Style of Humor – รูปแบบของอารมณ์ขัน

09 Sep 2021

คำศัพท์จิตวิทยา

 

รูปแบบของอารมณ์ขันคือลักษณะนิสัยที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล
โดยแบ่งรูปแบบของอารมณ์ขันเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ อารมณ์ขันทางบวก และอารมณ์ขันทางลบ

 

 

 

อารมณ์ขันทางบวก (Adaptive Humor Style)


 

เป็นอารมณ์ขันที่แสดงอออกถึงการยอมรับตนเอง สนุกสนาน ผ่อนคลาย มีความสุข ประกอบด้วย

 

1. อารมณ์ขันแบบเป็นกันเอง (Affiliative Humor)

 

คือ การพูดถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างตลกขบขันได้อย่างต่อเนื่อง หรือแสดงพฤติกรรมเพื่อสร้างความสุข และความสนุกสนานให้กับผู้อื่นรอบข้าง เป็นการสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพื่อลดความตึงเครียดทั้งของผู้อื่นและตนเอง โดยเรื่องที่ตลกนั้นไม่มีความรุนแรง หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น อาจนำตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องตลก แต่มีกระบวนการในการยอมรับตนอง ไม่มองตนเองด้อยค่าลง เป็นอารมณ์ขันแบบอบอุ่น เป็นการเล่นตลกแบบล้อเล่นที่ไม่รุนแรงกับบุคคลอื่น ยังอยู่ในความเคารพในตัวบุคคลที่ล้อเล่นด้วย การแบ่งปันความสนุกสนานในเชิงบวกนี้ ส่งผลให้เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคม เพิ่มขวัญกำลังใจ และลดปัญหาความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างบุคคล

 

อารมณ์ขันแบบเป็นกันเองสัมพันธ์กับบุคลิกชอบเข้าสังคม (Extraversion) ความรื่นเริง การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ความใกล้ชิดผูกพัน ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ความรู้สึกและอารมณ์ทางบวก

 

2. อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเอง (Self-enhancing Humor)

 

คือ การมองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองในชีวิตประจำวันด้วยอารมณ์ขัน เพื่อลดความเครียดและพร้อมเผชิญหน้ากับผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีประโยชน์ในการเป็นกลไกป้องกันปัญหาทางอารมณ์ ทำให้สุขภาพจิตดี โดยหลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบได้โดยการมองเรื่องราวต่าง ๆ ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นความสามารถในการใช้อารมณ์ขันบนมุมมองแห่งความเป็นจริง เมื่อเผชิญปัญหาที่มีความเครียด บุคคลจะใช้อารมณ์ขันเพื่อรักษาความรู้สึกทางบวกในตนเองแม้พบกับความทุกข์และความเครียดก็ตาม การควบคุมอารมณ์จะช่วยยืดหยุ่นวิธีการเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการรับรู้เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ด้วยความท้าทายทางบวกมากกว่ามองว่าเป็นภัยคุกคาม

 

อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเองสัมพันธ์ทางลบกับความรู้สึกทางลบ เช่น อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล และสัมพันธ์ทางบวกกับการเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience) การเห็นคุณค่าในตนเอง และสุขภาวะทางจิตที่ดี (Psychological well-being)

 

 

อารมณ์ขันทางลบ (Maladaptive Humor Style)


 

เป็นอารมณ์ขันที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรืออับอาย ประกอบด้วย

 

1. อารมณ์ขันแบบก้าวร้าว (Aggressive Humor)

 

คือ การใช้อารมณ์ขันในการกระทบ ปะชดประชัน เยาะเย้ย หัวเราะเยาะผู้อื่น เป็นการใช้อารมณ์เพื่อทำร้ายบุคคลอื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การนำจุดด้อยของบุคคลอื่นมาเป็นเรื่องตลก หรือเป็นการระบายอารมณ์ออกมาเป็นอารมณ์ขันโดยมิได้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น นำความไม่สบายใจมาสู่ผู้ที่อยู่รอบข้าง บุคคลที่มีอารมณ์ขันแบบก้าวร้าวมีแนวโน้มไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น และใช้อารมณ์ขันโดยการนำผู้อื่นมาเกี่ยวข้อง การล่วงละเมิดและดูถูกผู้อื่นผ่านทางอารมณ์ขันแบบนี้จะบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนกระทั่งถึงความสัมพันธ์ระดับสังคม

 

อารมณ์ขันแบบก้าวร้าวสัมพันธ์ทางบวกกับความไม่เสถียรทางอารมณ์ (Neuroticism) การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น (Hostility) ความก้าวร้าว (Aggression) ความโกรธ และสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจ ความยินยอมเห็นใจ (Agreeableness) และ ความพิถีพิถัน (Conscientiousness)

 

2. อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตัวเอง (Self-defeating Humor)

 

คือ การใช้อารมณ์ขันในการพูดสบประมาทตนเองในทางลบ พยายามสร้างความสนุกสนานให้กับผู้อื่นโดยใช้เรื่องของตนเองและมีส่วนร่วมกับคนอื่น ๆ โดยการพูดจาเสียดสี เยาะเย้ยตัวเอง การใช้อารมณ์ขันนี้เป็นกลไกการปรับตัวในเชิงหลีกหนีอย่างหนึ่ง หรือการซ่อนอารมณ์และความรู้สึกทางลบ พยายามแสดงพฤติกรรมตลกขบขันเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหา ผู้ที่มีอารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเองมีแนวโน้มเป็นเป้าหมายของเรื่องตลกและหัวเราะตามเมื่อตนเองถูกคนอื่นเยาะเย้ย อารมณ์ชันแบบนี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกตนเองจากสังคม ลดโอกาสในการเข้าสังคมและการได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ ลดคุณค่าและความหมายของตนเอง รวมถึงลดความยืดหยุ่นในการจัดการปัญหาในชีวิต

 

อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเองสัมพันธ์ทางบวกกับความไม่เสถียรทางอารมณ์ ความรู้สึกทางลบ เช่น อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล และสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ การเห็นคุณค่าในตนเอง และสุขภาวะทางจิตที่ดี

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 

ภาพจาก https://www.freepik.com/

Share this content