News & Events

ถอดความ PSY Talk เรื่อง จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง
จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.ฐนันดรศักดิ์ บวรนันทกุล
    อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
    อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อาจารย์ ดร.ปิยกฤตา แก้วพิกุล
    อาจารย์ประจำคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์
    รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 – 17.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1787613661449021

 

 

 

 

 

มีการใช้หลักการทางจิตวิทยาในกระบวนการสอบสวนหรือไม่


 

อ.ฐนันดรศักดิ์

ในแง่ทฤษฎีการเรียนการสอน จิตวิทยาถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในสาขา โดยเฉพาะในวิชาทฤษฎีอาชญวิทยา (Criminology) มีพูดถึงพื้นฐานทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เช่น เรื่องความจำที่ผิดพลาด การโกหก การสารภาพเท็จ) และมีวิชา Personality and crime คือเรื่องบุคลิกภาพกับการประกอบอาชญากรรม ในทางวิชาการนำไปใช้ได้ค่อนข้างเยอะ

 

อีกส่วนหนึ่งใช้ในวงการปฏิบัติ ในกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ ในยุคแรกก็มีวิชา Forensic Psychology แปลว่า นิติวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา หรือ นิติจิตเวช เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก มีทั้งการศึกษาและการฝึกอบรม ตอนหลังมีการเพิ่มนักจิตวิทยามาในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เรียกว่าสหวิชาชีพ เนื่องจากมองว่าเด็กเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจเปราะบาง นักจิตวิทยาก็จะช่วยในกระบวนการสอบสวนไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำสองในเด็กและผู้หญิง ไม่ให้ระลึกถึงความบอบช้ำทางจิตใจที่มีอยู่ (Psychic trauma) ในประเทศไทยก็นำมาใช้แล้ว

 

เรื่องที่สามคือการศึกษาที่ FBI ที่ได้ประมวลไว้และนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ เผยแพร่ในทางภาพยนตร์ก็มี อาทิ criminal mind คือการศึกษาเรื่องแรงจูงใจของอาชญากรที่ประกอบอาชญากรรม มักเกี่ยวข้องกับการตามล่าเหล่าฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killing) และล่าสุดในช่วง 10 กว่าปีนี้ มีการทำ Criminal profiling ประวัติอาชญากรรมทางจิต เป็นการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีของศาล ในอเมริกามีศาลที่เรียกว่า Mental health court เป็นศาลที่พิจารณาความผิดของผู้ที่มีปัญหาโรคจิต หรือติดเสพสารเสพติดจนเสียสภาพจิตไป ในอังกฤษก็มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่โด่งดังเรื่องนี้ อยู่ที่ลิเวอร์พูลและฮัดเดอส์ฟีลด์ ตัวท่านและลูกศิษย์ก็ได้เผยแพร่เรื่อง criminal profiling จนเป็นที่แพร่หลาย

 

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของบทบาทของการใช้จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

ในการพิจารณาคดีของศาลเอง ผมได้ไปบรรยายหลักสูตรผู้พิพากษาเรื่องจิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวน ก็พบว่าเขานำเอาเรื่อง จิตวิทยาในการโกหก และจิตวิทยาในเรื่องการ recall ความทรงจำของคนที่นำตัวมาเป็นพยาน มาใช้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงเรื่องจิตวิทยาในการรับสารภาพ เหล่านี้เป็นมิติที่พยายามดึงเอาจิตวิทยามามีบทบาทในทางอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรม

 

 

คนที่เรียนหลักสูตรการใช้จิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวนมีใครบ้าง


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

คนที่เรียนศาสตร์เหล่านี้ก็มีบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เราได้ไปทำ MOU กับมหาวิทยาลัยฮัดเดอส์ฟีลด์ แล้วได้เอาพวกวิชา Investigative Psychology เข้ามา มีการทำคอร์สอบรมให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ศาล ตำรวจ ราชทัณฑ์ จนถึงผู้คุมประพฤติเยาวชน

 

อ.อภิชญา

ลูกศิษย์ของเราที่จบจิตวิทยาไป (แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม) บางคนก็ไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม บางคนก็ได้ทุนของกพ.ไปเรียนทางด้าน Forensic Psychology และด้าน Applied Psychology ตนเองก็เลยเปิดรายวิชา Psychology and Crime เพื่อให้นิสิตที่สนใจทางด้านนี้จะได้นำความรู้ทางจิตวิทยาไปต่อยอดหรือใช้ในชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงาน เราสอนเกี่ยวกับเรื่อง false memory ความจำผิดที่พลาด ให้ได้รู้ว่าเรามักมั่นใจในความจำของเรามากเกินจริง เราจะคิดว่าเราเห็นเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่เราพูดออกมาใหม่ เราจะ encode ข้อมูล ใส่สี ตกแต่งข้อมูล และใส่กลับเข้าไปในสมองอีกทีหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความจำผิดที่พลาด และ false confession การสารภาพเท็จ ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุก ในต่างประเทศพบเคสเหล่านี้หลังจากพิสูจน์ด้วย DNA แล้วได้พบว่าการให้ปากคำของพยานและผู้ต้องสงสัยนั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนก็ตั้งใจโกหก เพราะมี hidden agenda แต่บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่มีความจำที่ผิดพลาด และมีบุคลิกที่คล้อยตามสิ่งชี้แนะในบริบทแวดล้อมได้โดยง่าย

 

สำหรับการนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ก็อย่างเช่นการเสพข่าว เราจะสามารถติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ พิจารณาได้ว่าข่าวไหนน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

 

อ.ปิยกฤตา

ที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีเปิดรายวิชาจิตวิทยากับกระบวนการยุติธรรม สำหรับคนที่จะทำงานในกระบวนการยุติธรรม การมีองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน เพราะอาชญากรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน คือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จิตวิทยาสามารถเข้ามาช่วยได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตอนเกิดอาชญากรรมจนถึงการขึ้นศาล การพิจารณาคดี การตัดสินโทษ และการบังคับคดี โดยจิตวิทยาจะเข้ามาช่วยปิดจุด Human error ที่มนุษย์นั้นสามารถมีได้ตลอดเวลา

 

ตัวอย่างการใช้จิตวิทยาในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตั้งแต่ยังจับคนร้ายไม่ได้ ก็จะมีการทำ criminal profiling ที่ดูความสอดคล้องของพฤติกรรมเพื่อวิเคราะห์หาตัวคนร้าย และเมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยและพยาน การสอบปากคำก็สามารถนำจิตวิทยาเข้ามาช่วยได้ในการดูว่าความทรงจำของผู้ให้ปากคำที่อาจจะมีข้อผิดพลาดหรือยังไม่สมบูรณ์นั้น จิตวิทยาจะช่วยเติมให้มันละเอียดขึ้นหรือแม่นยำขึ้นได้อย่างไร หรือตอนชี้ตัวผู้ต้องสงสัย ศาสตร์จิตวิทยารู้ว่าความจำของมนุษย์นั้นจดจำเป็นภาพรวมมากกว่าที่รายละเอียด ดังนั้นควรให้ดูในองค์รวมก่อนไปดูรายละเอียดที่ตาหรือจมูก

ดังนั้นการมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยา นอกจากช่วยในการทำงานของผู้เกี่ยวข้องแล้ว กับคนทั่วไปยังช่วยให้เรามีวิจารณญาณในการเสพข่าว และการวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวอาชญากรรมมากขึ้นด้วย

 

 

กระแสสังคมที่ช่วยกันตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ในคดี มีอิทธิพลต่อกระบวนการสอบสวนเพียงใด


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

การจับพิรุธของสื่อสังคมก็อาจมีส่วนช่วยพนักงานสอบสวนในแง่ของการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานหรือกวาดข้อคิดข้อสงสัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อหาข้อพิสูจน์หาความจริงให้มากที่สุด ไม่ให้ตกหล่นประเด็นใดไป นอกเหนือจากที่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เขาก็มีเทคนิคของเขาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน โรงเรียนนายร้อยเขามีวิชาชื่อว่า จิตวิทยาตำรวจ ที่สอนให้พนักงานสอบสวนนำหลักการต่าง ๆ มาใช้ประกอบในการสอบปากคำ มันก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือมีหลักการความรู้ กระบวนการ และเจ้าหน้าที่เขาก็มีประสบการณ์ของเขาที่อาจจะเป็นเรื่องจิตวิทยาในชีวิตประจำวันมาประยุกต์ร่วมด้วย

 

ส่วนในแง่การทำสำนวนคดี กระแสสังคมไม่ได้กระทบมากนัก เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ ทั้งพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม หรือพยานในที่เกิดเหตุ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกกลั่นกรองโดยอัยการอีกชั้นหนึ่ง และพิสูจน์ในศาล ดังนั้นกระแสสังคมก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากนักเพราะจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเป็นหลัก

 

ประเด็นของสังคมน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า ประชาชนจึงมีการพยายามจับข้อพิรุธต่าง ๆ ดังนั้นนอกเหนือจากการที่ตำรวจทำตามหลักวิชาการที่เรียนมา ทำงานไปตามข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม และนำข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากนั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในวงการตำรวจเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความชื่อมั่นในการเก็บพยานหลักฐาน แต่ถามว่ากระแสสังคมเหล่านี้มีผลต่อคดีมากหรือไม่ คิดว่ามีผลในการทำงานแค่ระดับหนึ่ง เพราะข้อมูลหลักฐานที่จะนำไปพิสูจน์ก็จะต้องอิงจากหลักการที่มีอยู่ในกระบวนยุติธรรม

 

 

การวิเคราะห์บุคลิกภาพของอาชญากรมีส่วนในการพิจารณาคดีเพียงใด


 

อ.อภิชญา

ในการพิจารณาคดีอาชญากรรมจะให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรมทางนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า ส่วนเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพก็มีการให้ความสนใจ แต่ยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก

 

ในต่างประเทศ เช่นในประเทศอังกฤษ มีการวิเคราะห์บุคลิกภาพและสืบประวัติของคนเวลาให้ปากคำ ว่าพยานหลักฐานที่มาจากพยานหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีคนนี้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยานั้นยังไม่ได้นับเป็นหลักฐานสำคัญเท่ากับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ให้ทางศาลไว้พิจารณา

 

 

จิตวิทยาการโกหก จับพิรุธ มีจริงหรือไม่


 

อ.ปิยกฤตา

ทางจิตวิทยาก็มีความพยายามอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนเราเวลาที่เราโกหก ถ้าเราโกหกจะมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง

 

จิตวิทยามีกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการโกหกอยู่ 3 แนวทาง คือ

  1. Emotional approach เสนอว่า คนโกหกจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อันเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกผิด รู้สึกกลัว รู้สึกตื่นเต้น
  2. Cognitive approach เสนอว่า คนโกหกจะใช้ทรัพยากรทางสมองมาก เนื่องจากการโกหกเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ทำให้การตอบสนองทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวโดยรวมจะช้าลง พูดช้าลง หรือมีจังหวะหยุดพูดค่อนข้างบ่อย
  3. Attempted-control approach เสนอว่า คนโกหกมักพยายามควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งการควบคุมนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนเราฝึกฝนอยู่ทุกวัน ดังนั้นยิ่งพยายามควบคุมยิ่งทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ

 

จะเห็นว่าแต่ละแนวคิดให้ข้อเสนอแนะที่ขัดแย้งกันในบางจุด เช่น แนวคิดแรกบอกว่าคนโกหกจะตื่นเต้น ทำให้ขยับร่างกายมากขึ้น ดูยุกยิก ขณะที่แนวคิดที่สามกลับบอกว่าคนโกหกจะทำให้คนมีท่าทีแข็ง ๆ คอยยั้งตัวเอง หรือการที่แนวคิดที่สองเสนอว่าคนโกหกจะพูดช้าลงและตะกุกตะกักเพราะต้องคิดมากขึ้น แต่ก็มีงานวิจัยหลายงานพบว่าคนโกหกจะพูดเร็ว พูดรัวจนแทบไม่มีจังหวะหยุดเลย ต่อมางานวิจัยที่รวบรวมสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ข้อสรุปว่าคนโกหกจะพูดเร็วหรือช้า รัวหรือตะกุกตะกัก ขึ้นอยู่กับประเภทของการโกหก เช่น หากเป็นการโกหกด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ไม่ใช่แค่ปกปิดหรือไม่พูด การโกหกลักษณะนี้จะทำได้ยากกว่า ทำให้คนโกหกพูดตะกุกตะกัก เพราะคิดไปพูดไป แต่ถ้าเป็นการโกหกที่แค่ปกปิดความจริงหรือพูดไม่หมด คนโกหกจะพูดเร็ว เพราะเรื่องราวจะมีอยู่ในความคิดแล้ว

 

ส่วนเรื่องภาษากาย ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่พอจะได้ผลวิจัยที่สอดคล้องกันว่าคนโกหกจะมีการเคลื่อนไหวมือ แขน เท้า ที่ช้าลง และมีการใช้เสียงสูงกว่าปกติ ส่วนการหลบตา การมองไปทางอื่น การยิ้ม ยังไม่ใช่ภาษากายที่จะระบุได้ถึงการโกหก รวมถึงที่คนเชื่อกันว่า คนโกหกจะมองบนซ้ายนั้น งานวิจัยปัจจุบันก็ยังไม่สนับสนุนไปในทางเดียวกัน

ดังนั้นการที่จะระบุว่าคนโกหกมีภาษากายหรือมีการใช้คำพูดเช่นไร ยังไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถสรุปตายตัวได้

 

 

เครื่องจับเท็จใช้ได้จริงหรือไม่


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

เครื่องจับเท็จยังมีประเด็นในแง่กฎหมาย คือยังไม่ได้เป็นสภาพบังคับ แม้ตำรวจจะใช้เครื่องจับเท็จในการสอบสวน แต่ในกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ยอมรับ ศาลยังไม่ได้ยอมรับ เป็นได้เพียงข้อมูลประกอบ ถ้ามี

 

ส่วนในแง่จิตวิทยา เครื่องจับเท็จยังมีข้อผิดพลาดในระดับหนึ่ง เช่น การดื่มเบียร์เพียง 1 กระป๋อง ก็สามารถทำให้เข็มไหวได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ หรือความอ่อนไหวของผู้ถูกซักถาม ที่จะทำให้เกิดผลลวง หรือในทางตรงกันข้าม หากมีการฝึกฝนและเข้าใจการทำงานของเครื่องมือ เช่นคนที่ทำงานด้านข่าวกรอง ก็สามารถโกหกได้เป็นตุเป็นตะโดยที่เครื่องไม่สามารถจับได้

 

ด้วยเหตุนี้หากผู้ถูกสอบสวนยินยอมเข้าเครื่องจับเท็จ ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นเพียงพยานประกอบในการรับฟังเท่านั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ในการตัดสินคดีได้แบบข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์

 

 

ทำไมจึงมีคนรับสารภาพเท็จ


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ก่อนการให้ปากคำในศาลก็มีการให้สาบานตน ถึงขนาดมีการพูดกันว่าการพิจารณาคดีในศาล ชนะหรือแพ้ขึ้นอยู่กับว่าใครโกหกเก่งกว่ากัน คนไปสาบานตัวก็มีทั้งคนที่กลัวและไม่กลัว ยืนขาไขว้กันหรืออะไรต่าง ๆ ผู้พิพากษาบางคนก็เชิญพระพุทธรูปมาตั้งในศาลเลย ต้องยอมรับว่าบ้านเราบางครั้งมันมีการเสี้ยมพยาน คือก่อนที่จะขึ้นให้ปากคำ บางครั้งเองทนายก็เอาพยานมาแล้วคุยว่าถ้าเขาถามแบบนี้ต้องตอบแบบนี้นะ เคยมีถึงขนาดกลับคำให้การในศาลเลย เพราะฉะนั้นการให้การเท็จหรือไม่เท็จในแง่หนึ่งก็มาจากการเตรียมกัน

