News & Events

MBTI และการประเมินบุคลิกภาพ

 

เมื่อพูดถึง Myers-Briggs Type Indicator หรือ MBTI หลาย ๆ คนก็อาจนึงถึงเครื่องมือวัดบุคลิกภาพที่แบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 16 ประเภท ตามตัวอักษรย่อที่กำกับไว้ เช่น ESTJ ฯลฯ ซึ่งการแปลความหมายรูปแบบนี้จะถูกนำไปใช้ในหลากหลายบริบท อาทิ การบริหารทรัพยากรบุคคล (Gardner & Martinko, 1996) การพัฒนาบุคคลและทีมงาน และการทำความเข้าใจบุคคล อย่างไรเสีย การแปลความหมายการวัดทางจิตวิทยาควรจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จะพูดถึงข้อควรระวังในการใช้ MBTI จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่อยู่ในบทความทางวิชาการ

 

MBTI ถูกพัฒนาขึ้นจากทฤษฎีของ Carl Jung ที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลใน 3 มิติ คือ

  • (i) ความแตกต่างเกี่ยวกับการมุ่งความสนใจและการใช้พลังงาน ระหว่างแนวโน้มที่จะมุ่งไปที่ภายนอกตัวบุคคล (extraversion [E]) และแนวโน้มที่จะมุ่งไปที่ภายในตัวบุคคล (introversion [I])
  • (ii) ความแตกต่างเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลของบุคคล ระหว่างแนวโน้มที่จะรับรู้ข้อมูลจากประสาทสัมผัส (sensing [S]) และแนวโน้มที่จะรับรู้ข้อมูลจากรูปแบบที่สิ่งต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (intuition [N])
  • (iii) ความแตกต่างเกี่ยวกับการลงความเห็น (และการตัดสินใจ) ของบุคคล ระหว่างแนวโน้มที่จะลงความเห็นจากการให้เหตุผลและข้อมูลเชิงภาวะวิสัย (thinking [T]) และแนวโน้มที่จะลงความเห็นจากการให้คุณค่าและข้อมูลเชิงอัตวิสัย (feeling [F])

ส่วนมิติที่สี่ของ MBTI คือ

  • ความแตกต่างเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ระหว่างแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยความมีระเบียบแบบแผน (judging [J]) และแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยความยืดหยุ่น (perceiving [P])

 

มิติสุดท้ายนี้ไม่ได้อยู่ในทฤษฎีของ Carl Jung แต่ถูกพัฒนาขึ้นในภายหลังจากผู้พัฒนา MBTI (Myers et al., 1998)

 

การใช้ข้อมูลจาก MBTI มีความหลากหลาย เช่น นักจิตวิทยาอาจ (i) ใช้คะแนนดิบแต่ละด้าน เช่น คะแนน E และคะแนน I (ii) ใช้คะแนนความแตกต่างระหว่างด้านในมิติเดียวกัน เช่น ผลลบระหว่างคะแนน E และคะแนน I (iii) ใช้ “ทิศทาง” ของด้านที่มีคะแนนมากกว่า เช่น บุคคลมีบุคลิกภาพแบบ “E” และ (iv) ใช้คะแนนมาตรฐานต่าง ๆ เช่น คะแนนมาตรฐาน z

 

 

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุน/ไม่สนับสนุนการแปลความหมายบุคลิกภาพของบุคคล 16 ประเภท


 

นักวิชาการและนักวิจัยจำนวนหนึ่ง (Lorr, 1991; Pittenger, 2005; Zárate-Torres & Correa, 2023) ส่งคำเตือนสำหรับการใช้ MBTI เพื่อการประเมินบุคลิกภาพของบุคคล ด้วยการแบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 16 ประเภท โดยอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลากหลายประการ ซึ่งได้แก่

  • (i) ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการกระจายของข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์และการกระจายของข้อมูลจากทฤษฎี
  • (ii) การแบ่งประเภทบุคลิกภาพของบุคคลด้วยการวิเคราะห์การจัดกลุ่ม
  • (iii) ความเที่ยงจากการวัดซ้ำ และ
  • (iv) ความตรงจากความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น ๆ ตามทฤษฎี

 

ประการแรก จากการแปลความหมายคะแนนที่ได้จากการประเมินเป็นบุคลิกภาพ 16 ประเภท ทฤษฎีที่รองรับการแปลความหมายนี้จึงเป็นทฤษฎี “บุคลิกเอกลักษณ์” (type theory) แทนที่จะเป็นทฤษฎี “บุคลิกลักษณะ” (trait theory) ทฤษฎีบุคลิกเอกลักษณ์บรรยายว่า บุคคลที่ถูกจัดให้มีบุคลิกภาพประเภทเดียวกันจะมีความคล้ายคลึงกัน มากกว่า บุคคลที่ถูกจัดให้มีบุคลิกภาพคนละประเภท (ในบริบททางสถิติ เราจะเรียกปรากฏการณ์แรก [บุคลิกภาพประเภทเดียวกันจะคล้ายคลึงกัน] ว่า within-group homogeneity และเรียกปรากฏการณ์หลัง [บุคลิกภาพคนละประเภทจะแตกต่างกัน] ว่า between-group heterogeneity) ส่วนทฤษฎีบุคลิกลักษณะบรรยายว่า บุคลิกภาพของบุคคลจะมีระดับแตกต่างกันเสมือนอยู่บนเส้นจำนวน (หรืออยู่บนไม้บรรทัด)

