News & Events

โครงการอบรมพื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2565

โครงการอบรมพื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2565

 

 

 

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วม โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2565 โดย อบรมผ่านโปรแกรม ZOOM ระหว่างวันที่ 9 – 17 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 – 21.00 น. และสอบวัดผล ในวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 – 21.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมและสอบวัดผลทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง อบรมและบรรยายโดย คณาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้สนใจทั่วไป และเป็นการปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในทฤษฏีและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้ที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้สนใจทั่วไป

 

เนื้อหาการอบรมจะมุ่งเน้นไปที่ พื้นฐานความรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ และความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในแต่ละช่วงวัย โดยคาดหวังว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมจะมีความรู้ และความเข้าใจทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการ รวมถึงเนื้อหาในด้านจิตวิทยาพัฒนาการเบื้องต้น เพื่อนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการทำความเข้าใจ และสร้างผลงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการในเชิงลึกต่อไปได้

 

 

ผู้เข้าอบรมจะได้รับ วุฒิบัตรเพื่อใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา ได้ผู้เข้าอบรมจะต้องผ่านเกณฑ์การวัดผลดังนี้

  • ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง (18 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผลข้อเขียน โดยผ่านเกณฑ์การประเมิน 70% ขึ้นไป

 

หัวข้อการฝึกอบรม

 

 

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2565

อัตราค่าลงทะเบียน

 

*บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว
มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ*
โดยท่านสามารถชำระเงินได้ผ่าน QR Code ด้านล่างนี้

 

และท่านสามารถลงทะเบียน พร้อมแนบหลักฐานการชำระเงินได้ที่ https://forms.gle/4EPSWJzNy5j8rRCj6
ตั้งแต่ วันนี้ – วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 เวลา 16.00 น.

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “จิตวิทยากับความรัก”

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “จิตวิทยากับความรัก”

 

ซึ่งจะจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ระยะเวลา : วันที่ 4 และ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. (รวม 2 วัน / 4 หัวข้อ / 6 ชม.) โดยคณาจารย์ประจำแขนงวิชาต่าง ๆ ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

 

 

DAY1 – วันศุกร์ที่ 4 ก.พ. 65

  • ทฤษฎีจิตวิทยากับความรัก 13.00 – 14.30 น.

วิทยากร: ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

  • จิตวิทยาการเลือกคู่ และความสัมพันธ์ทางเพศ 14.30 – 16.00 น.

วิทยากร: รศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

 

 

DAY2 – วันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 65

  • การจบความสัมพันธ์เมื่อรักถึงทางตัน 13.00 – 14.30 น.

วิทยากร: อ.ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

  • เมื่ออกหักจะรับมืออย่างไร 14.30 – 16.00 น.

วิทยากร: อ.ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

 

 

การอบรมในวันที่ 4 ก.พ. 65 ผู้เข้าร่วมการอบรมจะสามารถเข้าชมย้อนหลังได้ถึงวันที่ 11 ก.พ. 65 เวลา 12.00 น. และการอบรมในวันที่ 11 ก.พ. 65 ผู้เข้าร่วมการอบรมจะสามารถเข้าชมย้อนหลังได้ถึงวันที่ 18 ก.พ. 65 เวลา12.00 น. โดยจนท.โครงการจะ approve การชมย้อนหลังเฉพาะผู้มีสิทธิ์เข้าชมเป็นรายบุคคลและรายครั้งค่ะ

 

อัตราค่าลงทะเบียน : 300 บาท (100 ที่นั่ง)

ลิงค์ลงทะเบียนออนไลน์ : https://forms.gle/7ZQbU9c1UHzreR6C7

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 09-6720-6232 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

ความหมายในชีวิตจากสิ่งที่มีอยู่

 

เมื่อบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้วกลับเข้ามานั่งในที่นั่งของตนเอง ฉันที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ดูแลก็สังเกตเห็นว่า สิ่งแรกที่บัณฑิตทำเมื่อกลับมานั่งเรียบร้อยก็คือการนั่งอ่านปริญญาบัตรของตัวเอง แน่นอนทุกคนก็คงตรวจสอบว่าชื่อของตัวเองบนปริญญาบัตรถูกต้องหรือไม่ซึ่งก็คงใช้เวลาไม่นานนักในการตรวจสอบ แต่ทว่าบัณฑิตหลายคนกลับนั่งดูปริญญาบัตรของตัวเองนานกว่านั้นมาก บางคนนั่งอ่านนานหลายนาที ทำให้ฉันนึกได้ว่าบัณฑิตเหล่านั้นคงกำลังรับรู้อะไรบางอย่างที่มี “ความหมาย” มากกว่าข้อความที่ปรากฏอยู่บนปริญญาบัตร

 

 

ความหมายที่แต่ละคนรับรู้นั้นคงไม่เหมือนกัน และไม่มีทางที่จะเหมือนกัน เพราะความหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์เรากำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะให้คุณค่ากับมัน ในทุกวันนี้หลายคนตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า ฉันมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ความหมายในชีวิตของฉันคืออะไร เพราะอะไรฉันถึงต้องมีชีวิตอยู่ จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นความรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้า เบื่อหน่าย และไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

 

 

Viktor Frankl จิตแพทย์ชาวเวียนนา ผู้คิดค้นจิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต (Logotherapy) กล่าวไว้ว่า ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เราขาดแรงจูงใจภายใน และหันไปพึ่งพาสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้สิ่งแวดล้อมภายนอกเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเรามากขึ้น มากจนกลายเป็นข้อจำกัดให้เราไม่สามารถทำอะไร ไม่มีอิสรภาพ และรับรู้ว่าชีวิตของเราไร้ความหมายในที่สุด (Frankl, 1988)

 

เมื่อชีวิตตกอยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอย หายใจทิ้งไปวัน ๆ เพราะทุกอย่างในชีวิตถูกกำหนดมาแล้ว ฉันไม่สามารถหลีกหนีจากโลกและสังคมตรงนี้ได้ หรือในบางกรณีที่เราใช้ชีวิตสนใจแต่ตัวเองจนลืมคุณค่าของคนอื่น ทั้งหมดล้วนเป็นทัศนคติและมุมมองที่ทำให้ความหมายในชีวิตของเราหายไปได้ การดำเนินชีวิตด้วยทัศนคติดังกล่าวเป็นการดำเนินชีวิตที่คำนึงถึง “สิ่งที่ควรจะเป็น” มากกว่า “สิ่งที่เป็นอยู่”

 

