Self-esteem – การเห็นคุณค่าในตนเอง

04 Mar 2016

คำศัพท์จิตวิทยา

การเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง การรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าจากการมองตนโดยรวม
การเห็นคุณค่าในตนเองมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้อัตมโนทัศน์

 

กล่าวคือ หากคนเรารับรู้ว่าตนเองมีจุดเด่นและเป็นการรับรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็จะส่งผลให้เขารับรู้ตนเองเป็นไปในทางด้านบวก มีความรู้สึกที่ดีกับตนเอง มีความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งมีการแสดงออกอย่างเหมาะสม

 

 

 

Roger ได้กล่าวถึงความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองไว้ว่า การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตนเองระหว่างตัวตนตามความเป็นจริงและตัวตนตามอุดมคติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลที่มีการยอมรับในตนเองได้ และสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับความเป็นจริง จะเป็นบุคคลที่มีการมองเห็นคุณค่าในตนเอง

 

ตามแนวคิดนี้ บุคคลที่มีคุณค่าในตนเองสูง (high self-esteem) จะมีความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และสามารถยอมรับสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองรู้สึกผิดหวังและท้อแท้ใจด้วยความหวังและความกล้าหาญ มีการประเมินตนเองในทางบวก มีความเชื่อมั่นในความสามารถจนมั่นใจได้ว่าตนเองสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จตามที่ต้องการ โดยภาพรวมแล้ว บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงจะมีความสุขและใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) จะมองเห็นตนเองหรือมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตนเองในอุดมคติที่ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับตนเองตามความเป็นจริง อาจเกิดความเครียด ความกดดัน มีสภาพจิตใจที่หดหู่ เพราะรับรู้ว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีความภาคภูมิใจ ไม่กล้าแสดงออก ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง

 

 

นอกจากนี้ ตามแนวคิดของ Maslow ได้แบ่งการเห็นคุณค่าในตนเองออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเกี่ยวข้องกับความรู้สึกรับรู้ในคุณค่าของตนเอง การยอมรับนับถือและการประเมินคุณค่าของตนเอง อันได้แก่ การมีจุดเด่น ผลสัมฤทธิ์ ความสามารถที่เหมาะสมต่อสภาพการณ์ต่างๆ การบรรลุเป้าหมายและความสามารถ ความเชื่อมั่น การพึ่งพาตนเอง และความมีอิสระเสรี ส่วนประเภทที่สองเกี่ยวข้องกับการตัดสินว่ามีคุณค่าจากผู้อื่น เช่น การมีชื่อเสียง การได้รับการยอมรับ ได้รับความสนใจ เกียรติยศ สถานภาพ การมีอำนาจเหนือผู้อื่น มีความสำคัญ ศักดิ์ศรี เป็นที่ชื่นชมของผู้อื่น เป็นต้น

 

สอดคล้องกับแนวคิดการเห็นคุณค่าในตนเองของ Coopersmith ที่ได้แบ่งองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองออกเป็นองค์ประกอบภายในและองค์ประกอบภายนอก โดยองค์ประกอบภายในตนเอง หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลแต่ละคนที่ส่งผลให้บุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเอง ตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพ ความสามารถ ค่านิยม ตลอดจนสุขภาวะทางจิต ส่วนองค์ประกอบภายนอกตนเอง หมายถึง สภาพแวดล้อมภายนอกที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ทั้งครอบครัว บุคคลในโรงเรียน ที่ทำงาน รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่

 

จากความหมายและองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเห็นคุณค่าในตนเองที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลนั้นสามารถพัฒนาโดยเริ่มจากตนเอง ต่อมาที่ครอบครัว กลุ่มเพื่อน และสังคมตามลำดับ ซึ่งจากสิ่งที่สังคมให้คุณค่านั้นก็สามารถมีอิทธิพลย้อนกลับไปที่การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลได้ และถ้าหากบุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำก็จะมีผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาขึ้นตามมาในขั้นต่อไปได้ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ และอาจก่อให้บุคคลเกิดความเครียดหรือความวิตกกังวลได้ รวมทั้งมีปัญหาในสังคมที่ตนเองอยู่ด้วย ดังนั้น ผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำจึงควรสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้มากขึ้น

 

 

โดย Greenberg & Gold (1994) ได้เสนอแนะวิธีการต่างๆ ไว้ดังนี้

 

  1. เรียนรู้ที่จะยอมรับและมั่นใจในความสามารถของตนเองที่มี พยายามชื่นชมตนเองและรู้จักเห็นคุณค่าในตนเอง
  2. บอกกับตนเองในสิ่งที่ดีๆ ในทางสร้างสรรค์ เช่น ฉันมีความสามารถ ฉันทำงานชิ้นนี้ได้อย่างดีเยี่ยม
  3. หาสิ่งที่ตนเองทำได้ดี อาจเป็นงานอดิเรกต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีและมีความสุข ซึ่งช่วยให้บุคคลมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นและกล้าที่จะทดลองกระทำสิ่งใหม่ๆ ต่อไป
  4. ใช้คำแทนตัวเองว่า “ฉัน” เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเอง ไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลอื่นและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับตน
  5. มีแรงสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนที่ไว้วางใจและพูดคุยได้อย่างเปิดเผย กลุ่มเพื่อนที่ดีมักจะไม่สร้างความกดดันหรือล้อเลียนให้บุคคลขาดความมั่นใจ แต่จะพยายามช่วยสร้างความรู้สึกดีที่และเพิ่มความมั่นใจให้แก่บุคคล
  6. ต้านทานแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน พยายามตัดสินใจด้วยตัวเอง ออกความคิดเห็นให้มากขึ้นถูกชักจูงให้น้อยลง
  7. กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความซื่อตรง กระทำในสิ่งที่สอดคล้องกับค่านิยมและความปรารถนาของตนเอง
  8.  มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น เพราะการเห็นคุณค่าของบุคคลอื่นเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ชื่นชมและเห็นคุณค่าในตนเอง

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบวิตกกังวล การมองโลกในแง่ดี และการเห็นคุณค่าของตนเองของนิสิตมหาวิทยาลัย” โดย ทรงเกียรติ ล้นหลาม (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35446

 

“ประสบการณ์การเห็นคุณค่าในตนเองของนักศึกษาที่มีภาพถ่ายที่น่าดึงดูดใจทางเพศผ่านเฟซบุ๊ค” โดย พันธิตรา คูวัฒนสุชาติ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44514

 

ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/photo/nature-sky-sunset-man-6550/

แชร์คอนเท็นต์นี้