ก่อนจะตัดสินใครว่านิสัยแย่

01 Aug 2019

รวิตา ระย้านิล

 

สมองของคนเรานั้นชอบหาทางลัด

 

เวลาที่พบใครทำอะไรไม่ดี เราก็มักจะตัดสินง่าย ๆ ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพราะมันใช้เวลาน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการมานั่งทำความเข้าใจถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อย่างเช่น การมานั่งคิดว่า “วันนี้เขาเจออะไรมาบ้าง” “ขณะนี้เขากำลังคิดกำลังรู้สึกอะไร” “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาเคยมีประสบการณ์แบบไหนเกิดขึ้นในชีวิตของเขา”

 

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นตัวเราเองที่ทำอะไรไม่ดี สมองของเราจะคิดหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อหาข้อแก้ต่างให้กับตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงานและเวลาอะไรนัก เพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่แล้ว เรารู้ว่าวันทั้งวันนี้เราเจออะไรมา เราเข้าใจหัวอกของตัวเอง เรารู้ดีว่าเราทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปด้วยความคิดและความรู้สึกแบบไหน

 

กล่าวได้ว่า คนเราล้วนมีความพร้อมที่จะปกป้องตัวเอง เพราะเรามีข้อมูลของเรา แตกต่างจากเรื่องราวของคนอื่น ที่เราไม่ได้รู้อะไร เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงมุมมองของคนอื่นขนาดที่ put oneself in other’s shoes แล้วจะทำได้อย่างอัตโนมัติ

 

นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Self-serving bias หรือ ความลำเอียงเข้าข้างตน” (อะไรดีเอาเข้าตัว อะไรชั่ว-เพราะจำเป็น) และ Fundamental attribution error หรือ ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ” (เขาทำเช่นนั้นเพราะเขาเป็นคนเช่นนั้น)

 

ถึงแม้มนุษย์จะนิยมความยุติธรรม แต่ความลำเอียงหรือ bias นั้น เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ด้วยประโยชน์บางประการ

 

เนื่องจากการลำเอียงเข้าข้างตนนั้นช่วยให้เรารักษาความรู้สึกที่ดีกับตัวเองไว้ได้ เรามีความสุขกับเรื่องดี ๆ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก “ความเก่ง” “ความดี” และ “ความพยายาม” ของเรา และเราก็ไม่ต้องมาเป็นทุกข์เนื่องจาก “ความไม่ดี” “ความไม่เก่ง” หรือ “ความขี้เกียจ” ของเรา

 

ความภาคภูมิใจในตนเป็นสุดยอดอารมณ์ที่น่าพึงปรารถนา การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาระดับไว้ ขณะที่ความรู้สึกผิด (guilty) นั้นเป็นสุดยอดอารมณ์ทางลบที่แย่ยิ่งกว่าอารมณ์ใด ๆ เราจึงต้องบอกตัวเองว่าเราทำดีเพราะเราเป็นคนดี ส่วนที่เราทำไม่ดีเพราะมีปัจจัยแวดล้อมนานามาทำให้มันเป็นไป จะเป็น ความเครียด ความเหนื่อยล้า ความไม่รู้ ความถูกกระทำก่อน หรือความ ‘ใคร ๆ เขาก็ทำกัน’ (descriptive norm) ก็ตาม

 

เราไม่ได้ “จงใจ” คิดเข้าข้างตัวเองเพื่อเหตุผลเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติเหมือนเวลามีแสงสว่างมาก ๆ เราก็ต้องหยีตา แม้แต่นักจิตวิทยาเองที่เข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ บ่อยครั้งก็ยังหนีไม่พ้น…

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีประโยชน์เช่นนั้น เป็นไปโดยธรรมชาติด้วยเหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น แต่ขึ้นชื่อว่าความลำเอียงแล้ว ของที่มันไม่ตรง มันก็มีโทษที่ความไม่ตรงนั่นเอง

 

ยิ่งไม่ตรงมาก คือลำเอียงเข้าข้างตัวเองมาก ก็เป็นกับดักทำร้ายตัวเองได้ เมื่อเราไม่ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงจากเรื่องดีและร้ายของเรา การจะทำให้เกิดเรื่องดีซ้ำ ๆ หรือป้องกันและแก้ไขเรื่องร้ายย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้าผนวกกับ Fundamental attribution error ด้วยแล้ว เราจะยิ่งกลายเป็นผู้อยุติธรรมไปกันใหญ่ จนเข้าตำรา “ความผิดคนอื่นเท่าผืนฟ้า ความผิดตนเองแค่เม็ดทราย”

 