ดังนั้น การกลับมาดำเนินชีวิตภายใต้ทัศนะสิ่งที่ฉันเป็นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรากลับมาตระหนักในตัวเองมากขึ้น มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรา มองสิ่งที่เรามีอยู่ มองสิ่งที่อยู่รอบข้างของเรา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเริ่มค้นหาความหมายในชีวิตของเรา หากเราทำสิ่งของสักชิ้นหาย เราก็จะนึกทบทวนว่าเราเห็นของชิ้นนั้นครั้งสุดท้ายที่ไหนเมื่อไหร่ แล้วค่อยเริ่มค้นหาจากจุดนั้น ความหมายในชีวิตก็ไม่แตกต่างกัน เราเองก็คงต้องกลับมานึกทบทวนชีวิตที่เป็นอยู่ ชีวิตที่เรามีอยู่ สิ่งรอบข้างผู้คนรอบตัวของเราเช่นกัน

 

มนุษย์เราเป็นคนให้ความหมายในชีวิตของตัวเอง

เช่นเดียวกับที่บัณฑิตแต่ละคนที่ใช้เวลาคำนึงถึงความหมายในชีวิตจากปริญญาบัตรที่อยู่ในมือของตนเอง

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Frankl, V. E. (1988). Man’s search for meaning. Simon and Schuster.

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/photos/flat-lay

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เล่าให้กันฟัง EP.12

กิจกรรมยามว่างที่ทำแล้วสบายใจ คืออะไรกันคะ?

“ดูหนัง” คงเป็นหนึ่งในคำตอบต้น ๆ ที่เรามักจะได้ยินเป็นแน่
วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้วิจัยที่มีความสนใจในภาพยนตร์และยังมีโอกาสนำภาพยนตร์มาเป็นสื่อในการดูแลจิตใจผ่านงานวิจัยด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ อยากให้แนะนำตัวสำหรับผู้อ่านค่ะ
– สวัสดีค่ะ ชื่อนก ชิดชนก จินตนาวุฒิค่ะ จบปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ปัจจุบันทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ

เท่าที่ทราบ นกสนใจด้านภาพยนตร์
– ต้องบอกว่า ส่วนตัวการดูหนังเป็นกิจกรรมที่ใช้บ่อยเพื่อให้ความบันเทิง ผ่อนคลาย เราชอบแนว Thriller สืบสวน ฆาตกรรม สยองขวัญ หรือ แนวAnimation ก็ชอบนะคะ มักจะให้ความสำคัญที่ plot, production การตัดต่อ การถ่ายทำ หนังแต่ละแบบให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น Animation เราชอบภาพน่ารัก ลายเส้นสวย ส่วน Thriller ให้ความรู้สึกตื่นเต้น ลุ้นระทึก ได้สัมผัสอารมณ์ที่มักไม่ค่อยเจอในชีวิตประจำวัน คาดเดาไม่ได้ ได้ติดตามต่อ เพราะหนังประเภทนี้จะมีจุดหักมุม ชวนให้เราหลุดเข้าไปในนั้นได้ การวางเรื่องมีความสมเหตุสมผล ถึงจะรู้ว่าในโลกจริงไม่มีแต่มีที่มาที่ไป

อยากให้นกเล่าจุดเริ่มต้นที่สนใจงานภาพยนตร์กับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
– ตอนช่วงม.ปลายเรียนสายคอมพิวเตอร์ และช่วงเรียนป.ตรี ได้มีโอกาสทำหนังสั้นส่งประกวดกับเพื่อน ๆ เป็นช่วงแรกของการเข้าไปรู้จักโลกของหนังมากขึ้น ทำให้การดูหนังกลายเป็นกิจกรรมที่ชอบ ที่ผ่านมาเราได้ยินดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด พอมาเรียนจิตวิทยาการปรึกษาเราอยากรู้ว่าแล้วภาพยนตร์บำบัดมีไหม เลยมีโอกาสได้ศึกษางานด้านนี้ต่อยอด

งานวิจัยกลุ่มบำบัดโดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเป็นอย่างไร
– เป็นความตั้งใจเดิมอยู่แล้วค่ะ เราเรียนจิตวิทยาการปรึกษาและทำกลุ่มการปรึกษามาอยู่แล้ว พอดีได้มีโอกาสเจออาจารย์ด้าน Media psychology เลยยิ่งสนใจศึกษางานในต่างประเทศมากขึ้น พบว่า งานในต่างประเทศมักใช้เครื่องมือนี้กับผู้ที่ได้รับ การวินิจฉัยแล้ว เช่น มีความบกพร่องทางด้านอารมณ์ ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ให้ผู้รับบริการได้มีโอกาสพูดคุยถึงตัวละคร ลดการต่อต้านหรือการป้องกันตัวเองของผู้รับบริการ ค่อยๆ เชื่อมโยงสู่ตัวเขาและเป็น role model ที่ผ่านการคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหาของตัวละครด้วยเช่นกัน

งานวิจัยครั้งนี้ ทำเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เราใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีพื้นที่ปลอดภัย ได้รับการ support ค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มีมุมมองต่อโลกที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น บางเรื่องทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยรุ่น การก้าวพ้นช่วงวัย ตัวละครจะต้องเจอกับประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาโตขึ้น ในกลุ่มจะค่อย ๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร แล้วนำสิ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มต่อ

สิ่งที่น่าสนใจในงานนี้คืออะไร
– จากผลการวิจัย ทำให้เห็นว่า การทำกลุ่มการปรึกษาเป็นสิ่งที่น่าสนใจทั้งในรูปแบบออนไลน์และแบบเจอตัว เป็นโอกาสในการสำรวจตนเอง การนำภาพยนตร์มาใช้ช่วยสร้างพื้นที่เยียวยาอีกช่องทางหนึ่ง ในอนาคตหากมี guidline งานด้านนี้มากขึ้น จะเป็นเครื่อมือที่เป็นประโยชน์ในการสำรวจและสะท้อนตนเองได้ดีด้วยค่ะ

มีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่าน
– ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องเป็นมากกว่าสื่อที่ให้ความเพลิดเพลิน สามารถสะท้อนมุมมองประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับตัวเราเรียนรู้ได้ แต่การดูภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงก็ยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยเยียวยาใจเราได้เหมือนกันนะ
บางคนอาจจะเลือกดูหนังเป็นเพื่อนแก้เหงา
บางคนเลือกดูหนังเพราะชื่นชอบตัวละคร
บางคนเลือกดูหนังเพราะเป็นตัวแทนชีวิต
หรือบางคนดูหนังเพียงแค่อยากดู
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราเชื่อว่าการที่ได้ตัดสินใจใช้เวลาทำในสิ่งที่ชอบและดีต่อใจก็มีคุณค่ามากเพียงพอแล้ว

 


ผู้สัมภาษณ์: วรกัญ 
ภาพประกอบ: ชิดชนก

 


 

ศูนย์ Life Di สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในการพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรและสร้างเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชนไทย

ศูนย์ Life Di คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)
ในการพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรและสร้างเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชนไทย

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di Center) โดยมีท่านอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางจตุพร โรจนพานิช และคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว และมีรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ และ หัวหน้าโครงการ Life Di Center รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

 

.

โดยความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ

  1. สร้างความร่วมมือในการแสวงหาแบบปฏิบัติที่ดีสำหรับการพัฒนาเด็ก เยาวชน ผู้ทำงานด้านเด็ก และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน
  2. จัดทำหลักสูตรสำหรับการพัฒนาเด็ก เยาวชน ผู้ทำงานด้านเด็ก และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน
  3. การพัฒนาบุคลากร (Upskill/Reskill/ฝึกงาน) ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและการฝึกงานของนิสิตในสถานรองรับและสถาบันในสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน
  4. การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านเด็กและเยาวชน เช่น องค์ความรู้เส้นทางอาชีพอนาคต และทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อการพัฒนาเด็ก และเยาวชน เป็นต้น

 

การสร้างความร่วมมือระหว่าง Life Di Center และกรมกิจการเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ ถือเป็นการรวมพลังของสองหน่วยงาน ในการนำองค์ความรู้และทรัพยากรด้านต่างๆ มาร่วมกันเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็ก และเยาวชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากร และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะได้รับโอกาสในการทำความรู้ไปสู่การปฎิบัติจริงผ่านการทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

.

********

💞 ติดตามกิจกรรมของ Life Di Center ได้ที่
www.chulalifedi.com หรือ Facebook : Chulalifedi
หรือสอบถามข้อมูลที่ Line ID : @chulalifedi โทรศัพท์ 02-2181339

ความทรงจำคืออะไร?

Memory: processes involved in retaining, retrieving, and using information about stimuli, images, events, ideas, and skills after the original information is no longer present (Goldstein, 2011)

 

 

ความทรงจำ หมายถึง การบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ของเราผ่านการเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรมาก็ตามมันจะถูกบันทึกเข้าความทรงจำของเรา ความทรงจำจะประกอบไปด้วยกระบวนการเก็บ ดึงออกมา และ การใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รูป เหตุการณ์ ไอเดีย หรือ สกิลในการทำอะไรต่าง ๆ หลังจากที่ข้อมูลดั้งเดิมไม่ได้มีอยู่แล้วตรงหน้าเราแล้ว เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับว่าเมื่อวานตอนเย็นเราทานอะไรเป็นอาหารเย็นหรือไม่ได้ทานเลย หรือ เราได้จอดรถไว้ที่ไหน ความทรงจำถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเรามากในการดำรงชีวิต ถ้าหากไม่มีกลไกที่ทำให้เราจำสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา เราก็จะไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย

 

 

ความทรงจำของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

ในการที่เราจะสร้างความทรงจำใหม่ ข้อมูลที่ได้รับมาจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ใช้งานได้ ซึ่งเกิดขึ้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการเข้ารหัส (encoding) เมื่อเข้ารหัสข้อมูลสำเร็จแล้ว จะต้องเก็บไว้ในหน่วยความจำเพื่อใช้ในภายหลัง นักวิจัยเชื่อกันว่าความทรงจำถูกสร้างขึ้นผ่านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงที่มีอยู่หรือการเติบโตของการเชื่อมต่อใหม่ระหว่างเซลล์ประสาท

 

จากการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ พบว่า การเปลี่ยนแปลงในการเชื่อมต่อที่ช่องว่างระหว่างเซลล์ที่เรียกว่า “ไซแนปส์” สัมพันธ์กับการเรียนรู้และการเก็บรักษาข้อมูลใหม่ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อนี้จะช่วยส่งข้อมูลไปยังหน่วยความจำ ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมหากเราต้องการที่จะจำอะไรได้ เราจะต้องมีการทวนซ้ำข้อมูลที่เราต้องการจะจำ เพราะการทวนซ้ำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำข้อมูลที่เราต้องการจะจำได้นั่นเอง ทุกครั้งที่เราทวนซ้ำจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้นั่นเอง

 

 

ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจำได้แล้ว มีความรู้สึกเป็นอย่างไรเมื่อความทรงจำของเราได้ถูกจำไปแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักที่จะไม่รู้ว่าเราจำได้แล้ว เว้นแต่เวลาที่เราต้องการที่จะใช้หน่วยความจำนั้น หรือถูกถาม เราถึงจะรู้ได้ว่าเราจำมันได้หรือไม่ ซึ่งการที่ทำให้เราสามารถตอบได้นั้นจะต้องมีการดึงหน่วยความจำที่เราเก็บเอาไว้มาใช้ (retrieval)

 

 

ในปี 1968 Atkin and Shiffrin ได้เสนอโมเดลว่าหน่วยความจำของเรานั้นมันมีหลายแบบ โดยเขาได้แบ่งความทรงจำเป็น 3 แบบ ได้แก่ sensory memory, short-term memory, และ long-term memory เริ่มมาจากการที่เรารับรู้ถึงอะไรบางอย่างก่อน เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามา หรือมี input เข้ามา อันดับแรกสิ่งเร้านั้นจะเข้าไปอยู่ใน sensory memory ของเรา sensory memory คือความทรงจำที่เกี่ยวกับข้อมูลของสิ่งที่เรารับรู้มา แต่ว่า sensory memory จะอยู่กับเราสั้นมาก ๆ เพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในวันปีใหม่ที่มีการจุดพลุกัน พอเขาจุดพลุ ทำให้ที่ตรงนั้นมันสว่าง ทำให้เราสามารถมองเห็นหน้าคนข้าง ๆ เราได้ และเมื่อพลุค่อย ๆ ดับลง ในความมืดนั้น เรายังจะสามารถมองเห็นหน้าคนข้าง ๆ เราได้อยู่อีกพักหนึ่ง เป็นเพราะ sensory memory ของเราทำให้เราสามารถจำจดใบหน้าคนข้าง ๆ ได้อยู่ หลังจากนั้นแล้วหากความทรงจำนี้เป็นความทรงจำที่เราสนใจจดจ่ออยู่กับมัน ความทรงจำนี้ก็จะถูกส่งไปยัง short term memory หรือ ความทรงจำระยะสั้น ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถจำใบหน้าของคนที่อยู่ข้าง ๆ เราได้นานว่าเดิมเล็กน้อย เพราะความทรงจำระยะสั้นจะสามารถอยู่กับเราได้นานกว่า sensory memory เราจะสามารถประมวลข้อมูลได้ประมาณ 5-7 อย่างพร้อม ๆ กันในเวลา 15-20 วินาที และหากเราได้มีการทบทวนข้อมูลที่เราต้องการที่จะจำซ้ำ ๆ ข้อมูลนั้นก็จะถูกส่งไปยัง long term memory หรือความทรงจำระยะยาวที่จะเก็บความทรงจำเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งความทรงจำพวกนี้จะอยู่เป็นปี ๆ จนถึง 10-20 ปีก็ยังได้