 

และมีกรณีไม่น้อยที่ทนายความบอกลูกความให้รับสารภาพ เนื่องจากมีเรื่องของบัญชีอัตราโทษ ภาษาบ้านเราเรียกว่า “ยี่ต๊อก” บางครั้งทนายความเองก็ไปเดาเอาว่าถึงลูกความไม่ผิดแต่ถ้ารับสารภาพ ศาลก็จะตัดสินด้วยการรอลงอาญาหรือได้รับการลดโทษ ดังนั้นทนายจึงให้คำแนะนำแก่ลูกความว่า ต่อให้ไม่ผิดก็ให้สารภาพ ดีกว่าสู้คดีแล้วแพ้

 

อีกประเภทหนึ่งคือ ฝั่งจำเลยไม่มีข้อพิสูจน์ที่จะหักล้างได้ ไม่มีความสามารถในการเอาพยานหลักฐานอย่างอื่นมาโตแย้งได้ เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร คนที่ไม่มีหนทางในการสู้คดีบางคนจึงมองว่าการสารภาพเป็นทางออกของตน เพราะอย่างน้อยศาลก็จะลดโทษและตนก็จะติดคุกไม่กี่ปีเป็นต้น
การรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ทำผิดก็มีเยอะเหมือนกัน

 

อ.อภิชญา

การสารภาพเท็จมีหลายแบบ มีเคสหนึ่งในต่างประเทศที่สารภาพเท็จโดยการที่เจ้าตัวเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุจริง ๆ เนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้ต้องสงสัยได้กินยากล่อมประสาทเข้าไป ทำให้ตกอยู่ในภาวะมึนงง และเมื่อนำตัวมาไต่สวน การไต่สวนเป็นระบบปิด คือไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก ไม่มีทนาย ด้วยสภาวะแวดล้อมและวิธีการซักถามบางอย่าง ทำให้ผู้ถูกไต่สวนเกิดความจำผิดพลาดและเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ เรียกว่า Internalize false confession

 

ในประเทศไทย ก็มีคดีล่วงละเมินทางเพศคดีหนึ่งที่ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ แต่เมื่อตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าไม่ใช่คนร้าย ส่วนที่รับสารภาพไปนั้นเพราะขณะถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่โน้มน้าวให้รับสารภาพ เพราะอย่างไรก็ไม่มีทางสู้พยานหลักฐานได้ ไม่มีทางหนีพ้น และผู้ต้องสงสัยก็เชื่อตามนั้น

 

กรณีที่สารภาพเท็จโดยคล้อยตามว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดนั้นมีจริง แต่มีไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสารภาพเท็จโดยรู้ตัว เนื่องจากอยากให้ตนหลุดพ้น เหนื่อยจากการสอบสวน จึงตัดสินใจรับสารภาพเพราะคิดว่าติดคุกไม่นาน นอกจากนี้ก็มีคนที่รับผลประโยชน์จากการสารภาพ หรือต้องการช่วยเหลือคนอื่นจึงรับผิดแทน

 

 

มีปัจจัยอื่นหรือแรงจูงใจอะไรที่ทำให้คนรับสารภาพเท็จ


 

อ.ปิยกฤตา

ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา การรับสารภาพเท็จนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะในกรณีที่คล้อยตามและเชื่อจริง ๆ ว่าตัวเองกระทำ หรือบางคนเต็มใจรับสารภาพเท็จเพื่อรับผิดแทนลูกแทนคนในครอบครัว หรือบางคนมีภาวะทางจิต หรือเป็น psychopath ต้องการให้ตนได้รับความสนใจ จึงรับสารภาพเท็จเพื่อให้ตัวเองตกอยู่ใน spotlight

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับสารภาพผิดในสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำอันเนื่องจากสถานการณ์พาไป กรณีเช่นนี้คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งมาจากกระบวนการสอบสวน กล่าวคือ กระบวนการสอบสวนได้กระตุ้นให้ผู้ต้องสงสัยเกิดความรู้สึกเครียด กดดัน เหนื่อยล้า แล้วจึงรับสารภาพเพื่อที่จะหนีจากสภาวะที่กำลังเผชิญ อาจเพราะบางคนยังเป็นเด็กอยู่ หรือมีประสบการณ์ชีวิตน้อย แม้แต่การอดนอน หรือมีบางคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีทักษะการคิดที่ไม่มากพอ หากเขาโดนชี้นำ โดนชักชวน โดนกดดันมาก ๆ ก็อาจทำให้เขารับสารภาพผิดได้โดยที่เขาก็ไม่ได้ทำด้วยซ้ำ ดังนั้นกระบวนการสอบปากคำหากไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการสารภาพเท็จหรือการจับแพะได้

 

ส่วนเรื่องพยาน ก็มีเช่นกันที่เขาเกิดคิดว่ามีความทรงจำนี้ทั้งที่ไม่มีจริง แบบที่เรียกว่า reconstructive memory เพราะมนุษย์เราชอบมีสคริปต์อยู่ในหัว ความจำของเราไม่ไช่การอัดวิดีโอ ฉายภาพซ้ำได้เป๊ะ ๆ มันมีความไม่สมบูรณ์แบบของมัน เมื่อมันไม่สมบูรณ์แบบ เราก็อาจเอาเรื่องอื่น ๆ มาปะต่อ ๆ กันให้มันกลายเป็นความจำที่สมบูรณ์ แล้วเราก็เชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบนั้น

 

จะเห็นว่า human error ของเรามันส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมในหลายกระบวนการมาก ๆ

 

 

สิ่งแวดล้อมที่ควรให้เป็นไปในการสอบสวนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดคืออะไร


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น การสอบสวนในรูปแบบที่สร้างความกดดันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีโอกาสพนักงานสอบสวนจะถูกร้องเรียน อย่างที่ทราบกันเรื่องหลัก Miranda warning คือเมื่อถูกจับคุณมีสิทธิที่จะไม่พูด ตำรวจของไทยก็ต้องแจ้งสิทธิแบบนั้นแก่ผู้ถูกจับกุมเช่นกัน

 

ในการสอบปากคำ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็ต้องกระทำแบบโปร่งใส การสอบปากคำติดต่อกัน 4-5 ชม. อาจจะทำได้กับคนที่ไม่รู้เงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิตนเอง แต่กับคนที่เขารู้ในสิทธิของเขา การสอบโดยไม่พักเลย สอบโดยไม่มีทนาย หรือมีการใช้กำลังข่มขู่ ก็ถูกนำมาใช้อ้างในชั้นศาลได้ว่าเขาถูกสอบติดต่อกัน 5 ชม. ดังนั้นคำให้การของเขาในชั้นพนักงานสอบสวนนั้นเชื่อถือไม่ได้ ศาลก็ให้สอบสวนใหม่ในชั้นศาลเลยก็มี

 

ดังนั้นพวกการสอบในห้องมืด สอบแบบไม่มีใครอยู่เลย หรือมีแนวโน้มการใช้กำลังทำร้าย ถ้าเป็นต่างจังหวัดไกล ๆ ก็อาจมีเจอได้ แต่ในพื้นที่ที่มีความเจริญขึ้นมา พนักงานสอบสวนเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะการคุ้มครองสิทธิในปัจจุบันมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก เช่น มีการสอบปากคำโดยการบันทึกเทป เด็กไม่ต้องขึ้นให้การ การมีสหวิชาชีพหรือนักจิตวิทยาคอยดูแล พนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบถามเด็กได้โดยตรง ต้องถามผ่านนักจิตวิทยา กระบวนการตรงนี้มันถูกกำหนดโดยกฎหมายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นวิธีการสอบสวนแบบดั้งเดิม ที่กดดันให้เกิดความหวาดกลัวความเครียดสูงเกินเหตุนั้นทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน มันไม่ค่อยได้ผลในปัจจุบัน เขาก็จะไปใช้เทคนิคจิตวิทยาอย่างอื่น พนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์สูงเมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานใดน่าจะมีน้ำหนักที่รับฟังได้ในคดี ก็จะมุ่งเป้าไปทางนั้นมากกว่าที่จะใช้การกดดัน

 

 

เทคนิคการสอบสวนแบบ Good cop-Bad cop มีจริงหรือไม่


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

มีครับ ถุงดำ แต่ก่อนภาษาตำรวจเขาเรียกว่าพาไปเที่ยว Big-C เป็นคำศัพท์เฉพาะ ปกติแล้วถ้าไปใช้กำลังเตะ ถีบ แบบ bad cop เต็มที่ มันจะเจอร่องรอย ความเสี่ยงของพนักงานสอบสวยมันมีเยอะ และอย่างยิ่งในปัจจุบันมันมีกล้องวงจรปิดทั้งในโรงพักและรอบ ๆ วิธีอื่น ๆ ที่เขาใช้ก็จะมีน้ำแข็ง คือใส่กุญแจมือแล้วเอาน้ำแข็งเป็นก้อน ๆ วางทับอวัยวะ แต่ก่อนมี เดี๋ยวนี้บางแห่งก็มี มันจะไม่ทิ้งร่องรอยบอบช้ำไว้บนร่างกาย ที่ใช้ถุงรัดแล้วคลายก็มี แต่ในปัจจุบันตำรวจเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เกิดไปทำแล้วมีคนวางยาก็แย่

 

ส่วนใหญ่เขาก็จะใช้ประสบการณ์ ว่าสำนวนคดีนี้ศาลรับฟังตรงนี้เป็นหลัก เอาพยานหลักฐานตรงนี้เป็นหลัก เขาก็จะมุ่งเป้าไปให้น้ำหนักตรงนั้นมากที่สุด ให้หลักฐานตรงนั้นไปปรากฏมากที่สุด มากกว่า

 

 

การวางตัวที่เหมาะสมในกระบวนการสอบสวนเป็นอย่างไร เช่นที่เคยได้ยินว่าให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอนด์ได้เคยพูดไว้ว่า Paradigm ในกระบวนการยุติธรรมมี 2 รูปแบบ แบบแรก Crime control คือให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก อย่างในอเมริกา อีกแบบคือ Due process คือให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหา ของประเทศไทยเรากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูฐว่ากรอบที่เราใช้เป็นแบบ Due process คือหลักที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ และในกฎหมายของเราก็ใช้หลักการกล่าวหา คือผู้ที่กล่าวอ้างต้องเป็นผู้พิสูจน์ และถ้าพิสูจน์ไม่สมต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต้องปล่อยตัวไป ใบกระบวนการเหล่านี้จะเห็นว่ามีการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหาค่อนข้างเยอะ

 

ทีนี้ปัญหาของรูปแบบนี้คือ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนที่มีเงินมาก ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะจ้างทนายความหรือใคร ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือออกหน้าให้ ดังนั้นในรูปแบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหามากเช่นนี้ ก็จะเป็นจุดอ่อนให้รัฐใช้อำนาจในการพิสูจน์และเอาผิดได้น้อยกว่า

 

 

คำแนะนำถึงคนทั่วไปในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างละอคติ ไม่ไปตัดสินและชี้นำสังคม


 

อ.อภิชญา

มีตำรวจท่านหนึ่งเคยออกมาพูดว่า โซเชียลมีเดียก็กดดันตำรวจเหมือนกัน ตำรวจยังไม่กล้าปิดคดีบางคดีเลย แสดงว่าอิทธิพลทางสังคมมันมีจริง ถึงแม้ว่าตำรวจจะทำหน้าที่ไปตามพยานหลักฐานก็ตาม

 

ข้อดีมันก็มี คือตำรวจเขาก็ได้เก็บประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมตั้งข้อสงสัยให้ทำคดีอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่บางครั้งก็เป็นการปะติดปะต่อจนกลายเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นเอง (confabulation) ดังนั้นเราควรต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างที่จะช่วยตำรวจสืบสวนกับการให้ความยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้อง หากเราไปกล่าวหาใครมาก ๆ และสุดท้ายแล้วเขาได้รับการตัดสินว่าไม่ผิด ก็เหมือนกับเป็นการไปทำร้ายเขา เป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจ (trauma) คนบางคนที่ถูกตราหน้า (label) และได้รับอิทธิพลทางสังคมมาก ๆ ถึงขนาดไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยก็มี

 

อ.ปิยกฤตา

เวลาเราเสพข่าวคดีต่าง ๆ เราอาจจะชอบจับผิดว่าคนนั้นคนนี้โกหก แต่ทั้งนี้การโกหกหรือการมีพิรุธ ปฏิกิริยาที่มันออกมาจากร่างกายของคน หลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่ universal sign ไม่ใช่ universal expression ที่จะบอกว่าทุกคนที่โกหกจะต้องมีลักษณะแบบนี้ 1-2-3-4 มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจจะทำให้การแสดงออก คำพูด ท่าทางของเขา อาจจะดูเหมือนคนโกหก ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนทำ เช่นคนบางคนเป็นคนตื่นเต้นง่ายแม้จะกำลังพูดความจริงอยู่ อีกข้อหนึ่งคือเรามักจะคิดว่า มีแค่คนที่ทำผิดเท่านั้นที่จะดูกลัว ดูประหม่า เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องปิดบัง ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น ความตื่นเต้นมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน นึกถึงตัวเราถ้าอยู่วันหนึ่งเราต้องไปนั่งคุยกับผู้บังคับใช้กฎหมายที่เราอาจจะถูกปลูกฝังมาว่าเขาอาจจะทำอะไรก็ได้ เราก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน

 

ดังนั้นความเชื่อของเราว่าคนนั้นคนนี้มีพิรุธ คำพูดของเราอาจไปกระทบกับเขา หรือไปกระทบกับคนทำคดี แล้วส่งผลชี้นำอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งหากเป็นคนที่กระทำความผิดจริง ๆ การบอกว่าคนโกหกจะมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ เขาก็อาจจะไปฝึกและเลี่ยงไม่ทำทุกอย่างที่ชี้กันมา

อยากให้ทำความเข้าใจในมนุษย์ว่าทุกอย่างไม่มีอะไร 100% ไม่มีอะไรเป็นแพทเทิร์น และมีช่องว่างมากมายให้เกิดความผิดพลาดในสิ่งต่าง ๆ ที่เราเชื่อกันมา เพราะฉะนั้นให้เราฟังไว้ ดูไว้ พอเป็นแนวทาง แต่อย่าไปฟันธงและแสดงความคิดตัดสินอะไรแบบมั่นใจเกินไป

 

 

ฝากถึงคนที่สนใจในเรื่องอาชญวิทยา หรือจิตวิทยาอาชญากรรม


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้สร้างอิทธิพลในแง่ mass social psychology ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราน่าจะวางแผนหรือออกแบบให้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกล่อมเกลา สร้างประโยชน์ นำเอาความรู้ทั้งทางจิตวิทยาสังคมมาสร้างสรรค์สังคม อีกอันหนึ่งที่มีผลมาก ๆ คือจิตวิทยาพัฒนาการ ที่สามารถส่งผลกับเราตั้งแต่ในวัยเด็ก การปรับตัว การสร้างบุคลิกภาพ อะไรต่าง ๆ ที่จะหล่อหลอมคนว่าจะเติบโตไปเป็นคนปกติในสังคมหรือเดินเข้า juvie (สถานพินิจ) นอกจากนี้ข้อมูลที่ FBI ประมวลไว้ในแง่อาชญากรรม สามารถนำมาตกผลึกทางความคิด และนำมาเป็นองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาวางแผนอะไรต่าง ๆ ได้ ทั้งสามด้านสามารถนำมาร่วมกันเพื่อใช้สร้างคนหรือปรับพฤติกรรมของ next generation ได้

