News & Events

ผลดีรอบด้านของการสนับสนุนอารมณ์ให้กับเด็กๆ

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ คือการช่วยสนับสนุนให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง รวมถึงการบอกวิธีในการรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ในบทความ “การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ”

 

ไม่เพียงแค่ในสถานการณ์ที่คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูอยากให้เด็กๆ มีอารมณ์ที่รุนแรงน้อยลงเพื่อที่จะฟังเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรตอบสนองต่ออารมณ์ในแบบนั้นเท่านั้น การสนับสนุนทางอารมณ์ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากหากเราหมั่นสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ

 

ข้อดีประการแรกคือ เด็กจะเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้ไวกว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ แม้ว่าอารมณ์มีหลากหลายแบบอย่าง โกรธ ดีใจ เสียใจ อิจฉา พึงพอใจ และอื่นๆ อีกมาก ทำให้บางครั้งเด็กอาจจะไม่รู้จักว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดการที่เด็กรู้ตัวว่ากำลังอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียก็มีประโยชน์กับตัวเด็กแล้วในการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ส่วนการแยกแยะนั้น อาจเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสนับสนุนด้วยการตั้งคำถาม หรือแม้แต่การสอนให้รู้ว่าอารมณ์นั้นคืออะไรด้วยการบอก และเมื่อเด็กเข้าใจว่าอารมณ์ของตัวเองกำลังเป็นอย่างไรได้ไว แทนที่จะเด็กจะมีพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์โดยอัตโนมัติในแบบที่ไม่สมควร เช่น โมโห ก็ร้องไห้ โวยวาย ตีคนที่ตัวเองไม่พอใจ การที่มีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนด้วยการบอกว่าหากมีอารมณ์แบบไหน ต้องทำอย่างไร เมื่อเด็กรู้แล้วว่าตนเองมีอารมณ์อะไรอยู่ เด็กจะได้นำทางเลือก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมกว่ามาตอบสนองแทน เช่น โกรธก็บอกกับอีกฝ่ายดีๆ ว่ากำลังโกรธ ไม่พอใจ หรือนับเลขเพื่อให้อารมณ์ของตนเองเย็นลง

 

การที่เด็กตอบสนองอย่างเหมาะสมทำให้เกิดข้อดีต่อมาคือ เด็กจะสร้างความสัมพันธ์ในสังคมได้ดีกว่า เข้าหาเพื่อนได้ง่ายกว่า เพราะการตอบสนองที่เหมาะสมทำให้บุคคลรอบตัวมีแนวโน้มที่จะพอใจกว่า และชื่นชอบเด็กคนนั้นมากกว่า เช่น ถ้าเด็กเห็นของเล่นของเพื่อน แล้วอิจฉา อยากเข้าไปเล่นมาก ๆ อยากได้เป็นของตัวเอง หากเด็กไม่รู้เท่าทันและมีพฤติกรรมตอบสนองไปทันที เช่น เข้าไปแย่งของเล่นของเด็กคนอื่นทันที หรือร้องไห้ว่าต้องการบ้าง เด็กๆ และบุคคลรอบตัวก็อาจจะรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าเด็กรู้เท่าทันว่าตนเองกำลังมีอารมณ์อย่างไร รู้ว่าตนเองอิจฉา อยากได้ของเล่น และถ้าอยากได้อาจจะไปขอเพื่อนเล่นดี ๆ ถ้าเพื่อนไม่ให้ เด็กอาจจะโกรธ แต่เมื่อเด็กเท่าทัน เด็กก็จะไม่ตอบสนองด้วยการงอแงหรือก้าวร้าว แต่อาจจะเป็นการไปบอกคุณครูหรือพ่อแม่ว่าอยากมีของเล่นแบบนั้นบ้าง หรือไปชวนเพื่อนคนอื่นเล่นอย่างอื่นแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสังคมนั้นราบรื่นกว่า

 

ข้อดีประการถัดไป การที่เด็กที่เข้าใจอารมณ์ของตนเองนั้น จะเป็นพื้นฐานในการเข้าใจผู้อื่นที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงการมีความเห็นอกเห็นใจ และมีความร่วมรู้สึกกับคนนั้น ๆ เพราะตนเองก็เคยประสบอารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว และรู้ว่าเป็นอย่างไร สุขหรือทุกข์ใจอย่างไร เช่น เด็กเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ เด็กก็จะเห็นอกเห็นใจ หรือร่วมรู้สึกว่าเด็กคนนั้นคงกำลังเสียใจ และรู้สึกไม่ดี เพราะตอนตัวเองร้องไห้ ตนเองก็รู้สึกแบบนั้น

 

เมื่อเด็กเข้าใจอารมณ์ของบุคคลอื่น เด็กอาจจะตอบสนองกับบุคคลที่อยู่ในอารมณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า เช่น ถ้ารู้ว่าเพื่อนโกรธ พอเด็กเข้าใจอารมณ์เพื่อน เด็กอาจจะหยุดหยอกแกล้ง หรืออาจจะพยายามเอาใจ และนี่ยิ่งเป็นการทำให้เด็กสานความสัมพันธ์ รวมถึงรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ รอบตัวได้ดีกว่า

 

ข้อดีประการสุดท้ายคือข้อดีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการสอนลูก ๆ และเด็ก ๆ ให้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ตัวคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงที่เป็นคนสอนเองก็อาจจะได้ฉุกคิดเช่นกัน เวลาที่ตนเองมีอารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรง เช่น ตอนโกรธมาก ๆ ให้รู้และเท่าทันตนเองว่าไม่ควรจะไปพูดกระแทกเสียงใส่คนอื่นๆ ในบ้าน เพราะว่าเคยสอนลูกแบบนั้น ก็ควรจะทำตามให้สอดคล้องเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ

 

นอกจากนี้ในขั้นตอนของการสนับสนุนทางอารมณ์ เด็กจะตระหนักว่าพ่อแม่เข้าใจว่าตนเองมีอารมณ์อย่างไร ทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับตนไม่ว่าตนจะมีอารมณ์อย่างไรก็แล้วแต่ ในอนาคตเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เด็กที่ได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์มักจะเข้าหาพ่อแม่ เพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ของชีวิต แตกต่างจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มักจะเก็บเรื่องอารมณ์จากพ่อแม่ และไปปรึกษาและระบายกับเพื่อน ๆ เท่านั้น ข้อดีนี้ทำให้ครอบครัวรู้ว่าบุตรหลานของตนกำลังเครียด หรือเศร้ากับเรื่องใดหรือไม่ และจะได้ตอบสนองต่อวัยที่หุนหันพลันแล่นได้อย่างเหมาะสม หรือช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหากไปเจอกับปัญหาใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การสนับสนุนทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่น่านำไปใช้ เพื่อเด็กๆ และผู้เลี้ยงดู เพราะมีข้อดีในระยะยาวกับทั้งตัวเด็กและคนอื่น ๆ ในครอบครัว

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ทำไมพ่อแม่ (บางคน) จึงทำทารุณกรรมต่อลูก

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกของตน แต่พ่อแม่บางคนมิได้เป็นเช่นนั้น เขาสามารถทำทารุณกรรมต่อลูกของตนเองทั้งทางร่างกายและทางเพศได้ ทารุณกรรมทางกาย หมายถึง การทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บทางกาย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น ตาปูด ปากแตก ส่วนทารุณกรรมทางเพศ หมายถึงการสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เช่น การจับต้องลูบคลำ การข่มขืนกระทำชำเรา

 

พฤติกรรมทารุณกรรมที่พ่อแม่แสดงต่อลูกทั้งทางร่างกายและทางเพศปรากฎบ่อยในหน้าหนังสือพิมพ์ในชีวิตประจำวันของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นการทารุณกรรมทางเพศ แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ?

