ความทรงจำคืออะไร?

05 May 2022

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

Memory: processes involved in retaining, retrieving, and using information about stimuli, images, events, ideas, and skills after the original information is no longer present (Goldstein, 2011)

 

 

ความทรงจำ หมายถึง การบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ของเราผ่านการเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรมาก็ตามมันจะถูกบันทึกเข้าความทรงจำของเรา ความทรงจำจะประกอบไปด้วยกระบวนการเก็บ ดึงออกมา และ การใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รูป เหตุการณ์ ไอเดีย หรือ สกิลในการทำอะไรต่าง ๆ หลังจากที่ข้อมูลดั้งเดิมไม่ได้มีอยู่แล้วตรงหน้าเราแล้ว เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับว่าเมื่อวานตอนเย็นเราทานอะไรเป็นอาหารเย็นหรือไม่ได้ทานเลย หรือ เราได้จอดรถไว้ที่ไหน ความทรงจำถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเรามากในการดำรงชีวิต ถ้าหากไม่มีกลไกที่ทำให้เราจำสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา เราก็จะไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย

 

 

ความทรงจำของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

ในการที่เราจะสร้างความทรงจำใหม่ ข้อมูลที่ได้รับมาจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ใช้งานได้ ซึ่งเกิดขึ้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการเข้ารหัส (encoding) เมื่อเข้ารหัสข้อมูลสำเร็จแล้ว จะต้องเก็บไว้ในหน่วยความจำเพื่อใช้ในภายหลัง นักวิจัยเชื่อกันว่าความทรงจำถูกสร้างขึ้นผ่านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงที่มีอยู่หรือการเติบโตของการเชื่อมต่อใหม่ระหว่างเซลล์ประสาท

 

จากการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ พบว่า การเปลี่ยนแปลงในการเชื่อมต่อที่ช่องว่างระหว่างเซลล์ที่เรียกว่า “ไซแนปส์” สัมพันธ์กับการเรียนรู้และการเก็บรักษาข้อมูลใหม่ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อนี้จะช่วยส่งข้อมูลไปยังหน่วยความจำ ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมหากเราต้องการที่จะจำอะไรได้ เราจะต้องมีการทวนซ้ำข้อมูลที่เราต้องการจะจำ เพราะการทวนซ้ำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำข้อมูลที่เราต้องการจะจำได้นั่นเอง ทุกครั้งที่เราทวนซ้ำจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้นั่นเอง

 

 

ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจำได้แล้ว มีความรู้สึกเป็นอย่างไรเมื่อความทรงจำของเราได้ถูกจำไปแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักที่จะไม่รู้ว่าเราจำได้แล้ว เว้นแต่เวลาที่เราต้องการที่จะใช้หน่วยความจำนั้น หรือถูกถาม เราถึงจะรู้ได้ว่าเราจำมันได้หรือไม่ ซึ่งการที่ทำให้เราสามารถตอบได้นั้นจะต้องมีการดึงหน่วยความจำที่เราเก็บเอาไว้มาใช้ (retrieval)

 

 

ในปี 1968 Atkin and Shiffrin ได้เสนอโมเดลว่าหน่วยความจำของเรานั้นมันมีหลายแบบ โดยเขาได้แบ่งความทรงจำเป็น 3 แบบ ได้แก่ sensory memory, short-term memory, และ long-term memory เริ่มมาจากการที่เรารับรู้ถึงอะไรบางอย่างก่อน เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามา หรือมี input เข้ามา อันดับแรกสิ่งเร้านั้นจะเข้าไปอยู่ใน sensory memory ของเรา sensory memory คือความทรงจำที่เกี่ยวกับข้อมูลของสิ่งที่เรารับรู้มา แต่ว่า sensory memory จะอยู่กับเราสั้นมาก ๆ เพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในวันปีใหม่ที่มีการจุดพลุกัน พอเขาจุดพลุ ทำให้ที่ตรงนั้นมันสว่าง ทำให้เราสามารถมองเห็นหน้าคนข้าง ๆ เราได้ และเมื่อพลุค่อย ๆ ดับลง ในความมืดนั้น เรายังจะสามารถมองเห็นหน้าคนข้าง ๆ เราได้อยู่อีกพักหนึ่ง เป็นเพราะ sensory memory ของเราทำให้เราสามารถจำจดใบหน้าคนข้าง ๆ ได้อยู่ หลังจากนั้นแล้วหากความทรงจำนี้เป็นความทรงจำที่เราสนใจจดจ่ออยู่กับมัน ความทรงจำนี้ก็จะถูกส่งไปยัง short term memory หรือ ความทรงจำระยะสั้น ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถจำใบหน้าของคนที่อยู่ข้าง ๆ เราได้นานว่าเดิมเล็กน้อย เพราะความทรงจำระยะสั้นจะสามารถอยู่กับเราได้นานกว่า sensory memory เราจะสามารถประมวลข้อมูลได้ประมาณ 5-7 อย่างพร้อม ๆ กันในเวลา 15-20 วินาที และหากเราได้มีการทบทวนข้อมูลที่เราต้องการที่จะจำซ้ำ ๆ ข้อมูลนั้นก็จะถูกส่งไปยัง long term memory หรือความทรงจำระยะยาวที่จะเก็บความทรงจำเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งความทรงจำพวกนี้จะอยู่เป็นปี ๆ จนถึง 10-20 ปีก็ยังได้

 

 

เพราะฉะนั้นหากเราต้องการที่จะจำอะไรได้ เราควรที่จะทบทวนข้อมูลนั้นซ้ำ ๆ เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความจำนั้น ยิ่งทบทวนมากเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสที่จะจำได้มากขึ้นค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Atkinson, R. C., & Shiffrin, R. M. (1968). Human memory: A proposed system and its control processes. In Psychology of learning and motivation (Vol. 2, pp. 89-195). Academic Press.

 

Goldstein, E. B. (2019). Cognitive psychology: Connecting mind, research and everyday experience (5th ed.). Cengage. ISBN: 9781337408271

 

Malmberg, K. J., Raaijmakers, J. G., & Shiffrin, R. M. (2019). 50 years of research sparked by Atkinson and Shiffrin (1968). Memory & cognition47(4), 561-574.

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

 

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)
และอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this content