News & Events

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์

 

วันที่ 17 มีนาคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ชั้น 14 อาคารสรรพศาสตร์วิจัย จุฬาฯ

 

 

 

Writing Clinic with Dr. Nicolas Geeraert

 

Exclusively for CU Psychology Postdocs, PhD Students, and Faculty Members!

 

Join us at the Writing Clinic with Dr. Nicolas Geeraert, a scholar and editor, who will help you refine your research papers and elevate your writing.

 

This session is tailored for faculty members, postdocs and PhD students from the Faculty of Psychology, Chulalongkorn University who are aiming for research publication success.

 

Be sure to check out the poster below for session dates and registration details! https://forms.gle/jHtFo8Pj8StJZs2j9

 

 

พิธีเปิด-ปิดกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2568

 

วันที่ 14 มี.ค. 2568 คณะจิตวิทยาเข้าร่วมกิจกรรมเดินพาเหรด ในพิธีเปิด-ปิดกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2568 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ธีม Self-care is priority

 

 

 

 

ขอแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ ที่ได้รับมอบเข็มเชิดชูเกียรติ “คุมประพฤติสดุดี” ชั้นที่ 3 เหรียญทองแดง

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ [ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา] ที่ได้รับมอบเข็มเชิดชูเกียรติ “คุมประพฤติสดุดี” ชั้นที่ 3 เหรียญทองแดง พร้อมเกียรติบัตร จากอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะผู้ที่ทำคุณประโยชน์ สนับสนุนภารกิจงานคุมประพฤติ ในวันที่ 14 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมคุมประพฤติครบรอบ 33 ปี

 

 

 

 

 

การร่วมรับฟังผลการวิจัยและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำไปสู่การสร้างและจัดทำข้อเสนอทางนโยบายในการสร้างและส่งเสริมทักษะทางสังคมและอารมณ์ สุขภาวะทางปัญญา การลดปัญหาทางด้านจิตใจ ในวัยรุ่น

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา และรองศาสตราจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและครอบครัว และปัจจัยเพาะบ่มทางจิตวิทยาที่มีต่อทักษะทางสังคมและอารมณ์ สุขภาวะทางปัญญา และปัญหาทางด้านจิตใจ ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้กล่าวเปิดงานและเข้าร่วมฟังผลการวิจัยร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปสู่การสร้างและส่งเสริมทักษะทางสังคมและอารมณ์สุขภาวะทางปัญญา ตลอดจนการลดปัญหาด้านจิตใจในวัยรุ่น ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความยินดีกับ นางสาวทิพย์วรินทร ญาณกรธนาพันธุ์ ในการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งหญิง เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ดิวิชั่น 3 กลุ่มเอ

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ นางสาวทิพย์วรินทร ญาณกรธนาพันธุ์ (กัปตันแพรว JIPP14) นิสิตหลักสูตร JIPP ชั้นปีที่ 2 คณะจิตวิทยา จุฬาฯ และทีมฮอกกี้น้ำแข็งหญิงไทยที่คว้ารองแชมป์ในศึก ฮอกกี้น้ำแข็งหญิง เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ดิวิชั่น 3 กลุ่มเอ (2025 IIHF Ice Hockey Women’s World Championship Division III, Group A) ที่เมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
ภาพจาก Ice Hockey Family

Radical Hope: ความหวังที่นำทาง เมื่อสังคมที่ปรารถนายังมาไม่ถึง

 

“เรากำลังใช้ชีวิตในสังคมแบบที่เราปรารถนาอยู่หรือเปล่า?” หากยังไม่ใช่ “แล้วสังคมที่เราใฝ่หานั้นเป็นเช่นไร?”

 

เราต้องการสังคมที่ทรัพยากรสาธารณะถูกใช้เพื่อประโยชน์ของทุกคน สังคมที่ระบบเศรษฐกิจเปิดโอกาสและกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม สังคมที่ผู้นำยึดมั่นในหลักการและทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความเสมอภาค การเคารพในสิทธิเสรีภาพ และการยอมรับความหลากหลายของมนุษย์ สังคมที่ความยุติธรรมทางกฎหมายเป็นจริงสำหรับทุกคน สังคมที่คุณภาพชีวิตที่ดี อากาศที่สะอาดและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน นี่คือสังคมที่เราจินตนาการถึงหรือไม่? หรือแท้จริงแล้ว สังคมในฝันของเรามีหน้าตาเป็นเช่นไร? หากได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเช่นนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร? และสังคมในจินตนาการของเราห่างไกลจากความเป็นจริงเพียงใด?

