รักครั้งแรกไม่ยั่งยืนจริงหรือ?

24 Oct 2017

อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

คุณยังจำความรักครั้งแรกกันได้หรือไม่?

 

เด็กสาวตากลมโตที่เรียนอยู่ห้องข้าง ๆ ผู้มียิ้มแสนน่ารัก เวลาเดินสวนกัน เราจะต้องแกล้งหันมองไปทางอื่น แต่พอเดินผ่านแล้ว เราก็ต้องเหลียวหลังกลับมาแอบมอง หรือ ชายหนุ่มรุ่นพี่มาดคมเข้ม ที่เราแอบปลื้ม ฝันว่าสักวันเขาจะมาสนใจเรา ความรักครั้งแรกสำหรับบางคนก็อาจเป็นการแอบชอบอยู่ฝ่ายเดียว แต่สำหรับบางคนเมล็ดพันธุ์ความรักนี้ก็ผลิดอกออกผล

 

อย่างไรก็ดีความรักครั้งแรกมักถูกมองว่า ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เป็นความรักของเด็ก ๆ ขาดเหตุผล ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อสมัยเรายังเด็ก ผู้ใหญ่มักจะสอนให้เราระมัดระวังตัว อย่าจริงจังทุ่มเทกับความรักจนมากเกินไป ระวังจะน้ำตาเช็ดหัวเข่า แม้กระนั้นเราก็ยังคงได้ยินได้ฟังเรื่องราวของคู่รักที่พบรักกันครั้งแรกและประคับประคอง ดูแลรักษาความรักนั้นจนได้แต่งงานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

เหตุใดความรักครั้งแรกของบางคนจึงร้างลา ในขณะที่บางคนสามารถรักษาความรักครั้งแรกนั้นไว้ได้ แท้จริงแล้วความรักครั้งแรกไม่ยั่งยืนจริงหรือ? เพื่อตอบคำถามนี้เราต้องทำความรู้จักความรักกันก่อน

 

 

ความรักคืออะไร?


 

เมื่อเราถามว่าความรักคืออะไร เรามักได้ยินคำนิยามหลากหลายแบบ นักจิตวิทยาได้พยายามวิเคราะห์ว่าความรักนั้นคืออะไร แม้จะยังไม่มีคำนิยามที่แน่ชัด แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความรักนั้นเป็นมากกว่าความเป็นเพื่อนและมากกว่าความพิศวาสหรือความดึงดูดใจระหว่างเพศ นักจิตวิทยาจึงเสนอว่าความรักนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด เนื่องจากความรักเกิดจากการผสมผสานของอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม ความรักจึงมีได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับส่วนผสมของความรักนั้น ๆ

 

รูปแบบความรักที่มักกล่าวถึงกันมีสองรูปแบบใหญ่ แบบแรกคือความรักแบบเสน่หา เป็นความรักที่ประกอบไปด้วยอารมณ์ที่เข้มข้น รุนแรง ความรักแบบเสน่หานี้มักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว การหลงรักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความรู้สึกที่เอ่อล้นขึ้นมา และรุนแรงจนควบคุมความรู้สึกนั้นไม่อยู่ ความรักแบบนี้มีอารมณ์เป็นส่วนผสมหลัก โลกทั้งใบจึงกลายเป็นสีชมพู เหมือนตัวเราจะล่องลอยไปในความรัก ทุกสิ่งดูสดใสและมีชีวิตชีวา แต่ในขณะเดียวกันอารมณ์ที่เป็นใหญ่ก็มักทำให้มองสิ่งต่าง ๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง ใช้เหตุผลตัดสินใจน้อยลง และมักไม่เชื่อว่าความรักนี้จะสิ้นสุดลง เมื่อผิดหวัง อารมณ์เสียใจที่รุนแรงจึงตามมา อย่างไรก็ตามความเสน่หานี้ก็เป็นสิ่งที่เหมือนตัวชูรสให้ความรักสดใสอยู่เสมอ

 

แบบที่สองคือความรักแบบมิตรภาพผูกพัน ความรักแบบนี้แตกต่างออกไปจากความรักแบบเสน่หา ความรักแบบมิตรภาพผูกพันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนสองคน คู่รักแบบมิตรภาพผูกพันมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง คอยดูแลใส่ใจอีกฝ่ายหนึ่ง และแสดงออกถึงความชอบและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความรักแบบนี้จึงไม่หวือหวา รุนแรง แตกต่างจากความรักที่เรามักพบเห็นตามภาพยนตร์ หรือนิยายรักหวานซึ้ง ในขณะที่ ความรักในแบบเสน่หานั้นชวนให้หลงใหลอยู่ในภวังค์ ความรักแบบมิตรภาพผูกพันนั้นเกิดจากสายใยมิตรภาพและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ไม่จำเป็นต้องหวานซึ้งเหมือนในละคร แต่คือความรักที่มองตาก็รู้ใจ คือความเป็นเพื่อนที่ลึกซึ้งที่กว่าเพื่อนใด ๆ

 

 

ความรักแบบไหนที่น่าจะยืนยาวกว่ากัน?


