News & Events

แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้” (ตอนที่ 4)

แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้”

“Efficacy” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 4

 

คำว่า “Hero” เป็นคำโบราณที่มีรากฐานศัพท์มาจากภาษากรีกและถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในราวช่วงศตวรรษที่ 16 ในอดีตคำว่า Hero นั้นใช้แทนความหมายของนักรบ (Warrior) ผู้กล้าหาญและเสียสละซึ่งย่อมเป็นบุคคลพิเศษและแตกต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไป แต่เดิมคำนี้ยังรวมไปถึงนักรบผู้กล้าในเทพนิยายกรีกโบราณที่มีความเป็นมนุษย์ครึ่งเทพ (Semidivine being) ที่สามารถติดต่อสื่อสารและมีชีวิตได้ทั้งในโลกของมนุษย์และเหนือมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาคำเดียวกันนี้ได้กลายเป็นคำที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเมื่อถูกนำมาใช้เรียก “ยอดมนุษย์” หรือตัวละครเอกในการ์ตูนของมาร์เวลคอมิกส์ซึ่งเป็นค่ายการ์ตูนยอดนิยมของสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1939 ทำให้ Hero หรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ มีชื่อเสียงก้องโลกกลายเป็น Super Hero ในเวลาต่อมา การ์ตูนแทบทุกเรื่องเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักอ่านทุกเพศทุกวัยที่ได้เสพอรรถรสความบันเทิงของการ์ตูนในยุคแรก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ความดี ความกล้าหาญที่สอดแทรกมาในเนื้อเรื่องอย่างแยบยล จนคำว่า HERO กลายเป็นคำติดปากที่ทุกคนคุ้นเคยด้วยพลังบวกจากจินตนาการที่เพียงแค่ได้ยิน หรือสัมผัสของหัวใจที่พองโตขึ้นทันทีหากได้เป็น HERO ในใจของใครคนใดคนหนึ่ง จนถึงปัจจุบันในสถานการณ์ของโรคระบาด HERO ได้ถูกใช้เป็นคำยกย่องต่อบุคลากรในแวดวงการรักษาพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง Ruth Marcus ผู้หญิงเก่งผู้เป็นทั้งนักวิจารณ์และนักข่าวทางการเมืองชาวอเมริกันและยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง The Washington Post เคยกล่าวสรรเสริญบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพยาบาลรวมถึงหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดที่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งต่อตัวเองและครอบครัวว่าทุกคนคือ HERO ผู้เสียสละ อุทิศตนเองอย่างใหญ่หลวงเพื่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือทุกคนให้ได้มีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย (Marcus, 2020)

 

องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของ Covid-19 เป็นวิกฤตที่โลกของเราไม่เคยเผชิญมาก่อน (WHO, 2020) และส่งผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทั้งต่อวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน สุขภาพจิต ความเครียดตลอดจนความเป็นอยู่ของผู้คน (Holmes et al., 2020, Rajkumar, 2020) จากผลการวิจัยพบว่า ประชากรมากถึงร้อยละ 30 อาจได้รับผลกระทบจากความเครียด ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล หลังจากการกักตัว (Odriozola- González et al., 2020) ในช่วงเวลาแห่งความกลัวและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้เราจะหันหา HERO ผู้กล้าที่จะมาช่วยเหลือเราไม่พบเหมือนในการ์ตูนได้ แต่เราทุกคนสามารถสร้าง HERO ขึ้นได้ในใจของเราเองเพราะคนเรามักต้องการทรัพยากรทางจิตใจเพื่อมาช่วยลดความเครียด และทุนทางจิตวิทยา (PsyCap) คือ HERO ที่สามารถช่วยให้ผู้คนรักษาไว้ซึ่งสุขภาพจิตที่มีคุณภาพได้สำเร็จโดยการช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีและลดระดับความวิตกกังวลและอาการภาวะซึมเศร้าที่รุกเร้าเข้ามาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลที่มีทรัพยากรทางจิตใจที่มากกว่าจะได้รับผลกระทบทางลบน้อยกว่าจากสถานการณ์ชีวิตที่ตึงเครียดมากมายที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

 

 

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วในชุดของบทความสี่ตอนจบเกี่ยวกับต้นทุนทางจิตวิทยาของคนเราที่นำเอาพยัญชนะหลักในแต่ละองค์ประกอบของตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 4 ด้านร่วมกันสร้างเป็นตัวแปรใหม่อันทรงพลังที่เรียกว่า ทุนทางจิตวิทยา หรือ HERO หากท่านผู้อ่านได้ติดตามมาตั้งแต่ต้นและทำความเข้าใจกับตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่

 

ความหวัง (Hope)

ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) และ

การมองโลกในแง่ดี (Optimism)

 

ซึ่งทั้งหมดล้วนเปี่ยมไปด้วยพลังทางบวกในการช่วยป้องกันและยกระดับของอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของบุคคลต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำงานหรือในด้านของสุขภาพ และในตอนสุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงองค์ประกอบด้านสุดท้ายคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง หรือ Self Efficacy โดยนำพยัญชนะตัวอักษร E ในคำว่า Efficacy มาประกอบจนเป็นคำว่า HERO ที่สมบูรณ์และเป็นที่รู้จักกันดี

 

 

ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองนั้น พัฒนามาจาก ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Learning Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคนิคที่นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเรา ทฤษฎีนี้พัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวแคนาดาคือ Albert Bandura โดย Bandura ได้ศึกษาความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งความเชื่อนี้มีอิทธิพลช่วยให้บุคคลเกิดความมั่นใจในตนเอง สามารถปฏิบัติตนหรือมีพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการได้ หลังจากบทความของ Bandura เรื่อง Self-Efficacy: Toward a Unifying Theory of Behavioral Change ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Psychological Review ในปี 1977 Self Efficacy ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ถูกนำไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมากที่สุด ที่ช่วยพัฒนามุมมองและความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของตัวแปรให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น เช่น Stajkovic และคณะ (1998) พบว่าการรับรู้ความสามารถของตนเองมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและเป็นไปในทางบวกกับผลการปฏิบัติงาน และพบว่าความพึงพอใจในงานกับผลการปฏิบัติงานนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกัน จึงเป็นไปได้มากว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองกับความพึงพอใจในงานนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน ต่อมา  Özkalp (2009) เคยกล่าวไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้น ไม่ใช่ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มี แต่เป็น “ความเชื่อ” (Belief) ของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับความสามารถที่ตนมีอยู่ บุคคลที่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างประสบความสำเร็จได้ Caprara และคณะ (2003) ให้คำนิยามไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นเป็นพลังในการไปสู่เป้าหมายของงานที่หลากหลาย และการประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

 

เมื่อคนเรามีความเชื่อว่าตนเองนั้นมีความสามารถ บุคคลนั้นจะบริหารจัดการกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ทักษะที่ตนมีอยู่ ในการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นจึงไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำ แต่หมายถึงสิ่งที่บุคคลนั้นมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้นักจิตวิทยาเข้าใจ และทำนายว่าบุคคลจะทำหรือไม่ทำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างในบริบทของสุขภาพ เช่น หากบุคคลเชื่อว่าตนเองไม่มีความสามารถ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อนี้ส่งผลให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าการควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายหรือการเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องยากที่เกินไป ทำไม่ได้แน่ ๆ และส่งผลให้ไม่ลงมือทำพฤติกรรม ๆ

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลสามารถพัฒนาความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของตนเองนั้น มีอยู่ 4 ปัจจัย ดังต่อไปนี้  (Bandura ,1994)

 

 

การเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเอง (Mastery experiences)

 

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองโดยผ่านทางการรับรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งในความสามารถส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในทางกลับกันความล้มเหลวจะคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นนั้นให้พังทลายลงได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ความล้มเหลวเกิดขึ้นก่อนที่ความเชื่อมั่นของแต่ละคนจะก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างที่มั่นคงแข็งแรง

 

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นโดยการพบเห็น การรับฟังหรือรับรู้มา (Vicarious experiences)

 

เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาคุณลักษณะทางจิตวิทยานี้ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยผ่านการรับรู้จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสหรือผ่านตามาจากคนอื่นหรือรียกว่า “ตัวแบบ” (Modelling)  ซึ่งในช่วงหลายปีนี้ มักเกิดขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพราะเป็นช่องทางที่ผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจ การได้มองเห็นผู้อื่นที่ดูคล้ายกับตนเองทำพฤติกรรมบางอย่างและประสบความสำเร็จทำให้ผู้เฝ้ามองรู้สึกได้ว่าตนเองน่าจะมีความสามารถในการลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลได้เช่นเดียวกัน การรับรู้ถึงความสามารถของตนเองจากการสังเกตตัวแบบนั้นจึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ถึงความใกล้เคียงของตนเองกับตัวแบบนั้น ๆ ด้วย ยิ่งถ้าหากมีความใกล้เคียงกันมาก ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามมากขี้นและมีการเลียนแบบจนประสบความความสำเร็จและถึงแม้อาจจะเกิดความล้มเหลวบ้างแต่ก็ไม่ล้มเลิกพฤติกรรมง่าย ๆ ถ้าคนเรามองเห็นตัวแบบที่มีความแตกต่างไปจากตนเองมาก ตัวแบบที่แตกต่างนี้ก็จะไม่ค่อยส่งผลต่อการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง

 

การถูกชักนำหรือจูงใจจากสิ่งต่าง ๆ ในสังคม (Social persuasion)

 

การจูงใจทางสังคมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คนเรานั้นมีความเชื่อว่าตนเองมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ บุคคลที่ได้รับคำชมเชย คำชื่นชมในความสำเร็จ หรือ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีเยี่ยม บุคคลมักมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนความพยายามของตนเองได้มากขึ้นและรักษาระดับของรู้สึกนั้นไว้ได้ดีกว่าบุคลลที่จะเริ่มต้นทำงานด้วยความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเองมักจะจมอยู่กับความบกพร่องของตนเมื่อต้องจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนหรือคำชื่นชมทำให้บุคคลได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ส่งผลให้บุคคลเกิดความพยายามที่จะก้าวไปสู่การประสบความสำเร็จ การได้รับคำชมหรือการแนะนำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านทักษะ กระตุ้นความมานะพยายามเพื่อฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและรู้สึกได้ถึงความสามารถของตนเองในแต่ละบุคคลด้วย

 

สภาวะที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและอารมณ์ของตนเอง (Physiological and emotional states)

 

สภาวะทางร่างกายและอารมณ์ในทางลบส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเองได้ กล่าวคือ บุคคลที่มีความเหนื่อยล้า มีความเครียด และอารมณ์ด้านลบ เช่น สับสนหรือวิตกกังกล มักจะขาดความสามารถในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ และเมื่อทำงานนั้นแล้วก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ยิ่งจะทำให้การรับรู้ความสามารถของตนเองในตัวบุคคลนั้นยิ่งลดต่ำลง ทำให้ขาดความเชื่อมั่น คิดว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอ เกิดความลังเลใจจนทำให้การตัดสินใจขาดประสิทธิภาพ หากบุคคลมีการจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมรวมทั้งการปรับอารมณ์เชิงลบให้เป็นบวก จะช่วยให้บุคคลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการทำงานนั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้บุคคลเกิดการรับรู้ความสามารถของตนเองได้

 

 

 

นอกจากนั้นแล้ว การรับรู้ความสามารถของตนเองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในงานด้านจิตวิทยาสุขภาพ (Health psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความใส่ใจต่อโภชนาการของคนเรารวมถึงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ด้วย ปัจจุบันผู้ป่วยมักป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases) เช่น มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า งานวิจัยจำนวนมากพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง ดังนั้นการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการทำพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การเลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่ การเลิกพฤติกรรมดื่มสุรา การออกกำลังกาย การควบคุมหรือลดน้ำหนักของตัวเอง การวางแผนการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จะส่งผลให้บุคคลสุขภาพดีห่างไกลจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อได้

 

 

ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความเรื่อง การมองโลกในแง่ดี ที่ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับการรับรู้ความสามารถของตนเองว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร กล่าวคือในปี 2011 มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มพยาบาลในประเทศไต้หวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้า การรับรู้ความสามารถของตนเอง และการมองโลกในแง่ดี (Chang et al., 2011) ผลการวิจัยพบว่าการมองโลกในแง่ดีและการรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นสามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ในบริบทของการทำงาน มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงการรับรู้ความสามารถของตนเองและการมองโลกในแง่ดีในฐานะตัวแปรทำนายความผูกพันต่อองค์กร (Organizational commitment) ของพนักงานธนาคาร (Akhter et al., 2012) พบว่าการรับรู้ความสามารถในตนเองและการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์กันทางบวก นั่นคือเมื่อพนักงานมีการรับรู้ความสามารถของตนเองที่เพิ่มมากขึ้น การมองโลกในแง่ดีจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรืออีกนัยหนึ่งคือเมื่อพนักงานมองโลกในแง่ดีมากขึ้นย่อมรับรู้ถึงความสามารถในตนเองที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น งานวิจัยศึกษาการรับรู้ความสามารถของตนเองในกลุ่มครู (Teacher self-efficacy ) และการมองโลกในแง่ดีในเชิงวิชาการเฉพาะบุคคล (Individual academic optimism) ในฐานะตัวแปรทำนายของการเรียนรู้อย่างมืออาชีพของครู (Teacher professional learning) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คนในจังหวัดคาราบัก (Karabuk) ประเทศตุรกี (Kılınç et al., 2021) ผลการศึกษานี้พบว่าตัวแปรทุกตัวมีความสัมพันธ์ต่อกันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ และการรับรู้ความสามารถของครูสามารถทำนายการมองโลกในแง่ดีเชิงวิชาการและการเรียนรู้อย่างมืออาชีพได้ในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาช่วยสนับสนุนโมเดลเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่นำมาศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอาชีพครูต่อไป

 

 

ในสถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 ที่คนทั้งโลกกำลังรับมืออยู่ มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาบทบาทของการรับรู้ความสามารถของตนเองในการรับมือวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ดังกล่าว งานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความวิตกกังวล (Anxiety) และการนอนที่ผิดปกติ (Sleep disorder) ของพยาบาลในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 (Simonetti et al., 2021) ศึกษากับกลุ่มพยาบาล 1,005 คนจากหลายโรงพยาบาลในประเทศอิตาลี พบว่าพยาบาลมีปัญหาในการนอนหลับสูงมากถึงร้อยละ 71.40  มีความวิตกกังวลในระดับปานกลางร้อยละ 33.23 และมีความเชื่อในความสามารถของตนเองอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 50.65 ผลการวิจัยพบสหสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างความวิตกกังวลกับปัญหาคุณภาพการนอนหลับ และสหสัมพันธ์ในทางลบระหว่างการรับรู้ความเชื่อมั่นของตนเองกับความวิตกกังวลและความผิดปรกติของการนอนหลับด้วย ส่วนในประเทศจีนมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขในชุมชน (Community mental health care workers) ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 เพื่อศึกษาถึงความเครียดในการทำงาน (Occupational stress) สุขภาพจิต (Mental health) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Sun et al., 2021) ผลการศึกษาพบว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนที่เป็นกลุ่มเฝ้าระวังในช่วงกักตัว จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่สูงกว่าบุคลากรโดยทั่วไป และการได้รับการฝึกอบรมทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอารมณ์ทางบวกและการรับรู้ความสามารถของตนเองจะช่วยทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น ผลกระทบที่เกิดจากความเครียดในงานที่สะสมเพิ่มมากขึ้นนั้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยสนับสนุนการกำหนดหน้าที่ในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างสมเหตุสมผลและช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตของพนักงานได้

 

 

บทความเกี่ยวกับ HERO ที่ผ่านมาทั้ง 3 ตอนรวมทั้งบทความในตอนนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของทุนทางจิตวิทยา ได้แก่ ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) ความหวัง (Hope) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) และ การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) แต่ละองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยังเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกอื่น ๆ ทั้งในบริบทของการทำงานหรือการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า คุณลักษณะทางจิตวิทยาทั้ง 4 ประการนี้ เมื่อนำมารวมกันเป็นทุนทางจิตวิทยาจะเป็นตัวแปรที่มีโครงสร้างในระดับที่สูงขึ้น (Higher order construct) มีความแม่นยำในการทำนายพฤติกรรมการทำงานหรือความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าการวิเคราะห์โดยแยกองค์ประกอบทุนทางจิตวิทยาเป็นด้านย่อย ๆ (Avey et al. 2011)

 

อย่างไรก็ตาม ารดำรงรักษาไว้ซึ่งคุณลักษณะที่ดีทั้ง 4 ด้าน ทำให้เรามีต้นทุนจิตวิทยาที่ช่วยเราเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคหรือความทุกข์ร้อนใจที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละวัน การหมั่นพัฒนาและเสริมสร้างทุนทางจิตวิทยาในตนเองให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้มากที่สุดย่อมจะช่วยให้ชีวิตที่ถูกกระทบจากสถานการณ์แวดล้อมที่หลากหลายและไม่คาดฝันหรือเกิดขึ้นได้ในทุกระดับของความรุนแรง จะยังคงประคองชีวิตและจิตใจของตนเองให้ก้าวเดินต่อไปได้ แม้อาจจะซวนเซบ้างในช่วงเวลาหนึ่ง คงไม่นานจะกลับมาหยัดยืนและเป็น HERO ให้กับสมาชิกอันเป็นที่รักในครอบครัว ลูกน้องในสถานที่ทำงาน และหลายคนที่ยังอ่อนแอและอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ต่อไป

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Akhter, S., Ghayas, S., & Adil, A. (2012). Self-efficacy and optimism as predictors of organizational commitment among bank employees. International Journal of Research Studies in Psychology, 2(2).

