บุคลิกภาพและผลงานในการแข่งขันกีฬา

25 Dec 2021

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

การประสบความสำเร็จของนักกีฬา/ผลงานในการแข่งขันกีฬาอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยมากมาย เช่น ความแข็งแกร่งของร่างกาย ความแข็งแกร่งของจิตใจ ทักษะ ความสามารถ หรือแม้แต่โชคชะตา โดย “บุคลิกภาพ” (personality) ของนักกีฬาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราอาจสงสัยกันว่า สิ่งนี้จะส่งผลต่อผลงานในการแข่งขันกีฬาหรือไม่ ที่ผ่านมา นักจิตวิทยามีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของบุคลิกภาพที่มีต่อผลงานในการแข่งขันกีฬา (Crocker et al., 2015) นักจิตวิทยาบางกลุ่มมีความเห็นว่า โปรไฟล์บุคลิกภาพที่ “ถูกต้อง” กับการแข่งขันกีฬามีอยู่จริง และเราสามารถใช้การประเมินบุคลิกภาพสำหรับการคัดเลือกนักกีฬาได้ ส่วนนักจิตวิทยาบางกลุ่มมีความเห็นว่า บุคลิกภาพมีประโยชน์น้อยในการคัดเลือกและการพัฒนานักกีฬาและไม่สามารถทำนายการประสบความสำเร็จของนักกีฬาได้

 

ทฤษฎีบุคลิกภาพที่นักจิตวิทยาใช้กันค่อนข้างมากในการวิจัย คือ ทฤษฎีบุคลิกภาพ 5 ด้าน (Big Five) ที่ถือว่าสะท้อนความแตกต่างระหว่างบุคคลในมิติต่าง ๆ อย่างครอบคลุมมากที่สุด

 

บุคลิกภาพ 5 ด้าน ประกอบไปด้วย (McCrae & Costa, 1997)

 

(i) บุคลิกภาพแบบวิตกจริต (neuroticism) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความวิตกกังวลและความเปราะบาง (ทางจิตใจ)

(ii) บุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเอง (extraversion) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความอบอุ่นและบุคลิกลักษณะอารมณ์ทางบวก

(iii) บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) ที่มีลักษณะย่อย เช่น การจินตนาการและการเปิดรับคุณค่า

(iv) บุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอม (agreeableness) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจและความอ่อนโยน และ

(v) บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบ (conscientiousness) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความมีระเบียบวินัยในตัวเอง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลในหลากหลายประเทศ สังคม และวัฒนธรรม โดยส่วนใหญ่ สามารถถูกอธิบายได้ด้วยบุคลิกภาพ 5 ด้านนี้

 

นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและ “ผลงาน” ในการแข่งขันกีฬา ยกตัวอย่างเช่น Kruger และคณะ (2019) เก็บข้อมูลบุคลิกภาพ 5 ด้าน (Big Five) กับนักกีฬารักบี้ที่แข่งขันในระดับอาชีพ (professional) และที่แข่งขันในระดับกึ่งอาชีพ (semi-professional) โดยถือว่า นักกีฬาอาชีพมีผลงานอยู่ในระดับที่สูงกว่านักกีฬากึ่งอาชีพ บุคลิกภาพด้านที่นักกีฬา 2 กลุ่ม มีระดับแตกต่างกัน คือ บุคลิกภาพแบบวิตกจริต (neuroticism) ซึ่งนักกีฬาอาชีพมีระดับบุคลิกภาพแบบวิตกจริต น้อยกว่า นักกีฬากึ่งอาชีพ นอกจากนั้น Steca และคณะ (2018) ศึกษาความแตกต่างของบุคลิกภาพ 5 ด้าน ระหว่างนักกีฬาที่แข่งขันในระดับภูมิภาค (ในประเทศ [regional]) และนักกีฬาที่แข่งขันในระดับชาติ (national) ซึ่งนักกีฬากลุ่มแรกมีระดับบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน้อยกว่าและมีระดับบุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบและแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอมมากกว่านักกีฬากลุ่มหลัง Steca และคณะ ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า บุคลิกภาพแบบวิตกจริต น้อย น่าจะช่วยให้นักกีฬาจัดการความเครียดได้ดี บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบมากน่าจะช่วยให้นักกีฬาอดทนต่อการฝึกซ้อมระยะยาวได้ และบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอมน่าจะช่วยให้นักกีฬาเข้าถึงการช่วยเหลือหรือการสนับสนุนทางสังคมเมื่อต้องการได้