 

เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความผุพังของโครงสร้าง ค่านิยม และวิถีชีวิตในสังคม เราตระหนักว่าสังคมที่เราอาศัยอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตที่พึงปรารถนาได้อีกต่อไป การจินตนาการถึงโลกใหม่ที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าทำให้โลกเดิมไม่อาจเป็นที่ยอมรับในแบบเดิมอีกต่อไป ยิ่งโลกที่เราฝันแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงมากเท่าใด ความคับข้องใจก็ยิ่งเท่าทวี ความปรารถนาที่จะได้สัมผัสโลกใหม่ที่ใฝ่ฝันยิ่งเร่งเร้าในใจ ผลักดันนำไปสู่การร่ำร้อง การเรียกร้องและการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อความยุติธรรมทางสังคม (social justice)

 

ในกระบวนการแห่งการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงมักเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย อาทิ การต่อต้านจากกลุ่มที่มีอำนาจ การใช้ความรุนแรงและการปราบปราม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การเพิกเฉยของสังคม และการขาดทรัพยากรสนับสนุน สภาวะยื้อยุดในการเปลี่ยนผ่านมักยืดเยื้อยาวนาน เต็มไปด้วยการช่วงชิง พลัดกันเพลี่ยงพล้ำ และมักจบลงด้วยภาวะที่สิ่งต่าง ๆ ยังคงเดิม การพ่ายแพ้ที่ปรากฏให้เราเห็นครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่ชัยชนะยังเป็นเพียงภาพเลือนราง กัดกร่อนความหวังในการสร้างวิถีใหม่ ความอ่อนล้าและสิ้นหวังค่อย ๆ แทรกซึม จนความเชื่อในอนาคตที่เคยวาดหวังเริ่มสั่นคลอน

 

ความสิ้นหวังปิดกั้นจินตนาการไม่ให้มองเห็นความเป็นไปได้ของโลกที่ดีกว่า ขณะที่การยอมจำนนยิ่งตอกย้ำโครงสร้างเดิมให้แข็งแกร่งขึ้น และผลักไสโลกใหม่ให้เลือนราง ในสถานการณ์เช่นนี้ “เราจะยืนหยัดต่อไปได้อย่างไร?”

 

บนเส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยังมาไม่ถึง โดยที่เราไม่อาจรู้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรือแม้แต่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ “Radical Hope” หรือ “ความหวังอันแรงกล้า” ซึ่งมิใช่เป็นพียงความหวังที่ผลิบานท่ามกลางแสงสว่างและความเป็นไปได้ หากแต่เป็นความหวังที่ยังคงลุกโชนแม้ในความมืดมิดอันน่าสิ้นหวัง จึงไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่คือทางรอดที่เป็นพลังนำทางให้เราไม่ยอมจำนนต่อความสิ้นหวัง หล่อเลี้ยงให้เรายืนหยัด ลงมือทำ และสร้างหนทางไปสู่โลกที่เราปรารถนาต่อไป

 

ความหวังอันแรงกล้าเกิดจากความปรารถนาอย่างลึกซึ้งถึงโลกที่แตกต่างจากปัจจุบัน และเกิดจากการมองเห็นถึงศักยภาพของสังคมและชีวิตที่ดีกว่า แม้ในท่ามกลางข้อจำกัดในปัจจุบัน ความหวังอันแรงกล้าเป็นพลังขับเคลื่อนที่สนับสนุนให้เราสร้างความหมายใหม่เกี่ยวกับวิถีที่สังคมควรจะเป็น มันทำให้สังคมก้าวข้ามการแก้ปัญหาชั่วคราวและมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ความหวังอันแรงกล้าเป็นแรงผลักดันทำให้เรามีความกล้าหาญ พร้อมเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากและความท้าทายที่คาดไม่ถึง เพื่อมุ่งสู่สิ่งที่เชื่อว่ามีคุณค่าและดีงาม อีกทั้งยังเป็นพลังในการเยียวยาช่วยให้ทั้งตนเองและสังคมฟื้นตัวได้ แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด

 