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณา การกระจาย ของคะแนนบุคลิกภาพมิติหนึ่ง ๆ การกระจายของคะแนนบุคลิกภาพภายใต้ทฤษฎีบุคลิกเอกลักษณ์ควรจะอยู่ในลักษณะการกระจายแบบ bimodal (bi = 2 และ modal = mode [ฐานนิยม]) ซึ่งกราฟจะเหมือนภูเขา 2 ลูก ที่อยู่ทางซ้ายและทางขวาของแกน x ส่วนการกระจายของคะแนนบุคลิกภาพภายใต้ทฤษฎีบุคลิกลักษณะควรจะอยู่ในลักษณะการกระจายแบบ unimodal (uni = 1) ซึ่งกราฟจะเหมือนภูเขาลูกเดียวที่อยู่ตรงกลางของแกน x

 

Mode — Data Science 1

Cr. https://datasci.soniaspindt.com/StatisticalFoundations/DescriptiveStats/CentralTendency/mode.html

 

ความแตกต่างหลัก ๆ ของกราฟภูเขา 2 ลูก และกราฟภูเขาลูกเดียว คือ สัดส่วนของคนที่มีคะแนนบุคลิกภาพอยู่ตรงกลาง สำหรับกราฟภูเขา 2 ลูก คนที่มีคะแนนบุคลิกภาพอยู่ตรงกลางจะมีจำนวนน้อย แต่สำหรับกราฟภูเขาลูกเดียว คนที่มีคะแนนบุคลิกภาพอยู่ตรงกลางจะมีจำนวนมาก ประเด็นสำคัญ คือ การกระจายของคะแนนบุคลิกภาพในงานวิจัยต่าง ๆ (Bess & Harvey, 2002; McCrae & Costa, 1989) มักจะเป็นไปตามทฤษฎีบุคลิกลักษณะมากกว่าทฤษฎีบุคลิกเอกลักษณ์ ซึ่งเท่ากับว่า การแปลความหมายคะแนนบุคลิกภาพ แยกประเภท (เช่น บุคคลเป็น Extraversion หรือ Introversion) จะละเลยคนที่มีคะแนนบุคลิกภาพอยู่ตรงกลาง ซึ่งอาจเป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่มสังคมหนึ่ง ๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประเมินบุคลิกภาพของบุคคลด้วยสเกลประเมินค่า (rating scale) ที่การตอบข้อความแต่ละด้านเป็นอิสระต่อกัน (กล่าวคือ การตอบข้อความที่สะท้อน Extraversion [E] จะไม่เกี่ยวข้องกับการตอบข้อความที่สะท้อน Introversion [I] ซึ่งหมายความว่า บุคคลอาจมีคะแนน E และ I สูงหรือต่ำพอ ๆ กันได้) แทนที่จะประเมินด้วยรูปแบบการตอบแบบบังคับเลือก (forced-choice format) ที่การตอบข้อความแต่ละด้าน ไม่ เป็นอิสระต่อกัน (กล่าวคือ การตอบข้อความที่สะท้อน E จะเท่ากับการ ไม่ ตอบข้อความที่สะท้อน I ซึ่งเป็นรูปแบบการตอบมาตรฐานของ MBTI) Girelli และ Stake (1993) พบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนหนึ่งมีคะแนนบุคลิกภาพ 2 ด้าน ในมิติเดียวกัน สูงพอ ๆ กัน (ร้อยละ 8.1 สำหรับมิติ EI ร้อยละ 14.4 สำหรับมิติ Sensing-Intuition [SN] และร้อยละ 13.6 สำหรับมิติ Thinking-Feeling [TF]) และคะแนนบุคลิกภาพ 2 ด้าน ในมิติ SN มี ความสัมพันธ์ทางบวก ซึ่งกันและกัน และในมิติ TF ไม่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับทฤษฎีที่คะแนนบุคลิกภาพ 2 ด้าน ในมิติเดียวกัน ควรจะมีความสัมพันธ์ทางลบซึ่งกันและกัน

 

Girelli และ Stake ให้คำอธิบายว่า

  • (i) Carl Jung อาจประมาณสัดส่วนของบุคคลที่มีระดับบุคลิกภาพ 2 ด้าน ในมิติเดียวกัน ‘สูงทั้งคู่’ น้อยเกินไป (ซึ่งนำไปสู่แนวคิด “บุคลิกภาพ 2 ขั้ว” [bipolarity] ของบุคคล)
  • (ii) บุคคลอาจแสดงบุคลิกภาพด้านหนึ่งในสถานการณ์หนึ่ง และแสดงบุคลิกภาพอีกด้านหนึ่งในอีกสถานการณ์หนึ่ง และเมื่อถูกกระตุ้นด้วยข้อความที่สะท้อนบุคลิกภาพแต่ละด้านใน MBTI บุคคลอาจนึกถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และ/หรือ
  • (iii) รูปแบบการตอบแบบบังคับเลือกอาจ “บังคับ” ให้บุคคลเลือกข้อความที่สะท้อนบุคลิกภาพของตัวเองมากกว่า ถึงแม้จะไม่ได้มากกว่ามากก็ตาม

 

ประการที่สอง การแบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 16 ประเภท อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง (ของกลุ่มบุคคลหนึ่ง ๆ) และอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างจำกัด

 