 

 

เพราะฉะนั้นหากเราต้องการที่จะจำอะไรได้ เราควรที่จะทบทวนข้อมูลนั้นซ้ำ ๆ เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความจำนั้น ยิ่งทบทวนมากเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสที่จะจำได้มากขึ้นค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Atkinson, R. C., & Shiffrin, R. M. (1968). Human memory: A proposed system and its control processes. In Psychology of learning and motivation (Vol. 2, pp. 89-195). Academic Press.

 

Goldstein, E. B. (2019). Cognitive psychology: Connecting mind, research and everyday experience (5th ed.). Cengage. ISBN: 9781337408271

 

Malmberg, K. J., Raaijmakers, J. G., & Shiffrin, R. M. (2019). 50 years of research sparked by Atkinson and Shiffrin (1968). Memory & cognition47(4), 561-574.

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

 

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)
และอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การถูกปฏิเสธจากกลุ่ม – Social/Group Rejection

 

 

การถูกปฏิเสธจากกลุ่ม คือ การที่สมาชิกในกลุ่มแสดงพฤติกรรมเพิกเฉย ไม่สนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมากเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย การถูกปฏิเสธหรือถูกขับออกจากกลุ่มจึงอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเช่นเดียวกับการเจ็บปวดทางกาย อันเป็นกลไกพื้นฐานที่ส่งสัญญาณว่ามีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้น

 

กล่าวได้ว่าการถูกปฏิเสธจากกลุ่มเป็นการลงโทษทางสังคมวิธีหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่ถูกปฏิเสธรับรู้ว่าตนเองมีโอกาสที่จะอยู่รอดในสังคมได้น้อยลง รู้สึกว่าตนไร้ค่า เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีตัวตน เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ความตายทางสังคม

 

การถูกปฏิเสธจากกลุ่มเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ในกลุ่มเด็ก จะใช้การปฏิเสธหรือขับออกจากกลุ่มเวลาที่เล่นด้วยกัน ในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงจะใช้การปฏิเสธเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะกัน ส่วนในผู้ใหญ่ เกือบทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์เป็นผู้ปฏิเสธและถูกปฏิเสธมาแล้วทั้งสิ้น

 

ในการสำรวจชาวอเมริกันกว่า 2,000 คน พบว่า มีจำนวน 67% รายงานว่าเคยใช้วิธีเงียบ ไม่พูดกับคนรักเมื่อต้องการปฏิเสธ มี 75% ระบุว่าเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกคนรักไม่พูดด้วย และจากคำรายงานของพลเมืองผู้สูงอายุพบว่า การถูกสังคม เพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกครอบครัวเพิกเฉย มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจในชีวิต นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการประเมินตนเองในทางลบ และบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการถูกปฏิเสธมักรู้สึกทางลบต่อคนที่ปฏิเสธตน อย่างไรก็ดี เมื่อมีโอกาสบุคคลที่ถูกปฏิเสธก็มักพยายามทำดีเพื่อที่ตนจะได้กลับไปเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เพื่อป้องกันความรู้สึกไม่สบายใจจากการถูกปฏิเสธ บุคคลจะพยายามนำความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคืนมาด้วยการพยายามจดจำข้อมูลของกลุ่มมมากขึ้น รักผู้อื่นมากขึ้น หรือกระทั่งคล้อยตามบรรทัดฐานของกลุ่มมากขึ้นแม้ว่าตนจะไม่เห็นด้วย

 

 

ความแตกต่างระหว่างบุคคลต่อการตอบสนองเมื่อถูกปฏิเสธจากกลุ่ม

 

1. การเห็นคุณค่าแห่งตน (Self-esteem)

 

บุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ เมื่อถูกปฏิเสธจะรายงานอารมณ์ลบว่ารู้สึกเจ็บปวดมากกว่า และจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือรู้สึกได้ไวกว่าบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองสูง

 

2. ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cultural differences)

 

ในด้านความรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ในวัฒนธรรมตะวันตก (อเมริกา) ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการเป็นส่วนหนึ่งอย่างหลวม ๆ กว้าง ๆ หมายความว่าชาวตะวันตกจะมีความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะยืดหยุ่น เพราะเหตุนี้ชาวตะวันตกจะเชื่อใจและสนิทสนมกับคนแปลกหน้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ถูกคนแปลกหน้าทำร้ายจิตใจได้ง่าย ๆ เพราะมีจิตใจเปิดกว้าง ขณะที่ชาวตะวันออก (ญี่ปุ่น) ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการเป็นส่วนหนึ่งอย่างมั่นคงปลอดภัย หมายความว่าพวกเขาจะคาดหวังในความสัมพันธ์ว่าจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต ดังนั้นชาวตะวันออกจะระแวดระวังในการปฏิสัมพันธ์หรือสนิทสนมกับคนแปลกหน้า ทั้งนี้ผู้ร่วมการทดลองจากทั้งสองวัฒนธรรมต่างรู้สึกไม่สบายใจต่อการถูกปฏิเสธเหมือนกัน แต่ผู้วิจัยพบว่า ชาวอเมริกันในตอนแรกจะเชื่อในคู่รักของตนมาก และเมื่อถูกปฏิเสธพวกเขาลดความประทับใจที่มีต่อคู่รักในด้านความรู้สึกอบอุ่น คุณสมบัติ และความเข้ากันได้ ส่วนชาวญี่ปุ่นเมื่อถูกปฏิเสธ จะลดแค่ความรู้สึกอบอุ่นที่มีต่อคู่รักเท่านั้น แต่ยังคงความประทับใจต่อคู่รักในด้านคุณสมบัติและความเข้ากันได้ไว้ที่ระดับกลาง ๆ

 

3. รูปแบบความผูกพัน (Attachment style)

 

