ภาวะผู้นำร่วมจำเป็นอย่างไรในช่วงวิกฤติโควิด 19

17 Jun 2021

ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันเป็นวิกฤติทางสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการทำงานทั่วโลกที่เกิดขึ้นอย่างคาดการณ์ได้ยาก แม้ว่าในช่วงก่อน หลาย ๆ บริษัทต่างเริ่มเปิดทำการและอนุญาตให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศได้ แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นก็ส่งผลให้ที่ทำงานส่วนใหญ่ปรับกลับไปใช้นโยบายทำงานจากที่บ้านอย่างเต็มรูปโดยที่ไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะเริ่มกลับไปพบปะกันในที่ทำงานตามปกติได้เมื่อใด

 

การติดต่อประสานงานกันผ่านออนไลน์จึงเป็นช่องทางที่ช่วยให้องค์การหลายแห่งสามารถทำงานได้ตามปกติและยังคงรักษาความสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือลูกค้าต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนเช่นนี้การแก้ไขปัญหาอาจต้องอาศัยการระดมสมอง การแบ่งปันความคิดเห็น และการแลกเปลี่ยนมุมมอง มากกว่าการรอคำสั่งหรือการตัดสินใจจากผู้บริหารเบื้องบน เพื่อให้สนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างทันถ่วงที

 

ภาวะผู้นำร่วม เป็นกระบวนการที่สมาชิกแต่ละคนต่างมีอิทธิพลต่อกันละกัน โดยอาจจะผลัดกันนำทีมเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวสมาชิกในทีมอาจร่วมกันตัดสินใจและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ยิ่งมีแรงจูงใจในการทำงานและร่วมกันรับผิดชอบผลลัพธ์ต่าง ๆ ร่วมกัน

เหตุผลที่ภาวะผู้นำร่วมเป็นกลยุทธ์ที่จะนำพาองค์การให้สามารถปรับตัวในวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเพราะ ภาวะผู้นำร่วมส่งเสริมกระบวนการทำงานเป็นทีม 2 ด้าน ทั้งด้านกระบวนการคิด (เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และคุณภาพการสื่อสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขององค์การต่าง ๆ) และ ด้านอารมณ์ (เช่น ความไว้วางใจระหว่างกัน ความกลมเกลียว และสุขภาวะที่ดีในการทำงาน)

 

ในลำดับแรก หากพูดถึงผลลัพธ์ที่ดีของภาวะผู้นำร่วมในแง่การเกิดกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นฉับพลัน หลาย ๆ ธุรกิจต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์เต็มรูป ส่งผลให้รูปแบบการสื่อสารและติดต่อประสานงานต่าง ๆ ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ การอาศัยการตัดสินใจจากผู้บริหารหรือหัวหน้าเป็นหลักเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหา หรือสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที การแบ่งบันภาวะผู้นำให้ใคร ๆ ในทีมทำงานก็สามารถนำทิศทาง หรือมีส่วนในการริเริ่มแผนปฏิบัติการต่าง ๆ จะส่งผลให้มีคุณภาพการสื่อสารระหว่างบุคคลที่ดี มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญ ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่นวัตกรรม แนวคิด และแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มากกว่าการทำงานงานแบบวิถีเดิมที่สมาชิกในกลุ่มทำงานเพียงแค่รอคำสั่งจากหัวหน้างานเท่านั้น

 

ส่วนผลลัพธ์ที่ดีในด้านอารมณ์นั้น การร่วมกันรับผิดชอบงานต่าง ๆ และการที่สมาชิกในทีมต่างมีความเชื่อมั่นว่าคนในทีมสามารถผลัดกันขึ้นมานำทีมตามทักษะ หรือความถนัดตามแต่ละสถานการณ์ ก็ยิ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เกิดความไว้วางใจระหว่างบุคคลภายในทีม บรรยายกาศการทำงานทางบวกก็จะยิ่งส่งผลให้สมาชิกในทีมมีสุขภาวะทางจิตที่ดี มีพลังฟื้นคืนจากความเครียด หรือความล้มเหลวต่าง ๆ ทำให้สมาชิกในทีมพร้อมที่จะผูกใจมั่น ทุ่มเททำงานให้ดียิ่งขึ้น

 

ผลลัพธ์ทางบวกของภาวะผู้นำร่วมทั้งด้านกระบวนการคิดและอารมณ์ ต่างทำให้บรรยากาศในการทำงานน่าอยู่ รื่นรมย์ เป็นที่ทำงานที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเติบโตในด้านการทำงาน และการร่วมใจกันบรรลุเป้าหมายของทีมหรือองค์การร่วมกัน

 

จากสำรวจการทำงานของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานไทยในองค์การด้านการบริการ จำนวน 219 คน ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ พบว่า พนักงานที่รับรู้ว่าทีมทำงานของตนมีภาวะผู้นำร่วม (เช่น มีการตัดสินใจร่วมกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันภายในทีม ร่วมกันสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกัน) จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกในทีม มีคุณภาพการสื่อสารระหว่างกันที่ดี และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทีมทำงานที่ต้องทำงานในรูปแบบออนไลน์ ภาวะผู้นำร่วมยิ่งมีความสำคัญ

 

ในยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารคงต้องปรับบทบาทเช่นกัน การนำแนวคิดภาวะผู้นำร่วมไปใช้ในองค์การนั้น ผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ยังมีบทบาทในการบริหาร ประสาน และคอยให้การสนับสนุนอยู่ตามปกติ เพียงแต่ปรับบทบาทจากเดิมที่อาจคอยสั่งงาน ตัดสินใจในทุก ๆ เรื่องส่วนใหญ่แทนพนักงาน ไปเป็นคนที่คอยสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกในทีมสามารถบริหารงานได้ด้วยตนเอง ร่วมกันรับผิดชอบผลลัพธ์ในการทำงานต่าง ๆ และริเริ่มแนวทางการทำงานใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับเป้าหมายองค์การที่นับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนและต้องอาศัยการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

 

ภาวะผู้นำร่วมจึงกลายเป็นแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับหลาย ๆ องค์การที่เน้นการสร้างนวัตกรรมและการปรับตัวให้ทันยุคสมัย

 

 

 

ภาพประกอบจาก : https://www.vectorstock.com

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Share this content