จิตวิทยาไม่ใช่การอ่านใจ

10 Oct 2023

รวิตา ระย้านิล

 

ช่วงก่อนหน้านี้ หนังสือบนชั้นในร้านหนังสือจำนวนมากที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวด “จิตวิทยา” มีชื่อเรื่องเกี่ยวกับการอ่านใจ (Mind reading) เพื่อระบุว่าใครเป็นอย่างไร ภายในการมองเพียงปราดเดียว หรือการฟังคำพูดเพียงไม่กี่คำ

 

เมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ ๆ บางเล่มเป็นหนังสือแปลที่ชื่อภาษาอังกฤษเป็นชื่ออื่น แต่เมื่อมาแปลงเป็นชื่อไทย ก็เติมคำว่า “อ่านใจ” “หยั่งรู้ใจคน” เอาไว้ข้างหน้า ประหนึ่งเพื่อใช้เป็นการดึงดูดความสนใจ และสื่อสารอย่างง่ายว่าฉันคือหนังสือจิตวิทยา

 

นั่นอาจสะท้อนมุมมองต่อความเข้าใจของคนในสังคมไทยว่าจิตวิทยาคืออะไร

 

แล้วจริง ๆ นักจิตวิทยาอ่านใจคนได้จริงหรือไม่?

 

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราลองมาดูนิยามของคำว่าจิตวิทยากันก่อนนะคะ

 

จิตวิทยา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ข้อความรู้หรือทฤษฎีต่าง ๆ ทางจิตวิทยาล้วนแล้วแต่ได้มาผ่านการศึกษาวิจัย สำรวจและทดลอง ด้วยวิธีการเดียวกันกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตั้งแต่การสังเกตปรากฏการณ์ ตั้งสมมติฐาน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ด้วยสถิติ ไปจนถึงการอภิปรายผลโดยไม่มองข้ามความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น และต้องระบุถึงข้อจำกัด ข้อยกเว้น และขอบเขตของการศึกษาว่าครอบคลุมถึงบริบทใด

 

ดังนั้นผู้ที่ศึกษาจิตวิทยาไปเรื่อย ๆ จะถูกฝึกให้มีทฤษฎีตั้งไว้ในใจ แต่ไม่ตัดสินอะไรด้วยข้อมูลผิวเผิน เช่น เอาการกระทำของคนไม่กี่คนเป็นตัวแทนประชากรทั้งหมด หรือใช้ข้อมูลที่ผ่านการตีความด้วยประสบการณ์และเจตคติส่วนตัวของบุคคล อันส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่มี bias หรือความลำเอียง

 

เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ยอมรับได้ นักจิตวิทยาต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดและวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง โดยตระหนักถึงข้อจำกัดที่มีและความเป็นไปได้อื่น ๆ

 

กระบวนการเหล่านี้ย่อมใช้เวลา ดังนั้นหากการอ่านใจหมายถึง การพบเห็นคนแปลกหน้าไม่เกิน 5 นาที แล้วตัดสินจากสีหน้า ท่าทาง บุคลิก คำพูด ในช่วง 5 นาทีนั้น แล้วระบุว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีนิสัยแบบไหน คิดอะไรอยู่ โกหกหรือไม่ การอ่านใจในความหมายนี้ไม่ใช่สิ่งที่นักจิตวิทยาทำได้

 

เช่นนั้นแล้วมีอะไรที่นักจิตวิทยาทำได้บ้าง เรียนตั้งมากจะไม่มีชุดความรู้ใดที่เอามาใช้งานในช่วงเวลาจำกัดได้เลยหรือ

 

มนุษย์เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนสูง แม้แต่ให้เราอธิบายตนเองหลายคนก็ยังใช้เวลานาน เราล้วนมีด้านมุมที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ช่วงเวลา และบริบทแวดล้อม ฉะนั้นในชั่วเวลาพริบตา การจะระบุว่า “ใครเป็นอย่างไร” นั้นไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำได้ แต่การ “อ่านสถานการณ์” และ “อ่านอารมณ์” เป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ ไม่ใช่แค่นักจิตวิทยาอาชีพ นักจิตวิทยาสมัครเล่นและผู้ที่สนใจก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

มีงานวิจัยทางจิตวิทยาที่เสนอว่า ในเวลาเสี้ยววินาทีเราสามารถระบุอารมณ์ของคนจากการแสดงออกทางสีหน้าได้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไรในอารมณ์พื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ดีใจ ตื่นเต้น กลัว โกรธ รังเกียจ พอใจ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสื่อสารกันของมนุษย์ และนอกจากสีหน้าแล้ว น้ำเสียง ท่าทาง และระยะห่าง ก็เป็นสิ่งที่คนเราสามารถตรวจจับได้เช่นกัน และมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าอวัจนภาษาทั้งหลายเหล่านี้สามารถเชื่อถือได้มากกว่าวัจนภาษา

 

อย่างไรก็ดี มีการศึกษามากมายที่พบว่า การระบุอารมณ์จากสีหน้าของคนไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมีความคลาดเคลื่อนตามความแตกต่างทางภูมิหลังหรือวัฒนธรรมได้ และบ่อยครั้งคนเราก็อ่านอารมณ์ที่ซับซ้อนออกมาได้แตกต่างกัน เช่น ความสำนึกผิด กับ ความกลัวแต่ไม่ได้สำนึกผิด นอกจากนี้ หลายครั้งเราไม่สามารถระบุถึงเจตนาเบื้องหลังของการแสดงออกได้อย่างแม่นยำ เช่น ระดับของการประชดประชัน เสียดสี ล้อเล่น (โดยเฉพาะกับคนต่างวัฒนธรรม) รวมถึงการโกหก