Lorr (1991) วิเคราะห์ข้อมูลจาก MBTI ฟอร์ม G (ซึ่งเป็นฟอร์มที่ใช้กันโดยทั่วไป) ด้วยการวิเคราะห์การจัดกลุ่ม (cluster analysis) แล้วพบว่า “โปรไฟล์” บุคลิกภาพ 4 มิติ (Extraversion-Introversion [EI] Sensing-Intuition [SN] Thinking-Feeling [TF] และ Judging-Perceiving [JP]) จัดกลุ่มได้ประมาณ 4 หรือ 5 กลุ่มเท่านั้น และโปรไฟล์บุคลิกภาพของกลุ่มส่วนใหญ่ไม่ได้สะท้อนฟังก์ชั่นเด่นของบุคลิกภาพ ครบทั้ง 4 มิติ เช่น บางกลุ่มอาจมีโปรไฟล์บุคลิกภาพ คือ “ESJ” ซึ่งมิติ TF ไม่ได้เป็นลักษณะสำคัญของกลุ่มนี้ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มอาจมีคะแนนมิติ TF กระจุกอยู่ตรงกลาง หรือสมาชิกในกลุ่มอาจมีสัดส่วนของ T และ F พอ ๆ กัน งานวิจัยนี้แสดงความแตกต่างระหว่างการแบ่งประเภทตามทฤษฎีและการแบ่งประเภทตามหลักฐานเชิงประจักษ์ Lorr ให้เหตุผลว่า การแบ่งประเภทตามทฤษฎี 16 ประเภท ไม่ได้ใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของโปรไฟล์ และใช้แค่ข้อมูลคะแนนมากกว่า/น้อยกว่าของด้านต่าง ๆ เท่านั้น การใช้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนอาจก่อให้เกิด “โปรไฟล์ลวง” ขึ้นมา

 

จากตัวอย่างข้างต้น การแบ่งประเภทตามทฤษฎี 16 ประเภท อาจแปลผลคะแนนของบุคคลเป็น “ESTJ” ทั้ง ๆ ที่บุคคลอาจมีคะแนนด้าน T และ F ใกล้กันมาก หรือมิติ TF อาจไม่ได้เป็นลักษณะสำคัญที่ใช้แยกแยะ ประชากรกลุ่มหนึ่ง ๆ ซึ่งเท่ากับว่า การแบ่งประเภทตามทฤษฎี 16 ประเภท อาจบังคับให้บุคคลมีความแตกต่างกันมากเกินความจำเป็น (Pittenger, 2005)

 

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ MBTI เวอร์ชั่นแรก ๆ มีการแปลผลด้วยตัวอักษร “X” หากบุคคลมีคะแนน 2 ด้าน ในมิติหนึ่ง ๆ เท่ากัน แต่แนวทางนี้ถูกยกเลิกในภายหลัง คาดว่าเนื่องจาก ความคลุมเครือ ในการแบ่งประเภทบุคลิกภาพของบุคคล อย่างไรก็ตาม เมื่อมองด้วยหลักการพื้นฐานของการวัดทางจิตวิทยาแล้ว การแปลความหมายบุคลิกภาพของบุคคลว่า “คลุมเครือ” จากคะแนนที่คลุมเครือ (อยู่ตรงกลาง ไม่ได้เอนเอียงไปที่ด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน) อาจสะท้อนความเป็นจริงมากกว่า การแปลความหมายบุคลิกภาพของบุคคลให้อยู่ในประเภทหนึ่ง ๆ จากคะแนนที่คลุมเครือ

 

ประการที่สามและสี่ เนื่องจาก MBTI ประเมินบุคลิกภาพของบุคคล ซึ่งเป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ ค่อนข้างคงที่ ภายใต้ช่วงเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน คะแนนบุคลิกภาพจาก MBTI ก็ควรจะมีความคงที่ด้วย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า คะแนนบุคลิกภาพมีความคงที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นตามทฤษฎี (Carskadon, 1977) และบุคคลอาจมีโปรไฟล์บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ (Myers et al., 1998) นอกจากนั้น คะแนนบุคลิกภาพอาจมีความคลุมเครือในการทำนายผลลัพธ์ที่ (กลุ่ม) บุคคลต้องการ

 

งานวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนบุคลิกภาพกับความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence [Higgs, 2001]) และพฤติกรรมที่สะท้อนภาวะผู้นำ (leadership-related behaviors [Zárate-Torres & Correa, 2023]) มีขนาดอิทธิพลน้อยและไม่สอดคล้องกับทฤษฎี และข้อสังเกตที่สำคัญ คือ การใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของบุคคลในการวิจัยและการใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของบุคคลในทางปฏิบัติ มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น Higgs (2001) ใช้คะแนนบุคลิกภาพ แยกด้าน (เช่น คะแนน Extraversion และคะแนน Introversion) ส่วน Zárate-Torres และ Correa (2023) สกัดตัวแปรแฝง “บุคลิกภาพ” จากคะแนนบุคลิกภาพแต่ละมิติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการใช้โปรไฟล์บุคลิกภาพ

 

 

การใช้ MBTI อย่างเหมาะสม


 

นักจิตวิทยาและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรจะใช้ MBTI ประเมินบุคลิกภาพของบุคคลอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักการ “การประเมินทางจิตวิทยาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน” (evidence-based psychological assessment [Bornstein, 2017]) ในทางปฏิบัติ นักจิตวิทยาอาจ

 

  • ตรวจสอบการกระจายของคะแนนบุคลิกภาพจาก MBTI แต่ละมิติ ว่าเป็นไปตามการกระจายแบบ bimodal หรือเป็นไปตามการกระจายแบบ unimodal (เช่น ด้วยการสร้างแผนภูมิแท่ง [histogram]) หากเป็นกรณีแรก การแปลความหมายคะแนนบุคลิกภาพด้วยการแบ่งประเภทของบุคคลก็อาจสมเหตุสมผล แต่หากเป็นกรณีหลัง นักจิตวิทยาควรหลีกเลี่ยงการแบ่งประเภทของบุคคล และใช้คะแนนดิบ/คะแนนมาตรฐานของแต่ละมิติแทน
  • วิเคราะห์การจัดกลุ่มเพื่อตรวจสอบ “จำนวนประเภท” จากการแบ่งประเภทตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่อาจแตกต่างจาก (ซึ่งมักจะน้อยกว่า) การแบ่งประเภทตามทฤษฎี 16 ประเภท ผลการวิเคราะห์การจัดกลุ่มอาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มประชากร (เช่น คนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม/วงการต่าง ๆ) การแปลความหมายคะแนนบุคลิกภาพด้วยการแบ่งประเภทตามหลักฐานเชิงประจักษ์จะเป็นการใช้ MBTI ได้อย่างตรงเป้ามากกว่า โดยการแบ่งประเภทตามหลักฐานเชิงประจักษ์จะระบุความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่สำคัญจริง ๆ ภายใต้บริบทหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในการจัดกลุ่มลูกค้า มิติ Sensing-Intuition (SN) อาจมีบทบาทมาก เช่น มีกลุ่ม S กลุ่ม N และกลุ่ม XSN (ระดับ S และ N พอ ๆ กัน) ส่วนมิติ Thining-Feeling (TF) อาจมีบทบาทน้อย เช่น มีเพียงกลุ่ม XTF เท่านั้น การแบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 12 ประเภท จาก 2 (E และ I) x 3 (S N และ XSN) x 2 (J และ P) จะสะท้อนความเป็นจริง (และมีประโยชน์) มากกว่าการแบ่งประเภทตามทฤษฎี 16 ประเภท
  • วิเคราะห์ความคงที่ของบุคลิกภาพของบุคคล เพื่อกำหนดขอบเขตของการใช้ MBTI เช่น การประเมินที่โปรไฟล์บุคลิกภาพของบุคคลร้อยละ 70 มีความคงที่ในระยะเวลา 3 ปี ย่อมนำไปใช้งานได้มากกว่าการประเมินที่โปรไฟล์บุคลิกภาพของบุคคลร้อยละ 50 มีความคงที่ในระยะเวลา 1 ปี และแน่นอนว่า การประเมินที่มีจำนวนประเภทน้อย ย่อมมีความคงที่มากกว่าการประเมินที่มีจำนวนประเภทมาก
  • วิเคราะห์การทำนายตัวแปรเกณฑ์ที่สำคัญ ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ต้องการ เช่น หากต้องการใช้ MBTI เพื่อจัดสรรทีมทำงาน เราก็ควรนำข้อมูลบุคลิกภาพของบุคคลไปทำนายตัวแปรเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นทีม เช่น ประสิทธิผลของทีม (team effectiveness) หรือความกลมเกลียวของทีม (team cohesion) และหากต้องการใช้ MBTI เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อม (person-environment fit) การทำนายตัวแปรเกณฑ์ด้วยการวิเคราะห์สมการถดถอย polynomial อาจเป็นกระบวนการที่สำคัญ นอกจากนั้น การใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของบุคคลในการทำนายตัวแปรเกณฑ์ควรจะสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของบุคคลในการตัดสินใจด้วย
  • ปรับข้อคำถามใน MBTI ให้เฉพาะเจาะจงกับบริบทของการใช้งานมากขึ้น เนื่องจากงานวิจัยพบว่า เครื่องมือวัดบุคลิกภาพที่ปรับเนื้อหาของข้อคำถามให้สอดคล้องกับบริบทของ “เกณฑ์เป้าหมาย” เช่น หากเกณฑ์เป้าหมายเกี่ยวข้องกับการทำงาน การปรับเนื้อหาของข้อคำถามจากการบรรยายลักษณะของบุคคล โดยทั่วไป เป็นการบรรยายลักษณะของบุคคล ในการทำงาน จะช่วยให้คะแนนบุคลิกภาพสามารถทำนายเกณฑ์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหลักการนี้เรียกว่า frame-of-reference effect (Bing et al., 2014)
  • วิเคราะห์อนุกรมวิธาน (taxometrics [Haslam et al., 2012]) หรือวิเคราะห์โมเดลการวัดที่สามารถตรวจสอบความแตกต่างระหว่างตัวแปรแฝงที่เป็นตัวแปรต่อเนื่อง (dimension) ซึ่งจะสอดคล้องกับทฤษฎีบุคลิกลักษณะ และตัวแปรแฝงที่เป็นตัวแปรแบ่งประเภท (category) ซึ่งจะสอดคล้องกับทฤษฎีบุคลิกเอกลักษณ์ เช่น general factor mixture model (Masyn et al., 2010) เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของการแปลความหมายคะแนนบุคลิกภาพภายใต้บริบท/กลุ่มประชากรหนึ่ง ๆ

 

