เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจคนรับ

04 Dec 2017

ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

คุณเคยประสบปัญหาในการเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ในโอกาสต่าง ๆ หรือไม่?

 

โดยเฉพาะหากผู้รับมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคุณ เช่น คู่รัก หลายคนอาจใช้เวลานานนับเดือน กว่าจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกซื้อของขวัญชิ้นใด ปัญหาเหล่านี้อาจทุเลาลงได้ด้วยแนวคิดทางจิตวิทยาในการเลือกซื้อของขวัญเพื่อให้เกิดความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับค่ะ

 

 

ของขวัญนั้น สำคัญไฉน?


 

การให้ของขวัญแก่กันและกันนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนกันทางพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ และเป็นลักษณะของการต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เช่น การให้ของบรรณาการในสมัยโบราณ หรือการให้ของขวัญในปัจจุบัน ที่มุ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง ความเคารพ หรือความสำคัญระหว่างคนสองกลุ่มที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กัน

 

นอกจากนี้ การให้ของขวัญยังถือเป็นการแสดงถึงการรับรู้ของผู้ที่รับของนั้น ๆ ด้วยว่ามีความต้องการและรสนิยมอย่างไร อีกทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงระยะความสัมพันธ์ การสัญญาในอนาคต การเป็นตัวแทนของความรัก หรือความห่วงใย

 

อย่างไรก็ตาม ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก การให้ของขวัญมีความสำคัญและมีความพิเศษกว่าความสัมพันธ์อื่น ๆ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะถือเป็นเครื่องมือในการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ ช่วยให้ผู้ให้มั่นใจในความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นใจได้ หรือทำให้ตนเองเป็นที่ชื่นชอบของคนรับได้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายเพื่อบอกให้ผู้รับรู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกอย่างไร การให้ของขวัญ การรับของขวัญ และการให้ของขวัญกลับคืนนั้นจึงถือเป็นการทำให้ความสัมพันธ์นั้นแข็งแรงขึ้น ผ่านการสร้างความไว้ใจและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่มีในชีวิตประจำวันนั่นเอง

 

 

แล้วของขวัญแบบใดที่จะถูกใจผู้รับมากที่สุด ใช่ของขวัญที่มีราคาแพงหรือเปล่า?


 

เมื่อต้องซื้อของขวัญให้กับคนรู้ใจ หลายคนวิตกกังวลมากกับการเลือกซื้อของที่จะให้ ราคาของขวัญ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากคนเรามักมีความเชื่อว่า หากให้ของขวัญราคาแพง ผู้รับน่าจะเกิดความซาบซึ้งใจและประทับใจมากที่สุด

 

งานวิจัยของ Schiffman และ Cohn (2008) พบว่า ของขวัญคริสต์มาสระหว่างคู่สามีภรรยานั้น มีความคาดหวังว่าจะต้องแพง และมีลักษณะเฉพาะมากกว่าลักษณะความสัมพันธ์อื่นที่มีการให้ของขวัญกัน นอกจากความคาดหวังของผู้รับแล้ว ผู้ให้เองก็มีความคาดหวังเกี่ยวกับท่าทีของผู้รับเมื่อได้รับของขวัญชิ้นนั้นเช่นกัน กล่าวคือคาดหวังว่าของนั้นจะทำให้ผู้รับซาบซึ้งใจหรือประหลาดใจ ผู้ให้ส่วนใหญ่จึงมักจะรับรู้การให้ของขวัญที่แพงแก่คนรักน่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกได้ดีที่สุด คำถามที่น่าสนใจคือ ของขวัญที่ดีต้องมีราคาแพงเท่านั้นจริงหรือ ผู้รับจึงจะประทับใจ

 

จากงานวิจัยของ Adams และ Flynn (2009) เปิดเผยผลการวิจัยที่น่าสนใจว่า ผู้รับของขวัญไม่ได้รู้สึกประทับใจมากขึ้น เมื่อได้รับของขวัญที่มีราคาแพง สาเหตุก็เพราะผู้รับไม่ต้องลงทุนลงแรงทางความคิดมากนัก หมายถึงผู้รับจะเผชิญทางเลือกอยู่เพียงแค่ 2 ทาง คือ ได้รับของขวัญหรือไม่ได้รับของขวัญเท่านั้น ตรงกันข้ามกับผู้ให้ที่ต้องเผชิญกับตัวเลือกมากมายว่าตนจะให้อะไรกับอีกฝ่าย จึงต้องลงทุนลงแรงทั้งกำลังกายและกำลังสมองในการคิด นำไปสู่ความคาดหวังต่อท่าทีของผู้รับ ดังนั้น การให้ของขวัญนั้น ไม่ว่าจะของขวัญราคาแพง หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้ให้ของขวัญแก่คนที่เรารักหรือเปล่า

 

 

ของขวัญให้เพื่อน VS. ให้คนรัก


 

หลายคนมักให้ความสำคัญกับคนรักมากกว่าเพื่อน หลายคนให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าคนรัก ขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับเพื่อนและคนรักมากเท่า ๆ กัน แล้วคุณล่ะเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ประสบปัญหาต้องมอบขวัญให้กับทั้งเพื่อนและคนรักในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลต่าง ๆ แล้วตัดสินใจไม่ได้ว่า จะเลือกของขวัญแบบใดให้ผู้รับซาบซึ้งใจมากที่สุด

 