ความลำเอียงที่กล่าวมานี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่จะมากหรือจะน้อย

 

ถ้าใครกำลังคิดว่าปฏิเสธว่า “ฉันไม่เคยเป็นอย่างนั้น” “ฉันไม่ใช่คนคิดเข้าข้างตัวเอง” และ “ฉันไม่เคยโทษใครมั่วๆ”

 

  • ลองนึกทบทวนดูก่อนว่า เวลาที่เราใช้รถใช้ถนนผิดกฎจราจร เราบอกตัวเองว่าอย่างไร
  • เวลาที่พบเห็นคนอื่นใช้รถใช้ถนนผิดกฏจราจร เราคิดถึงเขาว่าอย่างไร
  • เวลาที่เรามาสาย เราอธิบายว่าอย่างไร
  • เวลาที่คนอื่นมาสาย ผิดนัดเรา เรารู้สึกกับเขาเช่นไร
  • เวลาที่เราไม่รักษ์โลก เรามีเหตุผลอะไร
  • เวลาที่คนอื่นไม่รักษ์โลก เราคิดว่าแต่ละคนมีเหตุผลอะไร

 

ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้สัก 10 สถานการณ์ แล้วได้คำตอบเช่นเดิม คือเราไม่เคยอธิบายตัวเองและตัดสินคนอื่นแตกต่างกันเลย นั่นแปลความได้ 2 อย่าง คือ ถ้าท่านไม่ใช่ยอดคนที่อยู่เหนือสัญชาตญาณเหล่านั้น ท่านก็เป็นคนที่เข้าข้างตัวเองแบบสุด ๆ ไปเลย (ผ่าม…!)

 

ถ้ามีบางคราว ที่เราคิดหาข้อแก้ต่างให้ตัวเอง(เก่ง) แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้นกับคนอื่น
และก็มีบางคราว ที่เราตัดสินตัวเองอย่างเป็นธรรม รวมถึงมองในมุมของคนอื่นอย่างเข้าใจ

 

ท่านคือคนทั่วไป…ที่ไหลไปตามธรรมชาติของมนุษย์บ้าง และมีสติเท่าทันตัวเองบ้าง

 

การระลึกรู้ตัวไม่ใช่วิถีของการประหยัดพลังงาน มันจึงไม่ใช่ default ของเรา เป็นสิ่งที่แม้เราเคยทำได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำได้อยู่ตลอด และสติเป็นคนละเรื่องกับตรรกะ ผู้ที่มีตรรกะดีก็สามารถตกอยู่ในวิถีของปุถุชนได้ ดังนั้นสติจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และฝึกอยู่ตลอดเวลา

 

การฝึกสตินั้นจะว่ายากก็ยาก เพราะเป็นการฝึกฝนที่ไม่สิ้นสุด แต่จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ คือการดึงการรั้งตัวเองไม่ให้ไหล เราอาจจะห้ามตัวเองไม่ทันเวลาเอ่ยคำแก้ตัว หรือยั้งตัวเองไม่อยู่ตอนวิพากษ์ (หรือบริภาษ) คนอื่น แต่เราสามารถนำมาคิดทบทวนภายหลังได้ ตอนที่หัวเราโล่งๆ ไม่ได้โกรธ กลัว หรือวิตกกังวลอะไร ย้อนฟังเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของตัวเอง เปรียบเทียบกับเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของคนอื่น

 

“ใจเย็นๆ” อาจเป็นคำติดปากที่เรามักใช้พูดปลอบใจคนอื่น แต่เราก็สามารถนำมาใช้กับตัวเองได้เช่นกัน

 

แค่ไม่รีบร้อนสรุปเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นที่เราไม่มีทางรู้ข้อมูลได้ครบถ้วนในนาทีนั้น

 

ตั้งคำถามก่อนฟันธงคำตอบ

 

หา second opinion ที่เชื่อถือได้ (ที่ใจเย็นกว่าเรา)

 

และที่สำคัญที่สุด – จึงต้องกล่าวถึงหลังสุด – คือการยอมรับในความผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคนและทุกเมื่อ

 

เราสามารถทำอะไรผิดไปก็ได้ เข้าใจอะไรผิดไปก็ได้ เพราะเราไม่ใช่คนดี 100% และไม่รู้อะไรไปเสียทุกอย่าง

 

การยอมรับในความบกพร่องของตัวเองจะช่วยให้เราปกป้องตัวเองน้อยลง

 

เมื่อเราไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการปกป้องตนเอง เราก็จะมีทรัพยากรสำหรับการเรียกสติและคิดได้อย่างมีตรรกะมากขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content