 

นักจิตวิทยาเชื่อว่าความรักแบบมิตรภาพผูกพันจะเป็นความรักที่ยั่งยืนกว่า เพราะเป็นความรักที่มีส่วนประกอบของการคิด การใช้เหตุผลมากกว่าความรักแบบเสน่หา เรามักพบเห็นอยู่เสมอว่าความรักครั้งแรกเป็นความรักแบบเสน่หา ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล มักเกิดขึ้นจากความพึงตาต้องใจและความใกล้ชิดมากกว่าความสนิทสนมและเข้ากันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะสรุปได้เลยหรือไม่ว่าความรักครั้งแรกนั้นไม่ยั่งยืน ก่อนจะตอบคำถามนี้เราคงต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น วัยที่เริ่มมีความรักกันก่อนดีกว่า

 

วัยรุ่นเป็นวัยที่ร่างกายและจิตใจพร้อมและเริ่มสนใจผู้อื่นในเชิงโรแมนติก ความรักครั้งแรกก็จึงมักเริ่มผลิดอกออกผลในช่วงวัยนี้ เมื่อสรีระและจิตใจก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ความใกล้ชิดและความดึงดูดใจทางเพศก็ทำให้คนสองคนเริ่มอยากทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องความรักผ่านสื่อ ผ่านเรื่องเล่า ผ่านบทเพลง วัยรุ่นจึงเริ่มสนใจความรักและความสัมพันธ์มากขึ้น เมื่อประสบพบกับโอกาสอันเหมาะสม ความใกล้ชิดก็จะนำมาให้คนสองคนมารู้จักกัน เริ่มศึกษาซึ่งกันและกัน ดึงดูดใจซึ่งกันและกัน และพัฒนาความสัมพันธ์

 

วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มสนใจเรื่องความรัก ความรักครั้งแรกก็มักเกิดขึ้นในวัยนี้ และที่สำคัญความรักที่เกิดขึ้นในวัยนี้ก็มักถูกมองว่าไม่จีรังยั่งยืน ยังขาดเหตุผล เพ้อฝันและเปราะบางยิ่งนัก

 

เมื่อวัยรุ่นได้ใกล้ชิดสนิทสนมกัน ความคุ้นเคยก็ย่อมเกิดขึ้น การสร้างความสัมพันธ์จึงตามมา ในช่วงแรกความสัมพันธ์อาจเริ่มจากการกล่าวทักทายตามมารยาท แต่เมื่อคนสองคนได้พบปะกันบ่อยขึ้น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และมีประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกัน เช่น ไปเที่ยวเล่นด้วยกัน ทานอาหารด้วยกัน ติวหนังสือสอบให้กัน คนสองคนก็ยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็มองหาสิ่งที่เหมือนกันในตัวของอีกฝ่าย ความชอบพอที่มีให้แก่กันก็เพิ่มพูน ก่อให้เกิดเป็นความรักขึ้นได้ การพัฒนาความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่สำหรับวัยรุ่นนั้นกระบวนการนี้มักจะรวดเร็ว และถ้าอีกฝ่ายมีลักษณะน่าดึงดูดใจ เช่น สวย น่ารัก หล่อ เท่ ใจดี อบอุ่น ชอบช่วยเหลือ การตกหลุมรักก็ยิ่งรวดเร็วขึ้นอีก

 

 

คนสองคนตัดสินใจมีความรักครั้งแรกอย่างไร?


 

เหตุที่วัยรุ่นมักตกหลุมรักได้อย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ วัยรุ่นแม้เป็นวัยที่เริ่มใช้เหตุผลได้มากขึ้น แต่ก็เป็นวัยที่มีอารมณ์รุนแรง และมักชอบค้นหาท้าทายสิ่งต่าง ๆ อารมณ์ที่วัยรุ่นประสบนั้นจึงเข้มข้นอย่างมาก ความรักแบบเสน่หาจะเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุที่วัยรุ่นมีโอกาสประสบกับอารมณ์ที่รุนแรงได้ง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะตีความอารมณ์เหล่านั้นผิดไป บางครั้งการที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เราสนใจ สร้างความตื่นเต้น ทำให้หัวใจเต้นแรง กลิ่นหอม ๆ จากเส้นผมของอีกฝ่ายทำให้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ความรู้สึกเหล่านี้อาจเป็นเพียงความตื่นตัวจากการที่คนสองคนได้อยู่ใกล้ชิดกัน บางครั้งการที่เราได้พบเจอใครสักคนในเวลาที่เรากำลังอารมณ์ดีหรือประสบกับเรื่องดี ๆ ทำให้เราเชื่อมโยงอารมณ์ดีกับคนที่เราพบ แล้วเราก็ตีความผิดว่าความตื่นเต้นหรืออารมณ์ดีที่เกิดขึ้นนั้นคือ “ความรัก”