เด็กที่ค่อนข้างขาดความอบอุ่น เช่น ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่ของตนและมีความอบอุ่น ซึ่งการตอบสนองในวัยเด็กนี้จะส่งผลระยะยาวไปถึงวัยผู้ใหญ่ คือ เมื่อถูกปฏิเสธจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อด้านสังคม บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (secure) สามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และมักไม่กลัวการถูกปฏิเสธ มีความมั่นคงทางอารมณ์สูง ส่วนบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบขาดความใส่ใจ (dismissing) เมื่อถูกปฏิเสธจะไม่แสดงอาการหรืออารมณ์โกรธออกมา แต่จะลดความสัมพันธ์กับผู้อื่นลง ขณะที่บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (preoccupied) และแบบหวาดกลัว (fearful) จะแสดงความโกรธเมื่อถูกปฏิเสธมากกว่าแบบอื่น ๆ

 

4. รูปแบบความเป็นมิตร (Agreeableness)

 

ลักษณะความเป็นมิตรเป็นหนึ่งในห้าของบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ ที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้อื่น มีความยืดหยุ่น สามารถพูดคุยตกลงรอมชอมกับผู้อื่นได้ดี มักมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง บุคคลที่มีลักษณะนี้สูงจึงมักใส่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่น เมื่อถูกปฏิเสธบุคคลเหล่านี้จะมีการตอบสนองที่หนักและรุนแรงกว่า

 

5. ลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธ (Rejection sensitivity)

 

บุคคลที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธสูงมีแนวโน้มจะคาดการณ์ว่าตนจะถูกปฏิเสธอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์อาจไม่ได้เกิดขึ้น บุคคลมักตีความสถานการณ์ที่กำกวมว่าตนกำลังจะถูกปฏิเสธ ดังนั้นจึงมักตอบสนองต่อการถูกปฏิเสธอย่างเป็นปฏิปักษ์ ด้วยความวิตกกังวลและใส่ใจมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น การที่บุคคลกลัวการถูกปฏิเสธและมักวิตกกังวลว่าจะจะถูกปฏิเสธนี้พัฒนามาจากประสบการณ์การถูกปฏิเสธในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้น การรับรู้ว่าตนถูกปฏิเสธเป็นตัวกระตุ้นทั้งอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมามากเกินความจริง ทั้งอารมณ์โกรธ อิจฉา และพยายามควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม บุคคลที่มีความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธสูงมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจมีการปฏิเสธ กระทั่งหลีกเลี่ยงการการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่บุคคลจะได้รับการยอมรับในสังคมก็ลดน้อยลงไปด้วย

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการถูกปฏิเสธจากกลุ่มต่อการคล้อยตามกลุ่ม : การศึกษาอิทธิพลกำกับของความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่ออิทธิพลส่งผ่านของความก้าวร้าว” โดย ธีร์กัญญา เขมะวิชานุรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46118

 

ภาพประกอบ https://www.rawpixel.com/

Reverse Culture Shock

“Reverse Culture Shock”

ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรมเมื่อกลับสู่ถิ่นฐานเดิม

รู้สึกแปลกแยก เบื่อ คิดถึงที่ที่จากมา ไม่คุ้นชินกลับบ้านเกิด

เกิดอะไรขึ้นกับเราเมื่อกลับประเทศมา

 

 

Here to heal ชวนคุณมาทำความรู้จัก “Reverse Culture Shock” ใน Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในหัวข้อเรื่อง “Reverse Culture Shock”          

โดยวิทยากร อ. ดร. พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 10.00-12.00

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/1tjTUtNyYGWgHu2J9

โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านในวันศุกร์ที่ 29 เวลา 15.00 น. ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม หรือหากไม่ได้รับอีเมลสามารถทักสอบถามข้อมูลที่ LINE OFFICIAL ACCOUNT

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW

ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. 

เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุย

ใส่ใจหรือสามารถ? นักการเมืองแบบไหนดี?

ใส่ใจหรือสามารถ? นักการเมืองแบบไหนดี?

การรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้ง : กระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่ส่งผลทางการเมือง

 

หากผู้เขียนถามผู้อ่านว่าท่านใช้เกณฑ์ใดในการเลือกผู้ว่ากรุงเทพหรือผู้แทนราษฎรมาเป็นตัวแทนของพวกท่าน ท่านจะตอบว่าอะไร?

 

บางท่านอาจจะตอบว่าพรรคการเมืองที่นักการเมืองคนนั้นสังกัดอยู่ บางท่านอาจจะตอบว่าประสบการณ์ทางการเมืองของผู้สมัครคนนั้น บางท่านอาจจะตอบว่าความเข้ากันได้ของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้สมัครและของท่าน คำตอบเหล่านี้ไม่มีผิดถูก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามของเจตจำนงอิสระของปัจเจกบุคคลที่นักจิตวิทยาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยส่วนบุคคลกับปัจจัยทางสังคมต่อการรู้คิดและพฤติกรรมของบุคคล

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนักจิตวิทยาสังคม แต่จากการค้นคว้าของผู้เขียนกลับไม่พบการศึกษาทางจิตวิทยาสังคมเกี่ยวกับการเลือกผู้สมัครในประเทศไทยเลย การศึกษามักเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยทั่วไปซึ่งนักรัฐศาสตร์ให้ความสนใจ งานวิจัยที่ใกล้เคียงกับหัวข้อนี้ที่สุดคือสารนิพนธ์ของคุณพิรุณธร เบญจพรรังสิกุล (2554) ที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยทางการตลาดทางการเมือง เช่น นโยบายและผู้สมัคร สื่อจากพรรค ภาพลักษณ์ของพรรคต่อการเลือกพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นงานวิจัยทางการตลาด ไม่ใช่งานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม ผู้เขียนจึงขอนำเสนองานวิจัยจากต่างประเทศที่ศึกษาว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครส่งผลต่อการเลือกอย่างไร และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านในวันที่บ้านเมืองเราจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง

 

 

มิติบุคลิกภาพพื้นฐานหลักที่นักจิตวิทยาสังคมใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาการรับรู้ทางสังคม (Abele & Wojciszke, 2014; Judd et al., 2005) มี 2 ประเภท ได้แก่ ความอบอุ่นและความสามารถ ความอบอุ่นเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะทางสังคม เช่น ความเป็นมิตร ความน่าคบหา และคุณลักษณะด้านจริยธรรม เช่น ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ มีจริยธรรม ส่วนความสามารถนั้นเกี่ยวข้องกับการมีความรู้ ทักษะต่าง ๆ แต่ละคนมีทั้งความอบอุ่นและความสามารถ และมีในระดับต่างกันได้ บางคนจิตใจดี น่ารัก แต่ไม่ค่อยฉลาด บางคนเก่งแต่ไม่น่าคบ บางคนทั้งเก่งทั้งนิสัยดี บางคนนิสัยก็ไม่ดีแถมไม่เก่งก็มี