 

Avey, J.B., Reichard, R.J., Luthans, F., Mhatre, K.H. (2011) Meta-analysis of the impact of positive psychological capital on employee attitudes, behaviors, and performance. Hum Resour Dev Q 22(2):127–152

 

Bandura, A. (1994). Self-efficacy. In V. S. Ramachaudran (Ed.), Encyclopedia of human behavior (Vol. 4, pp. 71–81). New York: Academic Press. (Reprinted in Encyclopedia of mental health, by H. Friedman, Ed., 1998, San Diego: Academic Press.)

 

Caprara, G. V., & Cervone, D. (2003). A conception of personality for a psychology of human strengths: Personality as an agentic, self-regulating system. In L. G. Aspinwall & U. M. Staudinger (Eds.), A psychology of human strengths: Fundamental questions and future directions for a positive psychology (pp. 61–74). American Psychological Association.

 

Chang, Y., Wang, P. C., Li, H. H., & Liu, Y. C. (2011). Relations among depression, self-efficacy and optimism in a sample of nurses in Taiwan. Journal of Nursing Management, 19(6), 769–776.

 

Holmes EA, O’Connor RC, Perry VH, et al. (2020) Multidisciplinary research priorities for the COVID-19 pandemic: A call for action for men- tal health science. The Lancet Psychiatry 7(6): 547–560.

 

Kılınç, A. Ç., Polatcan, M., Atmaca, T., & Koşar, M. (2021). Teacher Self-Efficacy and Individual Academic Optimism as Predictors of Teacher Professional Learning: A Structural Equation Modeling. Egitim ve Bilim, 46(205), 373–394.

 

Odriozola-González P, Planchuelo-Gómez Á, Irurtia MJ, et al. (2020) Psychological symptoms of the outbreak of the COVID-19 confine- ment in Spain. Journal of Health Psychology. Epub ahead of print 30 October 2020.

 

Özkalp E. A New Dimension in organizational behavior: A positive (positive) approach and organizational behavior issues. Proceedings of 17th National Management and Organization Congress. 2009;491-498. Turkish.

 

Marcus, R. (2020, March 27). Opinion: These are the heroes of the coronavirus pandemic. The Washington Post. https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/03/27/nurses-doctors-are-heroes-this-moment/

 

Rajkumar RP (2020) COVID-19 and mental health: A review of the existing literature. Asian Journal of Psychiatry 52: 102066.

 

Simonetti, V., Durante, A., Ambrosca, R., Arcadi, P., Graziano, G., Pucciarelli, G., Simeone, S., Vellone, E., Alvaro, R., & Cicolini, G. (2021). Anxiety, sleep disorders and self-efficacy among nurses during COVID-19 pandemic: A large cross-sectional study. Journal of Clinical Nursing, 30(9–10), 1360–1371.

 

Stajkovic, A. D., & Luthans, F. (1998). Self-Efficacy and Work-Related Performance: A Meta-Analysis. Psychological Bulletin, 124(2), 240–261.

 

Sun, Y., Song, H., Liu, H., Mao, F., Sun, X., & Cao, F. (2021). Occupational stress, mental health, and self-efficacy among community mental health workers: A cross-sectional study during COVID-19 pandemic. International Journal of Social Psychiatry, 67(6), 737–746.

 

World Health Organization (2020) Coronavirus disease 2019 (COVID-19) – Situation report 91.

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

East-West Center Online Seminar No.7 “Eating Disorders from a Health at Every Size Approach”

The East West Center x Wellness Center

Please come join us at the 7th online seminar.

 

“Eating Disorders from a Health at Every Size Approach”

 

 

 

By Jenna Daku, DPsych.

A psychotherapist and certified intuitive eating counsellor, and clinical director of Freedom To Be Therapy, UK.

 

Hosted by Panita Suavansri, DPsych, the director of Center for Psychological Wellness, Chulalongkorn.

 

 

Date & Time:

Thursday, 17 March 2022, at 8-9 pm (Thailand time GMT +7)

 

Registration is free at HERE

 

What will be discussed?

  • How eating disorders are defined and signs of eating disorders
  • Experiences working with clients who have eating disorders
  • Cultural issues relating to eating disorders

 


The event is presented by The East-West Psychological Science Research Center together with
the Center for Psychological Wellness, Chulalongkorn University.


 

Clip https://www.facebook.com/eastwestpsycu/videos/770174713984299/

 

ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ – Posttraumatic growth

 

 

 

ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการเผชิญภาวะวิกฤตที่สำคัญในชีวิต หรือการผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด

 

โดยที่ภาวะวิกฤตดังกล่าวจะท้าทายความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของบุคคล ความงอกงามดังกล่าวสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ได้แก่

 

    • การรู้ซึ้งในคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
    • การมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่มีความหมายมากขึ้น
    • การรับรู้ถึงพลังและความสามารถของตนเอง
    • การปรับเปลี่ยนการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต
    • การมีแก่นหรือการมีจิตวิญญาณในตน

 

ความงอกงามดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัยที่เคยประสบเหตุการณ์เครียดในชีวิต แต่ความงอกงามจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องมีปัจจัยบางประการที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น การมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพ หรือการได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง รวมถึงการเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ก็อาจเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะช่วยส่งผลให้บุคคลที่เผชิญกับเหตุการณ์เครียดในชีวิตเกิดความงอกงาม

 

 

องค์ประกอบของความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

 
1. การเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของตนเอง (Perceived changes in self)

 

บุคคลที่เผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจและก้าวผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้ จะให้ข้อสรุปว่าตนเองเข้มแข็งมากขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะขยายผลไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต รวมถึงเหตุการณ์สะเทือนใจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย บุคคลที่ก้าวผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจมาได้มักจะพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของตนเองแบ่งได้เป็น 2 องค์ประกอบย่อย คือ

 

1.1 การค้นพบความเข้มแข็งในตนเอง (Personal Strength) บุคคลตระหนักรู้ว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ตนเองก็สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

 

1.2 การพบโอกาสใหม่ ๆ (New possibilities) การค้นพบทางเลือกใหม่หรือการได้เริ่มต้นเส้นทางใหม่ในชีวิต ซึ่งรวมถึงกิจกรรมและความสนใจใหม่ที่เกิดขึ้นจากความงอกงามด้วย

 

2. การเปลี่ยนการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (A changed sense of relationships with others)

 

การเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจส่งผลให้บุคคลเปิดเผยตนเองมากยิ่งขึ้น และการเปิดเผยตนเองจะช่วยให้บุคคลได้รับโอกาสในการทดลองพฤติกรรมใหม่ ๆ รวมถึงได้รับโอกาสในการรับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากคนรอบข้าง การรับรู้ถึงภาวะเปราะบางของตนเองและผู้อื่นจะช่วยให้บุคคลเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นและเกิดความเต็มใจที่จะรับความช่วยเหลือ การเปลี่ยนแปลงการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นมีหนึ่งองค์ประกอบย่อย คือ

 

2.1 การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (Relating to others) การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งกับผู้อื่นมากขึ้น บุคคลรับรู้ถึงความใกล้ชิดและความเห็นอกเห็นใจซึ้งกันและกันจากคนรอบข้าง ซึ้งอาจเกิดขึ้นได้จากการมีประสบการณ์ร่วมกันกับผู้อื่น

 

3. การเปลี่ยนแปลงในแง่ของปรัชญาชีวิต (A changed philosophy of life)

 

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณอาจถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ความพยายามต่อสู้เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์สะเทือนใจจะส่งผลให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น และเมื่อตระหนักรู้ถึงความหมายของเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นแล้วจะเกิดการบรรเทาความทุกข์ทางอารมณ์ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านปรัชญาชีวิตในที่สุด การเปลี่ยนแปลงในแง่ของปรัชญาชีวิตแบ่งเป็น 2 องค์ประกอบย่อย คือ

