา-กลุ่มเรานี่เองทำให้ในบางครั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขึ้น

 

สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอาจเกิดจากการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรหรือสิ่งต่าง ๆ เช่น วัตถุ อำนาจ เมื่อทรัพยากรมีจำกัด แต่ละกลุ่มจึงต้องพยายามแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรนั้น ๆ และอาจทำให้เกิดความคับข้องใจ ความมุ่งร้ายหรือความไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มอื่น จนทำให้เกิดความก้าวร้าวตามมาในที่สุด

 

นอกจากนี้ เมื่อบุคคลมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory; Tajfel, 1981) และบุคคลมักจะมองกลุ่มของตนดีกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลนั้นรู้สึกดี มีการนับถือตนเองที่สูงขึ้น ทำให้บุคคลมองกลุ่มตนเองแตกต่างจากกลุ่มอื่น โดยบุคคลจะมองสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอื่นมีความเหมือนกัน ไม่ได้มองว่าบุคคลแต่ละคนมีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกัน การมองที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงนี้เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตามมา เราจึงพบว่า บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมักได้รับการสรรเสริญเยินยอจากคนในกลุ่ม หากแต่บุคคลนอกกลุ่มทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจได้รับการติเตียนไม่หยุด

 

หากกลุ่มเรามีชะตากรรมร่วมกันมาก่อน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความผูกพันหรือความเหนียวแน่นในกลุ่มและเมื่อมีความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการแก้แค้น แม้กับคนที่ไม่ได้มาทำร้ายตน แต่มาทำร้ายคนในกลุ่มตน และทำให้เกิดการแก้แค้นคนนอกกลุ่ม แม้ว่าคนคนนั้นไม่ได้เป็นคนที่มาทำร้ายแต่เพียงเพราะอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่มาทำร้าย

 

 

นักวิชาการ (Sherif, 1958) ได้ทำการทดลองให้เห็นจริงว่า ถ้าสองกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันและต้องทำให้สำเร็จเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองกลุ่ม ก็จะทำให้สองกลุ่มเกิดความร่วมมือกัน เป็นการสนับสนุนเจตคติทางบวกระหว่างกลุ่ม เช่น สองกลุ่มในตอนแรกมีการแบ่งข้างกันแล้วให้แข่งขันกัน เช่น แข่งเกมที่มีแพ้และชนะ ก็อาจทำให้รู้สึกเป็นพรรคเป็นพวก หลังจากนั้นให้สองกลุ่มช่วยกันหาวิธีนำเสบียงขึ้นไปยังที่พักแรมที่ค่ายพักแรมบนภูเขาเนื่องจากรถขนเสบียงเสีย เมื่อสองกลุ่มได้ร่วมแรงร่วมใจหาวิธีขนเสบียงไปบนค่ายพักแรมบนภูเขาได้สำเร็จก็จะรู้สึกดีต่อกันและรักกันมากขึ้น

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มสามารถเกิดขึ้นได้ หากแต่ถ้าเรารู้เท่าทันกลไกของความขัดแย้ง เช่น การเตือนตนเองให้มีความรัก ความเมตตาต่อบุคคลอื่นตามหลักศาสนาของตน การติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน การไม่ตัดขาดจากกันและการมีเป้าหมายร่วมกัน จะทำให้สามารถลดความขัดแย้งและความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการติดต่อสื่อสารกันในทางบวก หากเป็นการติดต่อสื่อสารกันแล้วทำให้เกิดการบาดหมางกันมากขึ้น เช่นหากต้องติดต่อสื่อสารกับคนที่ยากหรือก้าวร้าวมาก นักจิตวิทยาแนะนำว่า ติดต่อให้น้อยที่สุดหรือไม่ติดต่อเลยน่าจะดีกว่า

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Sherif, M. (1958). Superordinate goals in the reduction of intergroup conflict. American Journal of Sociology, 63, 349-356.

 

Tajfel, H. (1981). Human groups and social categories: Studies in Social Psychology. Cambridge: Cambridge University Press.

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วาณิชย์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้