 

อ.อภิชญา

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราจะต้องดูแลคือคนที่อยู่ในคุก ถ้าเรามีความเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ จะทำอย่างไรให้คนที่เข้าไปอยู่ในคุกได้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ดังที่ เนลสัน แมนเดอลา ได้กล่าวไว้ว่า “จะดูว่าชาติไหนเป็นอย่างไร ให้ดูว่าเราปฏิบัติต่อคนที่เล็กน้อยที่สุดในสังคมอย่างไร”

 

อ.ปิยกฤตา

การมีความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจในพฤติกรรม เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้ในกระบวนการยุติธรรม ใช้ในการฟื้นฟูคนที่กระทำความผิด หรือใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดก็ดี จิตวิทยามั่นไปได้หลายทาง อีกประการคือการวิจัยเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายมาก ใครที่สนใจเรียนทางนี้ ผลิตงานวิจัยทางนี้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมไทยได้

 

 

 

Resilience – การฟื้นพลัง

 

 

 

 

การฟื้นพลัง หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ภายหลังที่พบเหตุการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในชีวิต อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลผ่านพ้นอุปสรรคและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

การฟื้นพลังสำหรับแต่ละชาตินั้น อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป เพราะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างครอบครัว วัฒนธรรม รวมทั้งศาสนาและความเชื่อของแต่ละเชื้อชาติ สำหรับบริบทไทย มีการศึกษาของกรมสุขภาพจิตที่ได้ระบุถึงองค์ประกอบของการฟื้นพลังไว้ ดังนี้

 

  1. ด้านความมั่นคงทางอารมณ์หรือการทนต่อแรงกดดัน คือ ความสามารถในการดูแลจิตใจให้คงอยู่ได้ในภาวะกดดัน รู้เท่านั้นอารมณ์ความรู้สึกของตนและผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทางลบของตัวเองได้ในสถานการณ์กดดัน
  2. ด้านความหวังและกำลังใจ คือ มีความหวังและแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งความหวังและกำลังใจนี้อาจมาจากการสร้างด้วยตนเองหรือคนรอบข้างก็ได้
  3. ด้านการต่อสู้เอาชนะอุปสรรค คือ ความมั่นใจและพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต ซึ่งความมั่นใจนี้เกิดจากการตระหนักในความสามารถหรือทักษะของตนเอง คิดว่าตนเองทำได้ แก้ปัญหาที่เผชิญได้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้และเข้าถึงความช่วยเหลือหรือปรึกษา

 

การฟื้นพลังด้านความมั่นคงทางอารมณ์มีความจำเป็นมากในระยะแรกที่เผชิญสถานการณ์วิกฤต ช่วงเวลาต่อมาที่ปัญหาคงอยู่ก็ยังต้องใช้ความสามารถในความมั่นคงทางอารมณ์อยู่ เช่นเดียวกับกำลังใจที่ต้องมีอยู่ทุก ๆ ระยะ

ในระยะแรกที่จิตใจอ่อนแอ กำลังใจอาจจะมาจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง แต่พอเวลาผ่านไป จิตใจมีความทนทานมากขึ้น ก็อาจสร้างกำลังใจด้วยตัวเองได้ ส่วนการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความมั่นคงทางอารมณ์และกำลังใจประกอบกันไปด้วย (กรมสุขภาพจิต, 2555)

 

Grotberg (1995) กล่าวว่าการส่งเสริมการฟื้นพลังเป็นการช่วยเสริมสร้างให้บุคคลมีการพัฒนาทางความคิด มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์และรับรู้ในสิ่งที่ตนเองเป็นอย่างเหมาะสมด้วยความเชื่อที่ว่า

 

  1. ตนเป็นคนมีความสามารถ มีความรู้สึกมั่นคงทางใจ เชื่อในคุณค่าและความสามารถของตน ในการควบคุมจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  2. ตนมีความสำคัญ มีค่า มีความหมายเป็นที่ยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว กลุ่ม หรือสังคมสิ่งแวดล้อม
  3. ตนมีพลังอำนาจ มีความสามารถในการควบคุม หรือแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้บุคคลมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและทักษะในการเผชิญปัญหารูปแบบต่างๆ ได้แก่
    • ความสามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักประเมินสถานการณ์และควบคุมการแสดงออกของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
    • ความสามารถใช้ทักษะทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
    • สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตอย่างเข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นได้ มีความเข้าใจถึงข้อจำกัดตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ หรือลงมือทำในเรื่องบางอย่าง และพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถนำแนวความคิดของการฟื้นพลังมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักเหตุผลและจริยธรรม

 

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อการสร้างเสริมการฟื้นพลัง คือต้องสร้างความรู้สึกต่อไปนี้ให้เกิดขึ้น (Gilligen , 2000)

 

  1. ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน – ด้วยการให้ความรัก คอยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ทำให้เกิดความไว้วางใจ มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดริเริ่ม ซึ่งต้องมาจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่
  2. ความสำนึกในคุณค่าแห่งตน – เริ่มมาจากการให้ความรัก เมื่อบุคคลรับรู้ถึงความรู้สึกว่าถูกรักก็จะคิดว่าตนเองยังมีคุณค่า มีคนรักและห่วงใยอยู่ นำไปสู่การคิดถึงคุณค่าของตนเองที่มีอยู่
  3. สมรรถนะแห่งตน ว่าบุคคลสามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยตนเอง – ด้วยการคอยสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อให้โอกาสบุคคลได้จัดการปัญหาของตนเองและเล็งเห็นถึงความสามารถของตน

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการพัฒนาการฟื้นพลังต่อปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง” โดย นลพรรณ ส่งเสริม, วรัญญา ศิลาหม่อม และ สรสิช โภคทรัพย์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46900

 

 

 

Cultural Intelligence – ความฉลาดทางวัฒนธรรม

 

 

 

Early และ Ang (2003) ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความฉลาดทางวัฒนธรรม (cultural intelligence) ขึ้นจากแนวคิดเรื่อง Loci of intelligence ของ Sternberg และ Detterman (1986) ว่าความฉลาดของบุคคลมี 4 แบบ ได้แก่ ความฉลาดทางการคิดวิเคราะห์ (metacognitive intelligence) ความฉลาดทางการรู้คิด (cognitive intelligence) ความฉลาดทางแรงจูงใจ (motivational intelligence) และความฉลาดทางพฤติกรรม (behavioral intelligence) โดยได้ให้ความหมายของความฉลาดทางวัฒนธรรมไว้ว่า เป็นประสิทธิภาพ (capability) ของบุคคลในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ในสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความฉลาดทางวัฒนธรรมได้ช่วยให้บุคคลดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

องค์ประกอบของความฉลาดทางวัฒนธรรม


 

1. อภิปัญญาทางวัฒนธรรม (metacognitive CQ)

คือ กระบวนการทางปัญญาที่บุคคลใช้เพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ความรู้ทางวัฒนธรรม เป็นจิตสำนึกและการตระหนักรู้ของบุคคลทั้งก่อนและในระหว่างที่มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนสามารถประเมินความรู้ทางวัฒนธรรม รวมถึงทำให้บุคคลสามารถปรับตัวและวางตัวในสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม

 

ผู้มีอภิปัญญาทางวัฒนธรรมสูงจะช่างสังเกตและระมัดระวังเวลาปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม และจะปรับใช้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ตนมีเข้ากับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ๆ

 

2. ความรู้ทางวัฒนธรรม (cognitive CQ)

คือ ความรู้พื้นฐานของบุคคลเกี่ยวกับวัฒนธรรม บรรทัดฐาน การประพฤติปฏิบัติ รวมถึงธรรมเนียมที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ความรู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากการศึกษาและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และส่งผลกระทบต่อมุมมองและพฤติกรรมของบุคคล ความรู้ที่บุคคลมีจะทำให้บุคคลสามารถประเมินความเหมือนและความแตกต่างระหว่างตนเองกับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรมได้

 

ผู้มีความรู้ทางวัฒนธรรมสูงจะสับสนน้อยลงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม

 

3. แรงจูงใจทางวัฒนธรรม (motivational CQ)

คือ ความสามารถทางจิตใจของบุคคลที่จะมุ่งความสนใจและทุ่มเทกับการเรียนรู้และการทำงานในสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยแรงจูงใจทางวัฒนธรรมเป็นแรงขับเคลื่อนที่ช่วยกระตุ้นความพยายามและแรงที่จะมุ่งไปสู่ความตั้งใจทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 

ผู้ที่มีแรงจูงใจทางวัฒนธรรมสูงจะไม่ลังเลที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม

 

4. พฤติกรรมทางวัฒนธรรม (behavioral CQ)

คือ ความสามารถในการแสดงออกทางวาจาและภาษาท่าทางที่เหมาะสมในขณะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม สะท้อนถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ สรุปได้ว่า พฤติกรรมทางวัฒนธรรมอธิบายถึงทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์

 

 

ผลของความฉลาดทางวัฒนธรรม


 

เนื่องจากความฉลาดทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการศึกษาความฉลาดทางวัฒนธรรมกับตัวแปรผลลัพธ์เชิงบวก เช่น ความพึงพอใจในงาน (job satisfaction) การปรับตัวข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural adjustment) จากงานวิจัยจำนวนมากสรุปได้ว่าความฉลาดทางวัฒนธรรมแต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความพึงพอใจในงาน ประสิทธิภาพในการทำงาน และการปรับตัวของบุคคลในด้านต่าง ๆ โดยงานวิจัยที่ศึกษามีทั้งการศึกษาในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในต่างประเทศ นักศึกษาแลกเปลี่ยน การทำงานในสายอาชีพที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ เช่น พยาบาล พนักงานโรงแรม รวมถึงการทำงานในองค์การต่างชาติในประเทศของตนเอง ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติ

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความเพียรกับการรับรู้ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับองค์การ โดยมีรูปแบบองค์การและความฉลาดทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรกำกับ” โดย นลิน มนัสไพบูลย์ (2564) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/79354

 

 

 

เชิญชวนนิสิตประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่ ศูนย์ PSYCH-CEO

 

ปิดเทอมแล้ว มาแสดงความคิดสร้างสรรค์ให้เต็มที่กันเถอะ!
ศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (Psychological Center for Effective Organization : PSYCH-CEO) ขอเชิญชวนน้องๆนิสิตร่วมแสดงความสามารถในการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่สำหรับศูนย์ PSYCH-CEO

 

ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2566

ชิงรางวัลชนะเลิศ 10,000 บาท!!

 

 

 

เงื่อนไขการเข้าร่วม
  • เป็นนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สามารถเข้าร่วมได้ทุกชั้นปี ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก)
  • สามารถส่งผลงานได้มากกว่า 1 ชิ้น / คน หรือ กลุ่ม
  • ส่งผลงานในรูปแบบนามสกุล .JPG .AI .PSD หรือ .PDF ความละเอียดไม่ต่ำกว่า 300 dpi พร้อมระบุ code สีโหมด CMYK (สามารถระบุแนวคิดในการออกแบบได้ตามความต้องการในการนำเสนอ)
  • ผลงานที่เข้าร่วมการประกวดจะต้องเป็นการออกแบบของนิสิตเองเท่านั้น
  • สามารถส่งผลงานได้ที่ psyassesscu@gmail.com ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยส่งผลงานพร้อมแนบรายละเอียดผู้ออกแบบ (ชื่อ-สกุล ระดับการศึกษา ชั้นปีและรหัสนิสิต)

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ psyassesscu@gmail.com หรือโทร 02-218-1172 (พี่พลอย นักจิตวิทยาประจำศูนย์ฯ)

 

 

รางวัลการประกวด
  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 10,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 5,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3,000 บาท

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติมในการออกแบบ (Optional)

ศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรอย่างครบวงจร ทั้งสร้างข้อสอบคัดเลือกบุคลากร การวัด-การประเมิน การพัฒนามาตรวัดเพื่อการประเมินและการแก้ไขปัญหาภายในองค์กร การตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจิตมิติของมาตรวัดทางจิตวิทยา และการจัดอบรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรอย่างยั่งยืน

 

 

พันธกิจของศูนย์ฯ
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินทางจิตวิทยาในประเทศไทย
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการประเมินทางจิตวิทยาในประเทศไทย
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินทางจิตวิทยาแก่ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย
  • เพื่อเป็นแหล่งให้บริการการประเมินทางจิตวิทยาที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ

 

อย่าลืมส่งผลงานกันเข้ามานะคะ

 

 

A Psychologist’s Role within Youth Justice Services in the UK: Different Ways of Working as a Psychologist

 

ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง การบรรยายพิเศษ เรื่อง

 

A Psychologist’s Role within Youth Justice Services in the UK: Different Ways of Working as a Psychologist

 

โดยวิทยากร

Dr. Janchai King,
Senior Practitioner Educational Psychologist – Barnet Educational Psychology Team, London, UK

 

 

การบรรยายนี้ท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของบทบาทการทำงานของนักจิตวิทยาในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในสหราชอาณาจักร

 

จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 – 14.30 น.

ณ ห้อง 613 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

  • การบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ
  • ลงทะเบียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

https://forms.gle/cwhJac1KQwnp7Gv89

 

สอบถามเพิ่มเติม : Bhibhatbhon.P@chula.ac.th

 

กรอบความคิด “การเลือก” (choice mindset)

 

การมี “ตัวเลือก” (choice) อย่างพอประมาณ ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ “ดี” ในชีวิต เมื่อไม่มีตัวเลือกหรือมีตัวเลือกน้อยเกินไป บุคคลอาจรู้สึกไม่มีอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในทางกลับกัน เมื่อมีตัวเลือกมากเกินไป บุคคลอาจรู้สึกท่วมท้นกับข้อมูลที่มีอยู่และไม่สามารถประมวลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรเสีย เราจะบอกได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรา “ลงมือทำ” ในแต่ละวัน อะไรเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจาก “การเลือก” ของเรา และอะไรเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีโอกาสที่จะได้เลือก

 

ลองนึกถึงเช้าวันหนึ่งที่กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติ คุณตื่นขึ้นมา อาบน้ำแต่งตัว และรับประทานอาหารเช้าก่อนที่จะเดินทางไปเรียน/ทำงาน ในช่วงเวลาสั้น ๆ (น่าจะประมาณ 1-2 ชั่วโมง) คุณได้ตัดสินใจเลือกและไม่เลือกอะไรไปบ้าง ในช่วงเวลาดังกล่าว บางคนอาจมองว่า พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเลือกอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างแทบจะเป็นอัตโนมัติ แต่บางคนอาจมองว่า พวกเขาได้ตัดสินใจเลือกไปแล้วหลายครั้ง เริ่มต้นจากเลือกที่จะปิดนาฬิกาปลุกและลุกขึ้นจากเตียง เลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เวลาอาบน้ำ เลือกเสื้อผ้าที่จะแต่งตัว เลือกอาหารเช้าที่จะรับประทาน และเลือกวิธีและเส้นทางที่จะเกิดทางไปเรียน/ทำงาน หรือในสังคมออนไลน์ บางคนอาจรับรู้ว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การกดไลค์ (like) การแชร์/ส่งต่อ/ตอบกลับ การรับเป็นเพื่อน ฯลฯ เป็นการตัดสินใจเลือกทำและไม่ทำบางสิ่ง แต่บางคนก็อาจไม่ได้รับรู้การได้เลือกทำสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน

 