ดังที่กล่าวมา การพยายามสร้างชีวิตและสังคมที่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยภายใน เช่น ความสิ้นหวัง การยืนหยัดเพื่ออนาคตที่ดีกว่าจึงต้องอาศัยความกล้าหาญทางศีลธรรม (moral courage) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการรักษาความเชื่อมั่นในความหวัง แม้จะไม่มีหลักประกันว่าผลลัพธ์จะเป็นไปตามที่คาดหวัง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความกล้าหาญทางศีลธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ความหวังอันแรงกล้ายังคงดำรงอยู่ได้ แม้ในสภาวะที่ไม่แน่นอน เมื่อความหวังอันแรงกล้ายังคงอยู่ การจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และการแสวงหาหนทางที่แตกต่างจากเดิมก็สามารถเกิดขึ้นได้ ในระดับบุคคล ความกล้าหาญทางศีลธรรมช่วยให้บุคคลไม่ยอมแพ้ต่อความสิ้นหวัง และยืนหยัดเพื่อการเปลี่ยนแปลงแม้ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ในระดับสังคม ความกล้าหาญทางศีลธรรมทำให้กลุ่มคนสามารถยึดมั่นในหลักการร่วมกัน และสร้างวิถีชีวิตใหม่ท่ามกลางแรงบีบคั้นจากภายนอก

 

ความหวังอันแรงกล้า ไม่ใช่ความหวังในอุดมคติที่ล่องลอยอยู่เหนือความจริง แต่เป็นความหวังที่ยึดโยงกับความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต ความทรงจำร่วมกันของสังคม (collective memory) เกี่ยวกับเรื่องราวแห่งการต่อสู้ดิ้นรนและชัยชนะของผู้คนในยุคที่ผ่านมา ทำให้สามารถเห็นความเป็นไปได้ในสิ่งที่เคยดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ เมื่อความหวังของเราเริ่มอ่อนแรง การย้อนกลับไปศึกษาทำความเข้าใจ และเรียนรู้จากเรื่องราวของผู้คนในประวัติศาสตร์ทั้งไกลและใกล้ ทั้งจากความล้มเหลวและชัยชนะ เป็นหนทางสำคัญในการธำรงและฟื้นคืนความหวังอันแรงกล้า การตระหนักว่าสังคมเคยเปลี่ยนแปลงได้มาก่อน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกครั้ง จุดประกายเราให้กล้าจินตนาการถึงอนาคตที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระตุ้นให้เรามองไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยึดมั่นในความเชื่อมั่นที่ว่าสังคมที่ดีกว่าเป็นไปได้ด้วยความอดทน ความมุ่งมั่น ความกล้าหาญ และพลังของการร่วมมือ

 

เมื่อใดที่เราเผชิญหน้ากับความหวาดหวั่นและความสิ้นหวัง คำถามที่เหมาะสมในช่วงเวลาเช่นนี้จึงไม่ใช่คำถามที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้หรือไม่” แต่เป็นคำถามที่ว่า “เราจะยืนหยัดเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร”

 

 

References

DeBlaere, C., Singh, A. A., Wilcox, M. M., Cokley, K. O., Delgado-Romero, E. A., Scalise, D. A., & Shawahin, L. (2019). Social justice in counseling psychology: Then, now, and looking forward. The Counseling Psychologist, 47(6), 938-962.

 

Lear, J. (2006). Radical hope: Ethics in the face of cultural devastation. Harvard University Press.

 

Mosley, D. V., Neville, H. A., Chavez‐Dueñas, N. Y., Adames, H. Y., Lewis, J. A., & French, B. H. (2020). Radical hope in revolting times: Proposing a culturally relevant psychological framework. Social and personality psychology compass, 14(1), e12512.

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล
อาจารย์แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม – Executive Function (EF)

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) เป็นกระบวนการทางปัญญาซึ่งทำงานส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเป้าหมายที่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ ถูกควบคุมโดยการทำงานของ Prefrontal Cortex ประกอบด้วย การยับยั้งพฤติกรรม ความจำเพื่อใช้งาน และการยืดหยุ่นทางความคิด

 

Executive Function (EF) ได้รับการนิยามขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดย Karl H. Pribram ศัลยแพทย์ประสาทชาวออสเตรีย ซึ่งกล่าวถึงการทำงานของ Prefrontal Cortex จากกรณีศึกษาที่มีผู้ประสบอุบัติเหตุทำให้สมองส่วนดังกล่าวได้รับการเสียหาย ส่งผลต่อการรับรู้ทางปัญญาที่เปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมที่ขาดการยับยั้ง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การตัดสินใจที่ผิดพลาด การไม่ยืดหยุ่นทางความคิด Prefrontal Cortex ทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้บริหารสั่งการควบคุมการจราจรทางอากาศ ทำงานควบคุม สั่งการ เชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใต้ชั้น Cortex หรือที่เรียกว่า Subcortical structures เช่น การทำงานร่วมกับ Basal ganglia และ Amygdala ซึ่งมีความสำคัญต่อรูปแบบการเรียนรู้และการตอบสนองอารมณ์และความเครียด

