ความทรงจำปลอม

26 Jul 2018

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

ในปี ค.ศ. 1983 หลังจากที่ Nancy Anneatra ได้รับการบำบัดจาก Celia Luasted ผู้ซึ่งยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจิตบำบัดในขณะนั้น Nancy ได้กล่าวหาว่า เธอถูกพ่อกระทำชำเราเมื่อสมัยเธอเป็นเด็ก แม้ว่าสุดท้ายแล้วศาลจะยกฟ้องคดีนี้ แต่ Nancy ได้เปลี่ยนชื่อและตัดขาดกับพ่อแม่ของเธอ จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1995

 

หลังจากที่ Nancy เสียชีวิต แม่ของเธอได้รับเอกสารประวัติการรักษาและพบว่านักจิตบำบัดเป็นผู้มีบทบาทในการทำให้ Nancy ระลึกความทรงจำปลอมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี 1996 พ่อแม่ของเธอฟ้องจิตแพทย์และนักจิตบำบัดว่าหละหลวมในการรักษาและตรวจวินิจฉัย ใช้วิธีสะกดจิตจนส่งผลให้ Nancy สร้างความทรงจำปลอมเกี่ยวกับการถูกข่มขืนโดยพ่อของเธอ

 

พ่อแม่ของเธอชนะคดีนี้ในปี 2001 และได้รับค่าชดเชย 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากความทรงจำปลอมของลูกสาวที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการเข้ารับจิตบำบัด

 

(สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถหาอ่านจากกรณี Sawyer v. Midelfort, No. 97-1969)

 

นักจิตวิทยามีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์ บ้างก็เสนอว่าความทรงจำของคนเป็นเหมือนหน่วยความจำบนฮาร์ดไดรฟ์ ไม่มีวันสูญหาย การลืมเป็นเพียงเพราะไม่สามารถเรียกคืนข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้ แต่นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ความทรงจำของมนุษย์นั้นเปราะบางและถูกปั้นแต่งได้โดยง่าย ทุกครั้งที่เราระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เราไม่ได้เรียกคืนข้อมูลแต่ทว่ากำลังสร้างความทรงจำนั้นขึ้นมาใหม่ และบางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าความทรงจำที่เราแน่ใจหนักหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นความทรงจำปลอม

 

Elizabeth Loftus นักจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychologist) ชั้นแนวหน้าผู้ศึกษาเรื่องความทรงจำปลอม ได้แสดงให้เห็นในงานวิจัยของเธอหลายชิ้นว่า บุคคลสามารถสร้างความทรงจำของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้และเชื่อมั่นในความทรงจำนั้นอีกด้วย ในการทดลองชิ้นหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองได้ดูเหตุการณ์อุบัติเหตทางรถยนต์และถูกขอให้จำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นพวกเขาได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ารถในภาพนั้น “ประสานงา” หรือ “ชน” กัน เมื่อผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองว่าจำได้หรือไม่ว่ามีเศษกระจกแตกกระจายอยู่บนพื้นถนน ผู้ร่วมการทดลองที่ได้รับข้อมูลว่ารถ “ประสานงา” ตอบว่าจำได้เป็นจำนวนมากกว่าสองเท่าของผู้ที่ได้รับข้อมูลว่ารถ “ชน” กัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่มีกระจกรถแตกแม้แต่บานเดียว

 

ถ้าคุณคิดว่าแค่ ‘จำผิด’ คงไม่มีผลอะไรต่อการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่ ขอให้คุณลองคิดดูอีกที เพราะความทรงจำปลอมนั้นมีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา แถมยังคงอยู่ยาวนานอีกด้วย ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการวิจัยได้รับการชี้นำจากผู้วิจัยว่าพวกเขาเคยป่วยเพราะกินสลัดไข่เมื่อสมัยเป็นเด็ก (สลัดไข่เป็นอาหารที่ชาวอเมริกันรับประทานทั่วไป จึงง่ายต่อการสร้างความทรงจำปลอม) และให้ตอบคำถามอีกหลายอย่าง หลังจากนั้นผู้วิจัยทำทีว่าการทดลองนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และให้ผู้ร่วมการวิจัยได้ออกไปพักทานของว่าง โดยมีแซนวิชสลัดไข่เป็นหนึ่งในเมนู ผลปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองที่เชื่อว่าตัวเองเคยป่วยเพราะสลัดไข่ หลีกเลี่ยงที่จะรับประทานแซนวิชสลัดไข่ที่เป็นของว่าง และในอีกสี่เดือนให้หลังเมื่อคนกลุ่มนี้ถูกเชิญมาร่วมงานวิจัยอีกครั้งโดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับงานวิจัยแรก ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มนี้ยังคงหลีกเลี่ยงการรับประทานสลัดไข่อยู่

 

ความทรงจำของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกปั้นแต่งขึ้นทุกครั้งที่มีการระลึกถึงมัน ความรู้ทางจิตวิทยานี้ถูกนำไปใช้ในการสอบพยานบุคคล โดยต้องกระทำด้วยความรัดกุม ปราศจากการชี้นำจากผู้สอบสวน มีวิธีขั้นตอนสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ส่วนในชีวิตประจำวัน เราเองก็ต้องพึงระวังว่าแม้ความทรงจำของเราจะดูแจ่มชัดมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจำได้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ตัวเราก็จำไม่ประมาทหลงมั่นใจในตัวเองเกินไป ในขณะเดียวกันก็อาจจะช่วยให้เราให้อภัยและเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน

 

 

ภาพจาก http://www.thebvnewspaper.com/2018/02/15/memory-workshop-draws-educators-to-campus/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Share this content