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าคน 2 คน อาจอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและอาจมีพฤติกรรมเหมือน ๆ กัน แต่คน 2 คนนี้ ก็อาจ รับรู้ ว่า พวกเขามีโอกาสที่จะได้เลือกสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากันและมีจำนวนตัวเลือกไม่เท่ากันด้วย ในทางจิตวิทยา ความแตกต่างของ 2 คนนี้ อยู่ที่ “กรอบความคิดการเลือก” (choice mindset) ซึ่งก็คือ แนวโน้มที่บุคคลจะรับรู้และตีความสถานการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ภายใต้มุมมองของ การมีอยู่ของตัวเลือกและการได้เลือก ที่แตกต่างกัน (Madan et al., 2020) ในสถานการณ์ที่ (จริง ๆ แล้ว) มีตัวเลือกค่อนข้างน้อย บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกชัดเจนมักจะรับรู้และตีความการกระทำของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ “มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก” ส่วนในสถานการณ์ที่ (จริง ๆ แล้ว) มีตัวเลือกค่อนข้างมาก บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกไม่ชัดเจนก็มักจะรับรู้และตีความการกระทำของตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ “ไม่มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก”

 

 

กรอบความคิดการเลือกอาจเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual difference) ที่สะท้อนประสบการณ์ที่บุคคลสั่งสมมา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางจิตวิทยานำไปสู่ข้อสังเกต 2 ประการ คือ เราสามารถกระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกชัดเจนมากขึ้นได้ และบุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกแตกต่างกันจะส่งผลต่อกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจที่มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน

 

ประการแรก การทดลองทางจิตวิทยามักจะกระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกจาก

(i) การถามตรง ๆ ว่า “ที่ผ่านมา คุณได้ตัดสินใจอะไรไปบ้าง” (ลองเปรียบเทียบกับคำถามที่ว่า “ที่ผ่านมา คุณได้ทำอะไรไปบ้าง”)

(ii) ให้เลือกสิ่งต่าง ๆ ในกระบวนการทดลอง เช่น สีของปากกา ประเภทของนิตยสาร ฯลฯ หรือ

(iii) ให้สังเกตการกระทำของบุคคล (ในคลิปวีดีโอ) แล้วระบุการกระทำที่แสดงการตัดสินใจ (Savani et al., 2010; Savani et al., 2017)

เนื่องจากวิธีที่กระตุ้นให้บุคคลมีกรอบความคิดการเลือกในการทดลองทางจิตวิทยาไม่ได้แตกต่างไปจากประสบการณ์ที่บุคคลสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันมากนัก นักจิตวิทยาจึงมีความเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ เรามีการดำเนินชีวิตประจำวันกับตัวเลือกที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ (เช่น สินค้าและบริการ กิจกรรม อาชีพ ฯลฯ) ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บุคคลจากสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้ในลักษณะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Savani และคณะ (2010) ศึกษากรอบความคิดการเลือกกับผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันและชาวอินเดีย ผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือ โดยทั่วไป ผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้มากกว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอินเดีย ยกเว้นในกรณีที่เหตุการณ์เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal action) เช่น การซื้อของไปฝากบุคคลอื่น การให้คำแนะนำบุคคลอื่น ฯลฯ ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยชาวอเมริกันและชาวอินเดียถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกได้พอ ๆ กัน

 

ประการที่สอง บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจนจะมีกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจที่แตกต่างจากบุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ไม่ชัดเจน ซึ่งนักจิตวิทยาบางคนมีความเห็นว่า ความแตกต่างนี้อาจส่งผลดีต่อบุคคล แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวมได้ (Madan et al., 2020)

 

การวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน (หรือถูกกระตุ้นให้มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน) มักจะ

 

(i) มองสิ่งต่าง ๆ อยู่ในลักษณะของ “ตัวเลือก”
(ii) พยายามมองหา ความต่าง ระหว่างสิ่งต่าง ๆ มากกกว่าที่จะมองหาความเหมือน
(iii) มีการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytic thinking) มากกว่าการคิดแบบองค์รวม (holistic thinking [Savani et al., 2017])
(iv) ให้น้ำหนักกับ “บุคคล” ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำมากกว่า “เงื่อนไขแวดล้อม” และ
(v) รู้สึกมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มข้างต้นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการวางนโยบายสาธารณะได้ กล่าวคือ หากคนส่วนใหญ่มีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจน เรามีแนวโน้มที่จะ

 

(i) ผลักให้บุคคลรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาทำ เกินกว่า สิ่งที่พวกเขาควบคุมได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ “โทษเหยื่อ” (victim blaming) เมื่อสถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น
(ii) สนับสนุนแนวคิดที่ว่า สถานภาพของบุคคล เช่น คนที่มีน้ำหนักเกิน คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minority) เกิดขึ้นจาก “การเลือก” ของบุคคล ซึ่งอาจโอนเอียงต่อการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
(iii) ยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน ที่สุดโต่ง เพราะมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคล (เช่น รายได้ การได้รับการยอมรับ ฯลฯ) เกิดขึ้นจากการเลือกของบุคคล
(iv) มุ่งที่จะแสดงตัวตน (เช่น ความคิด ความเชื่อ ความชอบ การให้คุณค่า ฯลฯ) มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับผู้อื่น และ
(v) สนับสนุนนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นความมีอิสระของบุคคล แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบได้หากไม่มีการกำกับดูแลที่ดี

 

 

ข้อสรุปที่ชัดเจนในตอนนี้ คือ การเตรียมตัวเลือกให้บุคคลได้ตัดสินใจเลือก (เช่น การออกแบบนโยบายสาธารณะ การออกแบบโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฯลฯ) ด้วยความหวังที่ว่า บุคคลจะมีกระบวนการตัดสินใจที่ดี (เช่น บุคคลจะพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน บุคคลจะรู้สึกมีอิสระ ฯลฯ) อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ได้หวังไว้ หากบุคคลไม่มีกรอบความคิดการเลือกและไม่ได้รับรู้ว่า พฤติกรรมของตน คือ การเลือก และกรอบความคิดการเลือกเป็นเสมือน “ดาบสองคม” ที่อาจต้องกระตุ้นให้อยู่ในระดับที่พอดีและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

 

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีกรอบความคิดการเลือกที่ชัดเจนมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การส่งเสริมให้บุคคลตระหนักถึงอิทธิพลของเงื่อนไขแวดล้อมที่อาจจำกัดอิสระในการตัดสินใจของบุคคล และการส่งเสริมให้บุคคลมองหาความเหมือน (แทนที่จะมองหาความต่าง) และความเชื่อมโยง (แทนที่จะมองหาความโดดเด่น) ระหว่างสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นที่ดีที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรู้เท่าทันกรอบความคิดของตัวเอง

 

 

รายการอ้างอิง

 

Madan, S., Nanakdewa, K., Savani, K., & Markus, H. (2020). The paradoxical consequences of choice: Often good for the individual, perhaps less so for society? Current Directions in Psychological Science, 29, 80-85.

 

Savani, K., Markus, H., Naidu, N., Kumar, S., & Berlia, N. (2010). What counts as a choice? U.S. Americans are more likely than Indians to construe actions as choices. Psychological Science, 21, 391-398.

 

Savani, K., Stephens, N., & Markus, H. (2017). Choice as an engine of analytic thought. Journal of Experimental Psychology: General, 146, 1234-1246.

 

 


 

 

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

 

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ “ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)”

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ

“ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)”

 

 

 

 

‘โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ เป็นโครงการสําหรับการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการปรึกษา ได้เรียนรู้และเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ ของจิตวิทยาการปรึกษา และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา และทฤษฎีหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงการคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนําศาสตร์ทางจิตวิทยาการปรึกษาไปประยุกต์ใช้ต่อตนเอง และผู้อื่นให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายผลักดันการเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น/ชุดรายวิชา ที่มีการรับรองความสามารถ และรองรับการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ให้กับผู้สนใจเข้าศึกษา และสามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตเมื่อเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรของคณะ ในการนี้คณะจิตวิทยาจึงได้จัดให้มีโครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ ขึ้นมาเพื่อนำร่องสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ในระหว่างวันที่ 4 ก.ค. – 5 ส.ค. 2566 (วันอังคาร – วันพฤหัสบดี เวลา 18.00 – 21.00 น. และวันเสาร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.) ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

** โครงการนี้เป็นการเรียนพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัด ไม่มีการฝึกปฏิบัติ ผู้เรียนยังไม่สามารถให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาได้ **

 

 

การอบรมประกอบด้วย

  • บรรยาย
    เปิดสอนแบบชุดรายวิชา (Module) โดยการบรรยายแบ่งเป็น 16 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง (รวมชั่วโมงการบรรยายทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผล
    จัดสอบ 1 ครั้ง ระยะเวลา 3 ชั่วโมง

 

 

การประเมินผล

  • การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน คิดเป็นร้อยละ 30
  • สอบวัดผลและรายงาน คิดเป็นร้อยละ 70

โดยประเมินผลแบบ Letter Grade มีเกณฑ์การวัดผล ดังนี้

 

Letter Grade
ช่วงคะแนน
A
85 คะแนนขึ้นไป
B+
80 – 84 คะแนน
B
75 – 79 คะแนน
C+
70 – 74 คะแนน
C
65 – 65 คะแนน
D
60 – 64 คะแนน
F
ต่ำกว่า 60 คะแนน

 

 

หลักเกณฑ์การบันทึกระบบคลังหน่วยกิต / เทียบโอนรายวิชาเมื่อเข้าศึกษา

 

Certificate of Achievement
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมด 16 หัวข้อ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องสอบผ่านโดยได้รับการประเมินผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 (B ขึ้นไป)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องสอบผ่านโดยต้องได้รับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนและการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต ของคณะจิตวิทยา มาแล้วไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการ (ผู้เข้าร่วมโครงการประจำปี พ.ศ. 2566 สามารถเทียบโอนรายวิชาได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 – ปีการศึกษา 2570)

 

Certificate of Attendance
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าเรียนในหัวข้อที่อบรม
  2. มีระยะเวลาเก็บในแต่ละหัวข้อ ตั้งแต่หัวข้อที่ 1 ถึงหัวข้อที่ 16 เป็นระยะเวลา 5 ปี จึงมีสิทธิ์ขอสอบรับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนเพื่อเทียบโอนรายวิชา (Certificate of Achievement)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องเข้าร่วมโครงการครบ 16 หัวข้อ นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการในหัวข้อแรก จนถึงสอบผ่านการอบรมโครงการ รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี

 

 

การเทียบโอนรายวิชา

 

รหัสรายวิชา
ชื่อรายวิชา
จำนวนหน่วยกิต
3802601
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY
3 (3-0-9)
คำอธิบายรายวิชา
การวิเคราะห์เปรียบเทียบและการประเมินโดยประสบการณ์เกี่ยวกับทฤษฎีและเทคนิคในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
ทักษะเบื้องต้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด งานวิจัยปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง
Comparative analysis and empirical evaluation of counseling and psychotherapy theories, and techniques;
basic skills for counseling and psychotherapy; current relevant research.
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
  • เข้าใจและวิเคราะห์จุดเด่น ข้อจำกัดและความแตกต่างระหว่างทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่สำคัญได้
  • สามารถค้นหาและอธิบายทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่ได้รับมอบหมายได้

 

* การเทียบโอนรายวิชาจะสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา ภายในภาคการศึกษาแรกของการเข้าศึกษาในหลักสูตร

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม / วิทยากร

 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

รับผู้ลงทะเบียนที่เป็นบุคคลทั่วไป จำนวน 20 คน

  • ลงครบ 16 หัวข้อ ราคา 18,000 บาท
  • ลงแยกรายหัวข้อ หัวข้อละ 1,500 บาท

 

หมายเหตุ

  1. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  2. ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 20 คน จะได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียน

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาติดต่อผู้จัดงานเพื่อตรวจสอบที่นั่งว่างก่อนชำระค่าลงทะเบียน
  2. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  3. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  4. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
  5. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอย งานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

 

 


คำอธิบายหัวข้อการเรียน

 

1
Why be a counsellor
นักจิตวิทยาการปรึกษาคืออะไร แล้วทำไมเราจึงอยากเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา
2
Difference, Diversity, and Power
ความแตกต่างหลากหลายและมิติทางอำนาจในกระบวนการปรึกษา
3
Wounded Counsellor: Therapeutic Use of Self
ประสบการณ์บาดแผลทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อกระบวนการปรึกษา
4
Logotherapy
จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต : แม้ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ชีวิตก็ยังมีความหมาย มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองเสมอ
5
Humanistic Approach – Rogerian Client-Centered Approach
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง : เมื่อศักยภาพของมนุษย์เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง
6
Gestalt Therapy
จิตบำบัดแนวเกสตัลท์ : สุขภาวะทางจิตดีขึ้นได้ด้วยการตระหนักรู้อย่างเป็นปัจจุบันขณะ
7
Psychoanalytic and Psychodynamic Therapy
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์และพลวัต: เหตุใดทฤษฎีต้นตำรับของจิตบำบัดนี้ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน
8
Cognitive Behavioral Therapy
จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นความคิดและพฤติกรรมนิยม : จิตบำบัดที่ได้รับการยอมรับสำหรับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
9
Acceptance and Commitment Therapy
จิตบำบัดแนวการยอมรับและพันธสัญญา : ยอมรับความท้าทาย พร้อมยืนหยัดต่อความหมายในชีวิต
10
Adlerian Therapy & Behavioral Therapy
จิตบำบัดแบบแอดเลอเรียนเพื่อการเข้าใจและแก้ไขปมในใจที่บ่มเพาะในวัยเด็ก และจิตบำบัดมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : เมื่อความสุขและความทุกข์กำหนดโดยสิ่งแวดล้อม
11
Couple and Family Therapy
พื้นฐานจิตวิทยาความสัมพันธ์และครอบครัว
12
Art Therapy
ศิลปะบำบัดในศาสตร์กระบวนการปรึกษา
13
Buddhist Approach
จิตวิทยาการปรึกษาเชิงพุทธ : บูรณาการพุทธธรรมสู่การดูแลใจเชิงจิตวิทยา
14
The Controversy of Diagnosis
มองข้อถกเถียงเกี่ยวกับการวินิจฉัยในศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาในมุมต่าง ๆ
15
Reality Therapy
การปรึกษาแบบเผชิญความจริง : ชีวิตมีทางเลือก เมื่อทางเลือกเปลี่ยน
ชีวิตเปลี่ยน ค้นหาทางเลือกสู่ชีวิตที่ปรารถนา
16
Therapeutic Relationship: A significant predictor of
therapeutic outcome
สัมพันธภาพในกระบวนการปรึกษา : ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของจิตบำบัด

 

 

 


 

 

การเดินทางมายังคณะจิตวิทยา

 

อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

ขนส่งสาธารณะ
BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 2 แล้วเดินตรงเข้ามาทางประตูสนามนิมิบุตร ประมาณ 300 เมตร
รถเมล์ ป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ / มาบุญครอง / โอสถศาลา

ที่จอดรถ
อาคารจอดรถ 4 ติดกับอาคารจุฬาพัฒน์ 14

 

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “Cross-Cultural Psychology, Immigration, Multiculturalism, and Intergroup Relations”

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา โดย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันออก-ตะวันตก หัวข้อ

“Cross-Cultural Psychology, Immigration, Multicultura-lism, and Intergroup Relations”

 

 

 

โครงการนี้เป็นโครงการสำหรับผู้ที่ต้องเข้าใจในพื้นฐานของการอยู่ร่วมในสังคมที่มีความต่างทางวัฒนธรรม รวมไปยังการทำงานในบริบทที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากวัฒนธรรมไทย อย่างเช่น การอพยพถิ่นฐาน และการสร้างสังคมแบบพหุวัฒนธรรม โดยโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

ส่วนที่ 1 “Cross-Cultural Psychology & Intergroup Relations”

มุ่งเน้นการศึกษาไปยังการสร้างความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของวัฒนธรรม อย่างเช่น มิติของค่านิยม ที่ส่งผลต่อการสื่อสารและการอยู่ร่วมกันในสังคม การประยุกต์ใช้จิตวิทยาในการเข้าใจและรับมือต่อความหลากหลายที่เกิดขิ้นในโลก และผลของการมีปฏิบัติสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง

 

ส่วนที่ 2 “Immigration, Multiculturalism and Group Relations”

มุ่งเน้นศึกษาประเด็นเรื่องการอพยพและตั้งถิ่นฐาน สังคมแบบพหุวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้อพยพหรือกลุ่มชาวต่างชาติ โดยวิทยากรจะสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เรียนว่า สังคมแบบพหุวัฒนธรรมเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความหลากหลายในประเทศ รวมไปถึงหลักการที่ในการลดอคติต่อผู้อพยพ และการกระทำที่ต่อต้านผู้อพยพและคนต่างด้าว เพื่อสร้างสังคมที่โอบรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิทยากร

Professor Saba Safdar, Ph.D.
Department of Psychology, University of Guelph, Canada

 

 

 

 

กำหนดการฝึกอบรม

 

1.Cross-Cultural Psychology & Intergroup Relation

– วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.

– วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.

 

2. Immigration, Multiculturalism, & Group Relations

– วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00 – 20.00 น.

– วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00 – 20.00 น.

 

ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

  • บุคคลภายนอก (ลงทะเบียน 2 หัวข้อ) 1,500 บาท
  • บุคคลภายนอก (ลงทะเบียน 1 หัวข้อ) 1,000 บาท
  • บุคลากรและนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีค่าลงทะเบียน

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งฟอร์มลงทะเบียน ท่านจะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ท่านทราบภายใน 3 วัน
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะส่งให้ท่านทาง E-mail
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

https://forms.gle/7g5gBbk5iXKw2kUm8

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอย

โทร. 02-218-1307 หรือ email: Wathinee.s@chula.ac.th

 

 

คณะจิตวิทยา ต้อนรับคณะเดินทางจากมหาวิทยาลัย Temasek Polytechnic ประเทศสิงค์โปร์

 

 

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการต้อนรับคณะเดินทางจากมหาวิทยาลัย Temasek Polytechnic ประเทศสิงค์โปร์ เพื่อเข้าเยี่ยมชมคณะจิตวิทยาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านวิชาการ

 

ถอดความ PSY Talk เรื่อง Beauty Privileges: รูปร่างหน้าตามีอิทธิพลต่อชีวิตจริงหรือไม่

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

Beauty Privileges: รูปร่างหน้าตามีอิทธิพลต่อชีวิตจริงหรือไม่

 

โดยวิทยากร
  • คุณกมลกานต์ จีนช้าง (อ.น้ำ)
    นิสิตปริญญาเอก แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ กำลังศึกษาวิจัยเรื่อง Beauty Standard
  • คุณพงศ์มนัส บุศยประทีป (คุณนัส)
    มหาบัณฑิตแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม เคยเขียนหนังสือและแปลหนังสือความรู้ทางจิตวิทยา ปัจจุบันเป็นคอลัมน์นิสต์และนักแปล

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ (อ.สาม)
    ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 18.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/550041026469217

 

 

 

 

ความหมายของคำว่า Beauty Privileges


 

คุณนัส

ก็ตรงตามตัวเลย คือคนที่หน้าตาดีจะมีอภิสิทธิ์ มีสิทธิประโยชน์มากกว่า เช่น ทำอะไรเหมือนกัน แต่คนหน้าตาดีกว่าย่อมได้สิ่งที่ดีกว่า ได้รับการประเมินดีกว่า มีคนเห็นและคนชอบมากกว่า โอกาสก็อย่างเช่นในการสมัครงาน หรือในการทดสอบความสามารถที่ได้เห็นหน้าค่าตา โอกาสที่จะชนะโอกาสที่จะได้รับคะแนนมากกว่า ถ้าเป็นในด้านความถูกต้อง หรือการพิจารณาผิด โอกาสที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มากกว่า ก็คือแทบทุกด้านเลย ทุกครั้งที่มีการประเมินเกิดขึ้นคนหน้าตาดีจะได้เปรียบ

 

อ.น้ำ

คนที่หน้าตาถูกรับรู้ว่าสวยกว่าหล่อกว่าก็จะมีโอกาสในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตเยอะกว่า ทั้งในเรื่องทางสังคม และเศรษฐกิจ ทางสังคมก็เช่น ถูกรับรู้ว่าน่าจะมีแนวโน้มมี personality บางอย่างที่ดีกว่า เช่น ดูอบอุ่นกว่า น่าจะเป็นมิตรมากกว่า น่าเข้าหา เพราะเมื่อคนเราเจอกันแรก ๆ เราจะประเมินแค่ภายนอกก่อน เราไม่มีข้อมูลมากพอที่จะประเมินลึกกว่านั้น ในบริบททางเศรษฐกิจ เราจะพบว่า โอกาสเวลาที่คนหน้าตาดีส่งเรซูเม่เข้าไป แล้วเขาประเมิน ก็จะได้รับการคัดเลือกขั้นต้น และเวลามาสัมภาษณ์ ก็มีโอกาสได้รับการประเมินดี ในบางงานวิจัยก็บอกเลยว่า เรื่องค่าตอบแทนก็ได้รับมากกว่าด้วย

 

ในความสัมพันธ์เชิงโรงแมนติก คนหน้าตาดีก็มีโอกาสในการออกเดตและสานความสัมพันธ์มากกว่า แม้บอกไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ในขั้นต้นก็ได้รับโอกาสตรงนี้มากกว่า

 

อ.สาม

เหมือนเป็นต้นทุน หรือที่เขาบอกว่าความสวยเป็นใบเบิกทาง what is beautiful is good. แต่หลังจากนั้นอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วแต่บุคคล แต่ก็เหมือนตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ หรือเป็น privilege

 

 

คำว่าสวยคำว่าหล่อในทางจิตวิทยาเป็นอย่างไร


 

คุณนัส

ขอแบ่งเป็น 2 แง่หลัก ๆ คือ วัตถุกับคน มนุษย์เราเนี่ย ไม่จำเป็นต้องสอน เราก็มีรสนิยมของสิ่งที่เรียกว่าความสวยความงามตั้งแต่เกิดมาอยู่แล้ว อาจไม่ถึงขนาดว่าเราเกิดมาแล้วรู้ทุกอย่างว่าอะไรสวยอะไรไม่สวย แต่ว่าเราค่อย ๆ เรียนรู้และค่อย ๆ ซึมซับและแบ่งแยกว่าอะไรสวยไม่สวย แต่ในเรื่องหน้าตาจะค่อนข้างพิเศษกว่านิดหน่อย เพราะเราจะแบ่งแยกคนหน้าตาดีกับไม่ดีได้เหมือนกับว่าเป็นโปรแกรมที่ติดตัวมาแต่เกิดเลย ถ้าเราถามตัวเองว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าใครหน้าตาดี ก็ไม่ได้มีใครมาสอนเรา คือเราก็สังเกตและเห็นมาตั้งแต่เด็ก คือเราดูละครหรือโฆษณาในทีวี แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่พ่อแม่จะบอกเราว่าคนนี้สวยนะคนนี้ไม่สวย แต่ว่าสักพักหนึ่ง เราเห็นคนหลาย ๆ คน เราจะรู้เองว่าใครที่หน้าตาดีใครที่หน้าตาไม่ดี

 

สังเกตได้ว่าคนที่เป็นดาราเนี่ยผู้คนก็จะมองว่าหน้าตาดี แน่นอนว่าคนเรามีรสนิยมที่ต่างกันไป แต่มันจะมีความสวยความหล่อมาตรฐานที่ใครเห็นใครก็ชอบ ขนาดดาราต่างประเทศไม่ว่าจะชนชาติไหนก็ตาม ถ้าเป็นดาราก็จะหน้าตาดีโดยที่เรารู้สึกว่าคนนี้หน้าตาดีกว่ามาตรฐาน ดังนั้นการรับรู้ความสวยความหล่อเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ถึงขนาดมีงานวิจัยระบุว่าเด็กทารกจะชอบคนหน้าตาดีมากกว่า เห็นแล้วอารมณ์ดีมากกว่า แสดงว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้

 

นักจิตวิทยาก็พยายามหาว่าแล้วความสวยความหล่อมันมาจากไหน คือถ้าติดตัวมาตั้งแต่เกิดแสดงว่ามาจากยีนส์ (genes) ถ้ามาจากยีนส์แปลว่า มันเป็นเรื่องพันธุกรรม เป็นเรื่องวิวัฒนาการ ถ้าเป็นเรื่องวิวัฒนาการแปลว่ามันเกี่ยวกับความอยู่รอด เขาก็เลยลองพยายามหาสาเหตุของมันดู มีการวิจัยที่เขาเอาหน้าคนมาหลาย ๆ คน แล้วดูว่าคนหน้าตาแบบไหนที่คนจะบอกว่าหน้าตาดี เขาพบว่าคนที่หน้าตาดีคือคนที่หน้าตามีสัดส่วนที่เป็นเฉลี่ย หมายความว่า ขนาดของอวัยวะบนใบหน้าเฉลี่ย คือไม่โตไปไม่เล็กไป นอกจากขนาดแล้วตำแหน่งที่อยู่บนใบหน้าเฉลี่ยแล้วอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างกลาง ๆ พอดี นักจิตวิทยาเอาใบหน้าคนจำนวนมากมาใช้คอมพิวเตอร์เฉลี่ยขนาดและตำแหน่งเข้าด้วยกัน แล้วพบว่า ใบหน้าที่เข้าใกล้กับใบหน้าเฉลี่ยมากเท่าไร ยิ่งดูหน้าตาดีมากขึ้นเท่านั้น เขาก็เลยคิดว่าคนที่หน้าตาดีคือคนที่หน้าตาเป็นค่าเฉลี่ยที่สุด

 

ส่วนเหตุผลว่าทำไม ย้อนกลับไปที่เรื่องวิวัฒนาการ ความชอบอะไรที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดมันต้องมีประโยชน์อะไรกับเราสักอย่างหนึ่งในการเอาตัวรอด ก็มีข้อสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เราเจอกันแรกสุดเราเห็นหน้าก่อน ดังนั้นใบหน้าคือสิ่งที่เราพิจารณาเยอะที่สุด แล้วการพิจารณาที่สำคัญมากที่สุดของการเอาตัวรอด สิ่งแรกอาจเป็นเรื่องของการเป็นมิตรหรือศัตรู ข้อต่อมาคือเรื่องของการหาคนรัก เรามักจะหลงรักคนที่หน้าตา ดังนั้นเรื่องหน้าตาดีกับเรื่องคนรักมันเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน แล้วทำไมเราถึงอยากมีคนรักที่หน้าตาดี นักจิตวิทยาและนักชีววิทยาเขามองว่าคนที่หน้าตาดีคือคนที่หน้าตาเฉลี่ย หน้าตาเฉลี่ยหมายความว่าปกติ ปกติที่สุดแปลว่ามีโอกาสน้อยที่จะมียีนส์ที่มันผิดแปลก ดังนั้นคนที่หน้าเฉลี่ยที่สุดก็มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะมีความผิดแปลกทางพันธุกรรมและน่าจะเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่แข็งแรง มีโอกาสผิดปกติน้อย นึกภาพคนที่มีใบหน้าที่มีอวัยวะอยู่ในตำแหน่งแปลก ๆ หรือมีขนาดใหญ่เกินไปเล็กเกินไปมาก ห่างจากค่าเฉลี่ยเยอะ โอกาสที่เขาจะมียีนส์ที่ไม่ดีนั้นสูงกว่า วิวัฒนาการก็เลยสอนสะสมมาให้เราชอบคนที่มีลักษณะแบบนี้ คนหน้าเฉลี่ยเลยเป็นคนหน้าตาดี

 

อ.น้ำ

ความหน้าตาดีมีการรับรู้ที่เป็นเอกฉันท์ของมนุษย์ส่วนหนึ่ง แต่อีกพาร์ทหนึ่งมีปัจจัยเชิงสังคมเข้ามาเกี่ยวด้วยเช่นกัน อย่างที่เรารับรู้เรื่องมาตรฐานความงาม หรือ beauty standard ซึ่งในบางประเด็นก็จะแตกต่างกันไปตามค่านิยม ของการให้คุณค่าของแต่ละบริบทสังคม เช่น ลักษณะรูปหน้าบางรูปแบบ สีผิว อย่างที่เราก็คุ้นกันในปัจจุบัน ความสวยที่เป็น universal ก็มีส่วน ความสวยที่เป็นผลร่วมมาจากความนิยมของสังคมหรือยุคสมัยที่ต่างกันก็มีส่วน

 

 

ปัจจัยทางสังคมอะไรบ้างที่กำหนดกรอบความสวยความหล่อ


 

อ.น้ำ

ถ้าในปัจจุบัน ส่วนที่เข้ามาเป็นบทบาทหลักก็คือการให้ข้อมูลโดยสินค้าและผลิตภัณฑ์ เราถูกไดรฟ์ให้ชอบลักษณะบางรูปแบบเพื่อความต้องการเชิงการตลาด เช่น ถ้าพูดเรื่องหุ่น เทรนด์ของผู้หญิงเอเชีย กึ่งหนึ่งก็ยังเป็นหุ่นสลิมแบบผอม อีกกึ่งหน้าก็เป็นแบบสายฝอที่เราเรียกกัน ที่ฟิต มีกล้ามนิดหน่อย ไม่ผอมแบบสกินนี่ คือผอมแบบมีกล้ามเนื้อดูแข็งแรง ส่วนผู้ชาย ก็จะต้องมีกล้ามเนื้อ ดูเป็นนักกีฬา แต่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งก่อนหน้านี้ในเอเชียน จะชอบผู้ชายหุ่นผอมบาง ข้อมูลเหล่านี้น่าจะถูกบรรจุในไม่เรื่องการตลาดก็เรื่องภาพลักษณ์ที่ปรากฏในสื่อ โดยเฉพาะสื่อบันเทิง

 

อ.สาม

ในนิยายที่อ่าน จะมีการบรรยายรูปลักษณ์ของตัวละครที่เป็นตัวหลัก อ่านกี่เล่ม ๆ นางเอกก็จะสูงผอม เพรียวบาง จมูกเชิด เราจะเห็นว่าผู้หญิงต้องมีรูปร่างประมาณนี้ถึงจะเป็นตัวเอก ส่วนผู้ชายก็มีคาแรคเตอร์บางอย่างที่มีการผลิตภาพซ้ำ ๆ อยู่

 

คุณนัส

จากฐานเดิมที่เรารู้อยู่แล้วว่าใครสวยใครหล่อจากวิวัฒนาการ พอโตขึ้นเราจะมีการเรียนรู้ เราจะดูสื่อ ดูคนรอบตัว สำหรับมนุษย์ข้อมูลที่เราจะไวที่สุดที่จะรับรู้คือข้อมูลของคน พูดง่าย ๆ คือเรื่องของชาวบ้าน เราจะไม่รู้ตัวหรอก แต่เราจะเรียนรู้ว่าคนหน้าตาแบบไหนที่คนชอบ คนชื่นชม แล้วเราก็จะเก็บสะสมเอาไว้ ตรงนี้ความแตกต่างระหว่างสมัยจึงเกิดขึ้นตามที่อ.น้ำบอก เช่น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะนิยมนางแบบผู้หญิงที่ผอมมาก แล้วถ้าเรามองย้อนกลับไปเรื่อย ๆ นางแบบกับนางงามสมัยก่อนจะท้วมกว่านี้แล้วค่อย ๆ ผอมลงมาเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา แล้วเราเพิ่งมาตระหนักในช่วงสิบปีมานี้ว่ามันมีผลเสียค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับเรื่องของโรค anorexia bulimia ที่ผู้หญิงกดดันตัวเองเพื่อให้ผอมจนเกินไป จนเดี๋ยวนี้มาพยายามเหมือนกับว่าไม่ต้องผอมจนไม่ healthy มีกระแสใหม่ว่าไม่ผอมแต่ดูแข็งแรง มีน้ำมีเนื้อมากขึ้น

