การฆ่าตัวตาย

22 Dec 2017

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

 

เราอาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในใจเสมอเวลาที่เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่า “มีคนฆ่าตัวตาย” ซึ่งก็มีทั้งเพศชาย เพศหญิง มีทั้งเด็กวัยรุ่นและคนชรา ทำไมพวกเขาถึงต้องฆ่าตัวตาย มันเกิดอะไรขึ้นถึงต้องตัดสินใจเช่นนี้

 

ความจริงแล้วในชีวิตประจำวันของเราทุกคนก็จะต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ กันไป บางเรื่องดี บางเรื่องร้าย เรื่องที่ดีก็นำมาซึ่งความสุขใจ เรื่องร้ายก็นำมาซึ่งความทุกข์ใจ เมื่อเราต้องเจอกับเรื่องที่ทุกข์ใจบ่อยครั้ง เราก็ต้องจะหาวิธีจัดการกับความทุกข์นั้น ซึ่งก็มีทั้งวิธีที่การจัดการกับเหตุแห่งทุกข์ วิธีการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือวิธีการเลี่ยงจากความทุกข์ อยู่ที่ว่าคนแต่ละคนจะเลือกใช้วิธีไหน ซึ่ง “การฆ่าตัวตาย” ก็เป็นวิธีหนึ่งที่คนเราเลือกขึ้นมาใช้ในเลี่ยงจากความทุกข์นั้น หรือเลี่ยงจากความเป็นจริงที่ตนเองต้องเผชิญอยู่ แต่แน่นอนว่า ในชีวิตเราย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อกหักรักคุด แฟนทิ้ง ตกงาน ไปจนถึงการสูญเสียคนที่มีความสำคัญในชีวิต เช่น บิดามารดา ซึ่งความทุกข์แต่ละอย่างที่เราต้องเผชิญนั้นย่อมมีน้ำหนักแตกต่างกันที่จะส่งให้คนเราตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย

 

มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า คนที่ต้องเผชิญความทุกข์จากการสูญเสียคนที่ตนเองรักและผูกพันด้วย เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนคิดจะฆ่าตัวตาย ซึ่งคำว่าสูญเสียนี้ หมายถึงการไม่มีคนคนนั้นอยู่ด้วยอีกแล้ว ซึ่งเป็นได้ทั้งการตายจากกัน หรือการเลิกร้างจากกัน

 

อยากให้เรามองการสูญเสียคนที่ตนเองรักและผูกพันในมุมที่กว้างว่า คนแต่ละช่วงวัยก็จะมีคนที่คนรักและผูกพันด้วยต่างกันไป เช่น เมื่อเราเป็นวัยรุ่น เพื่อนอาจจะเป็นคนที่เรารู้สึกรักและผูกพันที่สุด การที่เราต้องสูญเสียเพื่อนอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในขณะเมื่อเราอยู่ในวัยกลางคน ลูกจะเป็นคนที่เรารู้สึกรักและผูกพันที่สุด การที่เราต้องสูญเสียลูกก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เวลาที่ทราบว่าคนใกล้ชิดรอบตัวเราต้องเจอกับความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียดังกล่าว เราควรจะดูแลเอาใจใส่เขาด้วยความใกล้ชิดเป็นพิเศษ รวมทั้งยังต้องมีความเข้าใจตัวเขาด้วย พยายามเลี่ยงความคิดที่ว่า เรื่องแค่นี้จะอะไรกันนักหนา ไร้สาระ เพราะอย่างที่กล่าวมาตอนต้นแล้วว่า คนแต่ละช่วงวัยก็จะมีความแตกต่างกันไป อย่างน้อยถ้าเราดูแลใกล้ชิดเมื่อเขามีความทุกข์ดังกล่าวก็จะเป็นการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวที่น่าเสียใจขึ้นได้

 

 

ทำไมจึงมีข่าวการฆ่าตัวตายของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง?


 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่า การที่ผู้ชายฆ่าตัวตายมากว่าผู้หญิง มีปัจจัยสองประการ คือ

 

  1. การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้หญิงจะมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในลักษณะของการพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน ผู้หญิงจะพร้อมที่จะพูดคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของเธอกับเพื่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดีหรือร้ายก็ตาม ในขณะที่ผู้ชายมักจะไม่ค่อยชอบพูดคุยถึงเรื่องราวที่เป็นความรู้สึกลึก ๆ ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดีหรือร้าย และมักจะเก็บความรู้สึกต่าง ๆ ไว้กับตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นว่า การสนทนาที่ผู้หญิงมีต่อกันและกันนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยระบายและลดความโน้มเอียงที่เธอจะฆ่าตัวตายได้ พอทราบเช่นนี้แล้วเราอาจจะเห็นถึงประโยชน์ของการที่ผู้หญิงพูดได้ทั้งวัน
  2. วิธีการในการเผชิญปัญหา แน่นอนที่สุดว่า คนเราเมื่อมีปัญหาที่ต้องเผชิญมาก ๆ และไม่สามารถจัดการกับปัญหานั้นได้สำเร็จ ก็อาจจะนำไปสู่การมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจในการเผชิญปัญหาของผู้หญิงก็คือ เมื่อผู้หญิงมีปัญหาต่าง ๆ ผู้หญิงจะมีความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา โดยเลือกใช้วิธีการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าผู้ชาย ตัวอย่างเช่น หากผู้หญิงมีความเครียดในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานใหม่ ผู้หญิงก็พร้อมที่จะไปแสวงหาความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาทางจิตใจของบุคคล ดังนั้นปัญหาความเครียดของเธอก็จะลดลงจนหายไปในที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นการลดปัจจัยสาเหตุที่จะนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