 

การศึกษาบทบาทของบุคลิกภาพที่มีต่อผลงานในการแข่งขันกีฬาเริ่มให้ความสนใจกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (e-sport) จากการเก็บข้อมูลกับผู้เล่น League of Legends Matuszewski และคณะ (2020) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้เล่นระดับ “ล่าง” (lower division ซึ่งได้แก่ Bronze Silver และ Gold) และผู้เล่นระดับ “บน” (higher division ซึ่งได้แก่ Platinum Diamond และ Master) ผู้เล่นระดับบนมีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเอง (extraversion) น้อยกว่า มีบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอม (agreeableness) น้อยกว่า และมีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) มากกว่าผู้เล่นระดับล่าง ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า ผู้เล่นที่มีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์มากมักจะยืดหยุ่นและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจสามารถปรับตัวเข้ากับกลไกและบริบทของเกมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ได้ดี

 

ข้อสังเกตประการหนึ่งจากตัวอย่างงานวิจัยทางจิตวิทยาข้างต้น คือ รูปแบบบุคลิกภาพที่นำไปสู่ผลงานที่เป็นเลิศในการแข่งขันกีฬา ทุกประเภท อาจไม่มีอยู่ สังเกตว่า งานวิจัยข้างต้นให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้านที่ส่งผลดีและส่งผลเสียต่อผลงานในการแข่งขัน ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นข้อจำกัดของการใช้บุคลิกภาพในการพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมของผลการวิจัยแล้ว บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบและบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน่าจะ “มีความสัมพันธ์” กับผลงานในการแข่งขันกีฬา ซึ่งคำอธิบายที่ดูจะสมเหตุสมผล คือ บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบจะสะท้อนความมานะอุตสาหะ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของบุคคลในการพัฒนาตัวเอง และ ความมั่นคงทางอารมณ์ (ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของบุคลิกภาพแบบวิตกจริต) จะสะท้อนความสามารถในการจัดการความเครียด/ปัญหา ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของบุคคลเมื่อต้องก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ และบุคลิกภาพอาจมีบทบาทต่อ “การยืนระยะ” หรือการประสบความสำเร็จระยะยาว เช่น การพัฒนาตัวเองเข้าสู่การแข่งขันในระดับสูงหรือการประสบความสำเร็จเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขัน มากกว่าการประสบความสำเร็จระยะสั้น เช่น การชนะเลิศในการแข่งขัน (tournament) หนึ่ง ๆ

 

บุคลิกภาพอาจมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการจัดการความเครียด (coping) ที่แตกต่างกันของนักกีฬา และรูปแบบการจัดการความเครียดที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ความแตกต่างของผลงานในการแข่งขัน Allen และคณะ (2011) ให้นักกีฬาตอบคำถามในเครื่องมือวัดทางจิตวิทยาที่ประเมินบุคลิกภาพ 5 ด้าน และการจัดการความเครียด (3 ด้าน คือ การมุ่งจัดการปัญหา [problem-focused] การมุ่งจัดการอารมณ์ [emotion-focused] และการหลีกหนีปัญหา [avoidance]) เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการจัดการความเครียด Allen และคณะ พบว่า บุคลิกภาพ 5 ด้าน มีอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ในการทำนายการจัดการความเครียดของนักกีฬา กล่าวคือ นักกีฬาที่มีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์สูง มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเองสูง และมีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตต่ำ มักจะมุ่งจัดการปัญหา ส่วนนักกีฬาที่มีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์สูง มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเองสูง และมีบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอมสูง มักจะมุ่งจัดการอารมณ์ และสุดท้าย บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์มีความสัมพันธ์ทางลบกับการหลีกหนีปัญหา ส่วนบุคลิกภาพแบบวิตกจริตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการหลีกหนีปัญหา จากผลการวิจัยนี้ เราจะเห็นบทบาทที่ค่อนข้างชัดเจนของบุคลิกภาพแบบวิตกจริต ซึ่งน่าจะขัดขวางการพัฒนาตัวเองของนักกีฬา บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตสูงมีแนวโน้มที่จะ ไม่ใช้ การมุ่งจัดการปัญหา (ซึ่งการมุ่งจัดการปัญหามักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีในการจัดการความเครียด) และมักจะหลีกหนีปัญหา (ซึ่งการหลีกหนีปัญหามักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีในการจัดการความเครียด)