 

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ทำทารุณกรรมต่อลูก


 

การศึกษาวิจัย (Browne & Finkelhor, 1986) พบว่า 90 % ของผู้กระทำทารุณกรรมมิใช่คนที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งมิได้มีบุคลิกภาพเป็นฆาตกร แต่ส่วนมากแล้วมักจะเป็นคนโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไร้ความสุข ซึมเศร้า โกรธง่าย มีความกดดันมาก หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าได้

 

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (Wolf, 1985) รายงานว่าพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกมักได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเช่นเดียวกันมาแต่ในอดีต เป็นเหตุให้มีความเชื่อว่า การกระทำของตนเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจในตนเอง รวมทั้งช่วยให้ตนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้

 

นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก ยังไม่รู้วิธีการที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี กล่าวคือ ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ลูกหยุดร้องไห้ และเมื่อไม่สามารถทำให้ลูกหยุดได้ก็โกรธจนลืมตัวทำพฤติกรรมที่เลวร้ายลงไป เช่น เอาเตารีดนาบหลังลูก ตบตีลูกอย่างทารุณ ขาดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการปกติของเด็ก เช่น พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกไม่ทำเลอะเทอะ หรือขับถ่ายเป็นที่เป็นทางก่อนถึงวัยอันควร อีกทั้งยังขาดความสามารถในการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของลูก ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการผิดพลาด เช่นพยายามป้อนนมลูกเมื่อลูกร้องด้วยความเจ็บปวด เมื่อลูกบ้วนอาหารทิ้งก็แสดงอารมณ์รุนแรงด้วยความโกรธ

 

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกแล้ว จะพบว่า พ่อแม่ที่มีลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีปัญหาในชีวิตสมรส และทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดลงไม้ลงมือกันมากกว่าครอบครัวอื่นๆ มีลูกมาก ภายในบ้านไร้ระเบียบวินัย นอกจากนั้น พ่อแม่ที่ทารุณลูกยังมีแนวโน้มจะไม่สัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ครอบครัวของตนหรือแม้แต่กับเพื่อน ๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดความเครียดขึ้นในครอบครัว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาผู้ใด เป็นเหตุให้เรื่องที่น่าสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้น หากบุคคลมีผู้ที่จะช่วยค้ำจุนทางจิตใจ ช่วยชี้แนวทางที่ถูกต้องในขณะที่เผชิญความเครียดแล้ว ผลจะไม่ออกมาอย่างที่เป็นอยู่แน่นอน

 

พ่อแม่อาจมิใช่เป็นเพียงองค์ประกอบเดียวที่นำไปสู่การทำทารุณกรรม ลักษณะของเด็กก็อาจจะเป็นตัวยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวโดยมิได้ตั้งใจได้ ผลการศึกษาวิจัย (J.R Reid และคณะ, 1982) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่เรียกร้องเวลาและความเอาใจใส่จากพ่อแม่สูงกว่าเด็กอื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเป็นเด็กที่อยู่เฉยไม่ได้ หรือเป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำ หรือมีความพิการทางร่างกาย การศึกษาอีกชั้นหนึ่ง (Tsai and Wagner, 1979) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่ร้องไห้มาก และมีพฤติกรรมในทางลบมากกว่าเด็กทั่วไป

 

สังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนส่งเสริมต่อการมีพฤติกรรมดังกล่าว นอกเหนือไปจากองค์ประกอบของพ่อแม่และตัวเด็กเอง การตกงาน การต้องทนทำงานที่ตนไม่พึงพอใจ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวที่หนักหนาสาหัสมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการทำทารุณกรรมต่อภรรยาและลูก วัฒนธรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน สังคมใดที่มีวัฒนธรรมที่เน้นความรุนแรงจะวางเจตคติเกี่ยวกับการลงโทษที่รุนแรง อันอาจนำไปสู่การแสดงความรุนแรงต่อสตรีและเด็กที่ไร้หนทางสู้ได้ง่าย ซึ่งตรงกันข้ามกับสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เน้นความรุนแรง เด็กที่กระทำผิดจะไม่ถูกตี แต่จะเน้นการแก้ไขพฤติกรรมด้วยวิธีการอื่นที่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้เช่นเดียวกัน เช่น การยิ้มและชมเชยเด็กเมื่อทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เด็กอยู่ตามลำพังเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ใน วัฒนธรรมเช่นนี้ เด็กจะไม่ได้รับการปลูกฝังเจตคติของความรุนแรง และไม่มีความคิดว่าความรุนแรงสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้

 

นอกเหนือจากการทารุณทางกายแล้ว เด็กยังอาจถูกทำทารุณกรรมทางเพศได้อีก จากรายกรณีที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่น ๆ พบว่า ผู้ที่กระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก มักเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเด็กมีความไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ของบุคคลในครอบครัว ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงควรจะเน้นการสอนให้เด็กระมัดระวังมิให้บุคคลแปลกหน้าหรือแม้บุคคลที่เด็กรักและไว้ใจมาสัมผัสแตะต้อง ลูบคลำ จูบกอด ถอดเสื้อผ้าออก หรือชักชวนให้ไปอยู่ในที่ลับตาผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวอาจจะเป็นเหมือนดาบ 2 คมได้ ด้านหนึ่งสามารถป้องกันการถูกทำทารุณกรรมทางเพศจากคนใกล้ชิด แต่อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เด็กตกใจกลัว และขัดขวางต่อการมีความรักความผูกพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดได้ อีกวิธีการหนึ่งคือการที่พ่อแม่กระตุ้นให้เด็กเล่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำในแต่ละวัน โดยไม่มีการตำหนิติเตียนหรือลงโทษเด็กหากเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อปลูกฝังความคิดว่าเด็กสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังได้โดยไม่ถูกลงโทษ และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ทุกเรื่อง เป็นที่เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้พ่อแม่ได้รับรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูก และตัดไฟเสียแต่ต้นลมได้

 

 

พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก รู้สึกผิดในใจและเกลียดตนเองในสิ่งที่ทำลงไปหรือไม่?


 

Wolfe (1985) พบว่าพ่อแม่ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว รู้สึกเกลียดตนเองและละอายใจในสิ่งที่ทำลงไป แต่รู้สึกว่าตนเองขาดอำนาจที่จะหยุดยั้งมัน

 

 

ผลกระทบจากการที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศ


 

แน่นอนที่สุด การที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศก็ตาม ย่อมมีผลร้ายแรงที่ตามมา เด็กที่ถูกทารุณทางกายจะมีผลการเรียนต่ำ ชอบแยกตัวจากเพื่อนฝูง ก้าวร้าว ไม่ร่วมมือกับผู้อื่น ผลที่ตามมาก็คือ การเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมตามมาได้ ส่วนเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศมีแนวโน้มจะเกิดความหวาดกลัวต่อเพศตรงข้าม มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า มีปัญหาพฤติกรรม ผลการเรียนต่ำ หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ซึมเศร้า ไม่ไว้วางใจบุคคลอื่น รวมทั้งมีปัญหาการปรับตัวทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะติดตัวเด็กไปแม้เข้าสู่วัยรุ่นใหญ่แล้วก็ตาม

 

การศึกษาวิจัยของ Kaufman & Zigler (1987) พบว่าเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศจะมีลักษณะเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดความรุนแรงต่อลูกๆของตน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยอีกชั้นหนึ่ง (Zgeland & Sroufe,1981) ได้รายงานว่าหากเด็กที่ถุกทารุณกรรมทางเพศได้รับการค้ำจุนทางจิตใจจากผู้ใกล้ชิด ได้รับการกระตุ้นให้เด็กระบายความโกรธแค้น และเกลียดชังออกมาได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งสามารถพูดถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายของตนออกมาโดยไม่ต้องเก็บกดแล้ว โอกาสที่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีความรักและชีวิตครอบครัวที่มีความสุขก็มีทางจะเป็นไปได้มาก

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : https://www.pxfuel.com/en/free-photo-xjpbc

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ศิรางค์ ทับสายทอง

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

จิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการทำงานในองค์การอย่างไร

 

เมื่อเอ่ยชื่อวิชา “จิตวิทยา” คนส่วนมาก็คงนึกถึงนักจิตวิทยาที่นั่งฟังผู้ป่วยเล่าปัญหาของตัวเอง หรือไม่ก็นึกถึงคนที่ใช้จิตวิทยาหลอกล่อให้คนอื่น ๆ หลงเชื่อ

 

โดยทั่วไปแล้ว หลายคนยังเข้าใจจิตวิทยาผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สังคมมักแสดงถึงนักจิตวิทยาในฐานะผู้บำบัดหรือผู้รักษา จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะศาสตร์จิตวิทยานั้นกว้างขวางและครอบคลุมกว่าแค่การบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตเท่านั้น

 

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และครอบคลุมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เราจะพบว่าจิตวิทยานั้นแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกเรื่องในชีวิตของเรา และด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ การทำงาน โดยส่วนมากเรามักจะไม่รู้กันว่าจิตวิทยาสามารถประยุกต์เข้ากับชีวิตการทำงานได้ทั้งในการเข้าใจและพัฒนาตนเอง ทั้งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง หรือลูกค้า หรือแม้แต่องค์การเองก็สามารถนำจิตวิทยาไปใช้เพื่อบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ

 

คนที่จะกำลังหางานทำหรือพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว สามารถใช้จิตวิทยาเพื่อค้นหาความสามารถ ความถนัด บุคลิก ลักษณะต่าง ๆ ของตนเอง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกงานที่เหมาะสมกับตน หรือมองหาเส้นทางอาชีพที่ตนจะดำเนินต่อไปในอนาคต แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของจิตวิทยาคือ คนเราแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติแรงจูงใจ หรือความสามารถ ความแตกต่างเหล่านี้ก็ส่งผลให้คนแต่ละคนทำงานได้แตกต่างกัน คนบางคนอาจจะทำงานเป็นพนักงานขายที่เก่งกาจ สามารถสร้างเครือข่ายลูกค้าได้กว้างขวาง แต่คนคนนี้อาจจะไม่เก่งในด้านการบริหารงาน หรือไม่ได้เป็นผู้นำที่ดี จิตวิทยาจะช่วยให้บุคคลรู้ว่าตนเองมีลักษณะต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบชอบเปิดตัว ชอบเข้าสังคม เราก็จะสามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับบุคลิกของเราได้ หรือ ถ้าเรามีความสนใจในการออกแบบสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือมีความถนัดด้านความคิดสร้างสรรค์ เราก็จะเลือกอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานโฆษณา หรืองานออกแบบ จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า จิตวิทยาช่วยให้บุคคลรู้จักตนเองมากขึ้น เมื่อบุคคลรู้จักตนเองมากขึ้นก็จะสามารถเลือกและทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงได้ทำงานที่ตนเองสนใจหรือรัก นอกจากนี้จิตวิทยายังช่วยในการจัดการความเครียด การเข้าใจตนเอง การพัฒนาตนเองให้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

 

นอกจากจิตวิทยาจะช่วยให้พนักงานเข้าใจตนเองและพัฒนาตนเองได้แล้ว วิชาจิตวิทยายังช่วยให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการในการจูงใจลูกน้อง หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับเจ้านาย

 

สำหรับองค์การ ความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้องค์การสามารถบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถและลักษณะตรงตามที่ต้องการ ช่วยในการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานมุนานะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยให้พนักงานตระหนักในขีดความสามารถของตนและนำมาใช้หรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ด้วยเหตุนี้องค์การจึงควรให้ใส่ใจกับพนักงานของตนให้มาก สาขาวิชาที่ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงเกิดขึ้น จิตวิทยาเองก็มีส่วนช่วยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ทั้งตัวองค์ความรู้และทฤษฎีที่จะช่วยให้องค์การสามารถตัดสินใจเลือกบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ทั้งแบบวัดทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้องค์การรู้ว่าพนักงานแต่ละคนมีลักษณะในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ความรู้ดังกล่าวช่วยให้องค์การสามารถเลือกคนได้เหมาะสมกับงาน พัฒนาพนักงานให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานดีและลงโทษพนักงานที่ประพฤติเสียหายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

 

ระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี ช่วยให้พนักงานทำงานได้เต็มความสามารถ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการบรรลุเป้าหมายขององค์การ เมื่อองค์การบรรลุเป้าหมาย นั่นก็หมายถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นของพนักงาน ทั้งองค์การและพนักงานต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 

ประเด็นเรื่องมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ และในปัจจุบันหลาย ๆ องค์การก็เริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้ เมื่อจิตวิทยาได้ใช้อย่างจริงจังในองค์การทั้งโดยตัวพนักงานและตัวองค์การเอง เราก็คงจะได้เห็นบรรยากาศของการทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพ

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ

 

คุณพ่อ คุณแม่ หรือท่านที่ต้องเลี้ยงเด็ก คงต้องเคยเจอกับสถานการณ์ที่ลูกหรือเด็กร้องไห้ งอแง อาละวาด อย่างตอนที่เด็กอยากได้ของเล่นหรือขนม แล้วพ่อแม่ไม่ให้ หรืออยากไปเล่นกับเพื่อน แล้วเกิดเรื่องทะเลาะกัน พอเด็กร้องไห้งอแงขึ้นมา ทางผู้ใหญ่หากยังใจเย็นพอ ก็พยายามพูดดี ๆ กับเด็ก พยายามคุยกันอย่างมีเหตุผล เช่น “อย่าร้องไห้สิลูก หนูเพิ่งกินขนมไปเมื่อวานเอง กินทุกวันไม่ได้นะลูก” หรือ “เพื่อนเขาไม่ได้ตั้งใจนะ เจ็บนิดเดียวเอง เดี๋ยวก็หาย” แต่หลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่จะพบว่าการพยายามคุยกับเด็กด้วยเหตุผลนั้นกลับไม่ทำให้เด็กหยุดร้องไห้งอแง หรือลดความเข้มข้นของอารมณ์เด็กในตอนนั้นได้เลย เหมือนเด็กไม่ฟังอะไรทั้งนั้น

 

จริง ๆ แล้วในจังหวะที่เด็กกำลังมีอารมณ์เข้มข้น อย่างเช่น อารมณ์โกรธ และเสียใจนั้น ผู้ใหญ่จะพยายามพูดใช้เหตุผลเท่าไหร่ อย่างไรก็ยากที่จะได้ผล สาเหตุหนึ่งเพราะพัฒนาการของสมองที่ประมวลเหตุผลของเด็กนั้นยังไม่ดีเหมือนของผู้ใหญ่ แต่สมองในส่วนของอารมณ์นั้นจะพัฒนาเร็วกว่า อิทธิพลของอารมณ์จึงมีเหนือเหตุผลได้ง่าย ๆ แต่ถึงเด็กจะแสดงอารมณ์ได้อย่างเชี่ยวชาญ จากที่เราเห็นว่าเด็กหัวเราะหรือร้องไห้อย่างชัดเจน แต่เด็กยังไม่ใช่วัยที่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง แถมยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดีนัก ผลที่ตามมาคือเด็กปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจนไม่สามารถรับฟังเหตุผลเพื่อไปจัดการกับพฤติกรรมของตัวเอง

 

คำถามต่อมาคือแล้วเราควรจะจัดการอย่างไรเวลาเด็กมีอารมณ์เข้มข้นจนตัวเด็กควบคุมไม่ได้ มีวิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งที่น่าสนใจที่เรียกว่า “การสนับสนุนทางอารมณ์” (emotional support)

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ คือ การที่ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนว่าตนกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และทำให้เด็กเท่าทันอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และจะทำให้เด็กเริ่มรับฟังเหตุผลมากขึ้นตามลำดับ

 

ก่อนที่เด็กจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กต้องรู้ก่อนว่า ในตอนนั้นตัวเองมีอารมณ์อะไร อารมณ์นั้นมักจะสร้างการตอบสนองทางพฤติกรรมที่รวดเร็ว เช่น ร้องไห้ หัวเราะ และในหลายๆ ครั้ง เด็กยังไม่รู้ว่าตัวเองมีอารมณ์อย่างไรกันแน่ ดีใจ เสียใจ โกรธ พอใจ หรืออะไร ดังนั้นผู้ใหญ่จึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในส่วนนี้ได้ อาจจะเป็นการพูดคุยเพื่อถามเด็ก ให้เด็กตระหนักก่อนว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์อย่างไรอยู่ เช่น ถามว่า “หนูโมโหใช่ไหมที่เพื่อนแย่งขนมไป” หรือ “เสียใจใช่ไหมที่ไม่ได้ของเล่น” เมื่อเด็กได้ฟังคำถาม เด็กจะคิดหาคำตอบ และเป็นการทบทวนอารมณ์ตัวเองไปในตัวว่า “ฉันกำลังโมโหหรือเปล่า” “ฉันกำลังเสียใจหรือเปล่า” เพื่อที่จะตอบผู้ใหญ่ เช่น “เปล่า หนูไม่ได้โกรธ” “หนูไม่ได้เสียใจ” หรือในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ใหญ่เองก็ไม่รู้ว่าตอนนี้เด็กมีอารมณ์อย่างไร พอได้ถามตอบกัน ก็จะทำให้ทั้งตัวเด็กเข้าใจอารมณ์ตนเองในขณะนั้น และรับรู้ว่าผู้ใหญ่เข้าใจได้ตรงกันด้วย