 

ปัจจัยที่สองมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ประสบการณ์ทางอ้อมจากภาพยนตร์ หนังสือ บทเพลง เนื้อหาในสื่อเหล่านี้มักเกี่ยวกับความรักแบบเสน่หา ความรักแรกพบ วัยรุ่นได้ซึมซับประสบการณ์เหล่านั้นและอยากจะประสบกับความรักเช่นนั้นบ้าง ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าวัยรุ่นจะมีความฝันจะได้พบกับความรักสักครั้ง และเมื่อมีโอกาส จึงยอมให้ความรักเข้ามาจับจองพื้นที่ในหัวใจ

 

ปัจจัยที่สามเป็นปัจจัยส่วนบุคคล คนแต่ละคนมีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์แตกต่างกันไป ใครที่ชอบปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด ชอบได้รับการเอาใจใส่จากผู้อื่น ชอบมีเพื่อนฝูงมากมาย ก็มีโอกาสจะเริ่มต้นความรักได้ง่ายกว่าคนที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร

 

ในความรักครั้งแรก โดยเฉพาะเมื่อเป็นความรักแบบเสน่หา คู่รักย่อมรู้สึกว่าอีกฝ่ายคือ “คนที่ใช่” ความรักที่ท่วมท้นอยู่ในใจจะทำให้คู่รักทุ่มเทให้กันและกัน โดยเชื่อว่าความรักนี้จะยั่งยืน เราทั้งสองคนจะได้อยู่เป็นคู่กันไปตลอด ความรู้สึกดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนความรักในนิยายหวานซึ้ง ที่พระเอกนางเอกฝ่าฝันความรักไปด้วยกัน แต่ความรู้สึกดังกล่าวเปรียนเสมือนดาบสองคม เมื่อความรักแบบเสน่หาเข้มข้นมาก คู่รักมักเชื่อเกินจริงว่าความรักของตัวเองจะยั่งยืน มั่นคง และไม่พิจารณากันและกันให้ถี่ถ้วน คู่รักมักจะคิดว่าตนและคู่ของตนมีอะไรที่คล้ายกันหลายอย่าง มองเห็นเฉพาะข้อดีของอีกฝ่าย และละเลยที่จะพิจารณาข้อเสียของกันและกัน

 

 

แล้วความรักนั้นจะยั่งยืนหรือไม่?


 

เป็นธรรมดาของโลกที่ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และก็ดับไป อารมณ์ความรักแบบเสน่หานั้นก็มีวันเสื่อมคลาย จากความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้พบหน้า เริ่มเปลี่ยนเป็นความคุ้นเคย จากอารมณ์วาบหวามเร้าใจที่ได้เมื่ออยู่ชิดใกล้ กลายเป็นความอบอุ่นสบายใจ และในขณะเดียวกันคู่รักก็เริ่มปรับระดับความใกล้ชิดให้เหมาะสมเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและบทบาทอื่น ๆ ด้วย ในจุดนี้เองที่คู่รักจะเริ่มใช้สติ ใช้ความคิดมากขึ้นกับความรัก

 

สิ่งที่เกิดขึ้นมากในความรักครั้งแรกคือ คู่รักใช้อารมณ์ในความรักมากเกิดไปจนมองข้ามเรื่องสำคัญไปหลายประการ เช่น เราทั้งสองคนชอบอะไรเหมือนกันหรือไม่ มีเส้นทางชีวิตแบบเดียวกันหรือไม่ สามารถยอมรับข้อเสียของอีกฝ่ายได้ตลอดไปจริงหรือ นิสัยขี้ออดอ้อนที่เรามองดูว่าน่ารักจะกลายเป็นน่ารำคาญในเวลาต่อมา นอกจากนี้ความรักแบบเสน่หาจะเรียกร้องให้คนสองคนใช้เวลาด้วยกันอย่างมาก แต่วัยรุ่นที่กำลังเริ่มต้นชีวิตมีภาระหน้าที่และความฝันอีกหลากหลายรอคอยอยู่ เมื่อถึงจุดนี้แล้วความขัดแย้งก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนขึ้น เรื่องที่เคยยอมให้กันในวันที่ความรักความเสน่หาบังตา อาจกลายเป็นเรื่องสุดแสนจะเหลือทนเมื่อสติกลับคืนมา

 