 

ประเด็นคือสื่อก็เป็นตัวชักนำ นิยายอาจจะไม่เห็นภาพชัดเท่าละคร เพราะละครเขาหยิบมาเลยว่าใครควรจะเป็นพระเอกนางเอก ดูละครมากี่สิบเรื่อง โอกาสที่จะเห็นพระเอกนางเอกไม่ใช่คนหน้าตาดีมีกี่เรื่อง เว้นแต่จะเป็นละครอินดี้หรือละครที่เน้นจริง ๆ ว่าพระเอกนางเอกเป็นคนธรรมดา ขณะที่ละครส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเมืองไทยหรือเมืองนอก พระเอกนางเอกหน้าตาดี ดังนั้นก็เป็นความชินว่าสิ่งนี้แหละคือหน้าตาดี

 

ในวงการของความสวยความงาม เคยได้ยินไหมว่า สวยนางงามกับสวยนางเอกมันต่างกัน เราไปดูการประกวดนางงาม เราจะเห็นหน้าตาที่เป็นรูปแบบอย่างหนึ่ง แต่พอเราไปดูทีวีเราจะเห็นหน้านางเอกอีกแบบหนึ่งที่เราจะไม่เห็นบนเวทีนางงาม มันไม่ใช่เป็นสิ่งตายตัว แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มพอสมควร แต่ทุกอย่างมันจะมีฐานหรือมีกรอบของมันว่าความหน้าตาดีมันจะไม่หลุดไปจากนี้มากนัก คือสุดท้ายคนที่เป็นพระเอกนางเอกหรือนางงามคนก็จะมองว่าเขาสวยเขาหล่อ แต่อาจจะมีลักษณะคนละแบบ หรือมีหุ่นคนละแบบกัน

 

ในตอนนี้เทรนด์เกี่ยวกับฟิตเนสมาแรงมาก ตอนเราเด็ก ๆ ดาราสมัยนั้นหุ่นไม่ใช่แบบนี้ จะเป็นหุ่นผอม ๆ พระเอกก็จะไม่ได้ล่ำ แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น พระเอกก็จะตัวตัน ๆ หน่อย มีความแมนหน่อย เน้นห้าว ๆ ขรึม ๆ แต่พอเราเริ่มได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง พระเอกที่ดูโรแมนติกก็จะมีความอ่อนหวาน มีความเป็นหญิงเข้ามาผสมนิดหน่อย หุ่นก็จะเพรียวบางลง แต่พอมาปัจจุบัน กระแสของการรักษาหุ่นมันเกิดขึ้นมาในสังคม พระเอกก็จะมีกล้ามหนาขึ้นมาตามความต้องการของสังคมไปด้วย มีลักษณะคล้ายกับแฟชั่น ซึ่งแฟชั่นเป็นเรื่องของทางสังคมวิทยามากกว่า แต่ว่ามันก็หนีกันไม่พ้นในเรื่องของสังคมกับเรื่องของมนุษย์ เราก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มมาจากไหน แต่พอมันเริ่มมันกระจายตัวไปเรื่อย ๆ แล้วคนก็ชอบตาม ๆ ๆ กันหมดเลย ยิ่งมีคนชอบเยอะคนก็ยิ่งชอบตาม ส่วนนี้จึงเป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะเป็นตัวกำหนดว่าอะไรที่ทำให้สวยอะไรที่ทำให้หล่อ มันเหมือนกันแฟชั่นที่ว่าทำไมคนถึงแต่งตัวแบบนี้ ยุคหนึ่งทำไมคนถึงแต่งกระโปรงสั้น แต่ยุคต่อมาคนไม่แต่งกระโปรงสั้นแล้ว ยุคหนึ่งทำผมทรงนี้ อีกยุคก็ทำผมอีกทรง มันไม่มีคำตอบตายตัว แต่มันมีตัวเริ่ม อาจจะเป็น influencer เป็นดาราที่ดังเขาเริ่ม หรือบางครั้งเราก็ไม่รู้เลยว่ามาจากไหน แต่มันกระจายตัวมาเรื่อย ๆ แล้วสังคมยอมรับ สังคมเห็นด้วย ก็เป็นตัวกำหนดของยุคนั้น ๆ ไป

 

อ.สาม

เหมือนคำว่าสวยคำว่าหล่อไม่ได้มีคำนิยามตายตัว แต่เป็นผลของสังคมว่าในยุคนั้นว่าให้คุณค่าให้ความสำคัญในเรื่องใด

 

 

คนที่มี Beauty privileges จะมีความสุขหรือประสบความสำเร็จมากกว่าจริงหรือไม่


 

อ.น้ำ

อยากให้มันไม่เป็นจริง แต่ถ้าในหลักฐานเชิงประจักษ์มันปฏิเสธไม่ได้ หลักฐานค่อนข้างหนักแน่น เมื่อมีแนวโน้มที่จะถูกรับรู้ดีกว่า พอถูกรับรู้ดีกว่าโอกาสในเรื่องต่าง ๆ ก็มากกว่า นำไปสู่วลีฮิตที่ว่า “แค่สวยก็ชนะแล้ว” “ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อยนะ”

 

งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสุขความสำเร็จ เปรียบเทียบคนที่หน้าตาน่าดึงดูดใจกับไม่น่าดึงดูดใจ ผลพบว่าคนหน้าตาน่าดึงดูดใจมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากกว่า มีสุขภาวะดีมากกว่า แต่งานนั้นก็บอกได้แค่ เหตุคือหน้าตา ผลคือความสุขความสำเร็จ แต่มันขาดตัวอธิบายตรงกลางไป มันก็มีสิ่งที่น่าสนใจในทางจิตวิทยาที่จะมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ คือความรู้สึกมั่นใจในตัวเองหรือ self-confidence เพราะตั้งแต่เด็กเป็นต้นมาจนโต ตั้งแต่อยู่ที่บ้านจนมาถึงโรงเรียน เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นในรูปแบบที่ต่างกัน มันส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเขา ที่เคยคุยกับน้องบางคน เขารู้ว่าเขาไม่ใช่คนหน้าตาตรงตาม beauty standard แต่ที่บ้านเขาดีมาก คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงเรื่องพวกนี้แล้วก็สนับสนุนลูกให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ลูกเป็น ในรูปร่างหน้าตาที่ลูกเป็น ไม่ใช่ว่าชมจนเฟ้อ แต่มีวิธีที่อยู่ด้วยกันแล้วเป็นแบบนั้น รวมถึงเพื่อนในกลุ่มที่อยู่ด้วย ซึ่งความมั่นใจตรงนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคนที่สวยตาม beauty standard แต่เขามีความมั่นใจ เขาเชื่อมั่นในตัวเอง มันก็ทำให้ตัวเขารู้สึกมั่นใจในการไปทำอะไรต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

 

คนสวยมักจะได้รับการปฏิบัติที่จะเสริมความมั่นใจในบริบทสังคมตั้งแต่เล็กจนโต พอเสริมความมั่นใจ เขาจึงมีแนวโน้มที่เขาจะประสบความสำเร็จ เพราะกล้าทำ กล้าคิด กล้าแสดงออก ในทางกลับกัน คนที่หน้าตาไม่ตรงตามพิมพ์นิยมหรือถูกรับรู้ว่าไม่น่าดึงดูดเท่าไร เขาได้รับการปฏิบัติที่ต่างไปหรือเปล่า อันนี้เป็นการตั้งคำถามว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา แต่ปัญหามันอยู่ที่การรับรู้ของคนในสังคมที่มีอคติ แล้วเราควรหรือไม่ที่จะมีความตระหนักในเรื่องนี้ ถ้าเราลดเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ว่าเราจะหน้าตาเป็นอย่างไรก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ กัน

 

อ.สาม

ตอนเด็ก ๆ คนหน้าตาดีมักจะได้รับโอกาส อย่างได้ไปถือพาน เป็นผู้นำ ก็มีโอกาสได้สำรวจตัวเองมากขึ้น และมีโอกาสได้รับคำชื่นชมที่จะมาเสริมความมั่นใจ

 

คุณนัส

แน่นอนว่าคนเรามีอคติ พอเห็นใครหน้าตาดีกว่าก็มีโอกาสจะลำเอียง ปฏิบัติกับเขาดีกว่า มองเขาดีกว่า แต่บางทีมันก็เป็นอคติที่เราไม่รู้ตัว เวลาที่เราเจอหน้ากันเราก็จะมีการประเมินกันและกันเป็นธรรมชาติ แต่ข้อมูลที่เรามีมันน้อยเหลือเกินโดยเฉพาะคนที่เราไม่รู้จัก พอเป็นคนไม่รู้จักสิ่งที่เราเห็นก็มีเพียงรูปร่างภายนอก หน้าตา การแต่งตัว บุคลิกภาพ บุคลิกภาพอาจไม่ได้เห็นด้วยซ้ำในแวบแรก จะเห็นว่าเปลือกนอกมันมีพลังมาก เพราะแค่มองไปก็เห็นแล้ว เมื่อเห็นก็เป็นตัวตั้งมาตรฐานของคนนั้น มนุษย์เรามีกลไกที่เป็นทางลัดทางความคิดที่ทำให้การประเมินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถ้าเราข้อมูลไม่พอ สมองของเขาจะพยายามดึงข้อมูลอื่น ๆ ที่มีมาแทน หลายๆ ครั้งข้อมูลมันไม่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์งานเราก็ดูเรซูเม่ ดูประวัติการทำงาน ซึ่งทุกคนก็จะเขียนมาให้มันสวยหรูอยู่แล้ว แต่คนนี้เก่งจริงหรือเปล่าดีจริงหรือเปล่า ไม่รู้ เพราะยังไม่เคยทำงานด้วยกัน แต่สิ่งที่เห็นแล้วรู้แน่ ๆ คือหน้าตาดีหรือเปล่า พอเห็นเสร็จมันก็ไปดึงคะแนนด้านอื่นที่มันไม่รู้มันสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม สมองเราจะใช้กลไกนี้กับสิ่งที่เราไม่รู้ เมื่อคนเรามาทำงานจริง ถ้าเกิดทำงานไม่ได้ แม้หน้าตาดีมันก็ไม่ช่วย คือสุดท้ายแล้วข้อมูลที่เรารู้ได้มันเกิดขึ้น สิ่งนี้ก็มาทดแทน

 

หรือคนรัก คนที่หน้าตาดีย่อมมีคนเลือก เวลาที่เราจะจีบใครเราก็มักจะเลือกจีบคนที่หน้าตาดีหรือค่อนข้างโอเคในสายตาเรา แล้วค่อยไปดูทีหลังว่าอย่างอื่นเข้ากันได้มั้ย แต่พอคบกันไปแล้ว มันไม่มีงานวิจัยใดที่บอกว่าหน้าตาส่งผลให้คนคบกันได้ยืด พอคบกันแล้ว นิสัยใจคอ ความเป็นอยู่ ไลฟ์สไตล์ ความชอบพอ มันจะชัดเจนมากขึ้น หน้าตาก็มีผลลดลงไป แล้วหน้าตาพอเราเห็นไปนาน ๆ จะเกิดความชิน พอชินก็ไม่มีผลเท่าไร คนที่แฟนสวยแฟนหล่อเท่าไรก็ตาม พอคบกันไปสักสิบปีก็ไม่หล่อไม่สวยเหมือนคนอื่นที่เราไม่ค่อยเห็นมาก่อน ไม่มีอะไรที่สวยตลอด หล่อตลอด พอเริ่มชินอคติก็ลดลง แล้วความจริงในด้านอื่น ๆ ก็โผล่ขึ้นมา ดังนั้นหน้าตาดีมีผลในช่วงแรก ๆ แต่ไม่มีผลตลอดไป

 

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เขามีใบเบิกทาง มีความได้เปรียบ แต่ถ้าเขามีแค่นั้น สักพักหนึ่งเขาก็จะไม่ประสบความสำเร็จต่อไป ดังนั้นไม่ใช่คนหน้าตาดีทุกคนจะประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน คนที่หน้าตาไม่ดี แต่เขายืนหยัดและพยายามดึงความสามารถ ดึงสิ่งดี ๆ อย่างอื่นของเขา สติปัญญา บุคลิกภาพ ให้มันดี พอทำงานไปด้วยนาน ๆ คนทำงานด้วยจะรู้ว่าคนนี้เก่งจริงดีจริง และเขาจะประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าเขาจะหน้าตาอย่างไร เราจะเห็นคนดังหรือนักธุรกิจหลาย ๆ คนที่หน้าตาไม่ได้ดี เขาก็ประสบความสำเร็จ หรือพิธีกร ดาราหลาย ๆ คนที่เขาไม่ได้หน้าตาดี แต่แสดงหนังมาเยอะ อยู่ในวงการได้นาน เพราะว่ามีฝีมือได้รับการยอมรับ

 

 

ความสวยความหล่อนอกจากสร้างข้อได้เปรียบแล้ว มีผลทางลบด้วยหรือไม่


 

คุณนัส

ในวิจัยของแอพหาคู่ คนหน้าตาดีจะมีคนปัดเยอะอยู่แล้วโดยปกติ แต่คนหน้าตาดีจะประสบความสำเร็จในการหาคู่หรือไม่ ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว คนหน้าตาดีเองก็มีความลำบากส่วนตัวเหมือนกัน มีคนหน้าตาดีบางคนเหมือนกันที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองหน้าตาดี แต่ส่วนใหญ่แล้วคนหน้าตาดีเขาก็จะรู้ว่าตัวเองหน้าตาดี ดังนั้นเมื่อมีคนมาชอบ มีคนมากดปัดฉันในแอพ เขาชอบฉันเพราะอะไร เพราะหน้าตาหรือ มันเพียงพอต่อการที่คนเราจะหาคู่รักหรือเปล่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าไม่พอ เพราะสังคมเราสอนกันมาเสมอว่าอย่าคบคนที่ใบหน้า และคู่รักก็มีอะไรอย่างอื่นนอกจากหน้าตา ดังนั้นเขาจะมีปัญหาว่า ฉันมีดีอย่างอื่น แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นสิ่งที่ฉันเห็นว่าดีนั้นไหม ดังนั้นคนสวยคนหล่อเองก็จะมีความระแวงว่าคนที่เข้ามา นอกจากหน้าตาแล้วเห็นข้อดีอย่างอื่นของเขาสักกี่คน มันก็ทำให้เขาช่างเลือก อีกประเด็นคือพอมีคนปัดเขาเยอะ ความช่างเลือกของเขาก็จะเยอะขึ้น เพราะมีตัวเลือกเยอะ ตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีตัวเลือกเยอะเกินไปเรามักจะเลือกได้ไม่มีประสิทธิภาพ เรียกว่า supermarket effect คือของเยอะมากเราก็เลือกไม่ถูก มีข้อมูลล้นไปหมด คนนั้นก็ดูดีคนนี้ก็ได้ พอข้อมูลเยอะไปหมดเราก็อาจจะเลือกข้อมูลที่มันไม่จำเป็นเสมอไป เช่น ไปดูที่เงินเดือน หรือความน่าสนใจอื่น ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญใด ๆ เลยที่ทำให้คบกันยืด ความช่างเลือกอาจทำให้ได้คนที่มีเกณฑ์สูงมาตามเกณฑ์พื้น ๆ ทั่วไปที่ชัด ๆ เช่น หน้าตาดี การงานดี เงินเดือนดี ฐานะดี สังคมดี แต่เกณฑ์เหล่านี้อาจไม่ทำให้เราเจอคนที่ใช่