 

เมื่อเด็กรู้ถึงอารมณ์ของตัวเอง และรู้ว่าผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่าตัวเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร อารมณ์ของเด็กจะค่อยๆ สงบลง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กเริ่มฟังสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกับเด็ก ๆ ได้มากขึ้น

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ ยังไม่ใช่แค่การทำให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตนเอง แต่ผู้ใหญ่ยังสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ให้เด็กๆ ได้ด้วย เมื่อผู้ใหญ่รู้แล้วว่าเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร ก็อาจจะสอนว่า “ถ้าหนูโกรธ เรามาลองนับ 1 ถึง 10 กัน” หรือ “หายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออก” ทำให้เด็กมีวิธีรับมือกับอารมณ์ที่เข้มข้นของตัวเอง และทำให้อารมณ์นั้นสงบได้ง่ายขึ้น

 

ไม่เพียงแค่อารมณ์ทางลบเท่านั้น แต่บางครั้งเด็กก็ตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่เข้มข้นอย่างไม่ควร เช่น การกระโดดโลดเต้น ตะโกนชอบใจเสียงดังจนหยุดไม่อยู่ การพูดคุยให้เด็กรู้ว่ากำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และจะทำอย่างไรกับอารมณ์เหล่านั้นก็นำมาใช้ได้เช่นกัน เช่น “หนูดีใจมากเลยใช่ไหม ที่ได้ของเล่น แต่ตอนนี้ยังเล่นไม่ได้นะ รออีกหน่อย แล้วไปเล่นกันที่บ้านดีกว่า”

 

สิ่งที่ควรระวังขณะที่ผู้ใหญ่สนับสนุนทางอารมณ์ คือไม่ควรตีตราว่าอารมณ์ไหนคือสิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่น ไม่ควรพูดว่า “หนูกำลังอิจฉาน้องหรือ ไม่ดีเลยนะ” “หนูอย่าโกรธสิ คนอื่นเขาไม่ชอบ” เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ตอบสนองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะมีอารมณ์ทางลบ การตีตราว่าอารมณ์ใดไม่ดี จะทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ยอมรับอารมณ์ของตนในขณะนั้น สิ่งสำคัญของการสนับสนุนทางอารมณ์คือการให้เด็กรับรู้อารมณ์อย่างเป็นกลาง และรู้ว่าอารมณ์นั้นมาจากไหน เช่น ถามเด็กว่า “หนูกำลังอิจฉาเพราะพ่อซื้อขนมให้น้องเยอะกว่าหรือเปล่า” “หนูกำลังโกรธเพราะเพื่อนทำหนูเจ็บหรือเปล่า” และคอยสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ทางลบนั้น เช่น สอนเด็กว่า “ถ้ารู้สึกอิจฉา ก็มาคุยกับพ่อหรือแม่ได้นะ” “ถ้าหนูโกรธเพื่อน ก็อย่าเพิ่งไปทำอะไรเพื่อน มานับเลขกันก่อนดีกว่า มาทำใจให้เย็นกัน”

 

อีกสิ่งที่ควรระวังคืออย่าคาดหวังว่าเราสอนเด็กแล้วเด็กจะเข้าใจและทำตามได้ทันทีในสองสามครั้ง เด็กบางคนเข้าใจอารมณ์ตัวเองแล้ว แต่ยังหยุดอารมณ์ตัวเองไม่ทัน รู้อารมณ์ของตัวเองแล้วแต่ใจไม่เย็นลงสักที ลองคิดเปรียบเทียบว่าการสนับสนุนทางอารมณ์เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้เวลา การให้เด็กเข้าใจอารมณ์และตอบสนองอย่างถูกต้องเอง ก็ต้องค่อย ๆ ฝึกกันไป อย่าเร่งรัดจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงแทน ค่อย ๆ สนับสนุนแล้วเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของเด็ก และวันหนึ่งการสนับสนุนของเราย่อมเห็นผลแน่นอน

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก https://eresmama.com/

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Counterproductive work behavior – พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า หมายถึง พฤติกรรมที่ปฏิบัติโดยบุคลากร โดยมีเจตนาทำความเสียหายและเป็นภัยต่อองค์การหรือสมาชิกในองค์การ ดังนั้น การกระทำโดยเหตุบังเอิญหรือการกระทำโดยบุคคลภายนอกองค์การไม่จัดเป็นพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

ปัจจุบันงานวิจัยส่วนใหญ่แบ่งพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ
  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ จำแนกเป็น 5 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การถอนตัว เช่น การขาดงาน มาสาย และพักนานกว่ากำหนด
  • การละเมิด เช่น เล่าถึงสิ่งแย่ ๆ เกี่ยวกับที่ทำงานให้คนนอกฟัง
  • การลักขโมย เช่น นำของใช้จากที่ทำงานกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ทำงานผิดเพื่อประชด และไม่ทำตามคำสั่ง
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ใช้วัสดุและอุปกรณ์ของบริษัทมากกว่าความจำเป็น

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน จำแนกเป็น 4 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การละเมิด เช่น ล้อเลียนเพื่อนร่วมงาน เมินเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน คุกคามเพื่อนร่วมงาน ปล่อยข่าวลือในเรื่องไม่ดีในที่ทำงานเมื่อรู้สึกไม่พอใจ
  • การลักขโมย เช่น หยิบของของเพื่อนร่วมงานติดมือกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ปฏิเสธที่จะช่วยบางคนในที่ทำงาน ปิดบังข้อมูลที่สำคัญไม่ให้บางคนในที่ทำงานรู้ และรบกวนเพื่อนร่วมงานขณะที่เขากำลังทำงานอยู่
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ทำลายทรัพย์สินของเพื่อนร่วมงาน

 

นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ายังสามารถจำแนกลักษณะของการกระทำออกเป็น 2 แบบ คือ

  • การกระทำแบบแสดงออก ได้แก่ ความก้าวร้าว การทำลาย การขู่เข็น การวางเพลิงและการลักขโมย
  • การกระทำแบบไม่แสดงออกโดยตรง ได้แก่ การจงใจว่าตนไม่สามารถทำตามคำสั่ง การจงใจทำงานผิด การมาทำงานสาย การใช้วัสดุอุปกรณ์ในที่ทำงานสิ้นเปลือง การเพิกเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน การทำร้ายผู้อื่นในที่ทำงานด้วยวาขา และการนำของใช้ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า


 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ความคับข้องใจที่เกิดจากการเผชิญสิ่งเร้าความเครียดในที่ทำงาน ได้แก่ “ความขัดแย้งกับหัวหน้า” “ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน” และ “ความจำกัดขององค์การ” ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าได้

 

(ความจำกัดขององค์การ หมายถึง สถานการณ์ในที่ทำงานที่ขัดขวางไม่ให้บุคคลใช้ความสามารถและแรงจูงใจที่จะทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัญหาที่ทำให้รู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำงาน ได้แก่ อุปกรณ์หรือวัสดุคุณภาพต่ำ กฎเกณฑ์หรือกระบวนการดำเนินงานขององค์การ งบประมาณการทำงานไม่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี มีเสียงดังรบกวนขณะทำงาน เป็นต้น)

 

นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจเรื่องอายุและประสบการณ์การทำงาน กล่าวคือ การวิจัยในต่างประเทศพบว่ายิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าลดลง เนื่องจากบุคคลมีความซื่อสัตย์ต่อองค์การและมีแนวโน้มที่จะไม่ทำพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อองค์การ แต่ในการวิจัยในประเทศไทยพบผลที่ตรงกันข้าม คือ ยิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้นยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ามากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมของแต่ละองค์การในประเทศไทย

 

ส่วนปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า ได้แก่ การมีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองสูง ความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และการมีอัตลักษณ์ทางจริยธรรมต่ำ (ความต้องการในการดำรงความสอดคล้องและคงเส้นคงวาระหว่างหลักจริยธรรมที่ตนยึดถือและการแสดงออกต่อสังคมภายนอก) เป็นต้น

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การทำนายพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การและเพื่อนร่วมงานจากบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ลักษณะนิสัยด้านความโกรธ และสิ่งเร้าความเครียดในการทำงาน” โดย ประพิมพา จรัลรัตนกุล (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44139

 

“อัตลักษณ์ทางจริยธรรม และคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า” โดย ชิตพล สุวรรณนที (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58262

 

ภาพประกอบจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Social_Loafing.jpg