 

 

 

 

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) ของเด็กวัยอนุบาล


 

 

EF เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของ Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของสมองที่เจริญเติบโต ข้อมูลทางประสาทวิทยาแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของ Prefrontal Cortex จะเริ่มพัฒนาในช่วงทารกต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงช่วงผู้ใหญ่วัยเริ่ม

 

ความจำเพื่อใช้งาน เป็นองค์ประกอบที่ทารกแสดงให้เห็นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ตามต่อมาด้วยการยับยั้งพฤติกรรมอย่างง่ายที่จะแสดงให้เห็นในช่วง 6 เดือนหลัง จากนั้นทั้งสององค์ประกอบนี้จะเริ่มทำงานร่วมกันในช่วงอายุ 2 ปี และการยืดหยุ่นทางความคิดจะเป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่ถูกพัฒนา เนื่องจากมีความซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยการยับยั้งพฤติกรรมและความจำเพื่อใช้งานที่ถูกพัฒนามาก่อนหน้าเข้ามาทำงานร่วมกัน และจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 3-5 ปี หรือวัยอนุบาล ช่วงอนุบาลจึงถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของบุคคล

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) สัมพันธ์กับพัฒนาการทางปัญญา สังคม และอารมณ์ของเด็ก ส่งผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของตนเองและทักษะที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ เนื่องจากวัยอนุบาลเป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเล็ก ๆ ในบ้าน ไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น คือโรงเรียน การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมในเด็กวัยอนุบาลถือเป็นกระบวนการเตรียมตัวพร้อมให้เด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน และวางรากฐานการเรียนรู้เพื่อความประสบความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้น

 

แม้ว่าความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติ แต่หากเกิดความล่าช้าของพัฒนาการในส่วนนี้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นได้ด้วย เด็กที่มีความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมดี เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียนจะสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง และมีพฤติกรรมเชิงบวก เช่น สามารถนั่งอยู่ในที่นั่งตนเอง สามารถควบคุมความสนใจของตนเองต่อการเรียน สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ พฤติกรรมเหล่านี้จะพาพวกเขาไปสู่การได้รับผลตอบกลับต่อพฤติกรรมในทางบวก เช่น ได้รับการชื่นชมจากคุณครูและเพื่อน ๆ ส่งผลให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น และโรงเรียนจะกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขและความสำเร็จสำหรับพวกเขา ในทางกลับกัน เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนด้วยความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมระดับต่ำ มักจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่าชื่นชม เช่น เดินลุกออกจากที่นั่ง มีปัญหาด้านการจดจ่อใส่ใจในการเรียน มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นต่อเพื่อนหรือคุณครู ทำให้พวกเขาได้รับผลตอบกลับพฤติกรรมในทางลบ เช่น การถูกลงโทษ หรือมีผลการเรียนที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีการรับรู้ต่อตนเองและโรงเรียนในเชิงลบ และอาจนำพาพวกเขาไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ทักษะทางสังคมและการปรับตัว รวมถึงพฤติกรรมความก้าวร้าวรุนแรง และการใช้สารเสพติด เด็กที่มีความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมดี เมื่อเป็นวัยรุ่นมักจะไม่เกิดปัญหาการหยุดเรียนหรือหลุดออกจากระบบโรงเรียน ไม่ค่อยมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายจิตใจที่ดี

 

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม


 

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมตั้งแต่วัยอนุบาลน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับการเสริมสร้างในเด็กโต เนื่องจากความยืดหยุ่นจองระบบประสาทและสมอง รวมถึงการวางรูปแบบพฤติกรรมที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ง่าย ส่งผลให้เด็กในวัยอนุบาลสามารถเรียนรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าวัยที่สูงขึ้น

 

การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาลสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ

 

  1. การถ่ายทอดองค์ความรู้แบบใกล้ (Near transfer)

    เป็นการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมแยกองค์ประกอบ อันได้แก่ (1) การยับยั้งพฤติกรรม (2) ความจำเพื่อใช้งาน (3) การยืดหยุ่นทางความคิด แต่ละองค์ประกอบโดยตรง

  2. การถ่ายทอดองค์ความรู้แบบไกล (Far transfer)

    คือมีการใช้กิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมทางร่างกาย กิจกรรมการฝึกสติ เข้ามาเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมผ่านกิจกรรม

 

การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมในเด็กวัยอนุบาลสามารถทำได้ทั้งในลักษณะการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม และรายบุคคล การจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่มจะเน้นให้เด็กเกิดความสนุกและมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ อีกทั้งมีความคุ้มค่าด้านงบประมาณ เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในโรงเรียน ในขณะที่การจัดการเรียนรู้เป็นรายบุคคลจะเน้นแก้ไขปัญหาทางพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงจุดและส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีกว่า

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาล ในช่วงแรกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนโดยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ในการตั้งกฎเกณฑ์และออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กปฏิบัติตาม เมื่อเด็กเริ่มพร้อม ผู้ใหญ่จึงค่อย ๆ ลดการสนับสนุนเหล่านั้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้และตั้งกฎเกณฑ์ของตนเองในการจัดการพฤติกรรมได้มากขึ้น และลดการพึ่งพากฎเกณฑ์ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาลสามารถทำได้ผ่านกิจกรรมในหลายรูปแบบ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การแต่งและเล่านิทาน การเล่นเกมปริศนา การเล่นบัตรคำ ทำอาหาร รวมถึงกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย โดยการจัดกิจกรรมให้ประสบความสำเร็จมิควรมุ่งเน้นแต่การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่กิจกรรมนั้นควรช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคมไปด้วยพร้อมกัน

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

อริสรา แก้วม่วง. (2566). ผลของโปรแกรมการเต้น ซี แอนด์ ซี ต่อการเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาล [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2023.141

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “อคติและความหลากหลายในองค์กร”

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “อคติและความหลากหลายในองค์กร”

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “อคติและความหลากหลายในองค์กร” ในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ในรูปแบบออนไลน์ทางโปรแกรม Zoom โดย อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

 

 

ในยุคที่โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักเป็นองค์กรที่สามารถบริหารจัดการความหลากหลายของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความหลากหลาย (Diversity) ในองค์กรครอบคลุมหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย เชื้อชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ ความสามารถ ทัศนคติ หรือรูปแบบการทำงาน ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับตลาดที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม ความหลากหลายในองค์กรยังมาพร้อมกับความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะ “อคติ” (Bias) ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร อคติอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวสามารถส่งผลกระทบต่อกระบวนการ การตัดสินใจ การสรรหาบุคลากร การพิจารณาความสามารถของพนักงาน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในองค์กร อคติที่ไม่ได้รับการจัดการอาจนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม ความขัดแย้ง และบรรยากาศการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

 

เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง เคารพความแตกต่าง และส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอคติและแนวทางในการลดอคติที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การอบรมเรื่อง “อคติและความหลากหลายในองค์กร” จึงถูกจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรทุกระดับตระหนักถึงรูปแบบของอคติที่อาจพบเจอในที่ทำงาน เรียนรู้แนวทางในการบริหารจัดการอคติอย่างเหมาะสม รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของความหลากหลายที่มีต่อการพัฒนาองค์กร

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ อคติและความหลากหลายในองค์กร เป็นการอบรมที่เน้นให้ คนทำงานในระดับปฏิบัติการทั่วไป เพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับความหลากหลายและอคติที่เผชิญในชีวิตการทำงานประจำวัน เช่น การเข้าใจความต่าง อคติที่เกิดขึ้น แนวทางการพูดคุย และการสร้างความร่วมมือกับผู้อื่น

 

 

วิธีการฝึกอบรม
  • การบรรยาย ระยะเวลา 3 ชั่วโมง เวลา 9.00 – 12.00 น.
    วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568
  • ออนไลน์ ทางโปรแกรม Zoom

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน
  • บุคคลทั่วไป   1,000 บาท
  • นิสิต / ศิษย์เก่าของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ   800 บาท

 

ผู้เข้าร่วมสามารถรับชมการอบรมย้อนหลังได้ 15 วัน 

และท่านที่เข้ารับการอบรมจะได้รับเกียรติบัตรแบบ e-certificate ทางอีเมล

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน
  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วันทำการ
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางอีเมลที่ท่านระบุในฟอร์มการรับสมัคร
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 02-218-1307 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี แห่งการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ขำคม พรประสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปีแห่งการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารศิลปกรรมศาสตร์ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