 

ท่ามกลางบทวิเคราะห์และหนังสือจำนวนมากที่พยายามระบุ “วิธีจับโกหก” อย่างง่าย ว่าผู้ที่โกหกจะมีลักษณะอย่างไร เหลือบตามองทางใด ขยับแขนขยับขาอย่างไร พูดช้าหรือเร็ว นิ่งหรือลุกลี้ลุกลน งานวิจัยที่ทำโดยนักจิตวิทยา นักอาชญวิทยา ตลอดจนการถอดประสบการณ์ของนักปฏิบัติอย่าง FBI และ CIA ต่างก็ระบุว่าพฤติกรรมการโกหกมีการแสดงออกที่ซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายไปตามเงื่อนไขที่ต่างกัน และไม่สามารถตัดสินได้โดยไม่มีพฤติกรรมปกติมาเปรียบเทียบ นักวิชาการและนักวิชาชีพจึงต้องวิเคราะห์และตัดสินอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

นักจิตวิทยาถูกสอนและถูกฝึกให้สังเกต รับฟังอย่างตั้งใจ ชะลอการตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่พยายามหาทางลัดให้ได้คำตอบที่เร็วที่สุดเพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที เพราะแบบนั้น แม้แต่นักจิตวิทยาเองก็ไม่ได้จะสามารถฝืนธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ได้ตลอดเวลาในการมองสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ นอกจากนี้ ความรู้ใหม่ ๆ จากการศึกษาใหม่ ๆ ก็เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน บ้างก็มาต่อยอด เสริมรายละเอียดที่เรายังไม่รู้ บ้างก็มาล้มทฤษฎีหักล้างข้อค้นพบที่เคยเรียนกันมา สิ่งที่นักจิตวิทยาจำต้องมีจึงเป็นการเท่าทันตัวเองให้เก่ง ๆ ว่ากำลังด่วนตัดสินอะไรด้วยอคติอยู่หรือไม่ และชุดความรู้ที่มี outdate ไปแล้วหรือยัง

 

นักจิตวิทยาอาจจะไม่ได้อ่านใจคนได้ (mind reading) หรือทำนายนิสัยคนได้ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ แบบในหนังในละคร แต่นักจิตวิทยาก็สามารถอธิบายได้ว่าพฤติกรรมนี้ของคนสามารถมาจากสาเหตุใดได้บ้าง บุคลิกภาพใดและพฤติกรรมใดจะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบใด หากต้องการให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้จะต้องไปสร้างหรือไปปรับที่กลไกใด

 

อย่างเช่น

 

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา สามารถประเมินจากสีหน้าท่าทางและคำพูดของผู้รับบริการได้ว่าเกิดความวิตกกังวลหรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในระหว่างการให้คำปรึกษาหรือไม่ และมีวิธีจัดการกับภาวะเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง
  • นักจิตวิทยาพัฒนาการ ตอบได้ว่าเด็กที่มาเข้ารับการประเมิน มีพัฒนาการเป็นไปตามวัยหรือไม่ และหากล่าช้ากว่าวัยควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างไร
  • นักจิตวิทยาสังคม ทราบว่าพฤติกรรมแบบใดบ้างที่สะท้อนถึงการรังเกียจกลุ่ม หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ และจะมีวิธีปรับเจตคติและสร้างระบบหรือกลไกที่ลดการเลือกปฏิบัติได้อย่างไร
  • นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ ทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้พนักงาน burnout หรือมีผลการปฏิบัติงานที่ไม่ดี และจะให้องค์กรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างไรจึงจะได้ผล
  • นักจิตวิทยาปริชาน ค้นคว้ากระบวนการจำและการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ และสามารถสร้างโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพของสมองหรือชะลอการเสื่อมของสมองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้

 

เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างยาวสักนิดเพื่อให้เห็นภาพว่านักจิตวิทยาศึกษาอะไร มีชุดความรู้แบบใด และมีบทบาทอย่างไรในสังคมบ้าง เพราะการอ่านใจ อ่านอารมณ์ หรืออ่านสถานการณ์ เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของการศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะพอทำให้ผู้ที่สนใจเห็นภาพของนักจิตวิทยาได้ตรงกับความเป็นจริง และเห็นความหลากหลายขอบเขตการศึกษาในศาสตร์จิตวิทยามากขึ้น

 

 

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) และการศึกษาไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่น่ารู้ศาสตร์หนึ่งที่ผู้เขียนรับประกันได้ว่าสามารถนำข้อความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของทุก ๆ คน หากท่านพบเจอแหล่งการศึกษาที่ท่านเชื่อถือได้ มีหัวข้อที่ตรงกับความสนใจของท่าน การพัฒนาตนเองด้วย soft skill ด้วยศาสตร์ทางจิตวิทยาจะคุ้มค่ากับเวลาที่ท่านใช้ไปในการศึกษาอย่างแน่นอน และคนที่ท่านจะสามารถอ่านใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง (มากขึ้น) คนแรกจะเป็นตัวท่านเอง เมื่อท่านเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง ก็จะช่วยให้ท่านเข้าใจผู้อ่านได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นนั่นเอง

 

 


 

อ้างอิง

 

นักจิตวิทยาสามารถอ่านใจคนได้หรือไม่ (Psychologist is a Mind Reader?)
https://www.psychola.net/applied/-psychologist-is-a-mind-reader

 

How We Read Emotions from Faces
https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2017.00011

 

จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2022-forensic-psy

 

ก่อนจะตัดสินใครว่านิสัยแย่ (สมองของคนเราชอบหาทางลัด)
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/attribution-error

 

 

Share this content