Emotional eating – การรับประทานด้วยอารมณ์

 

 

 

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ หมายถึง การรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับปกติเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางลบ อาทิ ความเสียใจ ความกังวล ความโกรธ หรืออารมณ์ทางบวก

 

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการรับประทานอาหารในลักษณะนี้นั้นจะเป็นอารมณ์ทางลบ โดยการรับประทานอาหารมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่คนเดียว หลังเวลาเย็นหรือระหว่างรับประทานของว่าง และมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับประทานอาหารที่บ้านของตนเองมากกว่าการรับประทานอาหารข้างนอก

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย คือ อาการหิว หรือไม่ได้ทำไปสู่เจตนาเพิ่มพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่เป็นไปเพื่อเยียวยาอารมณ์ทางลบ หรือส่งเสริมอารมณ์ทางบวกของบุคคล

 

ซึ่งอาหารที่บุคคลเลือกรับประทานด้วยอารมณ์นั้นมักมีแคลอรี่สูง หรือคาร์บโบไฮเดรตสูง ซึ่งปริมาณแคลอรี่ที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลน้ำหนักขึ้นและอยู่ในภาวะอ้วน

 

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์


 

ลักษณะอารมณ์ (Mood)

การรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มเติมอารมณ์ทางบวกและลดอารมณ์ทางลบ และการรับประทานอาหารยังถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ลบ เช่น เบื่อหน่าย เศร้า โกรธ กลัว กังวล และเหงา

 

สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ (Situational Characteristic)

เหตุการณ์ในชีวิตเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ โดย Macht, Haupt และ Ellgring พบว่านักเรียนที่ใกล้จะสอบมีความเครียดมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารเพื่อจัดการความเครียด

 

การจำกัดอาหาร (Eating Restraint)

อาจส่งผลให้บุคคลที่ควบคุมน้ำหนักยังเป็นผู้หมกมุ่น เข้มงวดอยู่กับการรับประทานอาหารแบบเข้มงวด ทำให้เสี่ยงต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ เช่น เมื่อบุคคลต้องใช้ความคิดในระดับที่มาก มีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารในปริมาณมากขึ้นด้วย

 

ภาวะอ้วน (Obesity)

ทฤษฎี Psychosomatic (Bruch, 1973) เสนอว่าความเชื่อมโยงระหว่างภาวะอ้วนและการรับประทานอาหารเกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลผ่านการจัดการอารมณ์ทางลบ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก โดย Braet และ Van Strein (1997) ได้รายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่มีภาวะอ้วนมีความเกี่ยวโยงกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ

 

ชาติพันธุ์ (Ethnic Background)

การศึกษาของ Jingxiong และคณะ (2007) พบว่าผู้ปกครองในประเทศจีนใช้อาหารเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใย รวมถึงการฝึกลูกหลานของตนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Steinegger, Dorn, Goody, Khoury และ Daniels (2005) ที่พบว่าสตรีแอฟริกันอเมริกันมีความเสี่ยงที่จะรับประทานอาหารด้วยอารมณ์เป็นพิเศษในช่วงวัยรุ่นตอนต้น

 

อิทธิพลของครอบครัว (Familial Influence)

เด็กอาจเรียนรู้การรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ ผ่านการสังเกตและเลียนแบบของพ่อแม่ นอกจากนี้ Snoek และคณะ (2007) เสนอว่า ลูกในวัยรุ่นที่มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์น้อย มักมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าวัยรุ่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง

 

ลักษณะบุคลิกภาพ (Dispositional Characteristic)

การศึกษาของ Benjamin และ Wulfert (2002) พบว่าลักษณะร่วมของผู้ที่รับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการติดแอลกอฮอล์มีบุคลิกภาพหุนหันพลันแล่นและคล้อยตามสังคมได้ง่าย

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนักของนิสิตนักษึกษาหญิง” โดย ภาสุร จึงแย้มปิ่น (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55391

 

ภาพจาก https://www.fitfoundme.com/kick-emotional-eating-curb/

พูดได้มากกว่า 1 ภาษา ทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงไหม ?

 

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนสองภาษาเพิ่มขึ้นมากมาย การเรียนรู้ภาษาที่สอง (bilingualism) ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนต่างชาติ เปิดโอกาสสู่มิตรภาพ ความรัก ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเปิดโลกทัศน์ต่อความคิดและวัฒนธรรมหลากหลาย

 

แต่นอกจากประโยชน์เหล่านี้ การพูดได้ 2 ภาษาส่งผลดีต่อการทำงานของสมองด้วยหรือไม่?

 

ในหลายปีที่ผ่านมาสื่อในสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองเป็นเหมือนการลับสมองให้เฉียบคมมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยจากนักจิตวิทยาที่ศึกษากระบวนการรู้คิดของคน

 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพค่ะ

 

ฝนสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีน ส่วนใหญ่เธอพูดภาษาไทยกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่เธอใช้ภาษาจีนสื่อสารกับอาม่าอากงซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ ฝนต้องเรียนรู้คำศัพท์และหลักไวยากรณ์ที่แตกต่างของ 2 ภาษานี้ และต้องเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับคนที่คุยด้วย โดยยับยั้งไม่นำอีกภาษาหนึ่งมาใช้

 

ความสามารถในการสลับระหว่างสองภาษานี้จึงอาจส่งผลประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของสมองของฝน เรียกว่า Bilingual Advantage Hypothesis สมมุติฐานนี้กล่าวว่า คนที่เรียนรู้ภาษาที่สองเหมือนได้รับการฝึกสมองเพิ่มเติมที่จะช่วยส่งเสริมระบบความจำ การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ (prioritizing) และการสลับทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (task switching) คล้ายกับการเล่นเกมไขปริศนาในโทรศัพท์มือถือที่อ้างว่าช่วยพัฒนาความจำหรือทักษะอื่น ๆ

 

ทั้งหมดนี้เป็นความจริงหรือเป็นเพียงการล่อลวงทางการตลาด?

 

มีงานวิจัยส่วนหนึ่งที่สนับสนุนว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าว แต่บางงานวิจัยก็ไม่พบหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้ ดังนั้น เรามาดู 2 ประเด็นของ Bilingual Advantage กันค่ะ ว่าจริงหรือไม่จริงแค่ไหน

 

การพูดได้ 2 ภาษา ส่งเสริมระบบความคิดด้านอื่นด้วย นอกจากพัฒนาการด้านภาษา

ข้อนี้มีหลักฐานสนับสนุนค่ะ มีงานวิจัยหนึ่งวัดการทำงานของสมองของเด็กวัยรุ่นระหว่างรับการทดลองที่ต้องใช้ทักษะการยับยั้งและสลับเปลี่ยน พบว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาสามารถทำงานนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียว และมีงานวิจัยอีกงานที่พบว่า เด็กวัยประถมที่พูดได้สองภาษาสามารถทำคะแนนได้มากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดค้นคำตอบที่แปลกใหม่และหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ เช่น ให้เด็กลองนึกว่าสิ่งของชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

 

ผลทดลองชี้ว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาอาจมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเพราะพวกเขามีคลังคำศัพท์สองชุดที่แตกต่าง และต้องเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมในการสื่อสาร อย่างไรก็ดี ประโยชน์ในความคิดสร้างสรรค์นี้อาจจำกัดแค่ความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาเท่านั้น เพราะเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวสามารถทำคะแนนได้ดีเท่ากับเด็กที่พูดได้สองภาษาในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ด้านอื่นที่ไม่ใช้ภาษา เช่น การวาดรูปหรือต่อเติมรูปภาพ

 

การพูดได้ 2 ภาษา ช่วยต่อต้านโรคอัลไซเมอร์ในวัยชรา

ข้อนี้ก็มีงานวิจัยสนับสนุนเช่นกันค่ะ ผู้สูงวัยที่พูดได้สองภาษามีอาการสูญเสียความทรงจำช้ากว่าผู้ที่พูดได้ภาษาเดียวประมาณ 4-5 ปี น่าทึ่งมากค่ะ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาชนิดไหนที่มีผลแบบนี้ต่อโรคอัลไซเมอร์ การพูดได้ 2 ภาษาอาจปกป้องสมองต่อการเสื่อมเร็วด้วยการฝึกฝนที่สมองได้รับจากการถูกใช้ในการควบคุมสองภาษา (โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาและการดูแลสุขภาพของคนนั้น ๆ ด้วย) แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองไม่ได้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยสิ้นเชิงนะคะ เพียงแต่อาจช่วยเลื่อนอาการความจำเสื่อมให้เกิดขึ้นช้ากว่าผู้อื่นที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน

ถึงแม้จะมีงานวิจัยสนับสนุน Bilingual Advantage แต่เราไม่ควรด่วนสรุปว่าการพูดสองภาษาจะมีประโยชน์ดังกล่าวต่อสมองอย่างแน่ชัดค่ะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง เช่น สภาพแวดล้อมและวิธีการใช้ภาษาที่สอง เป็นต้น

 

ขอยกตัวอย่างสองกรณีให้เห็นภาพค่ะ

 

มิ้นท์เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสองภาษาในกรุงเทพฯ แต่เธอพูดภาษาไทยกับเพื่อนและครอบครัวที่บ้าน ในขณะที่ลินดาก็เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่เธอเรียนที่ฟิลิปปินส์ คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถพูดทั้งภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษได้คล่อง ในชีวิตประจำวันลินดาอาจใช้ทั้งสองภาษานี้สลับกันในประโยคเดียวกันด้วย (code switching) ลินดาจึงอาจได้รับประโยชน์ต่อสมองจากการพูดภาษาที่สองมากกว่า เพราะเธอได้ฝึกฝนการสลับเปลี่ยนระหว่างสองภาษามากกว่ามิ้นท์

 

สรุปแล้วการพูดได้ 2 ภาษาทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงหรือไม่?

 

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเรียนภาษาที่สองมีผลต่อพัฒนาการของสมองและการทำงานของกระบวนการรู้คิด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่พูดสองภาษาจะได้รับผลในแบบเดียวกันค่ะ การเรียนรู้สองภาษาส่งผลต่อบุคคลในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ผลสรุปเรื่อง Bilingual Advantage ยังไม่แน่ชัด แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองย่อมมีประโยชน์อยู่แล้วค่ะ ทำให้เราสามารถสื่อสารรู้เรื่องกับผู้คนต่างประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ได้เพื่อน ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้ใช้ในการงาน ยังไงก็คุ้มค่าค่ะที่จะลงทุนและใช้เวลาในการเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม

 

 

รายการอ้างอิง

 

Abutalebi, J., Della Rosa, P. A., Green, D. W., Hernandez, M., Scifo, P., Keim, R., … & Costa, A. (2011). Bilingualism tunes the anterior cingulate cortex for conflict monitoring. Cerebral Cortex, 22(9), 2076-2086.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Freedman, M. (2007). Bilingualism as a protection against the onset of symptoms of dementia. Neuropsychologia, 45(2), 459-464.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Luk, G. (2012). Bilingualism: consequences for mind and brain. Trends in Cognitive Sciences, 16(4), 240-250.

 

Linck, J. A., Kroll, J. F., & Sunderman, G. (2009). Losing access to the native language while immersed in a second language: Evidence for the role of inhibition in second-language learning. Psychological Science, 20(12), 1507-1515.

 

Okoh, N. (1980). Bilingualism and divergent thinking among Nigerian and Welsh school children. The Journal of Social Psychology, 110(2), 163-170.

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์สุภสิรี จันทวรินทร์

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

นี่เป็นคำถามที่ผิดตรรกะของชีวิตและวิวัฒนาการอย่างที่สุดคำถามหนึ่งเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต

 

โลกได้ศึกษาจิตวิทยามานานแล้ว ถ้าจะพูดแบบเหมารวมสักหน่อยก็น่าจะพร้อมกับช่วงที่มีมนุษย์คนแรกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก แต่สำหรับการศึกษา “อย่างเป็นระบบ” นั้น พระพุทธเจ้าและปราชญ์ท่านอื่น ๆ ก็ได้ทำกันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วเช่นกัน ซึ่งตามหลักวิวัฒนาการแล้ว สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่น่าจะคงอยู่มาได้นานขนาดนี้ ถ้ามันจะไม่มีประโยชน์จริง ๆ ศาสตร์นี้คงจะหายไปตามกาลเวลาและก็คงจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชานี้เป็นแน่

 

น่าแปลกใจและน่าสนใจมากว่าคำถามนี้ถูกถามมาได้อย่างไร

 

คำถามที่ไม่เหมาะสมมักจะนำไปสู่คำตอบที่ไม่เหมาะสม แต่คำถามที่ไม่เหมาะสมบางคำถามอาจจะนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจมากกว่าได้

 

สำหรับบางคนที่ยังสงสัยว่า อะไรเล่าที่เป็นจิตวิทยาแล้วอะไรเล่าที่ไม่เป็น ตอนนี้ขอให้มองข้ามข้อสงสัยนี้ไปก่อน สิ่งที่เราจะคุยกันต่อไปอาจจะให้คำตอบด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

 

เอาล่ะ ในเมื่อมี “ความเชื่อ” ว่าอย่างไรเสีย ศาสตร์จิตวิทยาก็มีประโยชน์ คำถามต่อมาคือ “เพื่อใครหรือสำหรับใคร” ที่ว่าสำหรับมนุษย์นั้นจะว่ากว้างก็กว้างแต่จะว่าแคบก็แคบ อย่างที่เราอาจเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่มีประโยชน์สำหรับบางคนอาจจะไม่มีประโยชน์…หรือเรียกว่ามีโทษน่าจะถูกต้องมากกว่า…สำหรับอีกหลาย ๆ คนก็ได้ ถ้าเช่นนั้น มันน่าสนใจว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์ทุกคนทุกผู้ทุกวัยได้อย่างไร

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มองตัวเองเป็นหลัก…ไม่มากก็น้อย

ลองเปลี่ยนคำว่า “มนุษย์” เป็น “ทุกคนเท่า ๆ กัน” ดีไหมครับ “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับทุกคนเท่า ๆ กัน”

 

ลองแบ่งคนอย่างหยาบ ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มกันก่อน

 

  1. คนกลุ่มแรกเกิดมาพร้อมกับพรวิเศษบางอย่างที่ทำให้เขาหรือเธอมีความสามารถที่แตกต่างเหนือกว่าคนทั่วไป เป็นความสามารถทางศิลปวิทยาการทั่วไปแหละ อย่าเพิ่งไปนึกถึงความสามารถพิสดารอะไรที่เราเห็นกันในหนังในละครเลย
  2. คนกลุ่มที่สองเกิดมาพร้อมกับสิ่งทั่ว ๆ ไป
  3. คนกลุ่มที่สามเกิดมาพร้อมกับปัญหาหรือความบกพร่องอะไรบางอย่าง

 

ไม่ได้บอกว่าการแบ่งแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ แค่ลองคิดเล่น ๆ เท่านั้น

 

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์ “มากที่สุด” สำหรับคนกลุ่มที่สาม หรืออาจจะคิดไปไกลกว่านั้นว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนกลุ่มที่สาม “เท่านั้น”

 

ผิดไปมากเลยครับ ลองไล่จากข้างหลังมาข้างหน้าก็แล้วกัน

 

สำหรับคนกลุ่มที่สาม จะพูดว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากในการบำบัดรักษาก็ไม่น่าจะเป็นคำพูดที่เกินไปนัก คนที่มีปัญหาจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ศาสตร์จิตวิทยาจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

ส่วนคนกลุ่มที่สองเล่า จิตวิทยาจะมีประโยชน์อะไร

 

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างปกติ แต่คงไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่มีความทุกข์ที่ต้องปลดเปลื้อง ไม่มีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ และไม่มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ต้องสร้างและคอยประคับประคอง การช่วยคนให้จัดการกับสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาเท่านั้นครับ

 

คราวนี้ลองมาดูคนกลุ่มที่หนึ่งบ้าง อย่างที่พูดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่พิเศษบางอย่างที่อาจเหนือกว่าคนอื่นอีกหลาย ๆ คน ทำให้เราคิดไปว่า คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งศาสตร์จิตวิทยาด้วยหรือ?