 

เทียบกับคนที่หน้าตาธรรมดาที่พอคลิกกันมันมีความคลิกกันอย่างอื่น เช่น อ่านโปรไฟล์แล้วมีความสนใจตรงกัน มีงานอดิเรกเหมือนกัน ซึ่งอาจจะส่งผลมากกว่า และความรู้สึกระแวงว่าจะชอบฉันที่หน้าตาก็มีน้อยกว่า ไม่คิดว่าจะมีใครมาหลอก

 

สรุปว่าก็มีข้อเสีย แต่ถ้าถามว่าเป็นข้อเสียที่เยอะมั้ยเมื่อเทียบกับอภิสิทธิ์ที่ได้มาก็คิดว่าน้อยกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นข้อเสีย

 

อ.น้ำ

ในเรื่องงาน ถ้าเป็นงานที่มีความจริงจัง เช่นต้องอาศัยความสามารถหรือทักษะทางปัญญาสูง ๆ มันก็จะมีความเชื่อเหมารวมติดในหัวที่มองว่าคนสวยคนหล่ออาจจะไม่ได้เก่งจริง เหมือนถูกตีตราจากบางส่วนของสังคมที่มองแบบนี้ ซึ่งถ้าเขาเป็นคนสวยและอยากจะสำเร็จด้วยความสามารถ เขาก็ต้องต่อสู้อย่างหนัก พิสูจน์ตัวเองให้คนเห็นความสามารถของเขา ซึ่งเขาอาจจะทำงานได้ดี แต่มันจะมีเงาเล็ก ๆ ที่คนคิดว่า ที่ทำได้ ที่ได้ผลงานผลประเมินที่ดีมา จริง ๆ แล้วเป็นเพราะหน้าตาหรือเปล่า

 

ถ้าเป็นเรื่องงานทั่ว ๆ ไปจะไม่เท่าไร แต่ในบริบทงานที่เน้นผู้ชายเป็นหลัก เช่น งานที่เป็น male dominant อย่างวิศวะ ถ้าผู้หญิงสวยเข้าไปทำ ถ้าเขาอยากให้คนยอมรับว่าผลงานของเขามาจากความสามารถไม่ได้มาจากความสวย ยิ่งถ้าเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นเพศตรงข้าม ที่ความสวยจะมีอิทธิพลในการรับรู้ มันเลยกลายเป็น gender bias ที่เขาจะต้องต่อสู้ให้เห็นว่าฉันสำเร็จเพราะความสามารถ

หรือแม้แต่งานที่เป็นผู้ชายมาก ๆ แล้วเป็นผู้ชายหน้าสวยเข้าไปทำ ก็อาจจะมีเรื่องลำบากใจเหมือนกัน เพราะจะถูกประเมินว่าเจ้าสำอางจะทำงานได้ไหม บางงานมีภาพจำว่าต้องอาศัยแรง ขณะที่ความหน้าตาดีไปเชื่อมโยงกับความเจ้าสำอาง ไม่แข็งแรง เป็นต้น ในแง่หนึ่งคนสวยคนหล่อต้องพิสูจน์ตัวเองเรื่องความสามารถ

 

งานวิจัยในมหาวิทยาลัยก็พบว่า คนหน้าตาดีบางคนไม่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเชิงวิชาการ เพียงเพราะว่าเขาสวย

 

นอกจากนี้ ในการทำงานถ้าอยู่ในเซตติ้งที่มีคนเพศเดียวกันเยอะ ๆ ก็กลายเป็นว่า สวยมากไปคนก็ไม่ค่อยชอบ กลายเป็นว่าความสวยไปสร้างความระคายเคืองให้เพื่อนร่วมงานได้ มันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของการเขม่นกันว่าคนหน้าตาดีจะมีโอกาสได้รับการประเมินดีกว่าหรือไม่

 

อ.สาม

ที่เคยมีคนเล่า เขาบอกว่าบางทีเขาไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เขาถูกปฏิบัติแบบแปลกแยกเพราะเขาสวย พูดกันง่าย ๆ คือเขาถูกเขม่น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ถ้าไม่ได้รับการเชิดชูไปเลย ก็จะมีกลุ่มที่คล้าย ๆ แอนตี้แฟน โดยที่เขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไรผิด

 

อ.น้ำ

ในแง่ของการรังแกกัน ในกลุ่มเด็กผู้หญิง เด็กที่หน้าตาดี สวยดึงดูดใจ กลายเป็นเป้าของการรังแกมากกว่า เพราะเวลาเราอยู่ในกลุ่มเพื่อนก็มักจะเป็นเพื่อนเพศเดียวกัน คนสวยก็มีจุดเจ็บเหมือนกัน

 

อ.นัส

เราจะรู้สึกมีมุทิตาหรือยินดีกับสิ่งดีที่คนอื่นมี เมื่อเราไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนั้น เช่น ถ้าในบริบทของการงานถ้าหน้าตาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับงานที่ได้ สมมุติว่าทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานต่างเป็นเพศเดียวกัน โอกาสที่หัวหน้างานจะชอบคนสวยคนหล่อมากกว่าก็มีไม่เยอะนัก เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานฉันหน้าตาดีฉันต้องอิจฉา แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าหัวหน้าเป็นคนละเพศกัน แล้วรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น แล้วเขาไปคิดว่ามันอาจจะเกิดจากหน้าตาเมื่อไร ความอิจฉาก็จะเกิดขึ้นได้ โดยที่ว่าหัวหน้าเขาจะลำเอียงจริงไหมไม่รู้ แต่มันขึ้นอยู่กับคนมองว่าเขามองว่า เป็นเพราะคนนี้หน้าตาดีเลยได้สิ่งที่ดีกว่าเขา ถ้าเขามองอย่างนึ้ความอิจฉาจะเกิด

 

ในบริบทอื่น เช่น นักกีฬา ถ้าเป็นกีฬาที่ผลการแข่งขันมันชัดเจน อย่างการแข่งวิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน เทนนิส ฟุตบอล คะแนนมันเห็นชัด ๆ ว่ามันเกิดจากอะไร ไม่ได้เกิดจากใบหน้า แต่ถ้าเป็นอย่างอื่นที่เป็นคะแนนแบบไม่ชัดเจนหรือมีการประเมินที่ดูยาก เช่น ยิมนาสติก การเต้น การร้องเพลง คนก็จะมองได้ว่าหน้าตามีส่วนช่วยอีกฝ่ายหรือไม่ ความอิจฉาก็อาจจะเกิดขึ้นได้

 

สรุปว่า ถ้าหน้าตาไม่ทำให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียกับเรา เราก็มักจะโอเคกับคนหน้าตาดี แต่ถ้ามีการแข่งขัน เกิดผลกระทบกับเรา หน้าตาของคนอื่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะยินดีสักเท่าไร เพราะมันทำให้เราดูแย่ลง หรือทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม

 

 

ผู้ชายหน้าตาดีกับผู้หญิงหน้าตาดี การรับรู้เกี่ยวกับความสามารถแตกต่างกันหรือไม่ เพศไหนที่หน้าตาดีแล้วได้เปรียบกว่า


 

คุณนัส

ตอบยากมาก เพราะมันมีการที่ ผู้ชายประเมินผู้ชาย ผู้ชายประเมินผู้หญิง ผู้หญิงประเมินผู้หญิง และผู้หญิงประเมินผู้ชาย แล้วเรื่องหน้าตากับการรับรู้ทางสังคมก็ไม่เหมือนกันอีก และยังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาพอสมควรเหมือนกัน

 

ก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่าพรีวิลเลจกับหน้าตามันเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณนานมากแล้ว แต่สังคมโบราณผู้หญิงไม่มีโอกาสได้ทำงานเหมือนปัจจุบัน ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเท่าไร ผู้หญิงในอดีตมีหน้าที่เป็นภรรยาเป็นแม่ ถ้าไม่ใช่งานบ้าน ดูแลลูกและสามี ก็เป็นงานที่เกี่ยวกับความงามโดยตรง เป็นนักร้องนักแสดง ดังนั้นอคติของผู้หญิงในเรื่องหน้าตาจะส่งผลแรงกว่า เพราะผู้หญิงในสังคมในอดีตไม่มีโอกาสแสดงความสามารถ แต่ผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายต้องแข่งขันกันในเรื่องความสามารถมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ผู้ชายมีความกดดันว่าต้องทำงานเก่ง ต้องมีฐานะ ดังนั้นแต่เดิมผู้ชายน่าจะได้รับผลกระทบเรื่องหน้าตาน้อยกว่าผู้หญิง ที่เรามักพูดกันว่าผู้หญิงชอบผู้ชายที่รวย ความรวยก็เป็นความสามารถอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ชายมีผลกระทบเบากว่าผู้หญิง แต่มาในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ชายมีการแข่งขันในเรื่องหน้าตามากขึ้น วงการความงามของผู้ชายก็เข้มข้นขึ้น ในสายตาของผู้ชาย หน้าตาและหุ่น โดยเฉพาะหุ่น เริ่มเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าผู้ชายเริ่มได้รับผลกระทบตรงนี้บ้าง แต่ตอนนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน ผู้หญิงยังน่าจะได้รับผลประทบเยอะกว่าอยู่ดี

 

ถ้าในวงการการงาน อย่างที่อ.น้ำบอก ว่าบางทีหน้าตามันกลายเป็นแสงส่องที่ทำให้ความสามารถกลายเป็นเงา คนมองแต่หน้าไม่ได้มองความสามารถ เลยทำให้เขาถูกรับรู้ว่าเขาไม่ได้เก่ง และในการประเมิน ถ้ามีผู้ชายมาชมพนักงานผู้หญิงที่หน้าตาดี ผู้หญิงคนอื่นอาจจะรู้สึกว่าชมเพราะงานหรือชมเพราะใบหน้า แต่ในทางกลับกันผู้ชายมีผลกระทบลักษณะนี้เบากว่า คือผู้ชายจะไม่ได้รับผลกระทบจากใบหน้า แต่เป็นเพศ จากงานวิจัย ความเป็นเพศชายมักจะได้เปรียบในเรื่องของงานมากกว่าอยู่แล้ว งานส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะได้รับการประเมินที่ดีกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่าผู้หญิง เป็นมาตั้งแต่โบราณที่ผู้ชายจะครองในเรื่องของการงาน ส่วนผู้หญิงจะถูกมองว่าทำหน้าที่รองมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงก็พยายามบอกว่าฉันทำงานได้เหมือนผู้ชาย งานอะไรก็แล้วแต่ฉันทำได้เหมือนผู้ชายทั้งหมด อย่างที่บอกว่ามันค่อนข้างซับซ้อน แล้วแต่กรณี แล้วแต่เรื่อง

 

อ.น้ำ

ถ้าเทียบกันแล้วระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย บทบาททางเพศแบบ tradition ทุกวันนี้อาจจะน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่ ต้องยอมรับ ด้วยบทบาททางเพศและความคาดหวังทางสังคม ผู้ชายไม่ได้ถูกคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตา ดังนั้นในการประเมินการทำงาน ปัจจัยนี้จึงไม่ค่อยส่งผลกับผู้ชายมากนัก ความสวยงามที่จะมาเป็นตัวขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการรับรู้ความสามารถ ผู้หญิงจึงน่าจะได้รับผลกระทบเยอะกว่า

 

 

มีโอกาสที่เราจะลดผลกระทบของ Beauty Privilege ได้หรือไม่


 

คุณนัส

ทางจิตวิทยา เมื่อเราพูดถึงอคติ บางครั้งเราอาจจะรู้ตัว แต่บ่อยครั้งจะไม่ พอไม่รู้ตัวเนี่ยคนก็จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองลำเอียง แต่อย่างที่บอกว่าสมองเรามักจะดึงข้อมูลเปลือกนอกมาใช้เมื่อเรามีข้อมูลไม่พอ แต่พอผ่านเวลาไป ข้อมูลอย่างอื่นเริ่มมาเติมเต็มมากขึ้น อิทธิพลของหน้าตาก็จะลดลงไป แต่แน่นอนว่าการเจอกันครั้งแรกมันยากอยู่แล้วที่หน้าตาจะไม่มีผล เพราะเรามีข้อมูลอื่นน้อย ถามว่ามันทุเลาได้หรือไม่ การตระหนักก็ช่วยได้ในส่วนหนึ่ง และในการพิจารณาอะไรที่ไม่เกี่ยวกับความงาม เช่น การสัมภาษณ์งาน หรือการสอบ เราต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาให้ชัดเจนและยุติธรรม ว่าทำอะไรหรือมีลักษณะใดควรจะได้รับคะแนนเท่าไร อย่าปล่อยให้เป็นความรู้สึกคร่าว ๆ แล้วออกมาเป็น ผ่าน/ไม่ผ่าน ชอบ/ไม่ชอบ หรือเป็นคะแนนที่คิดเอาเอง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นอคติมันจะเกิดขึ้นง่ายและไม่รู้ตัวด้วยว่าเราไม่ยุติธรรม

 

ทั้งนี้มันก็มีปัญหาเหมือนกัน บางทีก็มีการกดคะแนนของคนหน้าตาดี เพราะเขากลัวว่าที่ให้คะแนนดีไปเป็นเพราะหน้าตาหรือเปล่า กลายเป็นว่าคนหน้าตาดีได้คะแนนน้อยกว่าปกติ พยายามที่จะปรับให้คะแนนยุติธรรม แต่กลายเป็นทำให้คะแนนน้อยกว่าความเป็นจริง กลายเป็นไม่ยุติธรรมแทน

 

ถ้าต้องการลดอคติ ก็ต้องรู้ให้ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์การประเมิน ก็จะช่วยลดได้บ้าง แต่ถ้าจะให้หายไปเลยคงยากมาก

 

อ.น้ำ

ถ้าจะลดอิทธิพลของ Beauty Privileges ก็ต้องพยายามมีความตระหนักรู้ว่าเรากำลังอคติอยู่ หลายครั้งเวลาเราพูดถึงอคติ เรามักจะนึกถึงเรื่องอื่น เราจะนึกถึงเรื่องเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น แล้วเรื่องบิวตี้จะเป็นลำดับท้าย ๆ ที่เราจะนึกถึงว่านี่คือการเลือกปฏิบัติ เป็นเรื่องความไม่เท่าเทียม ดังนั้นหนึ่งในคำแนะนำคือต้องมีความตระหนักรู้ ถ้าคนตระหนักรู้ก็จะควบคุมตัวเอง แม้ว่าจะทำได้ยากและบางครั้งอาจจะกลายเป็นผลสะท้อนกลับแบบที่คุณนัสอธิบาย

 

นอกจากนี้ สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจาก Beauty Privileges เช่น รู้สึกไม่ค่อยดีเพราะรู้สึกว่าฉันไม่สวยตามมาตรฐานนั้น ทำไมฉันถึงไม่ได้รับพรีวิลเลจนั้น ฉันน้อยเนื้อต่ำใจ ฉันขาดโอกาสหรือเปล่า ในมุมนี้ เราควรขยายมุมมองเรื่องความสวยจะดีกว่า อย่าให้ความสวยมันจำกัด เราลองมาขยายคอนเซปต์ของตัวเองว่าความสวยนั้นเป็นไปได้หลายอย่าง มีหลายแบบ เราก็จะไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่เราจะไม่ได้ Beauty Privileges นั้น
จริง ๆ มันเป็นปัญหา เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งถูกจัดประเภทไว้ในมาตรฐานนี้ คนอีกกลุ่มไม่ได้ถูกจัดประเภท ก็เลยไม่ได้พรีวิลเลจนั้น ดังนั้นก็ขยายมุมมอง ซึ่งขยายได้ทั้งสำหรับตัวเราเองเพื่อให้เรารับรู้ตัวเองดีขึ้น เพื่อให้เรามีความสุขกับตัวเองมากขึ้น หรือไปขยายมุมมองของสังคมเพื่อที่ว่าเมื่อ beauty standard มันเปลี่ยนไป เราก็สามารถโอบคนหลาย ๆ แบบเข้ามาได้มากขึ้น