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งจากนิสัยที่เข้ากันไม่ได้ ความฝันที่ไม่ตรงกัน ภาระหน้าที่ที่ต้องกระทำ หรือความจืดจางของความเสน่หา สิ่งที่คู่รักมือใหม่ต้องประสบก็คือ การทะเลาะเบาะแว้ง การประชดประชัน การค่อนแขวะ การง้องอน โดยเชื่อว่าการกระทำเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีเลย ความไร้ประสบการณ์ในความรักและการแก้ปัญหาจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความรักครั้งแรกไปไม่ถึงฝั่งฝัน อย่างไรก็ดี ยังมีคู่รักอีกหลายคู่ที่สามารถประคับประคองความรักไปจนตลอดรอดฝั่ง

 

 

ทำอย่างไรจึงรักษาความรักครั้งแรกไว้ได้?


 

ความรักครั้งแรกมักเป็นความทรงจำอันหอมหวาน ชุ่มชื่นหัวใจ ทำให้โลกดูสดใส แต่เราพบว่าความด้อยประสบการณ์และการใช้อารมณ์มากเกินไปในความรัก ทำให้ความสัมพันธ์นั้นไม่ยั่งยืนตามที่วาดฝันไว้ ในความรักครั้งแรก หลายคู่ต้องประสบกับความขัดแย้ง บางคู่พบว่าอีกฝ่ายมีลักษณะนิสัยที่เข้ากันไม่ได้หลายอย่าง บางคู่มีความรักไปตามอารมณ์นำพา พอรักจืดจางจึงปันไปใจหาความตื่นเต้นกับคนรักใหม่เมื่อความรักดำเนินมาใกล้ถึงจุดแตกหัก คู่รักมือใหม่มักไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ กลับใช้อารมณ์แก้ปัญหา ต้องการจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายชนะในการโต้เถียง คู่รักจึงทำลายความสัมพันธ์นั้นไปด้วยตัวเอง ความรักที่จบลงในลักษณะนี้จะขาดความเข้าใจ การยอมรับ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความรักที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความใกล้ชิดสนิทสนม ความเข้าใจ และความเหมือนซึ่งกันและกัน มักไม่สามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

 

แม้กระนั้น คู่รักหลายคู่ก็สามารถประคับประคองความรักให้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ ถ้าหากความรักครั้งแรกที่เกิดขึ้นเป็นความรักแบบมิตรภาพผูกพัน ก็จะประกอบไปด้วยความคล้ายคลึงระหว่างคนรัก เช่น ชอบสิ่งใดเหมือน ๆ กัน มีค่านิยม แนวคิดคล้าย ๆ กัน ใช้ชีวิตคล้าย ๆ กัน ความรักจึงเกิดขึ้นจากการค่อย ๆ พิจารณาไตร่ตรองซึ่งกันและกัน จนพบว่าอีกฝ่ายสามารถเป็นคู่ของตนได้ ความรักจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่อารมณ์เพียงชั่วแล่น

 

สำหรับคู่ที่ความรักแบบเสน่หา เมื่ออำนาจของอารมณ์ลดทอนลง ต่างฝ่ายต่างก็พิจารณาซึ่งกันและกันมากขึ้น เรื่องใดที่ทำให้อีกฝ่ายขัดเคืองใจก็ลดละเลิกไปเสีย ค่อย ๆ เริ่มปรับตัวเข้าหากัน พื้นฐานที่สำคัญคือคู่รักจะต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ในระดับหนึ่ง และต้องมีความผูกพันซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องนำพาไปสู่การหาทางออกเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้

 

นักจิตวิทยาได้เสนอไว้ว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นคือ

 

  1. ต้องหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย
  2. แสดงความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน
  3. เปิดเผยต่อกัน กล้าเผชิญปัญหา และ
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการกระทำให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำ

 

แม้ความรักแบบมิตรภาพผูกพันจะเป็นความรักที่ยืนยาว แต่นานวันเข้าความรักก็อาจจืดจางลงไปได้ เคล็ดลับหนึ่งในการรักษาความรักให้ไม่จืดจาง คือ การสร้างความแปลกใหม่และอารมณ์ทางบวกให้กับชีวิตคู่ ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนย่อมต้องมีสุขมีทุกข์ปนกันไป แต่เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้วก็ควรนำแต่สิ่งดีๆมามอบให้แก่กัน คอยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับทุกวัน ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำร่วมกัน ลองไปเที่ยวในที่ที่ไม่เคยไป ลองเปลี่ยนร้านอาหาร หรือช่วยกันจัดบ้านใหม่ สร้างบรรยากาศแห่งความสุขอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรักแรกหรือรักครั้งไหนจะได้หวานชื่นอยู่เสมอ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content