 

นอกจากรูปแบบการจัดการความเครียด นักจิตวิทยาได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและ ประสบการณ์ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬา เพื่อที่จะเข้าใจอิทธิพลของบุคลิกภาพที่มีต่อผลงานในการแข่งขันกีฬามากขึ้น “ประสบการณ์ต่าง ๆ” เช่น คุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อม (quality of training behavior) โดยมองว่า บุคลิกภาพของนักกีฬาน่าจะส่งผลต่อผลงานในการแข่งขันผ่านคุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อม จากงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพของนักกีฬา กลยุทธ์การเพิ่มพูนผลงาน (performance strategy) และคุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อม โดยที่คุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อมแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การถูกรบกวนได้ง่าย (distractibility) การจัดการอุปสรรค/ความเหนื่อยยาก (coping with adversity) และคุณภาพของการเตรียมตัวแข่งขัน (quality of preparation [Woodman et al., 2010]) ผลการวิจัยโดยภาพรวม คือ บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบ (และการตั้งเป้าหมาย) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพของการเตรียมตัวแข่งขัน และบุคลิกภาพแบบวิตกจริตมีความสัมพันธ์ทางลบกับการจัดการอุปสรรค/ความเหนื่อยยาก

 

ประเด็นสำคัญของการแปลความหมายงานวิจัยทางจิตวิทยาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและผลงานในการแข่งขันกีฬา คือ เราอาจไม่สามารถบอกความสัมพันธ์เชิงสาเหตุได้ (ว่าบุคลิกภาพเป็นสาเหตุของผลงานในการแข่งขัน หรือผลงานในการแข่งขัน [และประสบการณ์การแข่งขัน] เป็นสาเหตุของบุคลิกภาพ [ที่เปลี่ยนแปลงไป]) การแปลความหมายที่เป็นไปได้ เช่น ประสบการณ์การแข่งขันในระดับอาชีพอาจทำให้นักกีฬามีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตลดลง ส่วนนักกีฬาที่บุคลิกภาพแบบวิตกจริต ไม่ได้ ลดลง อาจ “หลุด” ออกจากทีมและไม่สามารถยืนระยะให้อยู่บนการแข่งขันในระดับอาชีพได้ ซึ่งเราอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่า self-selection (สังเกตว่า ประสบการณ์การแข่งขันในระดับอาชีพ คือ สาเหตุ และการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพแบบวิตกจริต คือ ผลลัพธ์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ประสบการณ์หล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคล) หรือ นักกีฬาที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน้อยอาจประสบความสำเร็จมากกว่านักกีฬาที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตมาก ซึ่งทำให้นักกีฬาที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน้อยสามารถแข่งขันในระดับที่สูงกว่าได้ (สังเกตว่า บุคลิกภาพแบบวิตกจริต คือ สาเหตุ และการประสบความสำเร็จในการแข่งขัน คือ ผลลัพธ์)

 

ถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถระบุความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างบุคลิกภาพและผลงานในการแข่งขันได้อย่างชัดเจน และเราอาจไม่มีโปรไฟล์บุคลิกภาพที่ “ดี” หรือ “ไม่ดี” อย่างเป็นสากล แต่ถ้าเราจำกัดขอบเขตบริบทของการใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของนักกีฬา เช่น จำกัดอยู่ในกีฬาประเภทหนึ่ง ๆ หรืออยู่ในการแข่งขันในระดับหนึ่ง ๆ การใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของนักกีฬาอาจมีประโยชน์มากขึ้น ในวงการกีฬาอาชีพ เช่น NHL (National Hockey League) นักจิตวิทยาพบว่า บุคลิกภาพและลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ เช่น ความชอบการแข่งขัน (competitiveness) บุคลิกลักษณะแบบชอบคิดวิเคราะห์ (analytical disposition) ฯลฯ สามารถทำนายจำนวนการทำประตูและจำนวนการช่วยให้เพื่อนร่วมทีมทำประตู (assist) ในอีก 15 ปีต่อมา ได้ (มากกว่าปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความแข็งแกร่งของร่างกาย) ยิ่งไปกว่านั้น บุคลิกภาพและลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ ยังสามารถทำนายจำนวนนาทีที่นักกีฬาถูกลงโทษ (penalty minute) เมื่อทำผิดกติกา ฯลฯ และสามารถทำนายจำนวนครั้งที่นักกีฬาย้ายทีมได้ (Gee et al., 2007) คุณสมบัติในการทำนายสถิติผลงานต่าง ๆ ที่อาจทำนายได้ดีกว่าสมรรถนะทางร่างกายทำให้ข้อมูลทางจิตวิทยาเริ่มมีความสำคัญในการคัดเลือกและการพัฒนานักกีฬามากขึ้น