 

จำเป็นมากครับ…

 

มีสักกี่คนที่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง…ด้วยตัวเอง มีสักกี่คนเล่าที่สามารถฟูมฟักศักยภาพนั้นให้กลายเป็น “ความสามารถพิเศษ” ที่หลาย ๆ คนยกย่อง…ด้วยตัวเอง และมีสักกี่คนเล่าที่ไม่มีปัญหากับ “สิ่งพิเศษ” เหล่านี้

 

จิตวิทยาสามารถช่วยให้เขาหรือเธอค้นพบสิ่งนั้น พัฒนามันให้เต็มที่ และป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความพิเศษนั้นเอง

 

คราวนี้ลองคิดเกินไปกว่าประโยชน์ของมนุษย์สักเล็กน้อย ลองเติมคำว่า “เท่านั้น” และสลับเรียงคำในประโยคใหม่ จะได้ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์เท่านั้นจริงหรือ” น่าสนใจนะครับ

 

ถ้าจะให้คิดถึงเรื่องสำคัญ ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวของเราเองแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาจรวมไปถึงสัตว์สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ร่วมกับเราด้วยจิตวิทยาจะมีประโยชน์ต่อสิ่งเหล่านี้ไหม?

 

ตอบได้เลยว่ามีครับ…

 

ลองคิดง่าย ๆ จากแนวคิดที่ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย และมนุษย์เองนี่แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการคงอยู่ของหลาย ๆ สิ่งในธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ก็น่าจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

 

หน้าที่หนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ โดยผลของมันถ้าจะพูดอย่างกว้าง ๆ ก็คือการทำให้คน ๆ นั้นและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกบริโภคเครื่องดื่มสักขวด?

 

ถ้าเรารู้ว่ากระบวนการผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการกำจัดสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ มีการปฏิบัติกับลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบต่อแหล่งทรัพยากร เราอาจจะเลือกไม่อุดหนุนของชนิดนี้ ถามว่าการเลือกซื้อ…พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญอะไร…ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างรอบตัวคน ๆ นั้นหรือ?

 

ช่วยเปลี่ยนแปลงครับ แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ

 

ยังมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมายที่ร่วมกันกำหนดผลของพฤติกรรมของเรา แต่การที่เราตระหนักรู้ว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเองนั้นมีผลกระทบขยายกว้างไปกว่าขอบเขตแคบ ๆ รอบตัวเรา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

จิตวิทยาสามารถช่วยกระตุ้นให้คนเกิดการตระหนักรู้ผลกระทบของพฤติกรรม ทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่ว่าใกล้หรือไกล เมื่อรู้แล้วก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ประโยชน์ก็อาจจะบังเกิดกับทั้งตัว “มนุษย์” เองและธรรมชาติรอบตัว

 

จาก “ความเชื่อ” ที่ว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์…ทุกคน และรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราด้วย แต่ทำไมคนบางคนถึงมองไม่เห็นประโยชน์ของมัน?

 

ลองปรับคำถามจากคำถามแรกดูนะครับ

 

คำตอบที่ว่าจริงหรือไม่จริงนั้นดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่หยาบเกินไปสักหน่อย ถ้าเราเพิ่มมุมมองการรับรู้ของคนและระดับของความมีประโยชน์ในคำถามเล่า อะไรจะเกิดขึ้น ลองเพิ่มคำว่า “มากพอ” ในคำถามที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เป็น “จิตวิทยามีประโยชน์มากพอจริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

ที่ว่ามากพอหรือไม่นั้น มันน่าจะขึ้นอยู่กับความต้องการและมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน เพราะฉะนั้นขอปรับเปลี่ยนคำถามอีกสักเล็กน้อยเป็น “ทำไมบางคนเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอที่จะให้ความสำคัญกับมัน แต่บางคนกลับเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์แต่ไม่มากพอที่จะสนใจ”

น่าคิดนะครับ…

 

เป็นไปได้ไหมว่า ที่คนหนึ่งเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอในขณะที่อีกคนไม่เห็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่า ต่างคนต่างเห็นความชัดเจนของศาสตร์จิตวิทยาไม่เท่ากัน คนแรกสามารถนึกออกว่าจิตวิทยาคืออะไร ทำอะไรได้ และใช้อย่างไร แต่คนหลังกลับมองไม่เห็น ถึงจะเห็นก็เห็นแบบผิด ๆ ถูก ๆ เลือนลางเต็มที

 

หลายคนคิดว่าศาสตร์จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ถูกมากกว่าผิดครับ….

 

จิตวิทยาแตกต่างจากศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตรงที่ส่วนใหญ่แล้วเราศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นอัตวิสัยมากกว่าเป็นปรวิสัย และเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่มีสารเคมีวัดได้อย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับวิศวกรรมศาสตร์ที่มีสิ่งปลูกสร้างจับต้องได้

 

จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่อยู่ภายในสมองและจิตใจ ความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา สิ่งเหล่านี้นอกจากจะจับต้องไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของเรา…เกินไป

 

มนุษย์ทุกคนมีความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมต่าง ๆ เราสื่อสารสิ่งที่เราคิด เราแสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก เรามองเห็นสิ่งที่เราและคนอื่นกระทำ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราอาจไม่ทันได้สังเกตถึง “ความแปลกประหลาด” ของมัน และมองข้ามความสำคัญของการศึกษาสิ่งเหล่านี้ไป

 

ลองมองตัวเองและคนรอบข้างดูสิครับ ฟังสิ่งที่เราคิด รับสิ่งที่เรารู้สึก และสังเกตสิ่งที่คนอื่นกระทำ ลองคิดว่าเพราะอะไรมันถึงได้เป็นอย่างนั้น ลองคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ เพียงเท่านี้จิตวิทยาดูจะน่าสนใจมากขึ้น และอาจจะเห็นประโยชน์ “มากพอ” ที่จะให้ความสำคัญกับมันก็ได้

เราลองมาตั้งคำถามที่หันเข้าสู่คนใช้ศาสตร์กันบ้างดีกว่า แค่เติมคำว่า “นัก” เข้าไปในประโยคคำถามเดิมเท่านั้นเอง “นักจิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

จริง ๆ แล้วคำถามนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำถามเดิมที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองจากศาสตร์มาเป็นคนใช้ศาสตร์เท่านั้นเอง

 

อาจจะตอบง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าอาชีพนักจิตวิทยาไม่มีประโยชน์ ก็คงจะไม่มีอาชีพนี้อยู่ในสังคมแล้ว ตอบแบบกำปั้นทุบดิน

 

ลองเปลี่ยนจาก “มีประโยชน์หรือไม่” เป็น “จำเป็นหรือไม่” ดีกว่าไหมครับ เพราะทุกสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีประโยชน์ แต่บางสิ่งที่มีประโยชน์อาจจะไม่จำเป็นก็ได้

 

แน่นอนว่า นักจิตวิทยามีประโยชน์ แต่ความจำเป็นนั้นอาจจะไม่เท่ากันสำหรับแต่ละคน ทุกคนต่างมีปัญหาหรือจุดสะดุดในชีวิต บางคนอาจจะก้าวผ่านไปได้ด้วยตัวเอง บางคนที่ไปต่อไม่ได้อาจจะต้องการความช่วยเหลือ นักจิตวิทยาจะมีความจำเป็นมากสำหรับคนกลุ่มหลังแต่จะมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับคนกลุ่มแรก

 

ใครที่มีจุดสะดุดหรือตกหล่มบ่อย นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอมากหน่อย นักจิตวิทยาอาจจะช่วยคลายความไม่สบายใจ ช่วยทำให้มองเห็นปัญหาและมีความคิดต่อปัญหานั้นชัดเจนมากขึ้น เปรียบได้กับการทำให้น้ำที่ขุ่นอยู่นั้นใสขึ้น ส่วนใครที่มีจุดสะดุดน้อยหรือเมื่อตกหล่มแล้วสามารถขึ้นมาเองได้ นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอน้อยหน่อย อาจจะแค่ช่วยสะกิดบางจุดที่ขรุขระให้ราบเรียบ เดินต่อไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้นเอง

 

พอจะสรุปได้ว่า ทั้งศาสตร์และนักจิตวิทยาล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น แต่จะมีความจำเป็นต่อคนแต่ละคน สิ่งแต่ละสิ่งมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ มุมมองการรับรู้ และความเข้าใจปัญหาเหตุการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละคนครับ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Cognitive dissonance – ความไม่คล้องจองของปัญญา

 

 

ความไม่คล้องจองของปัญญา หมายถึง ภาวะที่ส่วนของปัญญามีความสัมพันธ์กันแบบไม่คล้องจอง คือ ส่วนของปัญญาที่เกิดตามหลังเป็นไปอย่างสวนทางกับส่วนของปัญญาส่วนแรก

 