 

เรื่องอคตินั้นเข้าไปจัดการได้แต่ยอมรับตรง ๆ ว่ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นเรื่องค่อนข้างอัตโนมัติเราไม่รู้ตัว การแทรกแซงบางทีมันก็ไม่ทัน ก็ต้องใช้อย่างอื่นช่วยบ้าง เคยไปสัมภาษณ์กลุ่มคนที่มีมุมมองบวกเกี่ยวกับเรื่องหน้าตาตัวเองมาก ๆ พบว่าเด็กกลุ่มนี้เวลาเขามองความสวย เขาไม่ได้มองความสวยเฉพาะแบบที่รับรู้กันทั่ว ๆ ไปในสังคม ที่เป็น popular standard อยู่ แต่เขามองหลาย ๆ แบบ ไม่ว่าจะในเรื่องร่างกาย และคุณสมบัติอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องร่างกายด้วย เช่น ทักษะทางสังคม ลักษณะข้างในตัวบุคคล เขาเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้กับความสวยด้วย เด็กกลุ่มนี้เขาจะมีสุขภาพจิตที่ดีกับร่างกายตัวเอง มี body positivity ซึ่งตัวนี้แหละที่ทำให้เรามีความสุขกับตัวเอง เรามั่นใจ และไปเสริมสร้างอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต อันนี้ในมุมสำหรับตัวเอง สำหรับสังคม ถ้าเราสามารถกระตุ้นให้สังคมปรับมาตรฐานความงามได้ มันก็ช่วยได้อีกระดับหนึ่ง ส่วนตัวมองว่าขั้นนี้มันกำลัง move ถ้าคุณดูกระแสโซเชียลในตอนนี้ เด็กรุ่นใหม่เขารับสิ่งนี้มากขึ้น เขาไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเหมือนสมัยที่เราเป็นวัยรุ่น

 

อ.สาม

ในต่างประเทศมีแคมเปญหนึ่งที่ค่อนข้างไวรัล คือ Check your privileges คือเขาชวนให้กลับมาลองถามตัวเองดูว่าเราเองได้อภิสิทธิ์อะไรไหม หรือถูกกดทับด้วยพรีวิลเลจอะไรบ้าง และตัวเรามองว่าอภิสิทธิ์เหล่านี้มีอยู่ตรงไหนบ้าง อันนี้อาจจะช่วยเสริมให้เราตระหนักและเท่าทันกับมันมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ทำให้พรีวิลเลจเหล่านั้นมันเข้มแข็ง

 

นอกจากนี้ที่อ.น้ำพูดถึงเรื่องการขยายกรอบของความงามให้มากขึ้น ซึ่งเราได้เห็นการเคลื่อนไหวนี้ในปัจจุบันมากขึ้น เราเห็นการให้คุณค่ากับสีผิวที่แตกต่าง รูปร่างที่แตกต่าง เรามองความต่างของความงามเป็นเรื่องที่หลากหลาย เรามีคำพูดว่า “ความหลากหลายคือความงดงาม” ของมนุษย์

 

 

ในกรณีของการตัดสินโทษในทางคดี หน้าตามีผลหรือไม่


 

คุณนัส

จากงานวิจัยมีครับ และมีค่อนข้างชัดเจน ส่วนใหญ่คนที่หน้าตาดีมักจะได้รับโทษน้อยกว่า ซึ่งความจริงก็ไม่น่าแปลกใจเพราะการตัดสินโทษในศาล หลาย ๆ ครั้งหลักฐานมันไม่ชัดเจน และโทษของมนุษย์มันไม่มีคะแนนเป็น 1 2 3 คะแนนว่ามันผิดระดับไหน แล้วก็กฎหมายมันต้องใช้การตีความค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจะสังเกตว่ามันมีจุดที่มีการประเมินในใจเยอะมาก และมีความไม่ชัดเจนเยอะมาก ยิ่งความไม่ชัดเจนมากขึ้นเท่าไรอคติยิ่งมีผลมากขึ้นเท่านั้น แล้วสิ่งที่มันส่งผลมากที่สุดก็คือใบหน้า เมื่อศาลเห็นใบหน้าของคนหน้าตาดีที่น่าสงสาร กับคนหน้าตาไม่ดีที่น่าสงสาร ก็ส่งผลต่างกัน คนที่หน้าตาดีก็ดูมีความบริสุทธิ์มากขึ้นไปด้วย แต่นี่ก็คือเป็นแนวโน้มในภาพรวม ๆ มากกว่า งานวิจัยไม่ได้บอกว่าทุกคดีต้องเป็นอย่างนั้น

 

ส่วนในเรื่องคดีฉ้อโกง มันขึ้นอยู่กับบริบทมากกว่าว่าเกิดการตีความ อันนี้ก็คือเป็นอคติ ว่าคนทั่วไปมองอย่างไร มองว่ามีการใช้หน้าตาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงหรือเปล่า ถ้ามีการใช้หน้าตาเมื่อไร คนที่พิจารณาคดีเขาก็มีการเรียนเกี่ยวกับเรื่องอคติมาบ้างว่าคนนี้อาจจะใช้หน้าตามาเป็นเครื่องมือในการหลอกล่อ เช่น การล่อลวงเพื่อให้เกิดการให้เงินโดยเสน่หา ศาลก็อาจจะพิจารณาว่าคนนี้น่าจะมีโอกาสในการหลอกลวงมากกว่า เทียบกับคนที่หน้าตาธรรมดาที่ไปหลอกให้เงินโดยเสน่หา คือจะถูกมองว่าแล้วจะใช้อะไรไปหลอก และในการพิจารณาคดีหลาย ๆ ครั้ง โทษหนักหรือไม่หนักดูกันที่เจตนา แต่เจตนาเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ดังนั้นการหน้าตาดีก็ทำให้ศาลมองเห็นชัดเจนว่ามีเจตนาเอาหน้าตาตัวเองไปหลอกล่อมากกว่าคนที่หน้าตาธรรมดา ดังนั้นก็ถือว่าเป็นผลลบกับคนหน้าตาดีอยู่บ้างใบบางคดี ไม่ใช่ทุกคดี

 

อย่างคดีข่มขืน คือมันแล้วแต่สังคมด้วย บางสังคม พอคนร้ายหน้าตาดี เหยื่อที่ถูกข่มขืนก็โดนมองว่าสมยอมหรือเปล่า ยอมนอนกับเขาแล้วมาอ้างว่าถูกข่มขืนทีหลังหรือเปล่า ก็จะมีอะไรแบบนี้ ขณะที่ถ้าคนร้ายหน้าตาไม่ดี ลักษณะคล้ายโจร คนก็จะมองว่าอย่างนี้เป็นการข่มขืนแน่ ๆ เลย ไม่มีทางที่ใครจะยอมนอนด้วย ดังนั้นเรื่องพวกนี้มันขึ้นอยู่กับรายละเอียด ก็ต้องดูเป็นเคสไป แต่โดยภาพรวมหน้าตาดีก็มีผล และเป็นผลดี แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคดีเสียทีเดียว

 

อ.น้ำ

งานที่พวกเราชอบอ่านคืองานฝั่ง western หรืองานฝั่งอเมริกัน ซึ่งเขาใช้ระบบ civil law และมันจะมีระบบลูกขุนด้วย ขณะของเราเป็น common law ที่เป็นการตัดสินโดยคณะผู้พิพากษาเท่านั้น และการตัดสินต้องเป็นไปตามตัวอักษรที่บัญญัติในกฎหมาย ประเด็นนี้ก็น่าสนใจว่าจะมีความแตกต่างกันไหม

 

อ.สาม

เรื่องความยุติธรรม มองมาที่นอกศาล บางทีเราจะเห็นกรณีที่มีกลุ่มแฟนคลับกับผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาที่หน้าตาดี หรือมีคาแรกเตอร์ที่น่าดึงดูดใจ ก็เกิดปรากฏการณ์ที่น่าตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีการชื่นชมหรือให้กำลังใจคนที่กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบความผิดหรือบางทีชัดเจนแล้วว่าผิด ขณะเดียวกันในเคสเดียวกันเลยแต่หน้าตาไม่ดีเท่าไม่มีคาแรกเตอร์ที่น่าดึงดูดเท่า ไม่มีใครเข้าไปให้กำลังใจหรือแฟนคลับแบบนั้น

 

และขยายความจากของพี่นัส มีงานวิจัยในต่างประเทศพบจริง ๆ ว่า ในกระบวนการตัดสิน เรื่องของหน้าตามีผล และมีการศึกษาว่าเพิ่มว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะลดอิทธิพลของหน้าตา เขาบอกว่าให้ใช้เวลาตัดสินที่นานขึ้น อย่างที่เราคุยกันไปว่าหน้าตานั้นใช้เป็นใบเบิกทาง แต่ว่าความคุ้นชินจะทำให้ความสวยความงามที่เคยมีอิทธิพลนั้นมันลดลง ก็เลยเป็นข้อเสนอว่า ในการพิจารณาแบบที่ไม่ได้ตัดสินไปตามตัวอักษร หากใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้นานขึ้น หรือหลายครั้งขึ้น ก็จะช่วยให้มีความแม่นยำมากขึ้นและลดอิทธิพลของหน้าตา

 

 

ฝากทิ้งท้าย


 

คุณนัส

ถ้าจะถามว่าโลกนี้มีความยุติธรรมหรือไม่ แค่ดูหน้าตาก็เห็นแล้วว่าคนเราเกิดมาหน้าตาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเป็นธรรมชาติของโลกที่คนเราเกิดมาต้นทุนไม่เท่ากัน มีความแตกต่างกัน ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกน้อยใจถ้าเราเกิดมาไม่ดีเท่าคนอื่น ๆ แต่หน้าตาไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และหน้าตาไม่ใช่สิ่งที่จะบอกความสำเร็จ หน้าตาดีทำให้มีคนมาชอบมารักเยอะจริง แต่หน้าตาดีไม่ได้ทำให้มีความรักที่ประสบความสำเร็จ และเราคงเคยเห็นดารานักร้องหลายคนที่ทั้งหน้าตาดีและมีความสามารถ แต่กลับฆ่าตัวตาย เรามองว่าชีวิตเขาดูเพอร์เฟก อะไรก็ดี แต่ทำไมเขาไม่มีความสุข ดังนั้นหน้าตากับความสุขมันคนละเรื่องกัน ให้ตระหนักไว้ให้เราไม่ไปอคติเวลาที่จะประเมินใคร ส่วนสังคมจะมาประเมินเรายังไงเราไปบังคับเขาไม่ได้ ก็ยอมรับมันไป

 

แต่ในเรื่องความสวยงาม อย่างที่อ.น้ำ อ.สามบอก โลกเราสวยงามเพราะมีความแตกต่าง มีคนหน้าตาดีได้เพราะมีคนหน้าตาธรรมดาให้เปรียบเทียบ ทุกอย่างก็มีประโยชน์ของมัน และมีความสวยงามของมันเองเหมือนกัน คุณค่ามันมีอยู่ในความแตกต่าง แต่ว่าจะมีคุณค่าในด้านไหนก็ขึ้นอยู่ที่คนจะมอง สังคมมันมีความไม่ยุติธรรมแต่เราต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้ คนหน้าตาดีที่อยู่ไม่รอดก็มีอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปอิจฉาเขา เพราะมันมีปัจจัยอื่นอีกเยอะแยะที่ทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จ

 

อ.น้ำ

สิ่งที่เราจะทำได้นอกจากการยอมรับว่ามีเรื่องนี้อยู่ นอกจากการตระหนักเพื่อลดอคติและการเลือกปฏิบัติ คือในเมื่อเรามองว่าความหน้าตาดีเป็นเซตอย่างหนึ่ง เราก็ขยายเซตนั้น ทั้งกับตัวเองและกับการรับรู้ของสังคม เพื่อให้มีคนอยู่ในกลุ่มนี้มากขึ้น ความงามหลาย ๆ แบบก็ถูกเลือกเข้าไปอยู่ในกลุ่มมากขึ้น

 

ถ้าคุณบอกว่าคนที่มี Beauty Privileges เขาจะมีความสุข มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่อย่างที่บอกไปว่าคีย์สำคัญมันอยู่ตรงกลาง คือ ความมั่นใจ ดังนั้นพ่อแม่มีสิทธิ์ให้ตรงนี้ได้ตั้งแต่ในครอบครัว คุณครูที่โรงเรียน เพื่อนและสังคมที่เราอยู่ ซึ่งเราเลือกคบได้ การเลือกเสพสื่อก็เช่นกัน มีงานที่พบว่า คนที่ชอบตัวเอง เวลาเล่นโซเชียลก็จะเลือกแต่เนื้อหาที่เพิ่มความรู้สึกดีให้กับตัวเอง และอัลกอริทึ่มของแพลตฟอร์มนั้นก็จะเลือกเนื้อหาเชิงบวกให้กับเราด้วย

 

หากทำได้เช่นนี้ Body positivity ก็เกิดขึ้น มีกรอบความงามกว้างขึ้น หลายคนก็มีสิทธิที่จะได้รับความมั่นใจและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ มีความสุข เช่นกัน

 

คุณนัส

แน่นอนว่าหน้าตาดีที่เป็นมาตรฐานสากลมันมีอยู่จริง แต่รสนิยมของคนมันมีความแตกต่างกันไป แต่ละคนมีความชอบส่วนตัว บางคนก็ชอบคนที่ตาโตกว่าปกติ ผู้หญิงบางคนชอบผู้ชายตัวเล็ก ๆ บางประเทศก็มีรสนิยมที่ต่างกันไป เช่น บางประเทศไม่ชอบคนผอม บางประเทศไม่ชอบผู้หญิงขาว อย่างคนไทยชอบผู้หญิงขาว แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นชอบเอาตัวไปอบแดด ดังนั้น ถ้าเราไม่สวยหรือหน้าตาไม่ดีในประเทศนี้ อาจจะหน้าตาดีในประเทศอื่น หรืออย่างน้อยเราก็จะหน้าตาดีในสายตาใครสักคนหนึ่ง ในโลกนี้มีเป็นพันล้านคน ต้องมีคนที่มองว่าเราหน้าตาดี ดังนั้นอย่าคิดว่าตัวเองไม่ดีเอาเสียเลย มันจะมีคนที่มองว่าเราหน้าตาดีในแบบของเรา

 

อ.สาม

สรุปได้ว่าความงามมีไม่จำกัด ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน แต่ละบริบทมันไม่ได้มีขีดจำกัดของความงาม แต่บางครั้งมุมมองของเราที่เรามอง อาจจะไปจำกัดว่าความงามมันมีแค่นี้ ดังนั้นคีย์สำคัญคือการขยายมุมมองของทั้งตัวเราเองและสังคมว่าความงามมีความหลากหลายและแตกต่าง ดอกไม้ยังมีหลายแบบหลายสี ทุกดอกก็สวยในแบบของมัน ถ้าเรามองตรงนั้นได้ Privileges ที่เราปฏิบัติต่อกันอาจจะเบาบางลง เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องความลำเอียง แต่เราเลือกที่จะปฏิบัติและเคารพกันและกันได้