 

 

เราอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า โปรไฟล์บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับการแข่งขันกีฬา โดยทั่วไป อาจไม่มีอยู่ แต่เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีและคำอธิบายที่เหมาะสมแล้ว บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบสูงน่าจะทำให้นักกีฬาอดทนฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนบุคลิกภาพแบบวิตกจริตต่ำน่าจะทำให้นักกีฬาสามารถควบคุมอารมณ์และจัดการความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ “บุคลิกภาพ” ของนักกีฬามักจะส่งผลต่อผลงานระยะยาวมากกว่าผลงานระยะสั้น อย่างไรก็ตาม บุคลิกภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง (ในหลาย ๆ ปัจจัย) ที่ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จของนักกีฬา (Crocker และคณะ [2015] ให้ความเห็นว่า บุคลิกภาพน่าจะมีอิทธิพลประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้น) และนอกจากบุคลิกภาพ 5 ด้านแล้ว ยังมีบุคลิกภาพรูปแบบอื่น ๆ (เช่น บุคลิกภาพ 6 ด้าน [Ashton et al., 2004] หรือบุคลิกภาพจากเครื่องมือวัด Minnesota Multiphasic Personality Inventory [Butcher & Williams, 2009]) ที่นักจิตวิทยายังไม่ได้ศึกษาในบริบทการพัฒนานักกีฬาและการแข่งขันกีฬามากนัก

 


 

 

รายการอ้างอิง

Allen, M., Greenlees, I., & Jones, M. (2011). An investigation of the five-factor model of personality and coping behaviour in sport. Journal of Sport Sciences, 29, 841-850.

 

Allen, M., Greenlees, I., & Jones, M. (2013). Personality in sport: A comprehensive review. International Review of Sport and Exercise Psychology, 6, 184-208.

 

Ashton, M., Lee, K., Perugini, M., Szarota, P., Vries, R., Blas, L., Boies, K., & Raad, B. (2004). A six-factor structure of personality-descriptive adjectives: Solutions from psycholexical studies in seven languages. Journal of Personality and Social Psychology, 86, 356-366.

 

Butcher, J. N., & Williams, C. L. (2009). Personality assessment with the MMPI-2: Historical roots, international adaptations, and current challenges. Applied Psychology: Health and Well-being, 1, 105-135.

 

Crocker, P. R., Sedgwick, W. A., & Rhodes, R. E. (2015). Personality in sport and exercise. In P. R. E. Crocker (Ed.), Sport and exercise psychology: A Canadian perspective (pp. 28-51). Upper Saddle River: NJ: Pearson.

 

Gee, C. J., Dougan, R. A., Marshall, J. C., & Dunn, L. A. (2007). Using a normative personality profile to predict success in the National Hockey League (NHL): A 15-year longitudinal study. Journal of Sport and Exercise Psychology, 29, s164.

 

Kruger, A., Plooy, K., & Kruger, P. (2019). Personality profiling of South African rugby union players. Journal of Personality in Africa, 29, 383-387.

 

Matuszewski, P., Dobrowolski, P., & Zawadski, B. (2020). The association between personality traits and eSports performance. Frontiers in Psychology, 11, 1490.

 

McCrae, R. R., & Costa, P. T. (1997). Personality trait structure as a human universal. American Psychologist, 52, 509-516.

 

Steca, P., Baretta, D., Greco, A., D’Addario, M., & Monzani, D. (2018). Associations between personality, sports participation and athletic success: A comparison of Big Five in sporting and non-sporting adults. Personality and Individual Differences, 121, 176-183.

 

Woodman, T., Zourbanos, N., Hardy, L., Beattie, S., & McQuillan, A. (2010). Do performance strategies moderate the relationship between personality and training behaviors? An exploratory study. Journal of Applied Sport Psychology, 22, 183-197.

 

ภาพจาก https://www.freepik.com/

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Share this content