การใช้งานเครื่องมือวัดทางจิตวิทยาควรจะสอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ การบอกว่า “บุคคลมีบุคลิกภาพแบบ INFP” ย่อมต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน น้อยกว่า การบอกว่า “บุคคลมีบุคลิกภาพแบบ INFP ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับการทำงานด้าน…” ยิ่งการบรรยาย “สรรพคุณ” ของบุคคลกินความกว้าง หลักฐานเชิงประจักษ์ที่นำมาสนับสนุนควรจะยิ่งมากตาม ซึ่งหลักการนี้จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับนักจิตวิทยาและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการใช้ MBTI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินที่มีเดิมพันสูง (high-stake assessment)

 

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bess, T. L., & Harvey, R. J. (2002). Bimodal score distributions and the Myers-Briggs Type Indicator: Fact or artifact? Journal of Personality Assessment, 78(1), 176-186. https://doi.org/10.1207/s15327752jpa7801_11

 

Bing, M., & Davison, H., & Smothers, J. (2014). Item-level frame-of-reference effects in personality testing: An investigation of incremental validity in an organizational setting. International Journal of Selection and Assessment, 22(2), 165-178. https://doi.org/10.1111/ijsa.12066

 

Bornstein, R. F. (2017). Evidence-based psychological assessment. Journal of Personality Assessment, 99(4), 435-445. https://doi.org/10.1080/00223891.2016.1236343

 

Carskadon, T. G. (1977). Test-retest reliabilities of continuous scores on the Myers-Briggs Type Indicator. Psychological Reports, 41(3), 1011-1012. https://doi.org/10.2466/pr0.1977.41.3.1011

 

Gardner, W. L., & Martinko, M. J. (1996). Using the Myers-Briggs Type Indicator to study managers: A literature review and research agenda. Journal of Management, 22(1), 45-83. https://doi.org/10.1177/014920639602200103

 

Girelli, S. A., & Stake, J. E. (1993). Bipolarity in Jungian type theory and the Myers-Briggs Type Indicator. Journal of Personality Assessment, 60(2), 290-301. https://doi.org/10.1207/s15327752jpa6002_7

 

Haslam, N., Holland, E., & Kuppens, P. (2012). Categories versus dimensions in personality and psychopathology: A quantitative review of taxometric research. Psychological Medicine, 42(5), 903-920. https://doi.org/10.1017/S0033291711001966

 

Higgs, M. (2001). Is there a relationship between the Myers-Briggs Type Indicator and emotional intelligence? Journal of Managerial Psychology, 16(7), 509-533. https://doi.org/10.1108/EUM0000000006165

 

Lorr, M. (1991). An empirical evaluation of the MBTI typology. Personality and Individual Differences, 12(11), 1141-1145. https://doi.org/10.1016/0191-8869(91)90077-O

 

Masyn, K. E., Henderson, C. E., & Greenbaum, P. E. (2010). Exploring the latent structures of psychological constructs in social development using the dimensional-categorical spectrum. Social Development, 19(3), 470-493. https://doi.org/10.1111/j.1467-9507.2009.00573.x

 

McCrae, R. R., & Costa, P. T. (1989). Reinterpreting the Myers-Briggs Type Indicator from the perspective of the five-factor model of personality. Journal of Personality, 57(1), 17-40. https://doi.org/10.1111/j.1467-6494.1989.tb00759.x

 

Myers, I. B., McCaulley, M. H., Quenk, N. L., & Hammer, A. L. (1998). MBTI manual: A guide to the development and use of the Myers-Briggs Type Indicator. Palo Alto, CA: Consulting Psychologists Press.

 

Pittenger, D. J. (2005). Cautionary comments regarding the Myers-Briggs Type Indicator. Consulting Psychology Journal: Practice and Research, 57(3), 210-221. http://dx.doi.org/10.1037/1065-9293.57.3.210

 

Zárate-Torres, R., & Correa, J. (2023). How good is the Myers-Briggs Type Indicator for predicting leadership-related behaviors? Frontiers in Psychology, 14, 940961. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2023.940961

 

 


 

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

 

 

แสดงความยินดี ครบรอบ 15 ปี แห่งการสถาปนาสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬา

 

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี แห่งการสถาปนาสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารจุฬาพัตน์ 13 สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

 

คณะจิตวิทยาต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาจาก University of Malaya

 

วันที่ 19-24 สิงหาคม 2567 คณะจิตวิทยาโดยการประสานของ ศ. ดร.อรัญ​ญา ​ตุ้ย​คำภีร์ ​ได้ต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาจาก Department of Educational Psychology and Counselling, University of Malaya กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในโอกาสที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการประเด็น​ทางสุขภาพจิตเชิงนโยบาย​ของสองประเทศ เยี่ยมชมศูนย์บริการทางจิตวิทยาของคณะจิตวิทยา 3 ศูนย์ฯ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ฯ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศึกษาดูงานด้านการดูแลด้านสุขภาพจิตในเรือนจำ ณ เรือนจำกลางบาง​ขวาง​และพิพิธภัณฑ์​ราชทัณฑ์​ กรมราชทัณฑ์ ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมวิชาการสัญจร ซึ่งจัดโดยหลักสูตรสาขาวิชาจิตวิทยา ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่วมกับสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม

 

 

 

 

 

 

 

กิจกรรม “น้อมใจวันทาคณาจารย์ ประจำปีการศึกษา 2567”

 

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม คณะกรรมการนิสิตคณะจิตวิทยา ร่วมกับ ฝ่ายกิจการนิสิต คณะจิตวิทยา จัดกิจกรรม “น้อมใจวันทาคณาจารย์ ประจำปีการศึกษา 2567” โดยมี ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีเป็นประธานในพิธีและให้โอวาทแก่นิสิต
ในงานนี้มีการมอบเกียรติบัตรสำหรับนิสิตที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

แสดงความยินดีกับบุคลากรคณะจิตวิทยาที่ได้รับรางวัลงานการออกแบบสื่อฯ ส่งเสริมพฤติกรรมด้านความปลอดภัย จาก SHECU

 

คณะจิตวิทยา ขอแสดงความยินดีกับ คุณวาทินี สนลอย บุคลากรสายปฏิบัติการของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัล The Excellence (ประเภทอินโฟกราฟิก) งานการออกแบบสื่อฯ ส่งเสริมพฤติกรรมด้านความปลอดภัย และรางวัล Chula Safety Ambassador 2024 จากศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567

 

ในวันเดียวกันนี้ คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมโครงการยกระดับความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสำนักงาน ประจำปี 2567 ดำเนินงานโดย ทีม Zero Waste สำนักบริหารระบบกายภาพ ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SHECU) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสำนักงานสีเขียว (Green office) ที่มีหลักปฏิบัติที่ดีในด้านความปลอดภัย ทั้งด้านการยศาสตร์ในสำนักงาน คอมพิวเตอร์ ความสะอาด สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ตลอดจนการจัดการคัดแยกขยะ

 

ในงานนี้ ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา เป็นตัวแทนของคณะจิตวิทยาในการรับมอบเกียรติบัตร ซึ่งมอบโดยคุณโสภณ พงษ์โสภณ ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยฯ (Shawpat)
** ห้องที่เข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้คือ ห้อง 711 ห้องวิชาการคณะจิตวิทยา และห้อง 709 ห้องสำนักงาน JIPP

ทำไมผู้หญิงเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์น้อยกว่าผู้ชาย

 

ในประเทศไทย มีผู้หญิงเพียง 29% ของผู้จบการศึกษาทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (computer science) และเพียง 1 ใน 4 ของผู้ประกอบอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์และช่างเทคนิคด้านเทคโนโลยี ความไม่สมดุลนี้ส่งผลให้ทั้งผู้หญิงและสังคมสูญเสียโอกาส ผู้หญิงพลาดโอกาสในการเข้าสู่อาชีพที่มีรายได้ดีและเป็นที่ต้องการ ในขณะที่สังคมก็พลาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากศักยภาพและมุมมองของผู้หญิงในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

สาเหตุของความไม่สมดุล


 

การที่ผู้หญิงอยู่ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์น้อยกว่าผู้ชายเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือภาพเหมารวมเกี่ยวกับเพศ (gender stereotype) หรือความเชื่อที่บุคคลมีต่อเพศต่าง ๆ เช่น

  • “การเขียนโปรแกรมเหมาะกับผู้ชาย”
  • “ผู้หญิงไม่มีพรสวรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
  • “ผู้ชายใช้เหตุผล ผู้หญิงใช้อารมณ์”

 

 

ภาพเหมารวมส่งผลต่อแรงจูงใจ


 

เมื่อต้องตัดสินใจเลือกเรียน เลือกงาน หรือทำอะไรสักอย่าง เรามักจะถามตัวเองว่า “เราจะทำมันได้ไหม” และ “เราอยากทำมันหรือเปล่า” ถ้าคำตอบข้อใดข้อหนึ่งคือ “ไม่” โอกาสที่เราจะทำสิ่งนั้นก็จะน้อย เช่น หากนักเรียนคนหนึ่งอยากเรียนวิศวะ แต่คิดว่าไม่สามารถเรียนจบได้ เขาก็ไม่น่าจะเลือกเรียนวิศวะ หรือหากนักเรียนคนหนึ่งเรียนเก่ง แต่ไม่อยากเป็นหมอ เขาก็ไม่น่าจะเลือกเรียนแพทย์

 

ภาพเหมารวมที่ไม่เอื้อต่อผู้หญิงในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ส่งผลทั้งต่อความมั่นใจในความสามารถ (“ทำได้ไหม”) และความสนใจ (“อยากทำไหม”) ของผู้หญิง หากเราเชื่อว่าสมาชิกในกลุ่มของเรามีความสามารถน้อยกว่ากลุ่มอื่น เราก็อาจคิดว่าตนเองก็มีความสามารถน้อยกว่าด้วย เมื่อผู้หญิงได้รับสารบ่อย ๆ ว่า “ผู้หญิงเขียนโค้ดไม่เก่ง” ก็จะทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องเขียนโปรแกรม และเชื่อว่าตนเองจะทำได้ไม่ดีในสาขานี้ ในทำนองเดียวกัน เมื่อได้ยินว่า “วิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นสาขาของผู้ชาย” ก็ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าสาขานี้ไม่ใช่ที่ของตน และส่งผลให้ไม่สนใจสาขานี้

 

ภาพเหมารวมทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะหรือไม่สามารถประสบความสำเร็จในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อมีความคิดนี้ ผู้หญิงจึงไม่เลือกเรียนหรือทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้ประเทศที่มีภาพเหมารวมเหล่านี้ เช่น ไทยและสหรัฐอเมริกา มีผู้หญิงในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์น้อยกว่าประเทศที่ไม่มีภาพเหมารวม เช่น มาเลเซีย

 

 

ภาพเหมารวมเกิดขึ้นเมื่อใด


 

ภาพเหมารวมที่ไม่เอื้อต่อผู้หญิงเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่วัยเด็กและชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น การสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า นักเรียนชั้นประถมต้นทั้งหญิงและชายมองว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความสนใจในการเขียนโปรแกรมไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น ภาพเหมารวมที่ว่าผู้ชายเหมาะกว่าผู้หญิงเริ่มชัดเจนขึ้น เด็กประถมปลายและมัธยมมักจะเชื่อว่าผู้ชายสนใจและมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมมากกว่าผู้หญิง

 

จากการทดลองที่ให้นักเรียนในสหรัฐอเมริกาวาดรูปนักวิทยาศาสตร์ พบว่า เด็กเล็กมักวาดรูปนักวิทยาศาสตร์ที่มีเพศเดียวกับตนเอง แต่เมื่อโตขึ้น ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายกลับวาดภาพนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer scientist) เป็นผู้ชาย

 

 

บทสรุป

 

ความไม่สมดุลทางเพศในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ไม่ได้เกิดจากความแตกต่างทางร่างกาย ชีววิทยา หรือความฉลาด แต่เป็นผลจากภาพเหมารวมที่สังคมสร้างขึ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก ภาพเหมารวมทำให้ผู้หญิงขาดแรงจูงใจที่จะเข้าสู่สาขานี้ หรือหากเข้ามาแล้วก็อาจพบอุปสรรคจนยากจะอยู่ต่อ การสร้างภาพเหมารวมเชิงบวกและเท่าเทียมกันระหว่างเพศตั้งแต่วัยเด็ก อาจช่วยเพิ่มความสมดุลทางเพศในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในอนาคต

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2567, สิงหาคม). ตลาดงาน AI ร้อนแรง รับสมัครเกือบ 5 พันตำแหน่งใน 3 เดือน. https://tdri.or.th/2024/08/online-job-post-bigdata-q2-2024/

 

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2567, กรกฎาคม). ผู้สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2566 ภาคเรียนที่ 1 ใน สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด จำแนกตาม สถาบัน / กลุ่มสถาบัน / เพศ / ระดับการศึกษา / คณะ / ชื่อสาขาวิชา / (ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 จำแนกตามจังหวัดที่ตั้งสถาบัน). กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. https://info.mhesi.go.th/stat_graduate.php?search_year=2566

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2567). สรุปผลที่สำคัญ ผู้ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2566. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2024/20240315100809_40423.pdf

 

Master, A., Meltzoff, A. N., & Cheryan, S. (2021). Gender stereotypes about interests start early and cause gender disparities in computer science and engineering. PNAS Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America, 118(48), Article e2100030118. https://doi.org/10.1073/pnas.2100030118

 

Miller, D. I., Nolla, K. M., Eagly, A. H., & Uttal, D. H. (2018). The development of children’s gender-science stereotypes: A meta-analysis of 5 decades of U.S. Draw-a-Scientist studies. Child Development, 89(6), 1943–1955. https://doi.org/10.1111/cdev.13039

 

Pantic, K., Clarke-Midura, J., Poole, F., Roller, J., & Allan, V. (2018). Drawing a computer scientist: stereotypical representations or lack of awareness? Computer Science Education, 28(3), 232–254. https://doi.org/10.1080/08993408.2018.1533780

 

 


 

บทความโดย
ดร.ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข
อาจารย์ประจำแขนงจิตวิทยาเชิงปริมาณ

 

แสดงความยินดี ครบรอบ 76 ปี แห่งการสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และคุณวนัสนันท์ กันทะวงศ์ บุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 76 ปี แห่งการสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โถง ชั้น 1 อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ (ตึก 1) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

 

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี แห่งการสถาปนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ

 

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี แห่งการสถาปนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ชั้น 12 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

“ขอบคุณ” ที่ทำให้มีความสุข

 

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า มนุษย์เราทุกคนต้องการมีชิวิตที่มีความสุข หากเมื่อใดประสบกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เราก็อยากให้ความรู้สึกทุกข์ใจนั้นผ่านพ้นไปโดยเร็ว

 

จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive psychology เป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ ที่จะทำให้บุคคลมีความสุข
Robert Emmons นักจิตวิทยาทางบวกท่านหนึ่งที่สนใจศึกษาการแสดงความรู้สึกขอบคุณ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gratitude ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล การแสดงความรู้สึกขอบคุณจะช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกทางบวก (Emmons & McCullough, 2003; Seligman, Steen, Park, & Peterson, 2005) ทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ส่งผลให้มีสุขภาพจิตดี เมื่อมีอารมณ์ดี ก็สามารถส่งพลังบวกให้กับบุคคลอื่น ๆ ได้ นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่อยู่รอบข้างได้ดี ส่งผลให้บุคคลมีความสุข คนที่มีความสุขมักจะมีอายุที่ยืนยาวด้วย

 

Robert Emmons (2008) กล่าวว่า พลังบวกของการแสดงความขอบคุณ หรือ ARC of gratitude มีรายละเอียดดังนี้

 

A (Amplifies) การแสดงความรู้สึกขอบคุณ เป็นการขยายมุมมองของการมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อบุคคลมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตผ่านแว่นตาการรู้สึกขอบคุณจะทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางบวกมากขึ้น สว่างมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น