 

3.1 การชื่นชมยินดีในชีวิต (Appreciation of life) การตระหนักรู้คุณค่าในชีวิตของตนเองเพิ่มมากขึ้น บุคคลให้คุณค่าหรือความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตใหม่ และรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่ตนเองมี หรือสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รอยยิ้มของของเด็ก หรือการใช้เวลาอยู่กับเด็กเล็ก ๆ เป็นต้น

 

3.2 การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ (Spiritual change) การตระหนักรู้ความหมายในชีวิต บุคคลจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากยิ่งขึ้นและเกิดการเปลี่ยนมุมมองทางจิตวิญญาณ เช่น การเข้าใจชีวิต หรือการมีความเชื่อทางศาสนาที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

 

 

คุณลักษณะของบุคคลกับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

 

 

1. บุคลิกภาพของบุคคล (Personality characteristics)

 

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจและบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ พบว่า บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผย (Extraversion) และบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ (Openness to experience) มีความสัมพันธ์กับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในระดับปานกลาง นอกจากนี้ การมองโลกในแง่ดี (Optimism) ก็มีความสัมพันธ์กับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในระดับปานกลางเช่นกัน

 

2. การจัดการกับความทุกข์ใจ (Managing distressing emotions)

 

ภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ บุคคลจะแสวงหาหนทางเพื่อรับมือกับความรู้สึกทุกข์ใจในช่วงแรก ส่งผลให้จิตใจอ่อนแอลง และกระบวนการทางความคิดที่หนักหน่วงจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้ากระบวนการทางความคิดของบุคคลมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองและเกิดการเข้าใจชีวิต ก่อให้เกิดประสบการณ์ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งกระบวนการทางความคิดดังกล่าวอาจใช้เวลานาน

 

3. การได้รับการสนับสนุนทางสังคมและการเปิดเผยตัวตน (Support and disclosure)

 

การได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่นช่วยให้เกิดความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจได้มากขึ้น โดยเป็นวิธีการที่จะช่วยให้บุคคลได้ผสมผสานมุมมองใหม่ๆ กับกรอบแนวคิดทางความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สัมพันธภาพในการปรึกษา และความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ในผู้ที่มีประสบการณ์รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา” โดย ชิชยะ ศรีชัยสวัสดิ์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60083

 

ภาพประกอบ http://www.freepik.com

Here to heal Online Workshop: Gratitude

“Gratitude” ชวนมาขอบคุณ ให้อบอุ่นหัวใจ

 

 

 

Here to heal ชวนคุณมาสร้างความสุขและพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณกับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ในหัวข้อเรื่อง “Gratitude”
โดยวิทยากร ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLSeTGZ57JJ0ra4…/viewform
โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านในวันศุกร์ที่ 18 เวลา 15.00 น. ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

บริการให้คำปรึกษาผู้ปกครองด้านพัฒนาการ แบบรายบุคคล สำหรับเด็กอายุแรกเกิด – 6ปี

 

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย จุฬาฯ จัดโครงการให้คำปรึกษาผู้ปกครองด้านพัฒนาการ แบบรายบุคคล สำหรับเด็กอายุแรกเกิด – 6 ปี ผ่านโปรแกรม Zoom (online)

 

ให้คำปรึกษาด้านพัฒนาการ โดย นักจิตวิทยาพัฒนาการ ให้คำแนะนำด้านพัฒนาการ การปรับพฤติกรรม

ให้คำปรึกษา 45 นาที/ครั้ง

 

 

 

ติดต่อสอบถาม นัดหมาย/จองคิว ได้ทั้งช่องทาง Line @chulalifedi และ Inbox Page Life Di ค่ะ

จิตวิทยากับการพยากรณ์โชคชะตา

เหตุผลของคนดูดวง และบทบาทของนักพยากรณ์ในการช่วยเหลือด้านจิตใจ

 

 

 

 

: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกนักพยากรณ์โชคชะตา 9 คน และผู้รับบริการ 7 คน โดยใช้แหล่งการพยากรณ์โชคชะตาหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

 

ลักษณะของสัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตาเป็นแบบการให้คำปรึกษาแนะนำ (guidance) ซึ่งแตกต่างจากการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (counseling) ที่มีสัมพันธภาพในเชิงบำบัด (therapeutic relationship) ทั้งนี้สัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตามีจุดเริ่มต้นจากความต้องการคำตอบจากการพยากรณ์โชคชะตาเป็นจุดประสงค์หลัก กล่าวคือ สาเหตุที่ผู้รับบริการเลือกเข้าหานักพยากรณ์โชคชะตาเพราะต้องการที่พึ่งทางใจในคราวทุกข์ ต้องการทราบอนาคตเพื่อลดความกังวล ต้องการเติมเต็มความมั่นใจในการตัดสินใจ หรือต้องการทราบแนวทางในการดำเนินชีวิต อีกทั้ง ยังต้องการหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา ส่งผลให้ผู้รับบริการเลือกใช้การพยากรณ์โชคชะตาแทนการเข้าหานักจิตวิทยาหรือจิตวิทยา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ต้องการ “ลองของ” อีกด้วย

 

รูปแบบสัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตาที่พบเห็นในสังคมไทย มี 3 รูปแบบ คือ

 

  1. มีความสนิทสนมคุ้นเคยดุจญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดจากการไปมาหาสู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันบ่อยครั้ง
  2. เป็นที่พึ่งที่ปรึกษา เป็นรูปแบบภาวะการพึ่งพานักพยากรณ์ มองว่าเป็นผู้ชี้แนะแนวทางการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต
  3. เป็นเพียงผู้รับบริการ หรือคนแปลกหน้าที่ให้มาระบายปัญหาเท่านั้น

 

ไม่ว่าสัมพันธภาพจะอยู่ในรูปแบบใด ถ้าเป็นสัมพันธภาพที่ดีก็นำไปสู่การช่วยเหลือด้านจิตใจได้

ทั้งนี้ปัจจัยสู่สัมพันธภาพที่ดีในการพยากรณ์โชคชะตาประกอบด้วย

 

  • การพยากรณ์ที่แม่นยำ
  • การประพฤติตามจรรยาบรรณโหร (มีคุณธรรม จริงใจ ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์)
  • การรักษาความลับของผู้รับบริการ
  • การเปิดใจยอมรับผู้รับบริการ ไม่ตัดสินถูกผิด ซึ่งผลที่เกิดจากการมีสัมพันธภาพที่ดีคือเกิดความไว้วางใจ เกิดศรัทธา ให้ความเคารพนับถือ ยินดีเปิดเผยเรื่องราว กลับมาใช้บริการอีก และแนะนำบอกต่อแก่ผู้อื่น

ทั้งนี้ในทางการปรึกษาเชิงจิตวิทยามองว่า ารที่ผู้รับบริการเกิดความไว้วางใจจนนำมาสู่การเปิดเผยเรื่องราวเป็นสิ่งสำคัญอันนำไปสู่การช่วยเหลือที่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ กระนั้น ในบางแง่มุมการเกิดความรู้สึกด้านลบเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทั้งนี้การมีสัมพันธภาพที่มากหรือน้อยจนเกิดไป ไม่ไว้วางใจ หรือเกินขอบเขตที่เหมาะสม ย่อมไม่ส่งผลที่ดีต่อทั้งนักพยากรณ์โชคชะตาและผู้รับบริการ

.

 

 

กระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจของนักพยากรณ์โชคชะตา

 

 

 

 

ขั้นตอนในกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจของนักพยากรณ์โชคชะตาเริ่มจากการสังเกตท่าทางของผู้รับบริการเพื่อประเมินความรู้สึกนึกคิด และวัดระดับอารมณ์ในการออกคำพยากรณ์ จากนั้นทำการพยากรณ์ตามหลักของศาสตร์ และในระหว่างการพยากรณ์จะมีการเปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อเติมในส่วนที่ยังคงรู้สึกสงสัยหรือค้างคาใจเพื่อให้ผู้รับบริการขจัดความกังวลใจได้อย่างเต็มที่ และมักลงท้ายด้วยการเสนอแนะแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อิงบทฐานของความเชื่อในศาสตร์การพยากรณ์โชคชะตา

 

การให้คำปรึกษาของนักพยากรณ์โชคชะตาเป็นแบบการให้คำแนะนำและชี้นำทาง ซึ่งต่างจากจิตวิทยาการปรึกษาที่เป็นแบบไม่ชี้นำ ซึ่งการชี้นำนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้รับบริการเกิดการใคร่ครวญและตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้รับบริการเกิดปัญหาครั้งใหม่ ผู้รับบริการจะกลับมาใช้บริการกับนักพยากรณ์โชคชะตาอีก ในขณะที่การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับบริการเกิดปัญญาในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และไม่จำเป็นต้องย้อนกลับมาปรึกษานักจิตวิทยาอีก

ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือที่นักพยากรณ์โชคชะตามักเสนอแนะให้แก่ผู้รับบริการเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ที่นักพยากรณ์โชคชะตาผู้นั้นยึดถืออยู่ กล่าวคือหากเป็นบุคคลที่นับถือพุทธศาสนาก็จะมีความเชื่อเรื่องกรรม และมองการพยากรณ์โชคชะตาเป็นศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ฉะนั้นแนวทางที่เสนอแนะจึงอยู่ในรูปของการให้กระทำดี สร้างบุญสร้างกุศลหรือให้ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ในรายที่มีความเชื่อมั่นในศาสตร์การพยากรณ์โดยเฉพาะ ก็มักเสนอแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจที่อิงกับดวงดาวทางโหราสาสตร์ เป็นต้น ดังนั้นหากผู้รับบริการที่ได้รับการเสนอแนะแนวทางจากนักพยากรณ์โชคชะตามีความเชื่อเช่นเดียวกัน ย่อมส่งผลให้ภาวะใจของผู้รับบริการมีความผ่อนคลายในเบื้องต้น

 

กลไกที่เกิดในกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจด้วยการพยากรณ์โชคชะตา สามารถจัดเป็นผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือการได้ระบายเรื่องราวปัญหา และการได้ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าเป็นการเตรียมใจ เป็นผลพลอยได้จากการพยากรณ์โชคชะตา ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้รับบริการ คือการต้องการทราบอนาคตโดยมีความเชื่อว่าการพยากรณ์โชคชะตาเป็นศาสตร์ที่สามารถให้คำตอบตนได้ นอกจากการได้ทราบคำตอบพร้อมแนวทางการแก้ไขแล้ว ความเชื่อมั่นใจอนาคตที่ได้จากคำพยากรณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการมีความหวังในการก้าวผ่านปัญหาหรืออุปสรรคที่ตนกำลังเผชิญ

 

 

จากข้อค้นพบที่ได้ทำให้เข้าใจมูลเหตุความต้องการของผู้รับบริการและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในการพยากรณ์โชคชะตา ดังนั้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา หากนำความเข้าใจดังกล่าวไปใช้จะสามารถเข้าถึงผู้รับบริการได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การพยากรณ์โชคชะตาและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจ”

“Fortune telling and psychological helping process”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)

โดย นางสาวเรวดี สกุลอาริยะ

ที่ปรึกษา ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/17082

Here to heal Online Workshop: Resilience

“Resilience” รดน้ำภายใน ฟื้นใจ เติมพลัง

 

 

Here to heal ชวนคุณมาเรียนรู้การฟื้นคืนพลัง พร้อมลุกขึ้นอีกครั้งในวันที่ใจหมดแรง กับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในหัวข้อเรื่อง “Resilience”

 

โดยวิทยากร อ. ดร.พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในวันเสาร์ที่ 12 มี.ค. 2565  เวลา 10.00-12.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLScG3NvMlLjG2J…/viewform
โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านภายในเย็นวันศุกร์ที่ 11 ก่อนถึงเวลา Workshop ผ่านทาง Email

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

ปัจจัยขัดขวางและปัจจัยเอื้อต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคล

เคยบ้างไหมครับ ที่คุณรู้สึกเครียด มีปัญหาชีวิตต้องแบกรับ คุณอยากจะหาใครสักคนมาคอยปรึกษา แต่เมื่อปรึกษาแล้วคุณก็พบว่าคนที่คุณปรึกษานั้นไม่ได้เข้าใจปัญหาของคุณอย่างแท้จริง หรือคนที่คุณไปปรึกษานั้น ทำได้แค่รับฟังเรื่องราวของคุณอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ หรือมาเป็นที่ระบายเท่านั้น ไม่ได้ช่วยหาทางแก้ปัญหา ที่สำคัญ คุณอาจจะรู้สึกผิดหลังจากที่ได้ระบายเรื่องสำคัญกับเขาไป กลัวว่าความลับขอบคุณจะถูกแพร่งพราย

 

มีหลายคนในโลกที่เลือกจะเก็บความลับนั้นไว้กับตัว บอกใครไม่ได้ เคร่งเครียดอยู่คนเดียว จนนานวันเข้าปัญหาก็ยิ่งทับถมหนักขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

ความจริง อาการเครียด โรคซึมเศร้า ความกังวลเล็ก ๆ น้อย เช่น เครียดเรื่องการเรียน การปรับตัว มีปัญหากับคนรอบข้าง ผิดหวังในความรัก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเจออยู่ทุกวันไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นปัญหาเล็ก ๆ เราก็สามารถแก้เองได้ แต่เมื่อปัญหามีความหนักหน่วงหรือถูกถาโถมเข้ามามากเกินไป ใจเราก็คงไม่ไหวใช่ไหมครับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้าได้รับหนทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ มันจะไม่ลุกลามใหญ่โต และยังช่วยให้การดำเนินชีวิตของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะทราบดีว่าการไปรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตนั้นจะช่วยให้เขาสามารถคลายจากความทุกข์ใจได้ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เมื่อรู้ว่าตนเองมีปัญหาที่แก้ไม่ตก เครียด นอนไม่หลับ แต่ก็ลังเลที่จะไปปรึกษาผู้เชียวชาญ

 

 

ทำไมคนจึงทำเช่นนั้น?

 

สาเหตุหลัก ๆ ก็คือคนกลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่าตัวเองมีปัญหา หรือกลายเป็นผู้ล้มเหลวในสายตาของผู้อื่น โดยเฉพาะสังคมไทยมักจะมีภาพเกี่ยวกับไปปรึกษาเรื่องปัญหาความเครียดกับแพทย์หรือนักจิตวิทยา ว่าจะต้องเป็นคนที่มีปัญหาหนักจริง ๆ ทำนองว่าเริ่มพูดไม่รู้เรื่อง หรือเริ่มเพี้ยน ๆ หรือถ้าจะหมายถึงตัวแปรทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่บ่งชี้ถึงสาเหตุได้ดี นั่นคือ ความกลัวการถูกประทับตราว่าด้อยค่าจากสังคม ขยายความหน่อยว่ามันหมายถึง การที่บุคคลกลัวว่าการไปพบผู้เชี่ยวชาญนั้นจะทำให้สังคมมองว่าตนผิดปกติ ตนไม่สมบูรณ์ มีปัญหาทางจิต กลัวถูกหาว่าเป็นคนบ้านั่นเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้น ถือเป็นอุปสรรคปัญหาสำคัญที่กีดขวางการมาพบผู้เชี่ยวชาญ และทำให้ปัญหาทางสุขภาพจิตที่ตนเผชิญนั้นไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง

 

 

งานวิจัยในต่างประเทศเองก็พบว่าสังคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรับรู้บุคคลที่มีอาการทางจิตในทางลบอยู่แล้ว และการแสวงหาความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการมีความเจ็บป่วยทางจิตได้ โดยงานวิจัยในอดีตพบว่าบุคคลที่ทำการแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพมักจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีอาการทางจิต และถูกรับรู้ในทางลบกว่าบุคคลที่ไม่แสวงหาความช่วยเหลือ และอย่างที่กล่าวไป ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าหมายถึงตนเองมีความอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้ว บุคคลก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ ตรงกันข้าม ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าเป็นวิธีการที่ช่วยให้ตนเองสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่แล้ว บุคคลก็จะเต็มใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น

 

ดังนั้นการจะแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติของเขาว่ามองการแสวงหาความช่วยเหลือในทางบวกหรือทางลบ ถ้ามองในทางลบเขาก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ ถ้าเขามองในทางบวกก็จะทำให้เขาตัดสินใจเข้ารับการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ความทุกข์ของเขาได้รับการจัดการได้อย่างทันท่วงที และทำให้เขาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้โดยเร็ว

 

 