 

การรับรู้บุคลิกภาพของผู้อื่นมีความสำคัญในแง่วิวัฒนาการ (Fiske et al., 2007) เพราะความอบอุ่นเป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกว่าบุคคลนี้จะเป็นมิตรหรือศัตรูกับเรา โดยทั่วไปเราจะมองว่าคนที่มีความอบอุ่นสูงจะไม่ทำอันตรายเรา เราสามารถคบหากับคน ๆ นี้ได้ ส่วนผู้ที่มีความอบอุ่นต่ำมักจะได้รับการมองในทางลบ ไม่น่าคบและไม่น่าเข้าใกล้ ส่วนความสามารถเป็นสิ่งที่เราใช้ประเมินว่าบุคคลนี้จะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จแค่ไหนในสิ่งที่เขาตั้งเป้าไว้ ผู้ที่มีความสามารถสูงย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าผู้ที่มีความสามารถน้อยกว่า เมื่อพิจารณาทั้งสองบุคลิกภาพรวมกัน เราจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการคัดเลือกคนรอบตัวเรา เช่น เราอาจจะยอมเก็บคนที่มุ่งร้ายต่อเราแต่ไม่เก่งไว้ข้างตัวเรามากกว่าคนที่มุ่งร้ายต่อเราและมีความสามารถ เนื่องจากคนที่สองเป็นอันตรายกับเรามากกว่า ในการเลือกคู่ครอง เราอาจจะเลือกคนที่จะไม่นอกใจเราที่ไม่ได้รวยมากแทนที่จะเลือกคนที่รวยมากแต่โกหกเราตลอดก็ได้ ในบริบทนี้การรับรู้บุคลิกภาพในแง่ของความอบอุ่นและความสามารถมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ นักจิตวิทยาสังคมได้นำบุคลิกภาพสองมิตินี้ไปศึกษาต่อในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้กลุ่ม (stereotype content model: Fiske et al., 2002) และแบรนด์ (Brands as Intentional Agents Framework: Kervyn et al., 2012)

 

 

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังไม่มีงานวิจัยในไทยที่นำกรอบแนวคิดของจิตวิทยาสังคมมาศึกษาการเลือกผู้สมัครทางการเมือง แต่ในต่างประเทศมีนักวิจัยศึกษาผลของการรับรู้ความอบอุ่นและความสามารถของผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อการเลือกผู้สมัครแล้ว โดยเป็นการศึกษาร่วมกับตัวแปรอื่นดังนี้

 

 

Chen & Lee (2012) ศึกษาว่าวัฒนธรรม คือ แนวโน้มปัจเจกนิยมกับคติรวมหมู่ (individualism and collectivism orientation) มีผลต่อการให้น้ำหนักบุคลิกภาพทั้งสองหรือไม่ โดยพวกเขาวิเคราะห์ว่าความอบอุ่นถือเป็นความสามารถทางสังคม (social competence) ลักษณะที่สะท้อนความสามารถดังกล่าวอาจจะทำให้ประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ให้น้ำหนักกับความสามารถทางสังคมมากกว่าความสามารถทั่วไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมก็ได้ คณะผู้วิจัยทำการทดลองโดยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและไต้หวันดูรูปของผู้สมัครเลือกตั้งที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วกับผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในประเทศของตน ประเมินลักษณะของบุคคลในรูป ได้แก่ ฉลาด มีความสามารถ ประสบความสำเร็จ (สะท้อนความสามารถ) มีทักษะการเข้าสังคม ปรับตัวเข้ากับสังคมได้เก่ง (สะท้อนความสามารถทางสังคม) เป็นที่ชื่นชม นิสัยดี เป็นมิตร (สะท้อนความเป็นที่ชื่นชอบ) มีเกียรติ ซื่อตรง พึ่งพาได้ มีมโนธรรม (สะท้อนการมีมโนธรรม) การใช้อำนาจ การมีอำนาจและการกล้าแสดงออก (สะท้อนความมีอำนาจ) และวิเคราะห์ทางสถิติว่ากลุ่มคุณลักษณะเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครจริงที่เกิดขึ้นไปแล้วและการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมหรือไม่

 

สำหรับผู้ร่วมการทดลองจากสหรัฐอเมริกาพบว่า การรับรู้ความสามารถของผู้สมัครเป็นตัวแปรเดียวที่ทำนายการตัดสินใจเลือกผู้สมัครได้ และยังพบว่าการรับรู้ถึงความมีอำนาจลดการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ในขณะที่ความสามารถ ความสามารถทางสังคม การเป็นที่ชื่นชม การมีมโนธรรมและความมีอำนาจทำนายการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวม นอกจากนี้ การสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมยังได้รับอิทธิพลร่วมจากการรับรู้ความสามารถของผู้สมัครและแนวโน้มปัจเจกนิยมของผู้ร่วมการทดลอง โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมสูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีความสามารถมากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมต่ำ นอกจากนี้ยังพบอิทธิพลร่วมของการรับรู้ความสามารถทางสังคมและแนวโน้มคติรวมหมู่ที่ส่งผลต่อการสนับสนุนโดยรวม โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มคติรวมหมู่สูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีความสามารถทางสังคมมากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มคติรวมหมู่ต่ำ สุดท้ายยังพบว่าการรับรู้ความมีมโนธรรมและแนวโน้มปัจเจกนิยมมีผลต่อการสนับสนุนโดยรวม โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมสูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีมโนธรรมน้อยกว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมต่ำ

 

สำหรับผู้ร่วมการทดลองชาวไต้หวันพบว่าความสามารถของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกจริง แต่ความสามารถทางสังคมและความเป็นที่ชื่นชอบของผู้สมัครก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเช่นกัน และพบว่าการรับรู้ถึงความมีอำนาจลดการตัดสินใจเลือกจริงเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน ในการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมพบผลที่เหมือนกับที่พบในชาวอเมริกันคือ ความสามารถ ความสามารถทางสังคม การเป็นที่ชื่นชม การมีมโนธรรมและความมีอำนาจทำนายการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวม และพบอิทธิพลของแนวโน้มปัจเจกนิยมร่วมกับการรับรู้ว่ามีความสามารถ โดยรวมแล้วงานวิจัยนี้จึงแสดงให้เห็นว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครกับค่านิยมทางวัฒนธรรมในระดับบุคคลมีผลต่อการเลือกตั้งมากกว่าวัฒนธรรมในระดับประเทศ

 

 

Bennett et al. (2019) ศึกษาการรับรู้บุคลิกภาพของนักการเมืองจาก 2 พรรคหลักในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บุช ครูซและทรัมป์จากรีพับลิกัน กับคลินตัน โอบาม่าและแซนเดอรส์จากเดโมแครต พบว่าทั้งความอบอุ่นและความสามารถทำนายการตัดสินใจเลือกผู้สมัครทุกคนได้ ยกเว้นบุชที่พบว่าการรับรู้ความสามารถเท่านั้นที่สามารถทำนายการตัดสินใจเลือกเขาได้ นอกจากปัจจัยด้านการรับรู้บุคลิกภาพแล้วการระบุว่าตนเป็นรีพับลิกันหรือเดเมแครต (political party affiliation) ก็มีผลต่อการเลือกตั้งเช่นกัน โดยพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ตนเป็นสมาชิกมากกว่า ที่น่าสนใจคือความเป็นสมาชิกพรรคมีผลต่อการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัคร โดยพบว่าทั้งผู้ที่ระบุว่าตนเป็นรีพับลิกันและเดโมแครตประเมินผู้สมัครที่มาจากพรรคของตนดีกว่าผู้สมัครจากอีกพรรค

 

 

Bor (2020) ได้ทดสอบว่าสภาพเศรษฐกิจที่ดีหรือย่ำแย่จะส่งผลต่อการเลือกผู้สมัครที่มีเมตตาและใส่ใจประชาชนกับผู้สมัครที่น่าไว้ใจและเป็นที่พึ่งได้ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและเดนมาร์กหรือไม่ พบว่าบุคลิกภาพของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครมากกว่าสภาพเศรษฐกิจเสียอีก โดยพบว่าบุคลิกภาพทั้งสองกลุ่มทำนายการเลือกได้ โดยความอบอุ่นมีน้ำหนักมากกว่าความสามารถ

 

 

การศึกษาที่กล่าวถึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในหัวข้อนี้เท่านั้น และแน่นอนว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครไม่สามารถทำนายการตัดสินใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การตัดสินใจใด ๆ ก็ตามของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยและกระบวนการดังกล่าวให้ลึกซึ้งและครอบคลุมขึ้น อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางจิตวิทยาสังคมส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง หากนักการเมืองต้องการประสบความสำเร็จก็ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้ แต่ที่สำคัญกว่าคือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ควรรู้เท่าทันว่าเป้าหมายของนักการเมืองคืออะไร บุคลิกภาพที่พวกเขาแสดงออกสอดคล้องกับตัวตนจริงของเขาหรือไม่ นักการเมืองต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้พวกเขาในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาเฉพาะเวลาที่พวกเขาต้องการเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ การกระทำของนักการเมืองพ้องรับกับภาพลักษณ์ที่พวกเขาแสดงออกและต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้หรือไม่ การรอบรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา และการตัดสินใจอย่างรอบคอบมีความสำคัญอย่างยิ่งหากประชาชนต้องการเพิ่มโอกาสในการเลือกผู้แทนที่จะ “ใส่ใจ” ความต้องการของประชาชน และ “สามารถ” ทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

พิรุณธร เบญจพรรังสิกุล. (2554). ปัจจัยทางการตลาดทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกพรรคการเมืองไทยของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตกรุงเทพมหานคร. [สารนิพนธ์ ปริญญาธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ]. http://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/99682/1/Pirunthorn_B.pdf

 

Abele, A. E., & Wojciszke, B. (2014). Communal and agentic content in social cognition: A dual perspective model. In J. M. Olson & M. P. Zanna (Eds.), Advances in Experimental Social Psychology (Vol. 50, pp. 195-255). https://doi.org/10.1016/B978-0-12-800284-1.00004-7

 

Bennett, A. M., Malone, C., Cheatham, K., & Saligram, N. (2019). The impact of perceptions of politician brand warmth and competence on voting intentions. Journal of Product & Brand Management, 28(2), 256-273. https://doi.org/10.1108/JPBM-09-2017-1562

 

Bor, A. (2020). Evolutionary leadership theory and economic voting: Warmth and competence impressions mediate the effect of economic perceptions on vote. The Leadership Quarterly31(2), 101295. https://doi.org/10.1016/j.leaqua.2019.05.002

 

Chen, F. F., Jing, Y., & Lee, J. M. (2012). “I” value competence but “we” value social competence: The moderating role of voters’ individualistic and collectivistic orientation in political elections. Journal of Experimental Social Psychology48(6), 1350-1355. https://doi.org/10.1016/j.jesp.2012.07.006

 

Fiske, S. T., Cuddy, A. J., & Glick, P. (2007). Universal dimensions of social cognition: Warmth and competence. Trends in cognitive sciences11(2), 77-83. https://doi.org/10.1016/j.tics.2006.11.005

 

Fiske, S. T., Cuddy, A. J., Glick, P., & Xu, J. (2002). A model of (often mixed) stereotype content: competence and warmth respectively follow from perceived status and competition. Journal of personality and social psychology82(6), 878-902. https://doi.org/10.1037/0022-3514.82.6.878

 

Judd, C. M., James-Hawkins, L., Yzerbyt, V., & Kashima, Y. (2005). Fundamental dimensions of social judgment: understanding the relations between judgments of competence and warmth. Journal of Personality and Social Psychology89(6), 899-913. https://psycnet.apa.org/buy/2005-16185-005

 

Kervyn, N., Fiske, S. T., & Malone, C. (2012). Brands as intentional agents framework: How perceived intentions and ability can map brand perception. Journal of Consumer Psychology22(2), 166-176. https://doi.org/10.1016/j.jcps.2011.09.006

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Gaslighting…ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ?