วิมลรัตน์ ตั้งมั่นวิทยศักดิ์, อติชาต ตันติโสภณวนิช, และ อัญญพร วงศ์วุฒิอนันต์ จัดทำโครงงานวิจัยทางจิตวิทยาระดับปริญญาตรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความซาบซึ้งใจเมื่อได้รับของขวัญ และความคาดหวังความซาบซึ้งใจเมื่อมอบของขวัญ: เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรูปแบบความสัมพันธ์แบบเพื่อน กับรูปแบบความสัมพันธ์แบบโรแมนติก

 

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ บุคคลที่มีคนรัก ในวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยมีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี แบ่งเป็นเพศชาย 100 คน และเพศหญิง 100 คน โดยกลุ่มตัวอย่างจะต้องตอบแบบสอบถามที่ใช้วัดแนวโน้มในการเลือกซื้อของขวัญให้กับเพื่อนและคนรัก โดยให้จินตนาการว่า หากตนเองให้ของขวัญที่มีราคาถูกหรือแพง แก่เพื่อนหรือคนรัก ตนเองจะคาดหวังความซาบซึ้งใจจากผู้รับมากน้อยเพียงใด และหากตนเองได้รับของขวัญที่มีราคาถูกหรือแพง จากเพื่อนหรือคนรัก ตนเองจะมีความซาบซึ้งใจมากน้อยเพียงใด

 

ผลการวิจัยพบว่า ในฐานะผู้ให้ หากบุคคลให้ของขวัญราคาแพงแก่คนรัก แต่ให้ของขวัญราคาถูกแก่เพื่อน บุคคลจะคาดการณ์ว่าเพื่อนจะซาบซึ้งใจน้อยกว่า กับการได้รับของขวัญราคาถูกนั้น ในทางกลับกัน หากบุคคลให้ของขวัญราคาแพงกับเพื่อน แต่ให้ของขวัญราคาถูกกับคนรัก บุคคลกลับประเมินว่า คนรักจะรู้สึกซาบซึ้งใจมากพอ ๆ กับที่เพื่อนน่าจะรู้สึก

 

ส่วนในฐานะผู้รับ เมื่อได้รับของขวัญจากคนรัก ไม่ว่าของขวัญชิ้นนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง บุคคลเกิดความซาบซึ้งใจมากกว่าได้รับของขวัญจากเพื่อน ไม่ว่าของขวัญจากเพื่อนจะมีราคาถูกหรือแพงก็ตาม กล่าวคือ หากได้รับของขวัญราคาแพงจากเพื่อน แต่ได้รับของขวัญราคาถูกจากคนรัก บุคคลก็ยังรู้สึกซาบซึ้งใจ และประทับใจกับของขวัญจากคนรัก มากกว่าของขวัญจากเพื่อนอยู่ดี

 

สรุปผลจากการศึกษาอาจกล่าวได้ว่า ในฐานะผู้รับ รูปแบบความสัมพันธ์ส่งผลต่อความซาบซึ้งใจมากกว่าราคาของของขวัญ นั่นคือ ไม่ว่าคนรักจะให้ของอะไรเรามาก็ตาม เราก็จะยังรู้สึกประทับใจ ดีใจ และซาบซึ้งใจ มากกว่าได้รับของขวัญจากเพื่อนนั่นเอง

 

 


 

 

คราวนี้คุณคงพอจะเห็นช่องทางในการให้ของขวัญแก่คนรัก เพื่อให้เกิดความประทับใจแล้วว่า แม้เราซึ่งอยู่ในฐานะผู้ให้ของขวัญจะคาดหวังความรู้สึกซาบซึ้งใจจากผู้รับ เมื่อของขวัญที่ให้มีราคาแพง เพราะคิดว่าของขวัญราคาแพงแสดงถึงความไตร่ตรองในการซื้อ แต่ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้รับ ไม่ว่าจะได้รับของขวัญราคาแพงหรือถูกก็จะประเมินระดับความซาบซึ้งใจไม่แตกต่างกัน ในทางกลับกันผู้ที่อยู่ในฐานะผู้รับอาจรู้สึกติดหนี้เมื่อได้รับของขวัญราคาแพงด้วยซ้ำ

 

สิ่งที่สำคัญกว่าจึงอาจไม่ใช่เรื่องของราคาของขวัญ ดังงานวิจัยของ Rodden และ Verhallen (1994) ที่พบว่าผู้รับของขวัญคิดว่า การลงทุนทางกาย, การลงทุนทางใจ, และเวลาที่เสียไปจากการเลือกซื้อของขวัญต่างหาก ที่มีผลต่อความพึงพอใจในของขวัญมากกว่า กล่าวคือการรับรู้ถึงความตั้งใจของผู้ให้ในการเลือกของขวัญที่พิเศษส่งผลต่อความพึงพอใจมากกว่า ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการรับรู้ว่า ผู้ให้นั้นใช้เวลามากในการเลือกด้วย กล่าวได้ว่า การลงทุนทางกำลังทรัพย์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้สร้างความรู้สึกประทับใจ มากเท่ากับการลงทุนลงแรงทางจิตใจ และการวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญ

 

ดังนั้นแล้ว หากในโอกาสอันใกล้นี้ คุณต้องเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งถือเอาราคาสินค้าเป็นเกณฑ์ในการเลือกเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้คำนึงถึงการลงทุนลงแรงในการเลือกซื้อ ความพิถีพิถัน และการวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญด้วย เพราะของราคาไม่แพง แต่เป็นงานแฮนด์เมด หรือประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยความตั้งใจ อาจจะทำให้ผู้รับเกิดความประทับใจมากกว่าของขวัญราคาแพงที่หาซื้อได้ทั่วไปในซูปเปอร์มาร์เก็ตด้วยซ้ำไปค่ะ

 

…..Happy Giving Gifts!…..

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content