 

R (Rescues) ความรู้สึกขอบคุณ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ (Mental immunity) เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ร้าย หรือ เหตุการณ์เครียด หากเรารู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ร้าย ๆ นั้น ทำให้เรามองเห็นสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ร้ายนั้นได้ แม้เพียงเป็นสิ่งเล็ก ๆ ความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ สามารถเยียวยาจิตใจให้เรารู้สึกทุกข์น้อยลงได้

 

C (Connect) ความรู้สึกขอบคุณเป็นการคอยย้ำเตือนว่าเราไม่โดดเดี่ยว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม การแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อกันเป็นแก่นสำคัญในการเชื่อมโยงให้สมาชิกแต่ละคนยังเกาะกลุ่มและยังคงเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม การแสดงความขอบคุณผู้อื่นสำหรับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้อื่นทำให้เรานั้น ยังเป็นการช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองนั้นก็มีคุณค่าได้เช่นกัน การกล่าวคำขอบคุณหรือการแสดงออกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่า เรารู้สึกขอบคุณ รู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มทำให้เรา เท่ากับเป็นการส่งความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกัน พลังทางบวกนี้ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

 

 

Emmons (2013) เสนอเทคนิควิธีการที่ช่วยทำให้บุคคลมีความสุขได้ง่ายขึ้นด้วยวิธีการดังนี้คือ การเขียนบันทึกขอบคุณ (Gratitude journal) เป็นการจดบันทึกขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคล เหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน วันละสัก 5 สิ่ง เช่น ขอบคุณต้นไม้สีเขียว ที่ทำให้ฉันมีอากาศบริสุทธ์หายใจ หรือ ขอบคุณเพื่อนโทรมาตอนเช้า ทำให้ตื่นมาเรียนทัน

 

การเขียนบันทึกทุกวัน พร้อมเหตุผลดี ๆ ที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความทุกข์ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเข้ามาในชีวิต หรือประสบกับความยากลำบากแค่ไหน เราก็ยังมีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณได้เสมอ ความรู้สึกขอบคุณจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง จากการมองเหตุการณ์ในแง่ลบเป็นบวกได้

 

การหาช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน เช่น ก่อนนอน หรือ ช่วงพักกลางวัน ทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่คุณรู้สึกขอบคุณมากที่สุด คุณอาจจะพบว่าคุณมีเรื่องที่อยากบันทึกมากกว่า 5 อย่างก็ได้

 

มนุษย์มีแนวโน้มมองสิ่งรอบตัวทางลบโดยอัตโนมัติ อาจเป็นเรื่องของสัญชาติญาณของความอยู่รอด ดังนั้นการเปลี่ยนตัวเองจากมุมมองที่เคยชินมาเป็นการมองสิ่งต่างๆ ทางบวก เช่น ความรู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จึงต้องมีการฝึกฝนบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย ข้อดีของลงมือการเขียนบันทึกลงในกระดาษ หรือ โทรศัพท์คือ เราสามารถย้อนกลับไปอ่านบันทึกขอบคุณได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก การกลับไปอ่านสิ่งที่คุณเคยเขียน “ขอบคุณ” ความสุขก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น

 

 

ลองฝึกเขียนบันทึกขอบคุณทุกวันนะคะ “ขอบคุณ” ค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: an experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of personality and social psychology, 84(2), 377.

 

Emmons, R. A. (2008). Thanks!: How practicing gratitude can make you happier. Houghton Mifflin Company.

 

Seligman, M. E., Steen, T. A., Park, N., & Peterson, C. (2005). Positive psychology progress: empirical validation of interventions. American psychologist, 60(5), 410.

 

Emmons, R. A. (2013). Gratitude works!: A 21-day program for creating emotional prosperity. John Wiley & Sons.

 

 


 

 

บทความโดย

รศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

Seminar Talk: Loneliness between Cultures

 

The East-west psychological research center invites you to join us as we explore the complexities of loneliness across different cultures in our upcoming seminar.

 

  • Are people in individualistic societies truly lonelier than those in collectivistic ones?
  • What drives feelings of loneliness, and how do people across the globe cope with it?

 

Let’s delve into the diverse meanings and experiences of loneliness worldwide. Don’t miss this insightful discussion!

 

Speaker:

Dr. Luzia Heu, Assistant Professor in Interdisciplinary Social Science at Utrecht University (the Netherlands). She is a cross-cultural psychologist and mixed-methods researcher.

 

The event would be held on Thursday, August 15th, 2024

1:30 – 2:30 at Room 613, Borommaratchachonnani Srisattaphat Building (Faculty of Psychology), Chulalongkorn University

 

Register to join our talk here: https://forms.gle/FNoGG4BdpJ2vaEfM9

 

 

 

 


 

 

The East-West Psychological Science Research Center would like to extend our gratitude to Dr. Luzia Heu, from Utrech University, for leading the seminar on “Loneliness between Cultures.”

 

Dr. Heu offered a comprehensive exploration of the similarities and differences in meanings of loneliness, potential risk factors of loneliness across cultures, and outcomes of loneliness, shedding light on the profound impact this issue has on individuals in many parts of the world, both WEIRD and non-WEIRD countries.

 

The seminar also discussed remedies for loneliness, equipping attendees with ways to study and address this growing concern. Thank you, Dr. Heu, for sharing your expertise with us.