ส่วนของปัญญา หมายถึง ส่วนย่อย ๆ ส่วนหนึ่งของปัญญา อันได้แก่ ความรู้ ความเชื่อ เจตคติ ความคิดเห็น และค่านิยมที่บุคคลมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งต่อตนเอง ต่อพฤติกรรมของตนเอง และสภาพแวดล้อม

 

[ตัวอย่าง]
ส่วนของปัญญาที่ 1 – เป็นคนไทย
ส่วนของปัญญาที่ 2 – เชียร์ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ในการแข่งขันกับทีมชาติไทย
เกิดความไม่คล้องจองของปัญญาเพราะการเป็นคนไทยหมายรวมถึงการต้องเชียร์ทีมชาติไทยด้วย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญา (โดย Leon Festinger, 1957) เสนอว่า เมื่อเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา บุคคลจะเกิดความไม่สบายใจ จึงต้องพยายามลดความไม่คล้องจองทางปัญญาที่เกิดขึ้นและเพิ่มความกลมกลืนเพื่อลดความไม่สบายใจนั้น

 

บุคคลลดความไม่คล้องจองของปัญญาได้หลายวิธี เช่น

  • เปลี่ยนส่วนของปัญญาที่เกี่ยวกับพฤติกรรม
  • เพิ่มส่วนของปัญญาใหม่ขึ้นมา
  • ลดความสำคัญของประเด็นที่ขัดแย้ง

 

ตัวอย่างเช่น

  • กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย
  • อธิบายว่ามันเป็นแค่แมทช์กระชับมิตร
  • บอกว่าถ้าทีมชาติไทยแข่งกับทีมชาติอื่น ก็กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญามีความสำคัญเนื่องจากสามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในการประเมิน (evaluation) การตัดสิน (judgment) และการตัดสินใจ (decision) ในเรื่องต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การไม่ลงรอยกันระหว่างส่วนของปัญญา และอยู่ที่วิธีการที่บุคคลจัดการเพื่อลดความไม่คล้องจองที่เกิดขึ้น

 

การตระหนักถึงผลกระทบของปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้บุคคลสามารถพัฒนาการประเมินและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของความชอบความคงเส้นคงวาและการรับรู้ความมีอิสระ ในการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติต่อความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย มยุรินทร์ เตชะเชวงกุล (2545) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/90

“ผลของการเห็นคุณค่าแห่งตน การรับรู้โอกาสเลือก และการชี้นำต่อการเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย ระวีวรรณ ทิพยานนท์ (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20426

เมื่อไรที่จะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

“เอาจริงๆ พี่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอะไร เป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว ไปทานข้าวกับเพื่อนก็ไม่สนุก กลับบ้านก็เหงา รบกวนสอบถามได้ไหมคะ พี่เหมาะกับการมาหานักจิตวิทยาไหมคะ เขาจะว่าพี่เป็นอะไรหรือเปล่า”

 

“ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ทำไปก็มีแต่จะพัง ไม่อยากทำอะไรเลยค่ะ แบบนี้คุยกับนักจิตวิทยาได้ไหมคะ”

 

“มีแต่คนบอกว่าเรื่องเล็ก แต่เราไม่รู้จะทำยังไง เราคุยกับนักจิตวิทยาได้ไหม”

 

เสียงจากปลายทางสายโทรศัพท์ มักโทรมาถามด้วยความกังวล และไม่แน่ใจ หากแต่ต้องการได้รับการยืนยันจากปลายสายอีกฝั่ง ว่ามีคนรับฟังฉัน ก็คงเพียงพอที่จะให้ตัดสินใจมาพูดคุยได้

 

คำถามที่เขียนไว้ข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของความกังวลใจ ลังเล สงสัยและไม่แน่ใจในการตัดสินใจเข้ามารับบริการการปรึกษาเขิงจิตวิทยาหรือเข้ามาพูดคุยทางด้านสุขภาพจิต บางครั้งอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางครั้งอาจจะคิดว่าไม่ควรมาเพราะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ที่ใครก็เจอ แต่ในฐานะผู้เขียนอยากจะชวนผู้อ่านลองสำรวจตัวเราเองในแต่ละวัน ว่าเรากำลังเผชิญกับเรื่องราวและความรู้สึกใดบ้าง เพื่อจะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าเมื่อไรที่เราน่าจะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

 

1. เมื่อเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากในชีวิต

 

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตบางอย่างเปลี่ยนไปด้วย เกิดความรู้สึกผิดหวัง เครียด สับสน หรือยากต่อการจัดการชีวิตประจำวัน

 

2. เมื่อเราเริ่มรับรู้ว่ามีพฤติกรรมหรือความคิดบางอย่างที่ขัดขวางการดำเนินชีวิต

 

สามารถสังเกตได้จากการคิดหรือวิธีการที่เรามักใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือคนรอบข้างที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพเท่าที่เราตั้งใจไว้ มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลให้เกิดความซับซ้อนในการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น การดื่มสุรา การทำร้ายร่างกายตนเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากหรือน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

 

3. เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าประสบการณ์ในอดีตรบกวนจิตใจ

 

แม้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจะจบไปแล้ว แต่ผลของเหตุการณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ยังคงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกกังวลใจ กลัวหรือแม้แต่เบื่อหน่ายต่อการดำเนินชีวิต

 

4. เมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การตัดสินใจเรื่องสำคัญเป็นส่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสับสนและกังวลได้ เพราะเป็นการเลือกโดยที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าผลของการเลือกนั้นจะสมหวังหรือไม่ การพูดคุยจะช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความกังวล” หรือ “ความคาดหวัง” ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

5. เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตเริ่มสะดุดหรือมีการยุติ

 

การเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์ เช่น การหย่าร้าง การเลิกรา ความสัมพันธ์ระยะไกล การมีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ส่งผลต่อความรู้สึกทั้งความรู้สึกทุกข์ใจ เจ็บปวด ทรมาน สิ้นหวัง ซึ่งย่อมมีผลต่อการรรับรู้ตนเองในแง่ลบ และความเชื่อมั่นในตนเอง

 

6. เมื่อสุขภาพกายหรือโรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อสุขภาพจิต

 

โรคหรืออาการทางกายบางอย่างที่รบกวนการดำเนินชีวิตส่งผลให้เกิดความเครียดในการใช้ชีวิต การทำงาน หรืออาจจะทำให้มีความรู้สึกกังวลใจต่อการรักษา

 

7. เมื่อมีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์

 

บางครั้งเราอาจจะสังเกตว่าตนเองมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเคยเป็นคนชอบเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่ก็เริ่มเก็บตัว ไม่อยากไปไหน รับรู้ได้ว่าตนเองมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ลักษณะที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และต้องการแนวทางในการดูแลสุขภาพจิต หรือในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์และมีคำแนะนำให้มีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาควบคู่กับการรักษากับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

8. เมื่อต้องการสำรวจความสามารถของตนเอง

 

การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษานอกจากจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ความไม่สบายใจแล้ว หลายครั้งสิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน คือ ศักยภาพของผู้รับบริการ เป็นการชวนให้ผู้รับบริการได้สำรวจว่าอะไรที่เอื้อให้เราสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้

 

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสำรวจดังกล่าว เป็นแนวทางเบื้องต้นในการช่วยตัดสินใจ หากสิ่งสำคัญของการตัดสินใจนั้น คือ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของเรา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนการดูแลสุขภาพกาย หากมีสิ่งที่เราเริ่มรู้สึกเปลี่ยนแปลง ยากต่อการรับมือ มีภาวะความรู้สึกที่ไม่สามารถรับมือได้ การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาจึงเป็นทางเลือกพื้นฐานของการดูแลสุขภาพจิตอย่างหนึ่งค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Oud, M., de Winter, L., Vermeulen-Smit, E., Bodden, D., Nauta, M., Stone, L., … & Engels, R. (2019). Effectiveness of CBT for children and adolescents with depression: a systematic review and meta-regression analysis. European Psychiatry, 57, 33-45.

 

Sohrabi, R., Mohammadi, A., & Aghdam, G. A. (2013). Effectiveness of group counseling with problem solving approach on educational self-efficacy improving. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 84, 1782-1784.

 

Seth Meyers Psy.D. Benefits of Pre-Marital Counseling: Successful Marriage. www.psychologytoday.com. (Online). 2011. Available from : https://www.psychologytoday.com/us/blog/insight-is-2020/201109/benefits-pre-marital-counseling-successful-marriage

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย