News & Events

คณะจิตวิทยาร่วมออกบูทในงาน “CHULA LAND แดนเด็กเล่น” ณ สยามสแควร์

 

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ PMCU จัดกิจกรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติใจกลางสยามสแควร์ งาน “CHULA LAND แดนเด็กเล่น” ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 21.00 น. ณ สยามสแควร์

 

ในงานนี้คณะจิตวิทยาร่วมออกบูท Mind Town บริเวณ Block K (ตรงข้าม Siam Square One) มีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานได้เพลิดเพลินไปด้วยสาระและความสนุกสนานมากมาย จากWellness Center ศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร และ ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย อาทิ

  • ทดลองจิตวิทยาสุดเจ๋ง
  • กิจกรรมชวนเล่นจากนักจิตวิทยา: อะคริลิคส่องใจ ฟังนิทานรู้จักอารมณ์
  • My Emotion…My Shining Mind: สำรวจจิตใจผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์
  • เปิดโลกอาชีพที่น่าสนใจ

 

 

 

 

เครียดงานหลังปีใหม่: พอจัดการได้ ถ้าตั้งหลักดี ๆ

 

รู้สึกเหมือนกันไหมคะว่าเทศกาลปีใหม่ผ่านไปเร็วจนน่าใจหาย หลายคนบ่นว่าเหมือนตื่นมาจากฝัน ความรู้สึกผ่อนคลายกับเวลาสบาย ๆ หมดไปเร็วเหลือเกิน ถึงเวลานี้ หลายคนคงกลับมาใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานแบบเดิม ๆ และอาจมีเพิ่มเติมด้วยความรู้สึกกดดันกับงานกองใหญ่ ที่เคยผัดผ่อนไว้ช่วงก่อนเทศกาล ตอนนั้นอาจคิดไปว่าปีใหม่ เราคนใหม่ จะมีพลังจัดการได้ทุกอย่าง แต่พอกลับมาเจอกองงานอีกครั้ง หรือเห็นงานใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา ก็อาจพาให้เกิดความเครียดได้

 

แต่อย่างไร อย่าเพิ่งรู้สึกไม่ดีกับความเครียดนะคะ ถ้ารักษาไว้ในระดับพอดี ๆ ความเครียดก็มีประโยชน์ได้ค่ะ ความเครียดที่ไม่สูงเกินไป จะส่งผลให้เราเกิดแรงจูงใจ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ลงมือทำอะไรไม่นิ่งเนือย ในปีนี้ เราอาจได้ผลงานที่ดี มีประสิทธิภาพในการใช้เวลา หรือเห็นความรุดหน้าในงานถ้าจัดการความเครียดได้ลงตัวนะคะ

 

ในทางกลับกัน ถ้าความเครียดนั้นสูงเกินไป ก็จะส่งผลเสียทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด เกร็ง ไม่สบายใจ บางคนทานไม่ได้นอนไม่หลับ ความเครียดสูงยังบั่นทอนสมาธิ การรับรู้ การตัดสินใจ และส่งผลให้หลาย ๆ คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางคนหลีกเลี่ยงหนีสถานการณ์ตึงเครียด ใช้เกม การกินหรือสุรายาเสพติดเป็นเครื่องปลอบใจ ถ้ามาถึงจุดนี้ เราคงต้องตั้งหลักหาวิธีจัดการความเครียดแล้วค่ะ

 

ความเครียดเป็นผลจากการประเมินสถานการณ์ว่าคุกคามความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ และเรามีตัวช่วยในการรับมือสถานการณ์นั้นมากน้อยเพียงใด ความเครียดเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ในสถานการณ์ดี ๆ เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง การแต่งงาน การให้กำเนิดสมาชิกใหม่ในครอบครัว เมื่อไรที่เรารับรู้ว่าตัวเองออกจากพื้นที่ปลอดภัย เราอาจเกิดความเครียดได้

 

เนื่องจากความเครียดมีที่มาหนึ่งจากการรับรู้ของเราเอง การตั้งหลักทบทวนว่าเรารับรู้หรือประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มแรกเลย ลองทบทวนว่าสถานการณ์ตึงเครียดนั้นเกี่ยวข้องกับเรามากน้อยเพียงใด ถ้างานกองใหญ่ที่รออยู่หลังปีใหม่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับเราคนเดียว เราก็อาจจะต้องกระจายปริมาณความเครียดไปให้เหมาะสม

 

นอกจากนั้น ความเครียดเกิดการจากรับรู้ว่าเราถูกคุกคามไม่ปลอดภัย บางทีพอได้ยินคำว่า “งาน” เราก็พาลเครียดไม่ปลอดภัยไปแล้ว แต่ถ้าตั้งหลักมองดี ๆ งานที่ต้องดูแลก็อาจเป็นโอกาสให้เราได้แสดงฝีไม้ลายมือหรือเรียนรู้พัฒนาตัวเองก็ยังได้ และอาจจะไม่ใช่ภัยคุกคามเสมอไป

 

ลองทบทวนดูความคาดหวังของเราสักนิดนะคะว่าจะกดดันตัวเราไปหรือไม่ เช่น ถ้าเรามองแบบดำขาวว่างานกองใหญ่ที่รออยู่ต้องเสร็จไปในทันทีที่ปีใหม่มาถึง แบบนี้ก็คงเครียดไม่น้อย จะผ่อนคลายกว่าแน่ ถ้าเราค่อยๆ ประเมินแล้วตั้งกำหนดเวลาคิดว่าน่าจะค่อย ๆ ทยอยทำงานนั้นไป

 

สุดท้ายแล้ว การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับงานก็ช่วยลดความเครียดไปได้ค่ะ ร่างกายที่พร้อม จิตใจที่แข็งแรงนับเป็นพื้นฐานที่ดี แต่ยังมีวิธีเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมได้ เช่น การจัดสรรเวลาที่ดี การนึกทบทวนนำเอาวิธีการทำงานหรือแนวทางการแก้ปัญหาที่เคยใช้ได้ผลในอดีตกลับมาใช้อีก และหากเฉพาะเราคนเดียวแบกรับงานกองโตไม่ไหว การขอรับกำลังกาย กำลังใจ หรือคำแนะนำจากคนข้างเคียงก็นับเป็นตัวช่วยที่ดีในการบรรเทาความเครียดค่ะ

 

 

การตั้งหลักทบทวนทำความเข้าใจที่มาและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับงานจะช่วยลดความเครียดของเราลงได้ และหากได้ทดลองใช้ให้คุ้นชินตั้งแต่ต้นปี ก็น่าที่จะช่วยให้คุณได้มีเครื่องมือใหม่ ๆ ไว้ใช้จัดการความเครียดต่อไปนะคะ แต่หากลองตั้งหลักทบทวนแล้ว ยังมีประเด็นที่คุณอยากพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อจัดการความเครียดของคุณ ติดต่อนักจิตวิทยาได้นะคะ

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

พิธีตักบาตรเนื่องในโอกาสขึ้นพุทธศักราชใหม่ 2568 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 9 มกราคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคณาจารย์และบุลากรคณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีตักบาตรเนื่องในโอกาสขึ้นพุทธศักราชใหม่ 2568 ที่จัดขึ้นโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ลานพระศรีมหาโพธิ์ หน้าอาคารจามจุรี 4 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวจุฬาฯ ในการเริ่มต้นปีใหม่

ภายหลังพิธีตักบาตร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานพิธี และ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ ได้ให้โอวาทและอวยพรปีใหม่แก่ชาวจุฬาฯ

 

 

 

 

 

 

นิสิตคณะจิตวิทยาได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ด้านกีฬาและนันทนาการ 2568

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีและภาคภูมิใจกับ นางสาวปัฌรวี ชยวรารักษ์ นิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ด้านกีฬาและนันทนาการ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 จากกระทรวงศึกษาธิการ (ชนิดกีฬาว่ายน้ำลีลา ประเภทบุคคล) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568

 

 

 

 

 

 

ปฏิทินโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา ปี 2568

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา สำหรับบุคคลทั่วไป

โดยงานบริการวิชาการกลาง คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2568

 

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ
เวลาจัดอบรม
Application timeline
สถานะ
พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ 18 ม.ค. 68 ธ.ค. 67 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
เทคนิคพื้นฐานสำหรับการเจรจาต่อรอง 22 มี.ค. 68 ม.ค – ก.พ. 68 ปิดรับสมัครแล้ว
Bias & Diversity Management in Organizations 26 เม.ย. 68 มี.ค. 68 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
จิตวิทยาการจัดการเวลา 21 มิ.ย. 68 เม.ย. 68 ปี 68 TBA
ความรู้พื้นฐานจิตวิทยาพัฒนาการ 9 – 20 มิ.ย. 68 พ.ค. 68 ปี 68 TBA
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด 7 มิ.ย. – 2 ส.ค. 68 เม.ย. 68 ปิดรับสมัครแล้ว
ความรู้พื้นฐานจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ 16 มิ.ย. – 21 ก.ค. 68 พ.ค. 68 ปี 68 TBA
ความรู้สถิติเบื้องต้นสำหรับการวิจัยทางจิตวิทยา 7 – 18 ก.ค. มิ.ย. 68 ปี 68 TBA
Mental Well-being Management in Organizations ตุลาคม 68 ก.ย. 68 New
อบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป พ.ย. – ธ.ค. 68 ต.ค. 68 ปี 67 ที่ผ่านมา
Monte Carlo Simulations for Sample Size Planning TBA TBA New