จากปัจจัยทั้งสองประการที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ต้องการที่จะบอกเพียงว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย หรือ ผู้ชายดีกว่าผู้หญิงแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการอยากให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่า เวลาที่เรามีความรู้สึก มีอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ เราควรหาโอกาสที่จะแบ่งปันความรู้สึกนั้นกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรักหรือคนในครอบครัวก็ได้ และหากคุณรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ อาจจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยคุณได้

 

 

การสังเกตบุคคลรอบข้าง


 

ก่อนที่จะกล่าวถึงสัญญาณต่าง ๆ นั้น อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า สัญญาณที่จะกล่าวถึงแต่ละสัญญาณ ไม่ได้หมายความว่า การที่เพื่อนของคุณหรือญาติของคุณมีสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งแล้วจะแปลว่าเขาพยายามที่จะฆ่าตัวตาย หรือ ต้องมีกี่สัญญาณประกอบกันจึงจะแสดงว่าเขามีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เพราะความจริงแล้วสัญญาณต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงก็เป็นเพียงสิ่งที่บอกความเป็นไปได้เท่านั้น ส่วนความเป็นไปได้จะเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร คงต้องอาศัยความใกล้ชิดของคุณที่มีต่อบุคคลนั้น มาช่วยตัดสินประกอบ จึงจะเป็นสิ่งที่บอกได้อย่างแน่นอนกว่า

ลักษณะของบุคคลที่มีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายามฆ่าตัวตายนั้นมีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

 

  1. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนและพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างผิดปกติหรือไม่ เช่น ไม่นอนตามเวลาปกติที่เคยนอน หรือ นอนน้อยกว่าปกติที่เคยนอน จากนอนวันละ 8 ชั่วโมง มาเป็นนอนวันละ 2 ชั่วโมง เป็นต้น หรือในส่วนพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น ไม่ยอมทานอาหารเลย บอกปฏิเสธทุกครั้งที่มีคนชวนทานอาหาร
  2. บุคคลนั้นพยายามที่จะแยกตัวออกห่างจากเพื่อนสนิท แยกตัวออกห่างจากครอบครัว จากผู้ใกล้ชิด โดยจะพยายามเลี่ยงการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันร่วมกันกับผู้อื่น เช่น บุคคลที่พยายามจะเก็บตัวอยู่ตามลำพังในห้องส่วนตัวโดยไม่ยอมติดต่อกับผู้อื่นเลย
  3. บุคคลนั้นที่มีพฤติกรรมที่รุนแรง หรือ มีพฤติกรรมที่ขัดขืน เช่น บุคคลแสดงอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงด้วยการทำลายข้าวของหรือทำร้ายตนเอง หรือบุคคลที่แสดงพฤติกรรมขวางโลก
  4. บุคคลที่ต้องพึ่งพาสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติดชนิดใดก็ตาม เช่น บุคคลที่ติดยาบ้า ยานอนหลับ เป็นต้น
  5. บุคคลที่ปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสนใจกับลักษณะภายนอกของตนเอง เช่น บุคคลที่ปล่อยให้ผมยาวรุงรัง สวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรก ไม่ทำความสะอาดร่างกายตนเอง
  6. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตนเอง ชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น จากเคยเป็นบุคคลที่ชอบเข้าสังคม สังสรรค์ พบปะกับเพื่อน ก็กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบอยู่กับบ้าน ไม่ยอมพบปะพูดคุยกับใครเลย หรือ จากคนที่ร่าเริงแจ่มใส กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กลายเป็นคนที่เศร้าซึม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความเป็นตัวเองออกมา
  7. บุคคลนั้นจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งทำอยู่เป็นประจำ ลองใช้วิธีง่าย ๆ สังเกตดู คือ ดูจากคุณภาพงานที่เขาทำว่าคุณภาพของงานนั้นลดลงหรือไม่ เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะทำสิ่งใด จะไม่สามารถบังคับให้ใจจดจ่อต่องานชิ้นหนึ่งชิ้นใดได้ งานนั้นก็จะมีคุณภาพไม่ดี หากงานใดก็ตามที่บุคคลนั้นทำมีผลออกมาไม่ดีเสมอ ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่ทำอยู่
  8. บุคคลนั้นมักจะบ่นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางกายของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งอาการเจ็บป่วยทางกายที่มักบ่นถึง จะเป็นอาการเจ็บป่วยทางกายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับทางอารมณ์ เช่น บุคคลที่มักบ่นว่าตนรู้สึกปวดท้อง หรือ ปวดหัว อยู่เป็นประจำ
  9. บุคคลที่ไม่ให้ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้ความพึงพอใจ เช่น การดูโทรทัศน์ การชมภาพยนตร์ อ่านออกกำลังกาย หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ ซึ่งกิจกรรมที่ให้ความพึงพอใจของแต่ละบุคคลก็จะมีความแตกต่างกันไป หากคุณเป็นคนที่ใกล้ชิดก็ลองสังเกตดูว่า คนรอบข้างคุณมีกิจกรรมอะไรที่เขาพึงพอใจ เมื่อเขามีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะได้สามารถสังเกตเห็นได้ทันท่วงที

 

นอกจากนี้แล้วยังมีคำพูดต่าง ๆ ที่จะช่วยบอกคุณได้ คือ ใช้คำพูดที่บ่นว่าตนเอง ว่าตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย หรือ มักจะพูดถ้อยคำที่มีนัยแฝง เช่น

 

“ฉันคงไม่เป็นปัญหากับคุณอีกนานเท่าไรแล้วละ”

 

“มันไม่มีอะไรมากนักหรอก”

 

“ฉันคงไม่ได้เจอคุณอีกแล้วนะ”

 

ทั้งนี้สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด คงไม่สามารถระบุได้ว่า สิ่งใดจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าบุคคลใดมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้เราสังเกตคนรอบข้าง ส่วนคนรอบข้างของคุณจะมีแนวโน้มมากหรือน้อยเพียงใดคงต้องอาศัยความใกล้ชิดกับคน ๆ นั้นประกอบด้วย

 

 

คนในช่วงอายุใดมีโอกาสที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตายมากที่สุด?


 

ชีวิตของคนเราสามารถแบ่งช่วงวัยเป็นช่วงต่าง ๆ แบบง่าย ๆ คือ แบ่งวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยชรา เมื่อเราแบ่งช่วงวัยเป็นแบบนี้แล้วเราจะพบว่า วัยรุ่นและวัยชราเป็นวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยอื่น ๆ

 

ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของวัยรุ่น โดยอารมณ์ของบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่นจะมีความผันผวนได้ง่าย คือ เมื่อวัยรุ่นมีความรู้สึกเป็นสุข ก็จะมีความสุขแบบสุด ๆ ชนิดที่เราจะเห็นเขาตะโกน เย้ว ๆ ตามคอนเสิร์ต แต่เมื่อวัยรุ่นมีความทุกข์ เขาก็จะจมอยู่กับความทุกข์ได้อย่างสุด ๆ เช่นกัน ชนิดที่ไม่กินไม่นอน เหมือนโลกจะดับไปตรงหน้า ดังนั้นเมื่อวัยุร่นต้องเผชิญกับปัญหาที่เขารู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไข หรือไม่สามารถจัดการได้ เขาก็รู้สึกทุกข์กับมันมาก จมอยู่กับความทุกข์นั้น เกิดความหดหู่ใจ อันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

ส่วนในวัยชรา เมื่อบุคคลอยู่ในวัยชราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเช่นเดียวกับวัยรุ่น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยลง ทั้งการลดลงของคนใกล้ชิด การลดลงของสมรรถภาพกาย โดยการลดลงของคนใกล้ชิดคือเปลี่ยนแปลงจากการที่คู่ชีวิตหรือเพื่อนสนิทต้องเสียชีวิตไป ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นคนที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของบุคคล ส่วนการลดลงของสมรรถภาพกาย คือ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลง ท่านจะไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เคยทำได้ จากที่เคยเดินอย่างคล่องแคล่วแข็งแรง ก็เดินไม่ได้ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ และเมื่อประกอบกับอารมณ์ของบุคคลในวัยชราที่ท่านจะต้องการความสนใจจากลูกหลาน อยากให้ลูกหลานเอาใจใส่ห้อมล้อมใกล้ชิด แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่ท่านต้องการ ท่านก็อาจจะเกิดความน้อยใจ รู้สึกว่าตนไม่มีความหมาย หรือบางครั้งท่านอาจจะถูกลูกหลานทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้เกิดความหงอยเหงา ซึ่งแต่ละสาเหตุที่กล่าวมานั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือ หลายปัจจัยร่วมกัน อาจจะทำให้ท่านตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราก็ควรจะให้ความใส่ใจดูแลบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยชรา อาจต้องดูแลเป็นพิเศษ พยายามดูแลวัยรุ่นด้วยความเข้าใจถึงธรรมชาติของเขา ว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างายและจิตใจ ส่วนวัยชราก็ต้องให้ความใส่ใจดูแลใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกว่าไม่มีใครให้ความสำคัญ

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content