‘Gaslighting’ อาจเป็นคำศัพท์ที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับใครหลาย ๆ คนที่เคยได้รับชมภาพยนต์เรื่อง Gaslight ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นเรื่องราวของสามีที่ต้องการครอบครองสมบัติของภรรยาโดยการหลอกลวงให้เธอเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิตด้วยทริคทางจิตใจที่แยบยล การหลอกลวงด้วยการโกหกโดยทั่วไปอาจไม่ส่งผลกับจิตใจของคนเราได้เท่ากับการหลอกให้สงสัยในความคิดของตนเอง

 

 

ผู้เป็นสามีใช้วิธีการหรี่ไฟในตะเกียงลง และเมื่อภรรยาของเขาถามถึงแสงไฟที่มืดลงนั้นเขากลับตอบเพียงว่าเธอคิดไปเอง การนำข้าวของไปซ่อนตามที่ต่าง ๆ และบอกกล่าวให้ภรรยาของเขาเชื่อว่าเธอเป็นคนที่ทำด้วยตัวเอง สารพัดคำลวงที่ทำให้เธอเข้าใจว่าเธอคือคนผิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนปกติยกเว้นตัวเธอ

 

หลายต่อหลายครั้งที่ถูกหลอกอย่างแนบเนียน หลายต่อหลายครั้งที่ถูกชี้นำให้สงสัยว่าความคิดของตนนั้นยังปกติอยู่หรือไม่ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการที่เธอสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์ ตกเป็นเหยื่อของทริคทางจิตใจนั้นอย่างไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น

Gaslighting จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) ในความสัมพันธ์ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ของความแคลงใจ ความสงสัย และความไม่เชื่อมั่นในตนเองซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่เพียงแต่เชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว เพื่อน สังคมการศึกษา และสังคมการทำงานอีกด้วย (Petric, 2018) 

 

 

“คิดมากไปหรือเปล่า?”

“คิดไปเองหรือเปล่า?”

“เพราะคุณทำแบบนั้น ฉันเลยเป็นแบบนี้”

“ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วงนะ”

“ไม่เชื่อใจกันเลยใช่ไหม?”

“ทำไมไม่อดทนเลย คนอื่นเขายังทนได้”

 

 

ประโยคเหล่านี้อาจเป็นประโยคธรรมดาที่ได้ยินกันจนชินหู และแม้จะสร้างความรู้สึกขัดแย้งในใจได้บ้างแต่หลายต่อหลายคนมักเลือกที่จะเชื่อว่าตนเป็นฝ่ายผิด กับดักทางจิตวิทยาของการใช้ถ้อยคำเหล่านี้นั้นฟังดูไม่เหมือนคำโกหกหลอกลวง แต่เป็นการปลูกฝังความคิด ความรู้สึกผิด และความไม่เชื่อมั่นในตัวบุคคล…และนั่นคือสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า

 

 

สัญญาณเตือนว่า Gaslighting กำลังเกิดขึ้นกับคุณ

  1. เป็นฝ่ายที่ต้องเอ่ยคำขอโทษตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคุณ
  2. เชื่อว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกได้ ทำอะไรก็ผิดเสมอ
  3. รู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา หวาดกลัวว่าจะทำผิดหรือไม่ถูกใจใคร
  4. สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
  5. สูญเสียความเป็นตัวตน
  6. ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดและการตัดสินใจของตนเองตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ
  7. รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้กำลัง รู้สึกว่าตนไม่เหมือนใคร แตกต่างและแปลกแยก
  8. ผิดหวังในตนเอง และกลัวผู้อื่นจะผิดหวังในตัวคุณ

 

จะเห็นได้ว่าคำพูดที่ดูธรรมดา กลับสร้างผลลัพธ์ทางจิตใจที่รุนแรงและส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem) ได้เป็นอย่างมาก การต้องเผชิญกับ gaslighting นั้นอาจมาถึงโดยที่ไม่ทันได้รู้ตัว แต่เมื่อเราลองคิดทบทวนในสิ่งที่ได้ฟังและสิ่งที่ตนคิดนั้นเราจะพบว่ากับดักทางจิตวิทยาชนิดนี้อยู่รอบตัวเราในทุกความสัมพันธ์ เมล็ดพันธ์แห่งความแคลงใจยังพร้อมจะเติบโตในตัวคุณได้ทุกสถานการณ์

 

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับ Gaslighting?

การปกป้องตนเองและระมัดระวังไม่ให้ถูกทำลายความมั่นใจในตนเองด้วยหลุมกับดักทางจิตใจนี้อาจมีได้หลายหนทาง เช่น

  1. เว้นระยะห่าง ถอยห่างจากความรู้สึกสงสัยในตนเองที่ถูกทิ้งเอาไว้ให้ การเดินออกจากสถานการณ์เหล่านั้นหรือให้เวลาตนเองได้หายใจลึกๆเพื่อผ่อนคลายและมีเวลาใช้ความคิด อาจช่วยให้เราสามารถทบทวนได้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งใด
  2. เก็บหลักฐาน เพราะ gaslighting มักทำให้คุณต้องสงสัยในตัวคุณเอง การเก็บหลักฐานของเรื่องราวต่าง ๆ ไว้นั้นจะช่วยให้คุณสามารถยืนยันกับตนเองและสถานการณ์ตรงหน้าได้ว่าความคิดของคุณไม่ใช่เพียงแค่ความคิดเห็นของคุณฝ่ายเดียว
  3. ใช้มุมมองที่ 3 มุมมองของคนที่อยู่ภายนอกสถานการณ์อาจช่วยให้คุณมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเรื่องราวเหล่านั้น การอยู่ในสถานการณ์ที่มีการบีบคั้นทางอารมณ์ ย่อมทำให้มุมมองต่าง ๆ ของคุณแคบลงและไม่สามารถประมวลผลสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  4. ถอยห่างจากความสัมพันธ์ แม้จะเป็นหนทางที่ยากในการกระทำได้จริง แต่การเผชิญกับ gaslight ซ้ำ ๆ จนทำให้สูญเสียความเป็นตัวตนไปนั้นย่อมส่งผลเสียที่มากกว่า หากพบสัญญาณของการกระทำเหล่านั้นและพบว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะแก้ไขได้ การจบความสัมพันธ์นั้นอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการหลีกให้พ้นและจบการทำร้ายทางจิตใจลง

 

ความเชื่อมั่นในตนเองและความเป็นตัวตนนั้นคือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้ถูกทำลายลงไป การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและยืนยันความคิดของตนเองเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อาจช่วยให้พ้นจากจากทริคทางจิตใจเหล่านี้ได้ เพราะคนทุกคนมีความแตกต่างกันและมีความคิดเป็นของตนเอง การเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนนั้นจึงไม่ใช่ความผิดใด ๆ

 

อย่าให้คำพูดของใคร ทำลายคุณค่าในตัวของคุณเอง

 

References: 

 

Gordon, S. (2022, January 5). What Is Gaslighting? Verywell Mind. https://www.verywellmind.com/is-someone-gaslighting-you-4147470

 

Morris, S. Y., & Raypole, C. (2021, November 24). How to Recognize Gaslighting and Get Help. Healthline. https://www.healthline.com/health/gaslighting

 

Petric, D. (2018). Gaslighting and the knot theory of mind. https://www.juliedawndennis.co.uk/wp-content/uploads/2020/03/Gaslightingandtheknottheoryofmind.pdf

 


 

บทความวิชาการ โดย

คุณบุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University