ปัจจัยที่ขัดขวางการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคล นอกจากจะเป็นเรื่องทัศนคติแล้วยังมีเรื่องเพศและอายุร่วมด้วย จากผลสำรวจที่ได้จากงานวิจัยพบว่า เพศหญิงเป็นเพศมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือบ่อยกว่าเพศชาย ที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุอาจเกิดจากจากการยึดบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมของเพศชาย โดยบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมนั้นจะคาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นเพศที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้ที่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ และจากบทบาททางเพศดังกล่าวก็ทำให้ผู้ชายไม่เข้ารับการแสวงหาความช่วยเหลือ ในขณะที่ผู้หญิงจะเลือกที่จะพึ่งพาผู้อื่นมากกว่า นอกจากนี้ อายุก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ จากการสำรวจพบว่าบุคคลที่มีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี หรือบุคคลที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีอายุในช่วงอื่น ๆ

 

 

จากข้างต้น อายุและเพศถือเป็นปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ทีนี้เรามาดูปัจจัยด้านสถานการณ์กันบ้างว่ามีส่วนด้วยหรือไม่

 

สำหรับปัจจัยด้านสถานการณ์ (situational factors) หรือสิ่งแวดล้อม พบว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลให้บุคคลทำการแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้นหรือน้อยลงเช่นกัน ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่สำคัญ ๆ อย่างเช่น การกลัวว่าความลับของตนจะเปิดเผย ถ้าหากเรื่องที่ต้องการปรึกษานั้นเป็นเรื่องที่ผู้แสวงหาความช่วยเหลือต้องการเก็บไว้เป็นความลับกับตัว เขาย่อมไม่อยากให้ใครรู้ชื่อ นามสกุล หรือเห็นหน้าค่าตา ดังนั้นถ้าหากว่าหนทางที่จะเข้ารับการบรรเทาปัญหาในจิตใจเป็นไปอย่างลับ ๆ เช่น ให้โทรศัพท์ไปไปปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือปรึกษาผ่านการเล่น msn กับนักจิตวิทยาก็จะช่วยให้คนกล้าที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น

 

สิ่งที่เราควรจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือ ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ (personality factors) ซี่งส่งผลกระทบต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลเช่นกัน ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่ขี้อายมาก ๆ จะไม่ค่อยกล้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคย โดยบุคคลที่ขี้อายนั้นต้องการที่จะทำให้ผู้อื่นประทับใจและรู้สึกดีกับตนเอง แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นการยากที่จะทำได้เนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง ดังนั้นเมื่อบุคคลที่ขี้อายอยู่ต่อหน้าผู้อื่นนั้นก็จะแสดงออกโดยผ่านการควบคุมเป็นอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มากที่สุด เนื่องจากมองว่าการพูดคุยกับผู้คนในสังคม รวมไปถึงการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา ทำให้บุคคลเหล่านี้หลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ

 

คุณผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า คนขี้อายหรือคนที่เก็บตัวมักไม่ชอบการเปิดเผยตนเอง (self-disclosure) คนพวกนี้มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องส่วนตัวกับผู้คนรอบข้าง ไม่ชอบแสดงความรู้สึกหรือความอ่อนไหวทางอารมณ์ให้ใครเห็น เราจะเห็นคนพวกนี้เป็นคนเย็นชา ดูมีกำแพง ไม่ชอบเปิดใจ ไม่สนิทกับใครง่ายๆ หรือไม่สนิทกับใครเป็นพิเศษ ดูเงียบๆ มีอะไรไม่สบายใจก็ไม่บอกใคร ไม่พอใจอะไรก็เก็บไว้ ทำนองว่าเกรงใจนะครับ ซึ่งสังคมไทยมักจะคิดว่าบุคลิกแบบนี้เป็นบุคลิกที่ดี ถือว่าเรียบร้อย ถือว่ามีกาลเทศะ เพราะสังคมไทยมักจะชอบคนที่มีบุคลิกแบบปิดมากกว่าเปิด ซึ่งผมอยากจะให้คำแนะนำว่าลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพแบบนั้น ไม่ใช่บุคลิกภาพที่สนับสนุนให้เกิดการมีสุขภาพจิตที่ดีครับ

 

ตามหลักการ คนที่กล้าเปิดเผย คนที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นอย่างดี และที่สำคัญคือกล้าบอกให้คนอื่นฟัง มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตดีกว่า โดยเฉพาะในการแสวงหาความช่วยเหลือทุกชนิด ผู้ที่เข้ารับการปรึกษามีความจำเป็นเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองหรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นะครับ การที่บุคคลสามารถตระหนักได้ถึงสภาวะภายในของตนเอง และสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างชัดเจนจะเป็นการดีต่อการให้ความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้หาทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น

 

ที่กล่าวไปข้างต้น คงเห็นแล้วว่าการแสวงหาความช่วยเหลือกับการเปิดเผยตนเองนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้เลย คนที่มีการเปิดเผยตนเองมากกว่าก็มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีการเปิดเผยตนเองน้อยกว่า

 

ดังนั้นการกล้าที่จะเปิดเผยตนเอง ซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง โดยให้เป็นไปอย่างพอดี ๆ ให้สอดคล้องกับหลักกาลเทศะ และวัฒนธรรมไทย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่านะครับ

 

 

เราจะมาว่าด้วยปัจจัยทางสังคมกันบ้าง

 

 

เคยสังเกตไหมครับ ว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ หรือเป็นคนที่ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้นำ เป็นคนที่ถูกจับตามองในสังคมมาก ๆ มักจะไม่ค่อยกล้าแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น หรือไม่ค่อยกล้ายอมรับความล้มเหลวของตนเอง

 

สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจาก การเห็นคุณค่าในตนเอง และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (self-esteem and achievement motivation) นั่นเอง หมายความว่าคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงนั้นจะต่อต้านการแสวงหาความช่วยเหลือเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเขาควรที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือก็เหมือนกับเป็นการยอมรับว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และจะทำให้สูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเอง แต่ในทางกลับกันคนที่มีการรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำก็จะรับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นจึงไม่ทำให้บุคคลสูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเองลงไปอีก

 

เช่นกัน ในคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง หมายถึง บุคคลมีความตั้งใจที่จะเอาชนะปัญหาได้อย่างดีและด้วยความสามารถของตนเองเพียงผู้เดียว ก็จะทำให้บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์นั้นไม่ค่อยแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก เพราะเขามักจะมีความคิดว่าเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ เขาจัดการเองได้ ไม่เห็นต้องไปพึ่งคนอื่นเลย อย่างเขาไม่จำเป็นต้องไปเข้าพบนักจิตวิทยาหรอก จะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราต้องยอมรับกันก็คือ คนทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ฉลาดหรือไม่ฉลาด ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเท่าเทียมกัน

 

ดังนั้นถ้าหากบุคคลมีต้นทุนทางสังคมสูง มีหน้าที่มากมาย มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนักเอาการ การบำรุงรักษาร่างกายและจิตใจให้มีความพร้อมเต็มที่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะถ้าร่างกายและจิตใจของคุณล้มครืนเมื่อไร คนที่ประสบปัญหาไม่ใช่คุณคนเดียว แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้ความรับผิดชอบของคุณ ทำนองว่า ต้นทุนทางสังคมสูง ความเสี่ยงสูง นั่นเอง ดังนั้นการหมั่นตรวจสอบสุขภาพกายใจเนือง ๆ ว่าตอนนี้คุณไหวไหม ท้อไหม เครียดเกินไปไหม เรียนรู้ที่จะหาทางระบายออกซึ่งปัญหาและความเครียดโดยการแสวงหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณและสังคมที่คุณเป็นคนขับเคลื่อนอยู่ด้วย

 

ที่ผ่านมาเราพูดกันถึงแต่ปัจจัยที่เกิดจากตัวบุคคลผู้แสวงหาความช่วยเหลือกันมามาก ทีนี้ผมขอกล่าวถึงปัจจัยของผู้ให้การช่วยเหลือบ้างดีกว่า เป็นที่แน่นอนว่าบุคคลย่อมต้องการที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาที่ตนเองกำลังประสบ งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มารับความช่วยเหลือนั้นจะให้ความสำคัญกับความชำนาญ และความน่าไว้วางใจของผู้ให้ความช่วยเหลือ ความสามารถของผู้ให้ความช่วยเหลือ (helper’s ability) จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ

 

นอกจากนี้ จรรยาบรรณในการรักษาความลับของผู้ให้ความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งชีพ เป็นเหมือนตราสัญลักษณ์ประจำกายที่นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญต้องยึดไว้ ราวกับว่าถ้าสูญเสียมันไปเราก็ไม่อาจเรียกตนเองว่าเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือได้อีกต่อไป งานวิจัยในภายหลังยังพบว่าผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถในการสื่อสาร ความเข้าใจ และการไม่ตัดสินหรือตำหนิผู้รับบริการในทางศีลธรรมนั้นจะประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้ผู้รับบริการเข้ามารับการปรึกษา ตัดสินใจอยู่ในกระบวนการให้การปรึกษาต่อไป และประสบความสำเร็จในการรับบริการ

 

 

ผมขอฝากคำแนะว่าการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือ บุคคลควรเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี วิธีดูก็ง่าย ๆ คือผู้ให้ความช่วยเหลือนั้นควรจะต้องได้รับการยอมรับหรือได้รับการรับรองจากสถาบันต่าง ๆ มาเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลผู้ต้องการแสวงหาความช่วยเหลือ ควรคำนึงไว้ ก่อนเข้ารับการช่วยเหลือนะครับ

 

ทางคณะจิตวิทยาของเรามีการให้บริการให้คำปรึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป ผมขอให้ข้อมูลเผื่อไว้สำหรับคนที่ต้องการใช้บริการนะครับ ว่าสามารถติดต่อไปได้ที่ ศูนย์สุขภาวะทางจิต เปิดให้บริการโดยนักจิตวิทยาและคณาจารย์ของคณะจิตวิทยา ณ ชั้น 5 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ โดยมีเวลาทำการตั้งแต่ 9.00 น. – 17.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (เว้นวันหยุดราชการ) สามารถติดต่อนัดหมายหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-218-1171 หรือ ในช่วงที่มีการปิดสถานที่ทำการ สามารถติดต่อได้ที่ 061-736-2859 หรือ Inbox FB: ศูนย์สุขภาวะทางจิต

 

สุดท้ายนี้ผมขอกระตุ้นเตือนบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในบุคคลที่เป็นผู้นำครอบครัวทั้งหลายให้หมั่นประเมินปัญหาที่ตนเองกำลังประสบว่ารับมือไหวหรือไม่ ถ้ารับมือไม่ไหว อยากให้พิจารณาการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญไว้เป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างที่เราได้เคยเน้นย้ำกันไปแล้วนะครับว่า การสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองของเขา อาจส่งผลสะเทือนไปถึงคนรักหรือคนรอบข้าง ในสังคมไทยที่เราต้องเลี้ยงดูบุพการีและอยู่ใกล้ชิดกับบุพการีมากกว่าในสังคมอื่น ๆ ถ้าเราเป็นอะไรไปคนหนึ่ง ไม่เพียงแค่ลูกและภรรยาของเราเท่านั้น แต่พ่อแม่ของเราก็จะลำบากไปด้วย บุคคลจึงควรมีการประเมินความคุกคามของปัญหาที่บุคคลประสบ ว่าเป็นสิ่งที่อาจกระทบต่อคนในครอบครัวหรือไม่ ถ้าปัญหานั้นกระทบต่อคนรอบข้าง บุคคลก็จะควรทำการแสวงหาความช่วยเหลือ ดีกว่าเพิกเฉย และปล่อยให้ปัญหาบานปลายออกไปนะครับ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/senivpetro

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “เครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา”

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “เครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา” ซึ่งจะจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2565 (เฉพาะวันเสาร์) เวลา 09.00-12.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง โดยคณาจารย์ประจำแขนงวิชาต่าง ๆ ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

 

 

 

โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยาให้แก่ผู้ที่สนใจทำงานวิจัยด้านจิตวิทยา และเพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ในการทำวิจัยหรือการทำงานของตนเอง

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “เครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา” เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทราบเกี่ยวกับเครื่องมือการวัดผลในงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาในเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเลือกใช้เครื่องมือวัดให้เหมาะสมกับโจทย์การวิจัยที่สนใจและตรงประเด็นที่ต้องการ

 

 

หัวข้อการอบรม : (แก้ไขวันที่)

วันที่ 26 มีนาคม 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

เครื่องมือวัดทางจิตวิทยา

โดย อ. ดร.สันทัด พรประเสริฐมานิต

วันที่ 2 เมษายน 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

แบบสอบถามทางจิตวิทยา

โดย อ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

วันที่ 9 เมษายน 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

เครื่องมือวัดในการวิจัยเชิงทดลองและ การตรวจสอบกระบวนการ

โดย อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

วันที่ 30 เมษายน 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพ

โดย อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ

 

ประกอบด้วย : 

– การบรรยาย (ครั้งละ 3 ชม.) 4 ครั้ง 

 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน :

  1. บุคคลทั่วไป หัวข้อละ 600 บาท/ท่าน

*** กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมทั้ง 4 หัวข้อ จะได้รับอัตราค่าลงทะเบียนพิเศษ เหมาจ่าย 2,000 บาท/ท่าน

  1. ศิษย์เก่าและนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ หัวข้อละ 300 บาท/ท่าน

*** กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมทั้ง 4 หัวข้อ จะได้รับอัตราค่าลงทะเบียนพิเศษ เหมาจ่าย 1,000 บาท/ท่าน

 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเกียรติบัตร (ออนไลน์) การเข้าร่วมโครงการจากคณะจิตวิทยา

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน :

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วันทำการ
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

ลิงค์ลงทะเบียนออนไลน์ :

https://forms.gle/tL2bpqrnq3PwLKLR8

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 09-6720-6232 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

การรับมือกับข่าวร้าย

ในชีวิตของเรานั้นคงไม่มีใครสักคนที่สามารถเลือกได้ทุกประการที่จะพบแต่เรื่องที่เป็นที่สบอารมณ์ของตน เราล้วนแต่เผชิญทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทั้งประสบการณ์ที่น่าพึงปรารถนาและไม่น่าพึงปรารถนามากบ้างน้อยบ้าง ต่างกรรมต่างวาระ เป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์เรา

 

ข่าวร้าย หรือ เรื่องร้าย คือ สถานการณ์ภายนอกที่ส่งผลต่อบุคคลที่ได้รับหรือประสบ เป็นปัจจัยภายนอกที่รบกวนความเป็นปกติหรือความสมดุลในชีวิตของบุคคลนั้น ทั้งด้านจิตใจและด้านร่างกาย ข่าวร้ายหรือเรื่องร้ายรวมถึง ความสูญเสีย ความเจ็บปวด เหตุการณ์ท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง กระทบใจอย่างรุนแรง (Trauma) เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่รบกวนจิตใจ สภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องจุกจิกรบกวนในชีวิตประจำวัน

 

ตัวอย่างของข่าวร้าย ได้แก่ การตายของบุคคลผู้เป็นที่รัก การพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักหรือคนสนิทใกล้ชิด การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายหรือรักษายาก ฯลฯ

 

 

เมื่อได้รับข่าวร้าย เกิดอะไรขึ้น

เมื่อได้รับข่าวร้าย บุคคลนั้นจะประเมินด้วยความคิดว่า ข่าวร้ายหรือเรื่องร้ายนั้นมีอันตรายเพียงใด มีความน่ากลัว มีความเจ็บปวดมากน้อยประการใด เกิดการสูญเสียมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเห็นอกเห็นใจ น่าห่วงใย น่ารำคาญ น่าโกรธ มากน้อยเพียงใด จากนั้นอารมณ์ความรู้สึกก็จะเกิดขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลจะถูกรบกวนมากน้อย มีความสั่นคลอน หรือเสียความสมดุลย์ไปมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้

 

  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายนั้นมีความเข้มข้น รุนแรง เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มาเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด
  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกินความคาดเดาหรือเหนือความคาดหมายหรือไม่
  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายดังกล่าวมีความหมายเป็นการส่วนตัวต่อบุคคลที่รับข่าวนั้นหรือประสบเรื่องร้ายนั้นหรือไม่
    .

ผลที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวร้าย

 

  1. ผลทางด้านร่างกายและสุขภาพ เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น
  2. ผลทางด้านจิตใจ หากรับมือกับข่าวร้ายไม่เหมาะสม บุคคลนั้นอาจเกิดอารมณ์ทางลบขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความละอาย ความรู้สึกผิด ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความสิ้นหวัง ความหดหู่ใจ ความวิตกกังวลใจ ความสับสนวุ่นวายใจ ฯลฯ ทำให้สภาวะจิตใจเสียความสมดุลย์ เสียความเป็นปกติสุขได้

อนึ่ง ในบางกรณีอาจเกิดความรู้สึกมึนชาต่อสถานการณ์ เสมือนกับว่าไม่รับรู้เรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น ดูเหมือนกับว่าไม่มีความรู้สึกใด ๆ ต่อข่าวร้ายที่ได้รับ

 

 

เมื่อได้รับข่าวร้ายเรารับมืออย่างไรได้บ้าง

เมื่อรับทราบข่าวร้าย หรือเรื่องร้าย มีแนวคิดที่ควรคำนึงดังนี้

 

  1. ต้องมีสติ รู้ตัว และรับรู้ว่าข่าวนั้นส่งผลต่อตนเอง
  2. ประเมินด้วยความคิด ด้วยสติสัมปชัญญะว่า เรื่องนั้นมีความรุนแรงเพียงใด มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ผู้เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นมีแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือใดบ้าง
  3. การรับมือกับข่าวร้าย อาจทำได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนก่อนที่จะเผชิญกับข่าวร้าย หรือทำได้โดยการจัดการกับตนเองเมื่อรับรู้ข่าวร้ายนั้น

 

การสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองเพื่อรับมือกับข่าวร้าย เป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่า

 

 

แนวทางในการรับมือกับข่าวร้ายที่กำลังรับรู้

เมื่อคนเราได้รับข่าวร้าย มีแนวทางในการรับมือกับข่าวร้ายอยู่หลายประการ ซึ่งคนแต่ละคนอาจจะมีแบบแผน หรือวิธีการในการรับมือกับข่าวร้ายที่แตกต่างกัน หรืออาจจะใช้หลายวิธีการประกอบกันไปก็ได้ ทั้งนี้อาจจะไม่มีคำตอบตายตัวว่าวิธีใดเหมาะสมที่สุด เราแต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงควรสำรวจตนเอง และหาจุดที่พอดีหรือลงตัวสำหรับตนเอง

 

แนวทางเบื้องต้นในการรับมือกับข่าวร้าย มีดังนี้

 

  1. เผชิญโดยตรง ด้วยการมองบวก มีความรักและเมตตาตนเอง
  2. ระบายความรู้สึกกับบุคคลที่ไว้ใจได้ และมีความเข้าใจเรา
  3. หาแหล่งสนับสนุนทางสังคม เช่น เพื่อน ชมรม กลุ่ม ฯ ที่ช่วยให้เราคลายความทุกข์จากข่าวร้าย
  4. หาแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือที่มาของข่าวร้าย เช่น โรงพยาบาล ตำรวจ นักกฎหมาย ธนาคาร ฯลฯ
  5. หากิจกรรมผ่อนคลายลักษณะต่างๆที่ไม่เป็นโทษ ได้แก่ การ ออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การฟังดนตรี การปลูกต้นไม้ การทำงานอดิเรกต่างๆ การเล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  6. การหลบเลี่ยงจากสถานการณ์ชั่วคราว

นอกจากนี้ เรายังมีแนวทางในการฝึกฝนตนเองเพื่อรับมือกับข่าวร้าย ซึ่งเป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่า ดังนี้

 

การสร้างภูมิป้องกันตนเองก่อนที่จะมีข่าวร้าย เป็นการรับมือกับข่าวร้ายที่มุ่งพัฒนาคุณลักษณะในตนของบุคคลให้มีความเข้มแข็งมั่นคง และมีแนวทางในการคิด ในการอยู่กับสถานการณ์อย่างสุขุมรอบคอบ มีสติ และมีทักษะในการดำเนินชีวิตที่มีหลักการ มาจากกระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นแนวทางที่ยั่งยืน มิใช่วิธีการที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

 

การสร้างภูมิป้องกันตนเอง ทำได้ดังนี้

 

1. รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง และให้ความรักความเมตตาต่อตนเอง

 

ทำได้โดยการฝึกจิตฝนใจตนให้รู้จักพิจารณาตนเองอยู่เสมอ ใคร่ครวญ ทบทวนการคิดการพูดการกระทำของตนเอง ให้เกิดความรู้เท่าทัน เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ถลำไปในทางที่ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นทั้งในทางความคิด คำพูด และการกระทำ นอกจากนี้จะต้องใคร่ครวญให้เข้าใจตนถึงสาเหตุการกระทำของตน โดยวิเคราะห์หาเหตุหาผลอย่างตรงไปตรงมา การฝึกสติและสมาธิในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่เสมอโดยไม่ผัดผ่อน เพราะเป็นเสมือนเสาหลักที่มั่นคงทางใจ แม้ชีวิตจะมีเหตุจากภายนอกมากระทบเช่นไรก็ย่อมไม่กระทบกระเทือนจนถอนรากถอนโคน สามารถคืนสู่ความสมดุลได้ง่าย

2. ฝึกวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และลดการคิดที่ขาดเหตุผล เช่น

  • คนเราต้องมีความสมบูรณ์แบบ ความล้มเหลวเป็นสิ่งชั่วร้าย
  • การมีชีวิตที่ดี เราจะต้องไม่มีปัญหาใด ๆ
  • เมื่อเราเป็นคนดี ทุกคนควรจะรักเรา
  • ทุกสิ่งควรจะเป็นไปตามความคาดหวังของเรา
  • สิ่งทั้งหลายย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • คนเราสามารถจัดการทุกสิ่งได้

 

3. ฝึกทักษะที่จำเป็นในการสื่อสาร

 

ได้แก่ การฝึกปฏิเสธ การฝึกพฤติกรรมยืนยันสิทธิของตน การฝึกฟังและพูดอย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. ฝึกทักษะการดำเนินชีวิต และการแก้ปัญหาต่าง ๆ

 

ได้แก่ การรู้จักและเข้าใจตนเอง การวางแผนชีวิต การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งระยะสั้น และระยะยาว การคิด การตัดสินใจ การใช้วิจารณญาณ

 

สิ่งสำคัญที่อยากจะสรุปไว้เพื่อรับมือกับข่าวร้ายก็คือ

 

สติสัมปชัญญะ การอยู่กับปัจจุบัน ตามความเป็นจริง และยอมรับความเป็นจริง การรู้จักวางใจให้เป็นอุเบกขา ให้เป็นกลาง ให้มีความสมดุลย์ รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของชีวิต ตามหลักธรรมชาติซึ่งมาจากการมีปัญญาเข้าถึงกฎแห่งความเป็นจริงของชีวิตตามหลักของเหตุของปัจจัยตามธรรมชาติ

 

 

สุดท้ายนี้ ขอเสนอแนวคิดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการฝึกจิตใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเอง เนื่องจากร่างกายกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ เมื่อเกิดความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ก็ตามก็มักจะส่งผลต่อร่างกาย สิ่งใกล้ตัวที่เราสังเกตได้ง่ายคือการหายใจของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความเครียด เราจะหายใจไม่ได้เต็มที่ เช่น เมื่อเกิดความตื่นเต้น เกิดความกลัว เราอาจหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเราโกรธ เราอาจหายใจแรงขึ้น สั้นลง เป็นต้น

 

หากเราฝึกสังเกตลมหายใจเข้าและออกของเราอยู่เสมอ โดยสังเกตตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับควบคุมใด ๆ เราจะมีสติรู้เท่าทันในตนเอง เมื่อใดก็ตามเราได้รับเรื่องราวข่าวร้าย (แม้แต่ข่าวดีก็ตาม) และเกิดความรู้สึกนึกคิดใดขึ้น เราจะสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการหายใจของเรา การสังเกตลมหายใจทางกายนี้ก็เป็นการสังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจิตใจของเราตามความเป็นจริง ตัวอย่างเช่นเมื่อเราเกิดความโกรธ เมื่อรับข่าวร้าย เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธตนเองว่าเราไม่ได้โกรธ เราไม่ต้องผลักไสความรู้สึกของตนเอง ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เราเกิดความขุ่นเคืองมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อความรู้สึกโกรธยังไม่จางหายไป แทนที่เราจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจ เราสังเกตการหายใจของเราตามความเป็นจริง เท่ากับว่าเรากำลังเผชิญความจริงนั้นโดยไม่หลบเลี่ยง ไม่เก็บกดอารมณ์

 

การฝึกสังเกตลมหายใจจะทำให้เรามีสติ รับรู้ความเป็นจริงทั้งภายนอกที่เกิดกับร่างกายของเรา และรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

 

หากเราฝึกที่จะสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติโดยไม่เพิ่มพูนความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ไม่ตอบโต้โดยเสริมเติมความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เราเรียนรู้ที่จะวางใจให้เป็นกลางต่อปรากฏการณ์ที่เราสังเกตได้ จิตใจของเราจะคืนสู่สภาวะสมดุลย์ได้เร็วขึ้น เราจะสามารถมีความสงบได้ไม่ว่าจะมีข่าวร้ายหรือข่าวดี ชีวิตก็จะสงบสุขมากขึ้น

 

 


 

 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University