 

 

 

 

 

ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 108 ปี แห่งการสถาปนาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 3 มกราคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตร และร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และผู้บริหารคณะอักษรศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 108 ปี แห่งการสถาปนาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร

 

 

 

 

 

 

กลยุทธ์สู่การประสบความสำเร็จในปณิธานปีใหม่

 

ในงานวิจัยที่เก็บข้อมูลทางสถิติ พบว่า มีคนน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงในปณิธานปีใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้วการตั้งปณิธานและไม่สามารถทำได้ตามที่ตนปรารถนานั้นจะสัมพันธ์กับ การตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน ขาดแผนการ หรือการจัดสรรที่ดี ที่นำไปสู่เป้าหมาย และทำให้เกิดความหมดกำลังใจหมดแรงจูงใจในการสานฝันที่ตั้งไว้

 

ใครในที่นี้ได้เคยมีโอกาสได้ตั้งสิ่งที่ตนเองปรารถนาให้กับตัวเอง แต่ยังไม่ทันถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มปล่อยสิ่งที่ตนเองปรารถนาไปก่อนบ้างคะ?

 

ในงานวิจัยพบว่า ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่มีสิ่งที่ตนเองปรารถนาจะปล่อยหรือละทิ้งสิ่งปรารถนานั้น ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ โดยหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยตั้งความปรารถนาไว้ในปีใหม่ แต่ไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ หรือทำได้ในระดับหนึ่งแล้วล้มเลิกกลางครัน เราถือเป็นคนหมู่มากค่ะ เราเป็นเพื่อนกัน

 

แล้วเราจะสามารถวางกลยุทธ์อย่างไรได้บ้างเพื่อความสำเร็จในปณิธานปีใหม่

 

คุณ ๆ ทราบมั้ยคะว่า การตั้งความแน่วแน่ในปีใหม่เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่เราควรได้ตั้งเป้าหมาย แพลนและลงมือทำ เหตุเพราะช่วงเวลาปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง การรับรู้ถึงสิ่งใหม่ ๆ ความตั้งใจใหม่ ๆ จะยังมีอยู่อย่างเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่เราจะสามารถสะท้อนความตั้งใจของตนเอง และคิดถึงสิ่งที่อยากพัฒนา และดึงแรงบันดาลใจให้กับตนเองได้ เปรียบเหมือนการเริ่มต้นใหม่อย่างสดใส สดชื่น การเริ่มจัดระบียบวางแพลนในชีวิตเพื่อเริ่มบทใหม่ ๆ ของตัวเรา โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สุขภาพ การงาน ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ค่ะ

 

 

การตั้งเป้าหมายที่สำคัญ

 

  1. สามารถบอกกล่าว มีความเฉพาะเจาะจง และเห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนถึงเป้าหมาย
  2. สามารถค่อย ๆ วัดความสำเร็จ และวัดความสำเร็จเมื่อถึงเป้าหมายได้
  3. มีความท้าทาย ไม่ง่ายเกินไป และไม่ยากเกินไป แบบยังไงก็เป็นไปไม่ได้ จนหมดกำลังใจ
  4. มีความสำคัญเฉพาะเป็นคุณค่ากับตัวเรา
  5. มีการให้เวลา และกำหนดเวลาในการค่อย ๆ ไปสู้เป้าหมายที่ตั้งไว้

 

 

เริ่มต้นจาก

  • “อะไรที่เล็กๆ” ถึงแม้ฝันเราจะใหญ่

เช่น ปณิธานของเราคือ การลงวิ่งมาราธอนภายในปีนี้ ก็อาจจะค่อย ๆ เริ่มเรียนรู้จังหวะการวิ่งของตัวเอง ค่อย ๆ พัฒนาตามระยะทาง จนสามารถพัฒนาเป็นวิ่งมาราธอนได้ใน 6 เดือนต่อมา

 

หรือ ปณิธานของเราคือ การลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ภายในครึ่งปีหน้า ก็ค่อย ๆ เริ่มจากการไม่ซื้อขนมมาตุนไว้ที่บ้าน ลดการทานของทอด ของหวานในทุก ๆ วัน พร้อมออกกำลังกาย อาจจะเริ่มที่ 15-20 นาที และค่อยเพิ่มเวลา ให้น้ำหนักได้ลดลงเป็นลำดับ

 

  • เป็นการสร้าง “ลักษณะนิสัยใหม่”

เช่น การซ้อมวิ่งทุก ๆ วัน เวลาหกโมงเย็น ที่สวนเป็นเวลา 20 นาที

การลดทานขนม น้ำหวาน หรือของทอด ในแต่ละมื้ออาหาร และในระหว่างวัน จนสามารถเลิกการทานได้

 

  • อิงสิ่งที่ “ช่วยสนับสนุนเรา”

เช่น แชร์ความแน่วแน่ตั้งใจนี้กับเพื่อน และชวนกันไปออกกำลังกาย ตามเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะกับเพื่อนที่มีปณิธานที่เหมือนกัน และชวนกันไปเริ่มจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ จนสร้างเป็นลักษณะนิสัย

 

นอกจากนี้ ในยุคนี้ อาจจะมีเครื่องมือ applications ต่าง ๆ ที่ช่วย ในการสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจ เช่นในการวิ่งและเก็บสถิติ ความเร็วและหน่วยระยะทางไว้ ซึ่งอาจจะสามารถแชร์กับกลุ่มเพื่อน เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ให้กันและกันได้อีกด้วย

 

  • “ให้รางวัลตัวเอง”

เช่น คำชมตัวเอง หรือ กดไลค์ ส่งคำชมเพื่อนที่กำลังพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมาย พร้อมจดบันทึกว่า ตอนนี้เราได้พัฒนาไปถึงไหน อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนอย่างไร หรือต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมั้ยสู่การไปสู่เป้าหมาย โดยสิ่งนี้จะสัมพันธ์กับ ลักษณะของเป้าหมายที่ตั้ง และลักษณะของตัวเรา

 

ถ้าเราเป็นบุคคลที่มี Growth mindset ที่ดี ประสบการณ์ที่เราได้จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้และพร้อมพัฒนา การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายจะทำให้เราอยากลองลงมือทำ แต่หากเราเป็นบุคคลที่มี Fixed mindset การตัดสินตนเองว่า ไม่สามารถทำได้ และล้มเลิกความตั้งใจ หรือลดเป้าหมายลงอาจเกิดขึ้นได้ เราอาจจะลองขยับความคิดของเราค่ะ ว่าเราค่อย ๆ พยายามและเรียนรู้ ค่อย ๆ พัฒนา เราก็จะสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมาย หรืออาจเกินกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้

 

  • สุดท้าย แต่.. ไม่ท้ายสุดค่ะ

อยากชวนให้ทุกท่านได้พูดคุยและตอบคำถามตัวเองค่ะ ว่าเราตั้งปณิธานนี้เพราะสาเหตุอะไร หากความแน่วแน่ในปีใหม่ที่เราตั้งนี้ ตอบคำถามได้ว่า เราทำไปทำไม เพื่อคุณค่าอะไร เราก็จะมีแรงใจมากขึ้น ในการตั้งใจ และอยู่ในกลยุทธ์แผนที่ตั้งไว้ เพื่อให้ได้มาซึ่งปณิธานที่เราได้ตั้งไว้ในต้นปีนี้ค่ะ

 

 

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านนะคะ ขอให้ทุกท่านพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ผู้คนดี ๆ รอบกาย สุขกายและสบายใจค่ะ

 

 

Reference

Norcross, J. C., Mrykalo, M. S., & Blagys, M. D. (2002). Auld lang Syne: Success predictors, change processes, and self‐reported outcomes of New Year’s resolvers and nonresolvers. Journal of clinical psychology, 58(4), 397-405.

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี แห่งการสถาปนาคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.รัตน์ศิริ ทาโต คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี แห่งการสถาปนาคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ชั้น 10 อาคารอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ จุฬาฯ

 

 

 

 

 

กิจกรรม CU RESEARCH & GRANT ROADSHOW

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.บัญชา พูลโภคา ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านงานพัฒนาวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมงานกลุ่มยุทธศาสตร์การวิจัย ที่ได้มาจัดกิจกรรม CU RESEARCH & GRANT ROADSHOW ในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โดยในงานนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ทุนสนับสนุนกลุ่มยุทธศาสตร์การวิจัย เพื่อให้คณาจารย์และนักวิจัยของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับทุนของยุทธศาสตร์วิจัยและการสนับสนุนต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยของคณาจารย์ และผลักดันงานวิจัยให้เกิดความก้าวหน้าในระดับนานาชาติ

ต้อนรับ H.E Angela Mcdonald เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย

 

วันที่ 19 ธันวาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ และ อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติ (JIPP) ได้มีโอกาสต้อนรับ H.E Angela Mcdonald เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้า พบ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในออสเตรเลีย